++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพฤหัสบดีที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2552

วันพิพากษา ใครฆ่า “เจริญ วัดอักษร”

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์    


   30 ธันวาคม 2551 เวลา 09.00 น.ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก นัดอ่านคำพิพากษาผลการพิจารณาคดีการลอบสังหาร “เจริญ วัดอักษร” ประธานกลุ่มรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอก-กุยบุรี นักเคลื่อนไหวที่มีบทบาทคัดค้านโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน 2 แห่งในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
      
       ช่วงต้นที่ เจริญ เสียชีวิต ครั้งหนึ่งอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร เคยให้การยืนยันว่า จะจับผู้กระทำความผิดมาให้ได้ภายใน 100 วัน แต่นับจากกลางดึกของวันที่ 21 มิถุนายน 2547 ถึง 30 ธันวาคม 2551 รวมแล้ว 4 ปี 6 เดือน กระบวนการสอบสวนทำได้เพียงจับตัวมือปืนได้ 2 คน มิหนำซ้ำยังตายอย่างมีเงื่อนงำในเรือนจำก่อนศาลนัดไต่สวนจำเลย และจากนั้นคดีความก็ถูกจำกัดให้เหลือเพียง “ความแค้นส่วนตัว” โดยที่ผู้จ้างวานยังไม่มีใครมั่นใจว่าจะได้รับโทษหรือไม่ และผู้บงการลอบสังหารยังคงลอยตัว
      
       เมื่อเร็วๆ นี้ ชาวบ้านกลุ่มรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอก-กุยบุรี ร่วมกันจัดวงสนทนาสรุปประเด็นในการติดตามกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด เพื่อเป็นบทเรียนการต่อสู้กับอำนาจรัฐที่ไม่เป็นธรรมก่อนวันพิพากษาจะมาถึง และต่อไปนี้ คือ ข้อมูลที่รวบรวมโดยชาวบ้านและพวกเขาเชื่อว่าสำนวนเหล่านี้ไม่ได้นำเข้าสู่ศา ล...

กรณ์อุมา พงษ์น้อย ภรรยาเจริญ วัดอักษร
   
       **เรื่องเล่าจากชาวบ้าน
      
       กรณ์อุมา พงษ์น้อย ชาวบ่อนอกและเพื่อนพ้อง เรียกเธอว่า “กระรอก” คู่ชีวิตผู้ร่วมทุกข์เคียงบ่าเคียงไหล่ เจริญ มาโดยตลอดนับตั้งแต่มีการต่อสู้ เมื่อสิ้น เจริญ วันนี้ เธอกลายเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการต่อสู้แทนสามี เธอยืนต่อหน้าคนหมู่มาก และบอกเล่าในสิ่งที่ตำรวจ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และอัยการไม่ได้นำเข้าสู่ศาล ว่า เธอและชาวบ้านเชื่อว่ามีความพยายามที่จะจงใจออกแบบจำกัดแนวทางคดีให้เอาผิดเ พียงแค่มือปืน โดยเชื่อว่า หลักฐานที่อ่อนจนไม่สามารถเอาผิดกับคนรับงาน และในเมื่อมือปืนผู้สังหาร เจริญ ได้ตายอย่างปริศนาในคุกแล้ว แน่นอนว่า ไม่สามารถสาวไปถึงตัวผู้บงการได้
      
       หลังจากที่ชาวบ่อนอกแห่ศพ เจริญ มาที่กระทรวงยุติธรรม เพื่อให้รับทำคดีให้ ดีเอสไอก็ดูเหมือนจะรีบเร่งทำงานสรุปสำนวนภายใน 84 วัน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตำรวจกองปราบ และหน่วยสืบสวนกลางเร่งลงพื้นที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่ในพื้นถิ่น แต่ก็เพียงไม่นานแล้วก็เงียบหายไป จนวันที่ 9 ก.ย.2547 ดีเอสแอล (สำนักงานอัยการคดีพิเศษ) ส่งฟ้องจำเลย 5 คนที่ศาลอาญาโดยมีมือปืน 2 คน คือ นายเสน่ห์ เหล็กล้วน และนายประจวบ หินแก้ว ในข้อหาร่วมกันฆ่า นายเจริญ โดยเจตนา และไตร่ตรองไว้ก่อน โดยมีนายธนู นายมาโนช และนายเจือ หินแก้ว เป็นจำเลยข้อหาร่วมกันใช้ จ้างวานให้ฆ่าผู้อื่นจากการซัดทอดของมือปืน แต่ชาวบ้านปฏิเสธที่จะเป็นโจทก์ร่วมในคดี
      
