++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันศุกร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2551

เมื่อผมเข้าสู่วัยสูงอายุ - ประมวล ใจรักษ์

เรื่องเล่าเก่าเก็บ เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๐
โดย ประมวล ใจรักษ์

            ตั้งแต่หัวผมเท่ากำปั้น ไม่รู้ว่าเป็นยังไง ผมเป็นคนที่ไม่ชอบคน ทั้งๆที่ผมก็เป็นคน ถ้าให้ผมอยู่ร่วมกับคนเป็นหมู่มาก  จะทนอยู่ได้แค่ประเดี๋ยวประด๋าวเท่านั้น เพราะคนบางคนเหม็น จนทำให้สภาพแวดล้อมเป็นพิษ ใครก็ไม่สามารถจะกำจัดคนที่ทำให้สิ่งแวดล้อมเสีย ออกไปได้
            ยิ่งได้เข้ามาใช้ชีวิต การทำมาหากิน อยู่ในเมืองหลวงที่เจริญ ก็ยิ่งพบคนมากมายหลายหน้า ทั้งหน้ายักษ์ หน้ามาร หน้าทหารตำรวจ หน้าประชาชนพลเมือง มีมากหน้าหลายตา หลบหนีไปทางไหนก็เจอคน ขึ้นรถก็เจอคน ดูหนังก็เจอคน หนีไม่พ้นแน่ เพราะอยากเสือกเกิดมาเป็นคน
            เมื่อทุกคนเกิดมาเป็นคน ผมก็เป็นคน เลยต้องใช้วิธีหนีคน เข้าไปเดินตามตรอกซอกซอย ออกช่องโน้นทะลุช่องนี้ จนตำรวจสงสัย บางคนสวนกับคนรู้จักหรือเพื่อนฝูงกลางตรอก ร้องถามผมหรือไม่ก็หยอกล้อว่าผมเดินหลบเจ้าหนี้ พูดก็พูดเหอะ คนที่เดินตามตรอกโบราณเขาว่าเป็นผู้ดี สำหรับคนที่เดินถนน เขาเรียกว่า "ขี้ครอก" มีสำนวนหนึ่งที่ว่า "ผู้ดีเดินตรอก ขี้ครอกเดินถนน" ผมจำขึ้นใจ เพราะผมเป็นผู้ดีที่มีหนี้สินรุงรัง
            มีอยู่วันหนึ่งฤดูฝนฝนตกหนัก ตรอกที่ผมเดินอยู่เป็นประจำเกิดเข้าไม่ได้ ถึงเข้าได้ก็ออกไม่ได้เลยไม่เข้า จึงทะลึ่งออกมาเดินถนนใหญ่ เป็นถนนสายสำคัญที่เจ้าใหญ่นายโตมักใช้เป็นทางสัญจร พอโผล่ออกถนนสายนั้น เกือบหกล้มแข้งขาหัก ทานเดินเท้าตลอดทั้งสองฝั่งมีแต่น้ำขัง ถนนทางเดินพัง รถจอดแน่น เห็นคนยืนรอรถเมล์ยืนอย่างแปลกคน เอาขาข้างหนึ่งแช่น้ำ อีกข้างหนึ่งอยู่บนที่แห้ง
            อะไรกันเจ้าประคุณลุนช่อง ก็นึกอยู่ในใจแล้วเชียวว่าจะไม่ออกมาเห็นถนน ก็ต้องออกมาจนได้ พอจะข้ามทางม้าลาย รถก็จะคาบเอาไปกิน ขืนเดินต่อไปคงไม่ไหวแล้วเรา เลยหักตัวเลี้ยวโค้งเข้าโรงแรมริมถนนใหญ่สายนั้น มีแอร์เย็นเฉียบ มีกาแฟและขนมให้กินด้วยอิ่มไปได้มื้อหนึ่ง เช้านั้น เปล่านะครับ อย่าเข้าใจเป็นอย่างอื่นว่าทำไมจึงเข้าไปกินกาแฟในโรงแรมชั้นหนึ่งได้
