งานพระราชทานเพลิง สรีระสังขาร พระธรรมวิสุทธิมงคล หรือ หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน อดีตเจ้าอาวาสวัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี วันที่ 5 มี.ค. 2554 ผ่านพ้นไปแล้วท่ามกลางความสนใจของพุทธศาสนิกชนไทยนับแสนนับล้านคน ทั้งนี้ ณ วันนี้แม้สรีระสังขารของหลวงตามหาบัวจะมิได้คงอยู่ดังสภาพเดิมอีกต่อไปแล้ว แต่ ’มรดกทางธรรม“ ที่หลวงตามหาบัวทิ้งไว้ จะยังคงอยู่ ซึ่งก็ควรค่ายิ่งแก่การยึดถือปฏิบัติ
และกับการละสังขารของหลวงตาก็แฝงไว้ด้วยธรรม
ทำให้น่าพินิจพิจารณาถึงคำว่า ’มรณานุสติ“
“มรณานุสติ แปลว่า นึกถึงความตายเป็นอารมณ์ เรื่องของความตายเป็นของธรรมดาของสัตว์และมนุษย์ที่เกิดมา เมื่อมีความเกิดมาได้แล้ว ก็ต้องตายในที่สุด เหมือนกันหมด” ...นี่เป็นส่วนหนึ่งจากคำสอนของ พระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ) ในเรื่อง
มรณานุสติกรรมฐาน ในหนังสือคู่มือปฏิบัติพระกรรมฐาน ซึ่งในคำสอนยังระบุไว้อีกว่า... จะทำอย่างไรความตายก็ต้องจัดการกับชีวิตแน่นอน เมื่อกฎธรรมดาเป็นอย่างนี้ พระพุทธเจ้าจึงทรงสอน คือย้ำตามความเป็นจริงว่า ภิกขเว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความตายนั้นเป็นสิ่งปกติธรรมดาไม่มีใครจะหลีกหนีพ้น ทั้งนี้ ความตายนี้แบ่งออกเป็น 3 อย่างด้วยกันคือ.....
1. สมุจเฉทมรณะ ความตายขาดตอน หมายถึงความตายของพระอรหันต์ ท่านเสร็จกิจแห่งพรหมจรรย์ คือสิ้นกิเลสแล้ว เหตุที่จะต้องทำให้เกิด คือกิเลสและตัณหาที่จะควบคุมบังคับท่านให้เกิดอีก ไม่มี ท่านมรณะแล้วท่านไม่ต้องกลับมาเกิดอีก เรียกว่า สมุจเฉทมรณะ แปลว่าตายขาดตอน ไม่กลับมาเกิดอีก
2. ขณิกมรณะ แปลว่า ตายเล็ก ๆ น้อย ๆ ท่านหมายเอาความตาย คือความดับ หรือการเคลื่อนไปของชีวิต ที่มีการเคลื่อนไปวันหนึ่ง ๆ วันเวลาล่วงไป ชีวิตก็เคลื่อนไปใกล้จุดจบสุดยอดคือตายดับทุกขณะ การผ่านไปของชีวิตท่านถือเป็นความตาย คือ ตายทุกลมหายใจออก และเกิดต่อทุก ๆ ลมหายใจเข้า อาหารเก่าที่บริโภคเข้าไปเป็นการหล่อเลี้ยงชีวิตชั่วคราว เมื่อสิ้นอำนาจของอาหารเก่า ร่างกายต้องการอาหารใหม่เข้าไปหล่อเลี้ยงแทน แต่ถ้าไม่ได้อาหารใหม่เข้าไปทดแทนชีวิตก็จะต้องดับ ชีวิตที่ทรงอยู่ได้ก็เพราะอาหารใหม่เข้าไปหล่อเลี้ยงไว้
เมื่อสิ้นสภาพของอาหารเก่า ท่านถือว่าร่างกายต้องตายแล้วไปยุคหนึ่ง พอได้อาหารใหม่มาทดแทน ชีวิตก็เกิดใหม่อีกวาระหนึ่ง การเกิดการตายต่อเนื่องกันทุกวันเวลาอย่างนี้ ถ้าอาหารเก่าหมดสภาพ ไม่บริโภคใหม่ หรือลมหายใจออกแล้ว ไม่หายใจเข้า สภาพของร่างกายก็จะสิ้นลมปราณ คือตายทันที ที่ทรงอยู่ได้อย่างนี้ก็เพราะได้ปัจจัยบางอย่างค้ำจุนทดแทน ท่านสอนให้มองเห็นสภาพของสังขารร่างกายว่ามีความตายเป็นปกติทุกวันเวลา อย่างนี้ท่านเรียกว่า ขณิกมรณะ แปลว่า ตายทีละเล็กละน้อย หรือตายเล็ก ๆ น้อย ๆ