       “ แม้จะส่งฟ้องผู้ต้องหา 5 คน แต่คำสารภาพของจำเลยสองคนที่เป็นมือปืนที่บอกว่าโกรธ เพราะเคยไปด่าแม่เขา มันเป็นเรื่องที่เราค้างคา และเชื่อว่า มือปืนมีมากกว่า 1 ชุดตำรวจจับได้ไม่หมด ขณะที่ดีเอสไอก็ไม่ได้สืบเสาะพยานหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อผูกมัดความผิดให้กับ ผู้จ้างวาน”
      
       ปมที่ยังหาทางคลี่คลายไม่ได้ในใจชาวบ้าน ก็คือ คนร้ายรู้ได้อย่างไรว่า เจริญ ออกเดินทางจากบ่อนอกเข้ากรุงเทพฯ และจะกลับมาถึงบ้านในเวลา 3 ทุ่ม และพบว่า มีอีกหลายประเด็นที่สามารถเชื่อมโยงไปสู่ผู้กระทำความผิดได้ แต่ไม่ได้นำมาขยายผลในชั้นสืบสวน เช่น สัญญาณโทรศัพท์ที่ระบุว่าเป็นการติดต่อระหว่าง นายมาโนช หินแก้ว จำเลยในข้อหาจ้างวานฆ่าผู้อื่นโดยพิจารณาไตร่ตรองไว้ก่อนกับ นายเสน่ห์ เหล็กล้วน (มือปืน) ซึ่งตำรวจยืนยันว่าสามารถตรวจสอบสัญญาณได้ แต่เรื่องนี้กลับเงียบหายไปจากสำนวนคดี
      
       “ จากการที่ชาวบ้านอย่างเราสันนิษฐานได้ ก็คือ เราเชื่อว่า เจริญ ถูกออกแบบให้ออกจากพื้นที่ และถูกออกแบบว่าจะต้องกลับรถเที่ยวไหน และน่าจะต้องมีคนตาม เจริญ มาจากสายใต้ และโทร.ส่งข่าวกับมือปืนเป็นระยะ” กรณ์อุมา ตั้งข้อสันนิษฐาน
      
       ในระหว่างการฟ้องร้อง ขั้นตอนการรอขึ้นศาล และรอสืบพยานมีเหตุการณ์หลายอย่างที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการส่งประเด็นนำสืบไปที่ศาล จ.ประจวบคีรีขันธ์ เนื่องจากอัยการให้เหตุผลว่าเพื่อสะดวกแก่พยานโจทก์ ทว่า ในการสืบพยานโจทก์ครั้งแรกจำเลยในคดีก็เลี่ยงไม่มาศาลโดยอ้างสิทธิการส่งประ เด็นในพื้นที่ ชาวบ้านจึงขอโอนคดีไปสืบที่ศาลอาญาเช่นเดิม โดยระหว่างนั้นจำเลยซึ่งเป็นมือปืนทั้งสองก็สิ้นลมในเรือนจำ รวมแล้วเวลาที่ใช้ในการโอนคดีไปมาทั้งสิ้น 2 ปี โดยเริ่มสืบพยานครั้งใหม่ที่กรุงเทพฯเมื่อ มิ.ย.2549 และจบการสืบพยานจำเลยปากสุดท้ายวันที่ 3 ต.ค.2549 โดยปลายเดือน ต.ค.ศาลนัดพร้อมเพื่อแจ้งวันพิจารณาคดี ซึ่งตรงกับวันที่ 30 ธ.ค.2551

