++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันศุกร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

เรื่อง คุณค่าของสมาธิ


เรื่อง คุณค่าของสมาธิ

(เริ่มสมาธิ)

ต่อไปนี้ก็ขอให้ญาติโยมทั้งหลาย ตั้งใจที่จะทำความสงบกันต่อไป
คือ นั่งสมาธิ ก่อนนั่งสมาธิ อาตมาจะได้นำก่อน ให้ทุกคนว่าตาม

"ข้าพเจ้าระลึกถึง คุณพระพุทธเจ้า คุณพระธรรม คุณพระสงฆ์
คุณบิดามารดา คุณครูบาอาจารย์
จงมาดลบันดาลให้ใจของข้าพเจ้าจงรวมลงเป็นสมาธิ
พุทโธ ธัมโม สังโฆ (๓ ครั้ง) พุทโธ พุทโธ พุทโธ"

นึกไว้ในใจ นั่งขัดสมาส ขาเบื้องขวาทับขาเบื้องซ้าย
มือเบื้องขวาหงายทับมือเบื้องซ้าย วางไว้บนตัก
นึกพุทโธ หลับตา อย่ากลั้นใจ กำหนดใจของเราไว้ที่ใจ คือหัวอกเบื้องซ้าย
อย่ากลั้นลมหายใจ อย่ากดดันอวัยวะทั้งปวง
ปล่อยร่างกายของเราให้สบาย นึกว่าเราอยู่คนเดียว เกิดมาคนเดียว
ตายไปคนเดียว ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความวิเวก

ความวิเวกนั้นมีอยู่ ๓ ประการ กายวิเวก จิตวิเวก อุปธิวิเวก
วิเวกนั้นแปลว่าปราศจากเครื่องกังวล เรียกว่าวิเวก
หรือปราศจากสิ่งรบกวน เรียกว่าวิเวก กายวิเวกนั้น คือการแยกออก
หมายถึงว่า อยู่ส่วนเดียว ให้กายเรานี้ ไม่ปะปนคนอื่น เรียกว่า กายวิเวก

เมื่อได้กายวิเวกแล้ว เราก็ทำจิตของเราให้สงบ
ความสงบของจิตนั้นเรียกว่า จิตวิเวก
ถ้าจิตยังมีอารมณ์อยู่ตราบใด จิตนั้น ก็ยังไม่เป็นจิตวิเวก
ยังเป็นจิตที่เกี่ยวข้องกังวล แต่เมื่อจิตนั้นไม่มีอารมณ์ไป…ปราศจากอารมณ์ทั้งปวง
เหลือแต่พุทโธเท่านั้น ก็เรียกว่า จิตวิเวก

อุปธิวิเวกนั้นได้แก่ผู้บำเพ็ญวิปัสสนา
สามารถกำจัดกิเลส มีราคะเป็นต้น ไปจากจิตได้ เรียกว่า อุปธิวิเวก
วิเวกทั้ง 3 ประการนั้น มีส่วน ซึ่งจะอุปการะซึ่งกันและกัน
เราต้องการความวิเวก บางท่านจึงได้ออกธุดงค์ไปตามที่ต่างๆ
เพื่อที่จะให้ปราศจากเครื่องกังวล ในป่า ในดง ในถ้ำ ในภูเขา ในบ้านร้าง

อรัญเญ รุกขมูเล วา สุญญาคาเร จ ภิกขโว
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ส่วนที่จะทำให้เกิดความวิเวกนั้น
อรัญเญ คือในป่า รุกขมูเล คือใต้โคนต้นไม้
สุญญาคาเร ในเรือนว่าง นี้เรียกว่ากายวิเวก
ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่จะทำให้เกิดจิตวิเวกในเวลาต่อมา

