++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพุธที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2551

วัวพ่อพันธุ์ - นวนิยายชุดส่งเสริมการเกษตร

ปัญญา ฤกษ์อุไร

(นวนิยายเก่าที่ตีพิมพ์ในพ๊อคเกตบุคส์ หนอนยิ้ม เมื่อ พ.ศ.2530)

            ผมออกจากบ้านแต่เช้า ตั้งใจว่าจะไปเซ็นใบโฉนดที่ดินที่ตั้งอยู่บนโต๊ะทำงานกองท่วมหัวท่วมหูให้หมดเสียที ชาวบ้านเขาอยากได้โฉนดเร็วๆ กะว่าวันนี้จะเซ็นโฉนดให้ได้สัก 100-200 ใบ
            สั่งรถออกจากบ้านพักรองผู้ว่าราชการจังหวัดอย่างคนอารมณ์ดี ฮัมเพลง.... "ฉันรักคนแก่ ใครจะทำไม?" .....ไปเรื่อยๆ
            "ท่านครับ... วันๆเห็นท่านนั่งเอาแต่เซ็นหนังสือลูกเดียว ไม่เห็นออกท้องที่บ้างเลย ...ไม่เซ็งแย่หรือครับ"

            ไอ้คูณ คนขับรถผมเอ่ยขึ้นตามประสาคนปากอยู่ไม่สุข
            "อ๊วไม่เซ็นแล้วใครจะเซ็นวะ โฉนดที่ดินเป็นตั้งๆ" ผมบอกมัน
            "ความจริงการออกโฉนดเป็นอำนาจของผู้ว่าเขาโดยเฉพาะนะท่าน เขาน่าจะเซ็นเอง ทำไมจึงมามอบให้ท่านเซ็นก็ไม่รู้" บักคูณออกความเห็น
            "ก็เพราะผู้ว่าเขามีคนติดตารางแทนน่ะซี เซ็นโฉนดถ้าผิดพลาดดีไม่ดีติดคุก ผู้ว่าที่เขามีความคิดปราชญ์เปรื่องอย่างผู้ว่าของอั๊วคนนี้ เขาไม่โง่มานั่งเซ็นโฉนดอยู่หรอก ...." ผมบอกบักคูณมัน
            "อ้อ ยังงั้นหรือครับ " ว่าแล้วบักคูณมันก็หัวเราะเห็นเหงือกแดงแจ๋
            พอขึ้นถึงศาลากลางเซ็นหนังสือไปได้สักพักหนึ่ง เกษตรจังหวัดก็มาขอพบเพื่อปรึกษาเรื่องงาน
            "มีอะไรก็ว่าไป" ผมเอ่ยขึ้นก่อน เกษตรจังหวัดคำนับผมครั้งหนึ่งแล้วนั่งเก้าอี้ตรงกันข้ามกับผม
            "เรื่องการจัดซื้อวัวพ่อพันธุ์แจกให้กลุ่มเกษตรกรนั่นแหละครับ มันมีปัญหา" เขาชี้แจง
            "ผมไม่เห็นมีปัญหาอะไร เรื่องส่งเสริมการเลี้ยงวัวพันธุ์ดี ผู้ว่าเขาก็ส่งเสริมอยู่แล้ว เงินงบประมาณที่จะซื้อวัวพ่อพันธุ์ตัวละหมื่นห้าพันบาทเราก็ตั้งไว้แล้ว และได้รับอนุมัติให้ซื้อได้แล้ว 100 ตัว เป็นเงิน หนึ่งล้านห้าแสนบาท และจะมีปัญหาอะไรอีก ?"
            ผมถามเขา....ตามที่ผมรู้เรื่องมาแต่ต้น
            "ก็เพราะมันมีเรื่องเงินเข้ามาเกี่ยวข้องน่ะซีครับ ผมถึงบอกกับท่านรองว่า มันมีปัญหา" เขายืนยัน
            "ไหนลองเล่ามาซิว่า ปัญหาของคุณมันอยู่ที่ตรงไหน บางทีผมอาจจะช่วยคุณแก้ไขได้บ้าง"
            "คือ....อ้า..คือ... ทีแรกผมคิดเอาไว้และวางแผนตามโครงการเอาไว้ว่า วัวพ่อพันธุ์ในราคาตัวละหมื่นห้านี้จะซื้อพ่อวัวพันธุ์ บรามันห์ จากเกษตรที่กรุงเทพ ฯ เพราะพ่อพันธุ์เขาได้มาตรฐานดี...."