3. กาลมรณะ และ อกาลมรณะ กาลมรณะ แปลว่า ตายตามกาลตามสมัยที่ชาวโลกนิยม เรียกว่า ถึงที่ตาย คือ สิ้นอายุ อย่างชนิดที่ไม่มีการแก้ไขได้ อกาลมรณะ แปลว่า ตายในโอกาสที่ยังไม่ถึงกาลควรตาย แต่ต้อง ตายเพราะกรรมบางอย่างที่เป็นอกุศลเข้ามาบีบคั้นให้ตาย การตายประเภทหลังนี้พอมีทางต่อให้อายุยืนยาวต่อไปได้ตามสมควรแก่กรรมในอดีต จะต่อให้เลยพอดีนั้นไม่ได้ พวกตายตามแบบกาลมรณะตายไปแล้วเสวยผลกรรมทันที แต่พวกที่ตายตามแบบอกาลมรณะนี้ ตายแล้วยังไม่ไปเสวยผลกรรมทันที ต้องไปเป็นสัมภเวสี แสวงหาที่เกิดก่อน คือรอกาลที่จะถึงกาลมรณะก่อน เมื่อถึงเวลาแล้วจึงจะได้รับผลกรรมดีและกรรมชั่วที่ทำไว้
ทั้งนี้ คำสอนของพระราชพรหมยาน ยังระบุไว้อีกว่า ’... การนึกถึงความตายมีประโยชน์ ประโยชน์ของการนึกถึงความตายทำให้เป็นคนไม่ประมาท เพราะรู้ตัวว่าจะตาย จะได้แสวงหาความดีใส่ตัว
รู้ตัวว่าชาตินี้จนเพราะชาติก่อนให้ทานไว้น้อย ถ้าชาติหน้าไม่อยากจนอีก ก็พยายามให้ทานเสมอ ๆ ตามกำลังทรัพย์ที่พอจะให้ได้ และอย่าให้จนหมดตัว จะเกินพอดี ต้องให้พอเหมาะพอดี ไม่เดือดร้อนภายหลัง นั่นแหละจึงจะควร, รู้ตัวว่ามีโรคมาก ป่วยไข้ไม่สบายเสมอ ๆ ของหายบ่อย ๆ รูปร่างสวยน้อยไป คนในบังคับบัญชาดื้อด้าน วาจาไม่ศักดิ์สิทธิ์ อารมณ์ความจำเสื่อม ถ้าต้องการให้สิ่งบกพร่องเหล่านี้สมบูรณ์ในชาติหน้า จะได้พยายาม รักษาศีล 5 ให้บริสุทธิ์ครบถ้วน แล้วก็จะได้รับอานิสงส์ มีอายุยืน รูปสวย ไม่มีโรคภัยรบกวน ไม่มีภัยจากโจร คนในบังคับบัญชาอยู่ในโอวาทเป็นอันดี ไม่มีใครดื้อด้าน มีวาจาศักดิ์สิทธิ์ มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์
ถ้าเห็นว่ามีปัญญาน้อย ไม่ใคร่ทันเพื่อน ก็พยายาม เจริญสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน พอมีฌานมีญาณเล็กน้อย ในชาติต่อไปก็จะเป็นคนมีปัญญาเลิศ, ถ้าเห็นว่าความเกิดเป็นโทษเป็นทุกข์ เพราะการเกิด ไม่ว่าจะเกิดเป็นอะไร มีตระกูลสูงส่งประการใดก็ตาม ต้องประสบกับความทุกข์อย่างมหันต์ และหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ต้องการความเกิดอีก ก็เร่งรัดเจริญสมถะให้ได้ฌานต้น แล้วเจริญวิปัสสนาญาณให้จบกิจพระศาสนา ซึ่งเป็นของไม่หนักเลยสำหรับท่านที่นึกถึงความตายเป็นปกติ หรือที่เรียกว่า เจริญมรณานุสติกรรมฐาน ...”
’มรณานุสติ“ นึกถึงความตาย ’เพื่อจะได้ทำความดี“
นี่ก็เป็นอีก ’มรดกธรรม“ จาก ’หลวงตามหาบัว“.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น