พวกเราท่านทั้งหลาย ที่ได้ประชุมกันอยู่
ในระยะที่พวกเราพากันอยู่จำนวนมากเช่นนี้ แต่เรามีความสงบ
มีความเงียบ ก็ชื่อว่าเป็นจิตวิเวกเช่นเดียวกัน
ผู้ที่ไปอยู่ในป่า หรือผู้ที่ไปอยู่ในโคนต้นไม้ แต่ไม่มีความสงบ คุยกันบ้าง
หรือมีอะไรก็หัวเราะเฮฮาไปตามเรื่องตามราว
ถึงแม้จะอยู่ในป่าก็ไม่ได้กายวิเวก ถึงแม้จะไปอยู่ใต้โคนต้นไม้ ก็ไม่ได้กายวิเวก
แต่ถ้าหากว่า อยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก ไม่มีเสียงอื้ออึงคนึง
ไม่มีการคุยหัวเราะเฮฮา อย่างนี้ก็ถือว่าได้กายวิเวกเช่นเดียวกัน

ยกตัวอย่างเช่น พุทธบริษัทที่ได้มาฟังธรรมเทศนา จากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ณ ลัทถิวัน นครราชคฤ ซึ่งมีพระเจ้าพิมพิสารเป็นหัวหน้า
ได้นำประชาชนมาเป็นจำนวนถึง ๑๒ หมื่นคน ๑๒ หมื่นคนนั้น
ก็มากกว่าที่เรานั่งอยู่นี้ถึงหลาย ๑๐ เท่า และท่านเหล่านั้นก็ได้กายวิเวก

เมื่อมาถึงพระพุทธเจ้าแล้ว มีคนจำนวนมาก
ไม่มีแม้กระทั่งกระแอม…และกระ…และการกระแอมไอ
หรือไม่มีแม้กระทั่งจะพูดจาเสสรวล
เพราะฉะนั้น แม้จะอยู่เป็นจำนวนหมื่น จำนวนแสน ก็ถือว่าเป็นกายวิเวก
ซึ่งในกาลต่อมา ท่านทั้งหลายเหล่านั้น ตั้งอกตั้งใจ ฟังธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า
ท่านทั้งหลายเหล่านั้น ก็ได้จิตวิเวก ในเวลาต่อมา

จิตวิเวกนั้นก็คือจิตของท่านไม่เกี่ยวข้องกังวลด้วยอารมณ์
ความคิด ความนึกต่างๆ ไม่ได้มาเป็นภัยอันตราย เพราะจิตนั้นแน่วแน่
ฟังคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ซึ่งในที่สุด บริวารของพระเจ้าพิมพิสาร จำนวน ๑๒ หมื่นคน
ก็ได้สำเร็จเป็นพระอริยบุคคลเสีย ๑๑ หมื่นคน
ซึ่งก็เรียกว่า ได้ผลถึง ๙๐ เปอร์เซ็นต์

อันนี้เป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่า แม้การอยู่จะมากมายเพียงใด
แต่ว่ามีความสงบเงียบไม่มีแม้การกระแอมไอ ก็ได้ชื่อว่าเป็นกายวิเวก
อันเป็นอุปกรณ์ส่วนหนึ่ง ที่จะให้ถึงจิตวิเวก
การปราศจากหรือการที่จะทำให้จิตของเราปราศจากซึ่งอารมณ์นั้น
บางครั้งบางคราว เราก็ต้องอาศัยผู้ที่อยู่ร่วมกัน ต่างคนต่างนั่ง
ต่างคนต่างนิ่ง ต่างคนต่างอดทน ถ้าเราจะไปทำอะไรซักคนหนึ่งก็อายเขา
หรือเราจะไปทำ เคลื่อนไหวอะไรสักนิดหนึ่งก็อายเขา
เพราะฉะนั้น เมื่อเป็นเช่นนั้นก็เป็นการบังคับตนของตนไปในตัวเสร็จ