            "ก็ดีแล้วนี่.... ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ?"
            "แต่..ผู้ว่าท่านไม่เห็นด้วยน่ะซีครับ"
            "ก็เป็นหลักการที่ดี ทำไมท่านไม่เห็นด้วยเล่า" ผมชักจะสงสัย
            "คือ... ท่านบอกว่า เราควรจะส่งเสริมชาวเกษตรพื้นบ้านของเราเอง โดยซื้อวัวพ่อพันธุ์จากชาวบ้านที่เขาผสมลูกวัวขาย ชาวบ้านเขาจะได้มีรายได้เพิ่มขึ้น และเงินก็จะได้หมุนเวียนอยู่ในจังหวัด ไม่ไปกองอยู่ในกรุงเทพฯ " เขาชี้แจง
            "ก็เป็นความคิดที่ดี เป็นการส่งเสริมให้คนในท้องถิ่นมีงานทำ มีรายได้ ถ้าจะทำอย่างที่ท่านผู้ว่าคิดก็ไม่มีอะไรเสียหาย น่าจะซื้อเอาภายในจังหวัดก็ได้ " ผมออกตามความเห็นผู้ว่า เกษตรจังหวัดตีหน้าเบ้ สั่นหัวไปมา
            "เป็นไง คุณไม่พอใจหรือ? หรือคุณไม่เห็นด้วย มีเหตุผลอย่างไรก็ว่ามา"
            " คือ..วัวพันธุ์ที่จะซื้อมาเป็นพ่อพันธุ์นั้น ต้องเป็นพ่อพันธุ์ชั้นหนึ่ง จึงจะได้ผลดี ไม่ใช่วัวพ่อพันธุ์ชั้นลูกชั้นหลานซึ่งเป็นชั้น 2 ชั้น 3 ไป ที่เรามีอยู่ในกลุ่มเกษตรกรนั้นเป็นวัวพันธุ์ที่กลายไปมากแล้ว จะไม่ได้ผลสมตามความมุ่งหมายของทางราชการ ถ้าจะให้ได้ผลดีต้องซื้อวัวพันธุ์ชั้นที่หนึ่ง จากกรมส่งเสริมการเกษตรหรือกรมปศุสัตว์ของเกษตร" เขาชี้แจงในทางเทคนิค
            "แล้วทำไมคุณไม่ชี้แจงท่านผู้ว่าแบบนี้ ให้ท่านเข้าใจ" ผมซักต่อ
            "ผมชี้แจงแล้ว แต่ท่านไม่เห็นด้วย ท่านยืนยันจะซื้อวัวพ่อพันธุ์ภายในจังหวัดให้ได้ ยิ่งกว่านั้นท่านแย้มๆออกมาว่าจะให้ผมซื้อจากเถ้าแก่จุ้ยในตลาดด้วย"
            "อะไรกัน เถ้าแก่จุ้ย แกเป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง แกไม่มีอาชีพเลี้ยงวัว ยิ่งกว่านั้นแกไม่มีอะไรที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรเลย นอกจากซื้อถูกขายแพงลูกเดียว...." ผมชักเอะใจในความคิดของผู้ว่า
            "นั่นน่ะซิครับ..ผมถึงได้กลุ้มใจอยู่ทุกวันนี้ มีคนที่จะช่วยพูดกับท่านผู้ว่าได้ก็มีท่านรองนี่แหละ ช่วยเกลี้ยกล่อมให้ท่านผู้ว่าซื้อวัวพ่อพันธุ์จากเกษตรให้ที"
