++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันเสาร์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2551

“ดร.เอนก” ชู “พันธมิตรฯ” ไม่ใช่แค่ม็อบ แต่เป็น “การเมืองแห่งศรัทธา”

อดีตคณบดีรัฐศาสตร์ มธ.“เอนก เหล่าธรรมทัศน์” เผยผ่าน “เนชั่น” การชุมนุมของ “พันธมิตรฯ” วันนี้ ไม่ใช่แค่ม็อบ แต่เป็นการเมืองภาคประชาชน ที่มาจากศรัทธาของปวงชน และเงินซื้อไม่ได้ ชี้ “หมัก” ลาออกไม่ใช่การยอมแพ้ แต่เป็นสปริตผู้นำประเทศที่ทั่วโลกทำ เมื่อถูกประชาชนแม้เพียงบางส่วนไม่พอใจการทำงาน
       

       วานนี้ (3 ก.ย.) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตรองหัวหน้าพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา ให้สัมภาษณ์ในรายการ คมชัดลึก ทางสถานีโทรทัศน์เนชั่นแชนนัล ถึงกรณีที่ ส.ส.พรรคพลังประชาชน ออกมากล่าวว่า หากนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ลาออกตามที่ กลุ่มพันธมิตรฯ เรียกร้อง ในอนาคตการบริหารบ้านเมืองจะยากลำบาก เพราะตัวนายกรัฐมนตรีถูกเปลี่ยนตัวได้ง่ายๆ เพียงแค่มีคนกลุ่มหนึ่งมาเรียกร้องให้ลาออก
      
       ทั้งนี้ ดร.เอนก แสดงทัศนะว่า ระบบที่สามารถเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีได้ง่ายนั้น ถือเป็นจุดแข็งของระบอบรัฐสภา มากกว่า เพราะเมื่อการบริหารมีปัญหา ก็ควรมีการเปลี่ยนแปลงนายกรัฐมนตรีได้ง่าย เพื่อให้การบริหารประเทศเป็นไปอย่างราบรื่น ส่วนกรณีที่ นายสมัคร กล่าวว่า ตนได้รับเลือกตั้งมาจากเสียงข้างมาก จึงไม่จำเป็นต้องลาออกนั้น ตนว่าเป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น เพราะผู้นำในต่างประเทศหลายคน เช่น นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ก็มาเป็นนายกฯด้วยเสียงข้างมากเช่นกัน แต่เมื่อประชาชนเคลือบแคลงใจ เพราะนโยบายบางอย่างประชาชนต่อต้าน การลาออกก็ถือเป็นสปริตของผู้นำประเทศที่ทั่วโลกทำกัน ดังนั้น การลาออกจึงไม่ใช่การยอมแพ้ หรือทำให้การเมืองปกครองยากลำบาก แต่เป็นการเสียสละเพื่อให้ประเทศบริหารงานไปได้อย่างราบรื่นเท่านั้น
      
       ดร.เอนก กล่าวด้วยว่า โดยส่วนตัวแล้ว ตนคิดว่า การชุมนุมของพันธมิตรฯ ในวันนี้ เกิดขึ้นจากความรู้สึกของคนที่เบื่อการเมืองรูปแบบเดิมๆ ซึ่งมวลชนเหล่านั้นเริ่มสงสัยว่า แท้จริงแล้วนักการเมืองทั้งหลายที่มีในสภาขณะนี้ เป็นการเมืองที่ทำเพื่อประโยชน์ของประชาชนอย่างที่พูดไว้จริงหรือไม่ หรือแท้จริงแล้วก็เป็นการธุรกิจการเมืองเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง และพวกพ้อง คนเหล่านั้นจึงมาแสดงความสงสัย บนท้องถนน
      
       นอกจากนี้ ตนยังคิดว่า กลุ่มพันธมิตรฯ ในวันนี้ไม่ใช่แค่ม็อบ แต่เป็นการเมืองแห่งศรัทธา เป็นการเมืองแห่งคุณค่า เพราะเห็นได้จากการที่เมื่อแกนนำเรียกร้องให้มวลชนไปช่วยปกป้องสถานีโทรทัศน ์เอเอสทีวี ที่มีข่าวว่าจะถูกกลุ่ม นปช.มาบุก มวลชนก็รีบไปในทันที ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งที่บอกได้ว่า คนที่ไปร่วมไปด้วยความรู้สึกและศรัทธา เพราะการว่าจ้างไม่สามารถดึงศรัทธาคนได้มากถึงขนาดนี้
      
       นอกจากนี้ ตนยังเห็นด้วยกับการเมืองใหม่ของพันธมิตรฯ ในแง่มุมที่ต้องการสรรหาคนจากกลุ่มอาชีพต่างๆ เข้ามาดำรงตำแหน่ง แต่โดยรวมแล้วตนก็ยังไม่เห็นด้วยที่จะให้นำมาใช้ในตอนนี้ เพราะตนมองว่าสัดส่วนที่ให้ ส.ส.มาจากการเลือกตั้งเพียง 30% และจากสรรหา 70% นั้น ตนมองว่ายังเป็นเรื่องใหม่มาก ที่ประชาชนส่วนใหญ่อาจยังต่อต้านอยู่ ดังนั้น แนวคิดดังกล่าวจึงควรเป็นหลักการเอาไว้ เพื่อให้สังคมพูดคุยทำความเข้าใจให้ละเอียดก่อนน่าจะดีกว่า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น