            ที่เข้าไปได้ก็เพราะว่า การประกานครหลวงสี่แยกแม้นศรี โดยทางฝ่ายประชาสัมพันธ์เขาสะกิดผมไว้ก่อนให้เข้าไปฟังหมอเสนอพูดให้กับพนักงานที่จะเกษียณอายุฟัง ซึ่งมีหัวข้อเรื่องว่า "ทำอย่างไรจึงไม่เหงาเมื่อออกจากงาน" หรือ "เมื่อมีอายุมากจะปฏิบัติตัวอย่างไร" อะไรทำนองนี้แหละครับ ผมพูดไม่ค่อยถูก ศัพท์แสงของทางราชการ
            วันนั้นเท่าที่ผมสังเกตดู มีคนเข้ารับฟังทั้งสิ้นสักร้อยกว่าคน มีทั้งคนผมหงอก คนผมดำและคนผมดำกลายเป็นคนผมหงอก นั่งฟังกันอย่างเงียบๆ คงจะนึกอยู่ในใจว่า "ตัวเรานี่แก่แล้วรึไง" แม้จะมีเสียงหัวเราก็หัวเราไม่ดัง เพียงเบาะ เบาๆ โธ่...พ่อดอกลำดวนอย่าทำน้อยใจเลยน่า ฟังเอาไว้ไม่เสียหลาย แก่แล้วลูกหลายจะได้ไม่ด่าว่าแก่ตัณหากลับ แม้แต่ผมเองอายุย่างเข้าสู่วัยเบญจเพสช่วงปลาย ยังเข้าไปนั่งฟัง คิดว่าสักวันก็ต้องแก่เหมือนกัน
            หมอเสนอท่านเริ่มยกตัวอย่างตั้งแต่การเกิดเป็นคน เอาแต่การที่ไข่ผสมพันธุ์แล้วแบ่งตัวเป็นเซลล์ จากหนึ่งเป็นสอง จากสองเป็นสี่ เรื่อยไปจนถึงจำนวนเป็นล้านเซลล์ แล้วเซลล์ก็รวมตัวเป็นกลุ่มๆเจริญขึ้น แล้วเปลี่ยนเป็นรูปอวัยวะ ถึงเป็นคนตัวเล็กๆขึ้นมาอาศัยอยู่ในมดลูกของแม่ จนเติบโตอยู่ภายในท้อง เมื่อครบจำนวน 280 วัน จึงคลอดออกจากท้อง เบิกเปลือกตามองโลก
            ขอโทษ...ผมข้ามไปขั้นตอนหนึ่ง ตอนที่อยู่ในท้อง เด็กจะมีความสุขและความอบอุ่นตามธรรมชาติ แม้จะไม่มีผ้าห่มผ้านวมหรือเสื้อกันหนาวใส่ เด็กก็ไม่เดือดร้อน เพราะท้องแม่มีครบทุกอย่าง ร้อนก็เย็น หนาวก็อุ่น ไม่เหมือนโลกภายนอก ได้รับออกซิเจนอย่างดี ตลอดจนมีการขับถ่ายของเสียออกจากร่างกายทางเลือดจากสายรกที่ติดฝังอยู่ภายในมดลูกของผู้เป็นแม่ตลอดเวลา แล้วจึงจะคลอดออกมา เรียกว่าวัยแรกเกิดหรือวัยเริ่มต้นของชีวิตที่อุบัติขึ้นมา อย่างงี้ถึงจะตามขั้นตอน