ในสมัยที่อาตมาเคยไปนั่งสมาธิร่วมกับประชาชนเป็นอันมากในอดีตนั้น
ก็อาศัยเหตุอันนี้ เพราะในคราวที่เจ็บปวดเมื่อยอย่างหนัก
ถ้าหากเราจะเคลื่อนไหวร่างกาย ก็จะแสดงว่าเรานี้เป็นคนไม่เอาไหน
เป็นที่ดูถูกต่อเพื่อนฝูง ก็อาศัยความอดทนอันนั้น
แต่ก็เพราะอาศัยความอดทนอันนั้น ในที่สุดจิดมันก็รวม บังเกิดผลขึ้นมาได้
เขาเรียกว่า อัญญะ มัญญัง อาศัยซึ่งกันและกัน

(กระแสเทศนาธรรมทำให้จิตสงบ)

นอกเหนือจากนั้น กระแสธรรมเทศนาก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้จิตสงบ
ในสมัยที่อาตมายังเคยอยู่กับ หลวงปู่มั่น ในอดีตนั้น
เคยมานั่งฟัง เวลาท่านอธิบายธรรมะ บางครั้งท่านจะอธิบายถึงชั่วโมง
บางครั้งท่านอธิบายถึง ๓ ชั่วโมงก็มี ทำไมท่านจึงได้พูดนานนักหนา
ทำไมท่านได้อธิบายมากนักหนา ทำไมถึงจะจดไหว ทำไมถึงจะจำไหวมากมายเหลือเกิน
พูดไปอย่างไม่หยุดยั้ง เป็นเวลา ๑ ชั่วโมง เป็นเวลา ๓ ชั่วโมงนั้น
เป็นคำพูดนับเป็นหมื่นเป็นนับเป็นหมื่นเป็นแสนคำ
ซึ่งไม่สามารถจะจดจำได้หรอก แต่ว่าท่านได้เคยอธิบายว่า
"กระแสธรรมเทศนานั้น เป็นกระแสที่มีทรงอานุภาพ
ที่ว่าทรงอานุภาพนั้น เพราะสามารถสะกดจิตของบุคคลให้สงบได้"

เป็นความจริง ในเมื่ออาตมาได้ฟัง
แม้จะเป็นเวลาถึง ๓ ชั่วโมง ก็เหมือนกันกับเพียงนาทีเดียว
เพราะเหตุใด เพราะเหตุว่าพลังจิตของท่าน และกระแสธรรมที่ออกจากจิตของท่าน
ได้ไปบังคับจิตของเรานั้นให้ลงสู่ภวังค์ หรือบังคับจิตของเรานั้นให้ลงสู่จุดใดจุดหนึ่ง
ที่เป็นจุดที่จะเกิดพลังงาน หรือเป็นจุดที่จะเกิดความเยือกเย็น
หรือเป็นจุดที่จะเกิดความละเอียดอ่อน และธรรมะนี้สามารถที่จะเข้าไปสู่จุดนั้นได้จริง

เพราะฉะนั้น อาตมาจึงใช้วิธีการที่ได้เคยได้ผลมาแล้ว
นำมาใช้แก่ญาติโยมทั้งหลาย ในสถานที่แห่งนี้ หรือสถานที่อื่นๆ ก็ได้ผลตามลำดับมา
เพราะเหตุใด เพราะเหตุว่า

กระแสธรรมเทศนานั้น เป็นกระแสที่มีความคม
เป็นกระแสที่มีความลึกซึ้ง ผู้ที่ฟังนั้น ไม่จำเป็นต้องจดจำ
เพียงแต่กำหนดจิตให้เป็นภาชนะเท่านั้นเอง
กระแสธรรมเทศนานี้ จะลงไปสู่จุดที่ตนต้องการ

ภาชนะ ถ้าหากว่าหงาย ก็สามารถรองรับน้ำฝนได้เต็มที่
ภาชนะ หากว่าคว่ำ น้ำฝนตกเท่าใดก็ไม่ได้
ฉันใดก็ฉันนั้น การที่กระแสธรรมเทศนา ก็เปรียบประดุจน้ำอมฤต
ที่จะเข้ามาชำระล้างจิต ข้อนี้จึงไม่มีความสงสัยเลย
ในเมื่อท่านปัญจวัคคีทั้ง ๕ ได้ฟังพระธรรมเทศนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เมื่อจบพระธรรมเทศนา ท่านก็ได้ถึงซึ่งวิมุติ คือความหลุดพ้นจากอาสวกิเลสทั้งมวล