            เขาว่าแล้วก็ลุกขึ้นโค้งคำนับออกจากห้องทำงานของผมไป ผมมานั่งนึกตรึกตรองดูเห็นว่าเกษตรจังหวัดมีเหตุผลดีกว่าผู้ว่า เพราะวัวพ่อพันธุ์ควรจะเป็นวัวพ่อพันธุ์ชั้นที่หนึ่ง  จะได้ให้พันธุ์วัวที่ตัวใหญ่และแข็งแรง ถ้าซื้อวัวชาวบ้านอาจได้พ่อพันธุ์ชั้นสองชั้นสาม อาจให้ลูกไม่ดีนัก และชาวเกษตรกรเองก็คงอยากได้พ่อพันธุ์ที่ดีที่สุด เมื่อคิดหน้าคิดหลังดีแล้ว ผมจึงเข้าพบผู้ว่าซึ่งอยู่ห้องทำงานติดกัน
            ผู้ว่าเงยหน้าขึ้นมองผม ความจริงผู้ว่าคนนี้ก็คุ้นเคยกันมาก่อน ไม่ใช่ใครที่ไหน สมัยเมื่อผมเป็นเลขานุการกรมการปกครองก็เคยนั่งเกาะโต๊ะผมอยู่บ่อยๆ ขอให้ช่วยพูดกับอธิบดีเรื่องโน้นเรื่องนี้อยู่เสมอ
            "ท่านรองมีธุระอะไร ว่าไปเลย"
            "เรื่องการซื้อวัวพ่อพันธุ์ แจกกลุ่มเกษตรกรนั่นแหละครับ"
            "ผมสั่งเกษตรจังหวัดไปแล้วให้ซื้อจากกลุ่มเกษตรกรในท้องที่จังหวัดเรา เงินจะได้ไม่หมุนเวียนไปที่อื่น คงอยู่ในจังหวัดเรา"
            "ท่านครับ...แต่วัวภายในจังหวัดเป็นวัวพันธุ์ ชั้น 2 ชั้น 3 ไม่ดีเท่าที่เราตั้งเป้าหมายเอาไว้ เกรงว่าเกษตรกรเขาจะไม่พอใจ .....อีกประการหนึ่งเกษตรจังหวัดเขาก็ไม่เห็นด้วย เขาเห็นว่าควรจะซื้อจากเกษตรมากกว่า...."
            "พวกคุณเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เสียเปล่าไม่รู้จักการหมุนเวียนเงินทางเศรษฐกิจเพื่อให้ท้องถิ่นเจริญ ซื้อที่กรุงเทพฯ เงินก้ไปกรุงเทพฯ หมด ถ้าซื้อที่นี่ ซื้อจากกลุ่มเกษตรกรเงินก็อยู่ในกลุ่มเกษตรกร เป็นการส่งเสริมอาชีพเขาอย่างหนึ่ง ทำให้เขามีกำลังใจในการเลี้ยงวัวเพิ่มขึ้น เป็นการช่วยเขาในทางเศรษฐกิจอีกทางหนึ่ง คุณเรียนมาทางกฎหมายอาจมองคนละแง่กับผม เรื่องนี้ผมรับผิดชอบเอง และผมก็ได้สั่งการไปแล้วให้ซื้อวัวพ่อพันธุ์ภายในจังหวัดของเรา โดยวิธีพิเศษไม่ต้องประกวดราคา"
        ผมได้ฟังดังนั้นก็รู้โดยสัญชาติญาณว่าถึงเอาช้างมาลากผู้ว่าก็คงไม่เห็นด้วย คงต้องซื้อวัวพ่อพันธุ์ภายในจังหวัดวันยังค่ำ ไม่มีทางเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น
            ต่อมาอีกประมาณ 15 วัน เถ้าแก่จุ้ยคนสนิทของผู้ว่าในทางเศรษฐกิจก็ออกกว้านซื้อวัวพ่อพันธุ์จากบรรดากลุ่มเกษตรกรทั้งหลายทั่วทุกอำเภอๆละ 5 ตัวบ้าง 10 ตัวบ้าง จนได้ครบ 100 ตัว ตามจำนวนที่ต้องการ วัวที่ซื้อมาเป็นวัวตัวผู้พันธุ์ บรามันท์ แต่เป็นพันธุ์ชั้นที่ 2 หรือ 3 ไม่ใช่พ่อพันธุ์ชั้นที่ 1