            หมอเสนอว่าเรื่อยไป พร้อมกับแบ่งเป็นขั้นๆ ของการมีชีวิตมองโลก ตั้งแต่วัยแรก วัยที่สองหรือที่เรียกว่าวัยทารก (ไม่ใช่เฒ่าทารก) เป็นวัยที่คลอดออกมาจนถึงอายุสองขวบ ซึ่งเป็นชีวิตที่เริ่มต้นประสบกับความเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง ต้องหายใจเอง ต้องกินอาหารเอง ต้องย่อยอาหารเอง ต้องขับถ่ายของเสียออกจากร่างกายเอง และร่างกายจะต้องสร้างความอบอุ่นขึ้นกับตัวเอง วัยนี้ชีวิตเติบโตรวดเร็ว รู้จักคว่ำ คืบ คลาน นั่ง ยืน เดิน และวิ่งบ้าง
            ต่อมาก็เป็นวัยที่สามหรือวัยเด็ก แล้วก็วัยที่สี่ วัยหนุ่มสาว วัยนี้เริ่มสนใจเพศตรงข้าม การศึกษา เริ่มต้นมองอนาคต เริ่มจะเป็นผู้ใหญ่ ความนึกคิดต่างค่อยเป็นผู้ใหญ่ขึ้นตามลำดับ ส่วนวัยที่ห้าหรือวัยผู้ใหญ่ วัยนี้เริ่มกันตั้งแต่อายุ 20 ปี ถึง 50 ปี เป็นวัยที่เริ่มต้นประกอบอาชีพ สร้างครอบครัว ทำงานเพื่อตนเอง เพื่อลูก เพื่อเด็ก เพื่อสังคม ประเทศชาติ เมื่อตอนปลายของวัยจะเป็นระยะที่ค่อยๆมองหรือคิดถึงความชราที่ดำเนินใกล้เข้าไปทุกขณะ
            ตอนนี้ก็มาถึงวัยสุดท้าย คือ วัยที่หก หรือจะเรียกว่าวัยสูงอายุ หรือวัยชราก็ได้ วัยนี้ห้องเครื่องภายในร่างกายเริ่มเสื่อม ผิวหนังเหี่ยว ตามัว หูตึง ฟันหัก กระดูกแข็งแต่เปราะ ผมร่วง หัวใจทำงานได้น้อยลง ออกแรงมากๆไม่ได้ วัยนี้มีแต่จะนึกถึงความหลัง ใช้ชีวิจอยู่อย่างเงียบๆ ต้องการความสงบทางใจ และรอเวลาสิ้นสุดของชีวิต
            ทุกคนกลัวชีวิตวัยสูงอายุนี้ กลัวว่าตนจะงกๆเงิ่นๆ กลัวว่าตนจะขาดสมรรถภาพที่จะกระทำสิ่งใดๆหลายอย่างที่พวกเด็กๆ หรือหนุ่มสาวทำกันได้ ทุกคนเฝ้าฝันอย่างหนึ่งคือ มีอายุยืน และไม่อยากต้องเป็นผู้สูงอายุ ผมเคยตั้งข้อคิดเอาไว้ในใจ เพื่อเตรียมตัวเตรียมใจที่จะเข้าสู่วัยนี้อยู่เสมอ ถ้าหากผมเป็นผู้สูงอายุแล้ว ผมควรจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร ที่จะทำให้ชีวิตของผมมีความสุขได้ ข้อคิดของผมนี้ ผมเชื่อว่าท่านผู้สูงอายุหรือผู้ที่ต้องเข้าสู่วัยสูงอายุจะถือเอาเป็นข้อคิดอย่างหนึ่ง
            เมื่อผมเข้าสู่วัยสูงอายุเลย 60-70 ปีไปแล้ว ตามที่ใครๆเรียกกันว่า ชราแล้วนั้น ผมจะไม่พลอยคิดในเรื่องอายุที่ล่วงไปด้วยความหวาดวิตก และคิดว่าผมเป็นคนหนึ่งที่ผ่านชีวิตผ่านโลกมามากพอ มีความเฉลียวฉลาดจากการได้ประสบการณ์ต่างๆพอตัว พอที่จะใช้ประโยชน์กับเด็กๆและหนุ่มสาวมากพอที่จะให้คำแนะนำ ให้ข้อคิดจากความชำนาญของชีวิต อย่างน้อยผมก็ภาคภูมิใจในตนเอง  แม้ร่างกายจะไม่สามารถทำสิ่งใดๆได้เหมือนครั้งหนุ่มสาว