ประชาชนที่มาฟังคำสอนของพระพุทธเจ้า ในเวลาทุกวันทุกวันนั้น
พระพุทธองค์ได้ทรงภาษิต ธรรมะต่างๆ เข้าสู่หัวใจพุทธบริษัทเหล่านั้น
เมื่อจบพระธรรมเทศนา มหาชนเป็นอันมากก็ได้บรรลุมรรคผลธรรมพิเศษต่างๆ
มีพระโสดาบันเป็นต้น ทุกครั้งไป

เราท่านทั้งหลาย แม้เราจะไม่ถึงแก่การบรรลุ
แต่เราก็บรรลุสิ่งหนึ่ง คือความเย็น หรือความสบาย หรือความผ่องใส
หรือความสะอาด หรือความสงบ ย่อมเกิดขึ้น นั่นแหละ เรียกว่าผลบังเกิดขึ้น

การบังเกิดผลขึ้นนั้น หมายความถึงว่า ผลที่เกิดขึ้นจากความนิ่ง
จิตของเราที่จะเกิดพลังได้นั้น เกิดขึ้นจากความนิ่ง
เมื่อนิ่งเท่าไหร่ เมื่อรวมตัว ย่อลงมามากเท่าไหร่
หรือเป็นหนึ่งมากเท่าไหร่ พลังจิตก็ยิ่งจะเกิดมากยิ่งขึ้นเท่านั้น

การที่เราพากันสร้างความดีขึ้นนี้ หมายความถึงว่า
ความดี ย่อมจะยังความบริสุทธิ์ให้เกิดขึ้น
ความบริสุทธิ์นั้น จะต้องปราศจากอาสวกิเลส เรียกว่า ความบริสุทธิ์
กิเลสนั้น มี ความโลภ ความโกรธ ความหลง
มีราคะ โทสะ โมหะ ๓ ประการ เรียกว่าเป็นรากเหง้าของกิเลส

รากเหง้าของกิเลสนั้นเป็นอยู่ภายในจิตของเรา ไม่ได้อยู่ที่อื่น
ฝังสนิทอยู่ในจิตของเรานี้ตลอดดึกดำบรรพ์มาแล้ว
นับเป็น อเนกชาติ ติสัง สารัง คือนับชาติไม่ถ้วน
ที่กิเลสเหล่านี้ ได้ฝังสนิทอยู่ในใจของเรา

เพราะฉะนั้น เราจะเดินที่ไหน เราจะมาที่ไหน เราจะอยู่อย่างไร
อาสวกิเลสเหล่านี้ ก็คืออยู่ในจิตของเรานั่งเอง
เพราะฉะนั้น ในเมื่อเราพากันสร้างพลังจิตชนิดหนึ่งเข้า
พลังจิตอันนี้จะเข้าไปเป็นการต่อสู้ คือการต่อสู้กับพวกกิเลสเหล่านี้

เมื่อการต่อสู้กันขึ้นมันก็เรียกว่ากระทบกระเทือน
กิเลสมันเคยมีอำนาจ มันเคยเป็นใหญ่ในใจของเรา มาบัดนี้เรากำลังที่จะขจัด
หรือเรียกว่า กำจัดมัน ซึ่งไม่มีครั้งใดหรือไม่เคยที่จะถูกทำร้ายหรือถูกกำจัดเช่นนี้
มันก็จะต้องลุกขึ้นต่อสู้

(ต่อสู้มาร)