            ผู้ว่าตั้งกรรมการตรวจรับวัว 100 ตัวโดยให้เกษตรจังหวัดเป็นประธานกรรมการ ป้องกันจังหวัดเป็นกรรมการ หัวหน้าสำนักงานจังหวัด เป็นกรรมการ ตรวจรับวัว 100 ตัว
            การตรวจรับวัวเป็นไปด้วยความเรียบร้อยไม่มีปัญหาอะไร ตัวประธานกรรมการไม่สู้จะแฮปปี้นัก เพราะไม่ได้วัวตามที่ตนต้องการ แต่ก็พูดอะไรไม่ได้มาก
            ต่อมาอีกหลายวัน ผมออกจากบ้านพักแต่เช้าตามเคย เพราะมีงานเซ็นหนังสือมากมายอย่างว่า
            "ท่านรองครับ" บักคูณเรียกผม
            "หือ....ว่าไง?" ผมตื่นจากภวังค์
            "วันนี้คงสนุกแน่" บักคูณบอกผม   
            "สนุกยังไง" ผมสงสัย
            "คือท่านผู้ว่าท่านนัดแจกวัวพันธุ์ที่สนามหน้าศาลากลางจังหวัด ....คงจะสนุกกันใหญ่"
            "แจกวัวพ่อพันธุ์เรื่องธรรมดา อั๊วไม่เห็นว่ามันจะสนุกอะไรเลย " ผมบอกมัน
            "ท่านคอยดูไปก็แล้วกัน เพราะท่านก็เป็นรองประธานในการแจกวัววันนี้ บางทีท่านอาจจะต้องแจกวัวแทนท่านผู้ว่าบ้างก็ได้ " พูดจบมันก็อมยิ้มแก้มตุ่ยน่าเตะเป็นกำลัง
            เวลา 10.00 น. บรรดาพ่อค้าข้าราชการที่ได้รับเชิญมาเป็นเกียรติในการแจกวัวพ่อพันธุ์ให้กลุ่มเกษตรกรก็มาพร้อมกันอย่างคับคั่ง ผู้ว่าท่านต้องการให้คนทั้งหลายทราบว่าได้มีการซื้อวัวพ่อพันธุ์จริง และเมื่อซื้อแล้วก็มีการแจกวัวดังกล่าวให้กลุ่มเกษตรกรจริง ไม่ได้เอาไปขายโรงฆ่าสัตว์ หรือเอาไปทำลูกชิ้นขาย
            วัวพ่อพันธุ์จำนวน 100 ตัว ยืนกันหน้าสลอน บางตัวก็เคี้ยวเอื้องอยู่ บางตัวก็เอาหางปัดยุงไปมา บางตัวก็ขี้ราดแปร๊ดๆอยู่แถวนั้น วัวทุกตัวต่างมีพวงมาลัยรวมที่คอทำให้ดูสวยงามมีชีวิตชีวาขึ้นไปอีก
            เวลา 10.30 น. ผู้ว่าซึ่งเป็นประธานในพิธีเดินย้ายพุงหัวล้านเหม่งมาถึง แตรวงบรรเลงเพลงมหาฤกษ์มหาชัย ทุกคนรวมทั้งผมด้วยลุกขึ้นยืนกระย่องกระแหย่งทำท่าตรงโดยที่ไม่แน่ใจว่ายืนเคารพผู้ว่าหรือเคารพวัว (เพราะผู้ว่ายืนอยู่หลังวัว)
            เกษตรจังหวัดกล่าวรายงานถึงความเป็นมาของโครงการส่งเสริมการเกษตร จากนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดก็กล่าวตอบ เนื่องจากจังหวัดของเรานี้มีทุ่งหญ้ากว้างใหญ่ไพศาลทุกอำเภอ (เนื่องจากโรงเลื่อยตัดไม้ไปขายหมดแล้วจึงเหลือแต่ทุ่งหญ้า) ความในวงเล็บผู้ว่าไม่ได้พูด ผมคิดเอาเอง เมื่อผู้ว่ากล่าวจบก็มีพิธีจับสลากวัว ซึ่งวัวทุกตัวมีหมายเลขประจำตัว กลุ่มเกษตรกรกลุ่มไหนจับสลากได้หมายเลขใด ก็จะได้วัวพ่อพันธุ์หมายเลขนั้นไปเป็นสมบัติของกลุ่ม หลังจากจับสลากเสร็จแล้ว ก็มีเกษตรกรกลุ่มหนึ่งโวยวายขึ้นมา