            เมื่อผมเข้าสู่วัยสูงอายุ ผมต้องคอยคิดเสมอว่า ผมจะไม่เอาใจตัวเอง ผมจะคิดอยู่เสมอ เมื่อผมผ่านชีวิตมาแต่ละวันนั้น ผมเคยต้องการ เคยปรารถนาจะกระทำหรือได้สิ่งใด พวกเด็กอายุน้อยกว่าผมย่อมต้องการได้อย่างเดียวกัน ผมจะพยายามเข้าใจเขาเสมอ และผมจะอภัยให้ได้ทุกเวลา เมื่อเขาทำสิ่งที่ผมไม่พอใจ
            เมื่อผมเข้าสู่วัยสูงอายุ ผมจะต้องคิดว่าลูกๆหลานๆ เขาอาจไม่ได้อยู่ใกล้ชิดหรืออยู่รวมบ้านกับผมก็ได้ พวกเขาอาจไปมีอาชีพที่อื่น อาจจากไปอยู่กับครอบครัวของเขา จะคิดเอาว่าลูกคนไหนมีจิตใจเลี้ยงดูผมก็แล้วแต่เขา จะนึกความกตัญญูกตเวทีนั้น จะมัวนึกน้อยอกน้อยใจเหมือนกับคนอื่น ที่คิดน้อยใจหรือต่อว่าพวกลูกๆว่า ขาดความกตัญญูกตเวที ในเมื่อความจำเป็นบางอย่างทำให้เขาไม่อาจมาคอยเฝ้าดูแลผม หรือเข้ามาอยู่บ้านเดียวกับผมได้
            เมื่อผมเข้าสู่วัยสูงอายุ เวลาที่ผมเกิดแสดงอารมณ์เกรี้ยวกราด หงุดหงิดขึ้นมา พวกเด็กๆและลูกหลานก็คงให้อภัยผมบ้าง เพราะผมย่อมจะต้องคิดด้วยเหตุผลต่อมาถึงการกระทำของตน เมื่อมีอารมณ์ต่างๆนั้นสิ้นไป  และย่อมจะเสียใจภายหลัง ผมคอยเตือนตนเองว่า ไม่บังควรจะเอาแต่อารมณ์ของตนอีกต่อไป
            เมื่อผมเข้าสู่วัยสูงอายุ เวลาที่ผมพูดผิดๆ หรือทำสิ่งผิดพลาด ผมก็อยากให้ใครช่วยเตือนช่วยแย้งเหตุผล จะไม่ยอมคิดว่าตนอายุมากๆแล้วจะทำจะพูดอย่างนั้นต้องถูกเสมอไป เด็กรุ่นใหม่ๆอาจมีความฉลาดในบางอย่างยิ่งกว่าผมก็ได้
            เมื่อผมเข้าสู่วัยสูงอายุ เวลาที่เกิดปัญหาบางอย่าง ผมก็ย่อมเหมือนคนอื่นๆ ที่อยากได้คำแนะนำ ให้ข้อปรึกษาหารือบ้าง แต่ก็เฉพาะบางอย่าง และผมเป็นผู้ขอร้องเท่านั้น ดังนั้นผมจะเป็นฝ่ายขอร้องเขา โดยผมไม่อวดถือดีว่าผมรู้อะไรเสียทุกอย่างไปหมด โดยไม่ต้องพึ่งใคร
            เมื่อผมเข้าสู่วัยสูงอายุ ผมจะไม่คอยรบกวนใครๆจนเกินไป ไม่ต้องให้เขามาคอยกังวลสงสารผม จนเขาไม่เป็นอันทำมาหาเลี้ยงชีพของเขา หรือศึกษาทำงานใดๆ ที่เป็นความสุขของคนอื่น ผมจะพยายามระวังตัวของผมเอง จะใช้สมองและความคิดของผมเองตัดสินปัญหาต่างๆของผมเอง ไม่รบกวนใจใครให้มาคอยคิดหรือแก้ไขให้ ผมจะเลือกเสื้อผ้าสวมใส่เอง ไปที่ไหนๆ เวลาใดๆเอง รู้ว่าเวลาไหนควรนอน ควรรับประทานเอง ใครอย่าได้มาเอาใจใส่ผมจนเกินไป ยิ่งไปกว่านั้น ผมจะคอยระวังตัว ไม่ทำตัวเป็นคนแสนงอนเหมือนคนสูงอายุจำนวนมาก