เพราะฉะนั้นผู้ที่จะมาทำสมาธิหรือผู้ที่จะมาบำเพ็ญความดี
จึงจำเป็นต้องต่อสู้มานับตั้งแต่เราคิด
เราคิดว่าจะมาทำสมาธิอยู่ทีบ้านก็ต้องต่อสู้แล้ว
ว่าเราจะมาดีหรือไม่มาดี ในที่สุดเมื่อเราแพ้ก็ไม่มา
แต่ถ้าเราชนะก็มา ก็หมายความว่าชนะไปขั้นหนึ่ง

เมื่อชนะแล้ว มาถึงกลางทาง ก็ยังต้องลังเลและสงสัยว่า
เราจะไปดีหรือไม่ไปดี กลับบ้านซะดีกว่าหรือไง
อย่างนี้ก็เรียกว่าต่อสู้กันใหม่อีก

เช่นเดียวกันกับพระพุทธเจ้าของเรา ในครั้งที่พระองค์เป็นสิทธัตถะ
เมื่อเสด็จออกจากมหาราชวังถึงกลางทาง
ก็มีพญามารมาดัก บอกว่า อย่าไปเลยสิทธัตถะ ท่านกลับไปอีก ๗ วันเท่านั้น
ท่านก็จะได้เป็นเจ้าจักรพรรดิแล้ว ท่านจะออกไปบวชทำอะไร

พระพุทธ…พระสิทธัตถะในขณะนั้นจึงได้กล่าวกับพญามารบอกว่า
ดูก่อน พญามาร น้ำลายที่เราบ้วนออกไปแล้ว
เราจะไม่เอามันกลับคืนมาอีก
พระองค์ก็ชนะไป

พวกเราก็เช่นเดียวกัน ในเมื่อเราชนะกลางทางแล้วก็มาถึงสถานที่
เมื่อมาถึงสถานที่ก็ยังคิดว่า เราจะเอาอย่างไร
เมื่อเราเอาได้ก็ได้ เอาไม่ได้ เรากลับซะเรอะอย่างนี้
มันก็เกิดขึ้นในจิต แต่ในขณะนั้นเราก็ได้ต่อสู้
ในที่สุด มัน…เราก็สามารถนั่งสมาธิได้ ก็ถือว่าชนะ เป็นขั้นที่ ๓

จากนั้นก็เกิดความกระวนกระวายในจิตใจ
อยากจะคุยบ้าง อยากจะพูดบ้าง อยากจะทำอย่างนั้นบ้าง
อยากจะเคลื่อนไหวร่างกายบ้าง อะไรๆ ต่างๆ เหล่านี้
ก็ล้วนแล้วแต่เป็นขันธมาร ที่จะมากระทำเรานี้ให้เกิดความเปลี่ยนแปลง
เรียกว่าเป็นเรื่องที่ต่อสู้ นี่หมายถึงพวกกิเลส
เมื่อเป็นเช่นนั้นมาจนกระทั่งถึงอารมณ์ ที่เราจะทำให้จิตของเรานี้สงบ
มันก็เอาทางไหนไม่ได้แล้ว มันก็เอาทาง "อารมณ์"

อารมณ์เหล่านั้น ก็เข้ามากวนใจของเรา
บอกว่าเวลานี้งานนั้นยังมี เวลานี้งานนี้ยังมี
ทำไมไม่ทำงานนั้น มามัวนั่งอยู่ทำไม
นี่ มันก็ทำให้อารมณ์ต่างๆ เกิดขึ้น
เมื่อเป็นเช่นนี้ เราก็ต้องต่อสู้กันใหม่ ต่อสู้ไปต่อสู้มา พวกมันก็แพ้
เหลือแต่จิตดวงเดียว
เมื่อเหลือแต่จิตดวงเดียวได้
ทีนี้ความชนะอยู่แค่เอื้อม ที่เราจะเหยียบศีรษะของพญามารได้แล้ว
ก็คือความเป็นหนึ่งของจิต

(เมื่อจิตเป็นหนึ่ง)