   
อนุสาวรีย์เจริญ วัดอักษร จากเพื่อนเครือข่ายศิลปินเพื่อสิ่งแวดล้อม ตั้งอยู่ใกล้จุดที่เจริญเสียชีวิต
       **จากเพื่อนนักเคลื่อนไหว
      
       จินตนา แก้วขาว ประธานกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูด บอกว่า บทเรียนที่ได้เรียนรู้จากการตายของเจริญ ก็คือ ที่สุดแล้วได้เห็นความเห็นใจจากชาวบ้าน ได้อนุสาวรีย์แห่งการต่อสู้ของประชาชนจากเครือข่ายศิลปินเพื่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนั้น ชาวบ้านหวังพึ่งอะไรไม่ได้เลย
      
       “ เราไม่ได้ชี้นำศาล ว่า วันที่ 30 ธันวาคม ให้ตัดสินออกมาอย่างไร แต่เราคิดว่ามันสิ้นสุดตั้งแต่ชั้นตำรวจแล้ว เราเคยหวังให้เจ้าหน้าที่ที่มาช่วยสืบสวนสอบสวนดึงเรื่องออกไปจากบ่อนอกให้ม ากที่สุดจึงถ่อไปหาดีเอสไอ แต่สิ่งทีได้เรียนรู้อีกบทหนึ่งตลอดการตายของ เจริญ ก็คือ ดีเอสไอ ก็คือ กลุ่มการเมืองดีๆ นี่เอง” จินตนา แสดงความเห็น
      
       ด้านชัยณรงค์ วงค์ศศิธร ตัวแทนกลุ่มรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอก สรุปความเชื่อเอาไว้อย่างกินใจว่า...
      
       “ ผมไม่สงสัยว่าคดีของ เจริญ ทำไมถึงสามารถบิดคดีได้ขนาดนี้ อำนาจทุนมหาศาลที่เอื้อโดยอำนาจรัฐนั้น เบี่ยงเบนข้อเท็จจริงได้เสมอ เวลาชาวบ้านเป็นผู้เสียหาย สำนวนจากตำรวจอ่อนปวกเปียก ถึงมืออัยการยิ่งอ่อนเข้าไปใหญ่ เพราะฉะนั้นศาลก็ต้องพิจารณาจากสำนวนอยู่แล้ว ชาวบ้านจึงไม่ได้ตั้งความหวังอะไรมากมาย”
      
       ขณะที่ แสงชัย รัตนเสรีวงษ์ ทนายความชาวบ้าน ผู้หยัดยืนเคียงข้างศพของ เจริญ มาโดยตลอด เปิดเผยว่า ที่สุดแล้วชาวบ้านและคนที่รู้จัก เจริญ รู้ดีว่า เขาไม่ได้ตายเพียงเพราะมีความขัดแย้งส่วนตัวกับนักเลงท้องถิ่น และดูเหมือนว่า เมื่อจับผู้สังหารได้แล้วเรื่องจบลงง่ายๆ เฉกเช่น กรณีอื่นๆ หากแต่กรณีของ เจริญ ได้ถูกนำให้เข้าไปพิสูจน์ในทุกช่องทางที่สามารถทำได้ เมื่อถึงวันตัดสินทุกคนมีคำตอบอยู่ในใจโดยที่ไม่ต้องพูดอยู่แล้วว่า คำตัดสินจะออกมาเป็นแบบใด เนื่องจากที่ผ่านมาชาวบ้านรับรู้โดยตลอดว่าข้อมูลที่เข้าสู่ชั้นศาลนั้นชัดเ จนพอหรือไม่
      