            "วัวพ่อพันธุ์แบบนี้มันจะใช้ได้ที่ไหน วัวเฮงซวย มันจะไปเพาะพันธุ์ได้ยังไง" เสียงหัวหน้ากลุ่มเกษตรกรบักสีหัวคลอนเอะอะโวยวายขึ้น
            "ไหนวัวตัวนี้มันเสียหายอะไรหา ?" เกษตรจังหวัดหันไปถามบักสีหัวคลอนเสียงเครียดๆ เพราะแกเป็นประธานกรรมการตรวจรับวัว
            "ก็วัวตัวนี้มันชื่อไอ้ด่าง มันเป็นวัวของผมเอง มันเป็นวัวแก่เต็มที อายุมันปาเข้าไปตั้ง 20 กว่าปีแล้ว ปลดชราแล้ว ผมจึงขายไอ้เถ้าแก่จุ้ยไป ผมคิดว่ามันจะเอาไปส่งโรงฆ่าสัตว์ ผมขายมันไปแค่ 4 พันเท่านั้น " บักสีหัวคลอนอธิบาย
            "วัวแก่ก็ไม่เป็นไร มันยังผสมพันธุ์ได้ ก็ไม่เห็นจะเป็นอะไร "เกษตรจังหวัดเถียงบักสี ในใจนึกโมโหตะหงิดๆ  ที่ไอ้จุ้ยมันไปซื้อวัวแก่มาแหกตาจังหวัดได้
            "มันไม่ใช่แก่อย่างเดียวนะซีครับ....วัวผมตัวนี้หำมันเน่า ผมเลยตัดหำมันทิ้งไปตั้งนานแล้ว แล้วมันจะเอาอะไรไปผสมพันธุ์เล่าครับในเมื่อหำมันไม่มี " บักสีมันยืนยันว่าวัวตัวนี้ยังไงก็ทำพ่อพันธุ์ไม่ได้แน่นอนเพราะเขาตัดมังกรมันออกเสียแล้ว
            เกษตรจังหวัดโมโหจนหน้าเขียว เกาหัวยิกๆ หันไปทางเถ้าแก่จุ้ยที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของผู้ว่า
            "ไอ้จุ้ย..ไอ้เจ๊กเฮงซวย .....ลื้อซื้อวัวแก่มาสี่พัน แล้วมาขายจังหวัดตัวละหมื่นห้า....วัวแก่อั๊วไม่ว่า แต่ยังถูกตัดหำทิ้งอีก ....ลื้อนี่คดโกงราชการนี่หว่า อั๊วต้องเอาเรื่องลื้อแน่....อั๊วไม่ปล่อยเอาไว้หรอก....ลื้อไม่ใช่เตี่ยอั๊วนี่หว่า....." เกษตรจังหวัดพูดจบก็จุ๊ปากจิ๊กจั๊ก
            "อั๊วไม่ได้คดโกงทางราชการ....มันเป็นเรื่องเสกสะกิดหมุงเวียง ลื้อม่ายเข้าจาย....ไม่เชื่อลื้อไปถามอาผู้ว่าลูก้อล่าย...."
            "เศรษฐกิจหมุนเวียนในจังหวัด" เถ้าแก่จุ้ยมันเข้าใจตอบ
            "หมุนเวียนดีจริงๆนะครับท่านผู้ว่า" ผมได้แต่รำพึงในใจ ไม่กล้าพูดกับผู้ว่าถึงเรื่องนี้อีกเลย เพราะเกรงท่านผู้ว่าจะเหยียบเอา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น