เมื่อความเป็นหนึ่งของจิตเกิดขึ้น เค้าเรียกว่า น้ำจิต
น้ำจิตที่เกิดความเป็นหนึ่งนี้ ถือว่าเป็นสมาธิ
ความเป็นสมาธิเกิดขึ้นครั้งใด ท่านทั้งหลายพึงเข้าใจว่า เราได้ชนะมารครั้งนั้น
ครั้งหนึ่ง ครั้งสอง ครั้งร้อย ครั้งพัน เราได้ชนะมันแล้ว
เมื่อเราทำจิตของเราให้เป็นหนึ่งได้แล้ว
และเราชนะมันแล้ว เราก็จะต้อง รักษาฐานะ

การรักษาฐานะต่อไปนั้น
เป็นสิ่งที่เรามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรักษาฐานะของความเป็นผู้ชนะให้ตลอด
เพราะว่า เมื่อเราจับที่มั่น หรือเรียกว่าบุกยึดที่มั่นของพวกกิเลสได้แล้ว
เราจะไปปล่อย ให้กิเลสมันกลับคืนมายึดที่มั่นอีก เราก็เป็นอันว่า เสียเวลาเปล่า

เพราะฉะนั้นเราจึงจำเป็นจะต้องมีศรัทธาเพิ่มขึ้น มีศรัทธาเพิ่มขึ้นเพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้น
โดยที่เรารักษาฐานะความชนะของเราเอาไว้ให้ตลอดกาล
หากว่าเราสามารถรักษาฐานะของเราให้ตลอดกาลได้
เราก็สามารถสร้างที่มั่นของเราให้เข้มแข็งต่อไป

การสร้างที่มั่นของเราให้เข้มแข็งนั้น จำเป็นต้องใช้กาล ใช้เวลา
เราจะทำสมาธิวันเดียวให้สำเร็จไม่ได้ เราจะทำสมาธิเพียงชั่วขณะสำเร็จไม่ได้
เราจะเป็นที่จะต้องใช้เวลาอันยาวนาน จะเป็น ๕ ปี ๑๐ ปี หรือตลอดชีวิต เราก็ว่ากันไป
อย่างอาตมา เคยสมาธิมาตั้งแต่อายุ ๑๓ มาจนกระทั่งถึงอายุ ๖๔
สมาธินั้นก็ยังต้องตั้งมั่นอยู่ตลอดกาล

เพราะว่า พวกกิเลสอาสวะต่างๆ นั้น มันไม่ได้เลือกว่า เราจะเป็นใคร
องค์นี้เป็นสมเด็จ องค์นี้เป็นเจ้าคุณ องค์นี้เป็นพระธรรมดา องค์นี้เป็นสามเณร
แล้วกิเลสมันจะเลือกย่ำยีกระนั้นหรือ ก็หาใช่ไม่
กิเลสมันก็สามารถย่ำยีได้ แม้จะเป็นพระใหญ่ พระเล็ก หรือจะเป็นสมเด็จ
หรือจะเป็นพระธรรมดา หรือจะเป็นใครก็ตาม กิเลสย่ำยีได้ทั้งหมด

ทางฝ่ายฆราวาสก็เช่นเดียวกัน ผู้ที่มียศถาบรรดาศักดิ์เป็นนายร้อยนายพัน นายพล
หรือจะเป็นอธิบดี หรือจะเป็นผู้ใดก็ตาม ตลอดถึงนายก ตลอดถึงผู้เป็นรัฐมนตรีไม่ว่า
กิเลสนั้นไม่ยอมเลือกบุคคลผู้ใดทั้งสิ้น มันสามารถที่จะเข้าย่ำยีได้