       “เชื่อว่า เจริญ ไม่ใช่นักต่อสู้รายสุดท้ายแน่นอนที่ต้องตาย แต่การตายของเขาจะต้องไม่สูญเปล่า วันนี้ ชาวบ้านบ่อนอกช่วยกันตีแผ่ให้สังคมได้รับรู้ว่า การต่อสู้ของพวกเราไม่ได้แค่พยุงจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แต่เรากำลังต่อต้านนโยบายที่ไม่เป็นธรรมนอกเหนืออื่นใดพวกเราชาวบ้านต้องร่ว มกันยืนหยัด และเข้าใจว่า ข้อเท็จจริงที่ชาวบ้านมีนั้นเป็นส่วนที่ตำรวจไม่ได้นำเข้าสู่ศาล และศาลท่านมีข้อจำกัดในการพิจารณาข้อเท็จจริง เราจึงควรเคารพข้อพิจารณาอันจำกัดนี้”
      
       ปิยะ เทศแย้ม ประธานกลุ่มอนุรักษ์ท้องถิ่นกุยบุรี-บ่อนอก อาจจะเป็นคนเดียวที่เห็นต่างจากตัวแทนชาวบ้านและเพื่อนผอง เขาเชื่อว่า สักวันหนึ่งบ้านเมืองจะต้องมีการพลิกฟ้าพลิกแผ่นดิน เขายังเชื่อว่า คุณธรรม และจริยธรรม จะยังมีให้เห็นในกระบวนการยุติธรรม
      
       **จับตา หลังศาลพิพากษา
      
       กรณ์อุมา บอกว่า ไม่ว่าผลของการตัดสินจะออกมาเป็นเช่นไรก็ตาม สิ่งที่เธอจะต้องทำ ก็คือสานต่อเจตนารมณ์ของสามี นั่นคือ การต่อสู้กับพลังทุนและผลักดันให้พวกเขาออกจากพื้นที่ แม้ขณะนี้โรงไฟฟ้าที่เคยร่วมกันคัดค้านจะล้มเลิกไปแล้ว ทว่า ยังมีโครงการที่เรียกว่า Western Seaboard ที่สภาพัฒน์พยายามผลักดันให้ประจวบคีรีขันธ์เป็นมาบตาพุดแหล่งที่สอง โดยอ้างแต่เพียงทุน และอุตสาหกรรมโดยลืมธรรมชาติและวิถีชีวิตของชาวบ้าน
      
       สำหรับคดีของ เจริญ นั้น กรณ์อุมา บอกว่า ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าหากศาลอาญายกฟ้องแล้วเธอและชาวบ้านบ่อนอกจะทำอย่างไร จะอุทธรณ์หรือไม่ เนื่องจากต้องประชุมและร่วมกันตัดสินใจ อย่างไรก็ตาม อาจจะมีการเคลื่อนไหวอะไรบางอย่างหลังจากมีคำพิพากษาแน่นอน จึงอยากให้จับตาดูกันต่อไป แต่สำหรับเธอเชื่อแน่แล้วว่า การตายของเจริญ เป็นตัวอย่างและบทเรียนที่ดีของชาวบ้านและบทพิสูจน์ที่ว่า “ตายสิบ เกิดแสน” นั้นได้เป็นข้อจริง
      
       วันนี้ศพของ เจริญ วัดอักษร ยังตั้งอยู่ที่วัดสี่แยกบ่อนอก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ คงต้องจับตาดูนับจากนี้ว่าเมื่อผลการอ่านคำพิพากษาผ่านไป กรณ์อุมา ผู้เป็นภรรยาจะทำอย่างไรต่อไป แต่สิ่งที่เธอและชาวบ้านจะไม่มีทางหยุดเลย ก็คือ การต่อต้านภัยจากนโยบายรัฐที่คุกคามธรรมชาติ และวิถีชีวิตของคนประจวบคีรีขันธ์
      
       “คดีของ คุณเจริญ มันจบนานแล้ว แต่การเรียนรู้และบทต่อสู้ของชาวบ้านยังไม่จบ” เธอบอกทิ้งท้าย


http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9510000152910

    เจริญ วัดอักษร คือฮีโร่ของสามัญชนครับ
เป็นคนธรรมดา แต่มุมมองต่อโลกและสังคมไม่ธรรมดา
ขอคารวะและไว้อาลัยครับ
mon

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น