            เมื่อผมเข้าสู่วัยสูงอายุ ผมจะแสวงหาความพักผ่อยหย่อนใจ หาความสนุกเบิกบานใจให้แก่ตน ผมจะเดินทางไปท่องเที่ยวหรืองานเลี้ยงของเพื่อนฝูง ผมจะสำนึกถึงความสำคัญของการมีเพื่อนที่จะมาสนทนากัน วิพากษ์วิจารณ์ถึงความเป็นไปของโลก
            เมื่อผมเข้าสู่วัยสูงอายุ ผมจะปฏิบัติตัวให้ถูกต้องตามหลักสูตรสุขภาพและอนามัยทุกประการ รู้จักที่จะพักผ่อนหลับนอน รู้จักออกกำลังกาย รู้จักเลือกรับประทานอาหาร รู้จักระวังเรื่องท้องผูก รู้จักการรักษาความสะอาดต่างๆ รู้จักการป้องกันโรคภัยไข้เจ็บทุกประการ
            เมื่อผมเข้าสู่วัยสูงอายุ ผมปรารถนาที่จะมีบ้านของผมเอง หรืออย่างน้อยก็ขอให้มีห้องส่วนตัวของผม ผมจะได้ใช้ชีวิตส่วนตัวให้มีความสุขที่ผมปรารถนา ไม่ต้องกังวลเรื่องค่าเช่าบ้าน
            เมื่อผมเข้าสู่วัยสูงอายุ ผมจะให้แพทย์ตรวจร่างกายผมประจำทุก 6 เดือน หรืออย่างน้อยปีละครั้ง เพื่อว่ามีโรคอะไรเกิดขึ้นโดยที่ผมไม่ทราบ จะได้ให้แพทย์รักษาผมแต่ต้นมือ
            ทั้งหมดเป็นเรื่องที่นายแพทย์เสนอ อินทรสุขศรี ท่านตั้งเข็มของท่านไว้ เมื่อท่านเป็นคนสูงอายุ พร้อมกันนั้นท่านยังขมวดท้ายไว้หน่อยหนึ่งว่า ร่างกายของคนเราได้ใช้กันอย่างสมบูรณ์ทุกประการ ตามที่ธรรมชาติบังคับกะเกณฑ์เอาไว้ พบความสุขแล้ว พบความทุกข์แล้ว ได้เห็นโลกเปลี่ยนแปลงไปมาก และพบกับการเกิด การแก่ การเจ็บ และการตายทุกอย่าง ได้พบกับความจริงมาพร้อม เมื่อท่านพูดจบ เสียงบรรดาผู้ที่สูงอายุต่างปรบมือกันกราวใหญ่ เป็นการให้รางวัล
            ซึ่งดูจะมีผลคนเดียวที่ไม่ปรบมือ เพราะผมกำลังนั่งคิดไปว่า  ถ้าผมเข้าสู่วัยสูงอายุแล้ว ผมจะเริ่มศึกษาต่อที่โรงเรียนศึกษาผู้ใหญ่ ผมจะเริ่มผ่อนบ้านและที่ดิน ผมจะเริ่มผ่อนรถยนต์ไว้ขับเป็นของตัวเอง แล้วผมจะเริ่มแต่งงานใหม่ นี่คือสูตรของผม
ตีพิมพ์ใน  "หนอน'ยิ้ม"  พ็อคเกตบุคส์
พ.ศ.๒๕๓๐

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น