อำนาจที่เกรียงไกรที่สุด จะมีกองทัพมหึมา รถถัง ปืนใหญ่ต่างๆ
จะเอามายิงต่อสู้กับกิเลสนั้น ยิงมันไม่ได้
แต่ว่ากิเลสสามารถที่จะย่ำยีพวกที่มีอำนาจต่างๆ ได้ทั้งสิ้น ไม่ว่าใครทั้งนั้น
และก็ไม่ว่าตลอดจนกระทั่งคนธรรมดา มาจนกระทั่งถึงคนปรกติ
ถึงคนขอทาน มาจนกระทั่งถึง พ่อค้า ประชาชน ทุกคนนั้น
ใครๆ จะคิดว่าเรานี้ เป็นผู้ใหญ่ มีเงิน มีทอง มีข้าว มีของมาก
มีบริษัท มีบริวารมาก กิเลสมันจะไม่ย่ำยีเราเพราะว่าเราเป็นผู้มีหน้ามีตาอย่างนั้นก็ไม่ได้

กิเลสไม่ได้เข้าใครออกใคร สามารถที่จะย่ำยีได้ทุกคน
สามารถที่จะย่ำยีได้ทุกเพศ ทุกวัย ทุกลักษณะ
เพราะฉะนั้น มีอยู่ทางเดียวเท่านั้น คือการทำจิตให้สงบ
คือการเป็นสมาธิของจิต ที่สามารถ ที่เราเองจะต่อสู้ ไม่ให้กิเลสมันย่ำยีเราได้

(ต่อสู้กิเลส)

เมื่อเป็นเช่นนั้น กิเลส…กิเลสที่ มันจะมาย่ำยีเรา
แต่เราก็ยังมีทางที่จะปะทะ หรือมีกำลังต่อสู้กับมัน
ก็ถือว่ายัง ค่อยยังชั่วหน่อย
พวกที่ไม่มีอำนาจที่จะไปต่อสู้กับมัน
หมดหนทาง คือหมดหนทางที่จะสู้กิเลสได้
คนนั้นก็เรียกว่าถูกกิเลสตีย่อยยับไป

การที่ถูกกิเลสตีย่อยยับไปนั้น เขาจะไม่มีสมาธิ
เขาจะไม่มีความดี ไม่มีบุญ ไม่มีกุศล
ไม่มีทาน ไม่มีศีล ไม่มีภาวนา ถูกกิเลสย่ำยีหมดสิ้นแล้ว
เมื่อถูกกิเลสย่ำยีหมดสิ้นแล้ว พวกเขาเหล่านั้น ก็จะต้องไปประสบชะตากรรม
ชาตะกรรมที่จะต้องไปนรกบ้าง ไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานบ้าง
ไปเกิดเป็นเปรต ไปเกิดเป็นอสุรกายบ้าง เหล่านี้ เรียกว่าถูกกิเลสย่ำยี

เงินทอง ข้าวของ ทรัพย์สิน สมบัติ ยศถาบรรดาศักดิ์ทุกประการ
ไม่สามารถที่จะช่วยได้
เมื่อถึงเวลาที่ถูกกิเลสย่ำยีแล้ว ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะใด
ผู้นั้นก็จะต้องลงไปสู่นรก ไปสู่เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉานได้ ด้วยประการทั้งปวง

แต่ถ้าหากว่าเขาเหล่านั้นเป็นผู้ที่มีความต่อสู้
มีความตั้งใจแน่วแน่ มีการต่อสู้ คือต่อสู้ได้ เมื่อต่อสู้ได้แล้วกิเลสมันย่ำยีเหมือนกัน
แต่ว่ามันย่ำยีไม่ไหว เรามีกำลังเหนือกว่า เราก็สามารถที่จะต้านมันได้
เมื่อต้านได้แล้ว เราไม่ต้องไปตกนรก ไม่ต้องไปเป็นเปรต
ไม่ต้องไปเป็นอสุรกาย ไม่ต้องไปเป็นสัตว์เดรัจฉาน

เมื่อเราจะกลับมาเกิดเป็นมนุษย์เราก็พบพุทธศาสนา
แล้วเราก็ ได้มีโอกาสที่จะได้ปฏิบัติความดีอันนี้ คือ ปฏิบัติความดีให้ยิ่งขึ้นไป
รางวัลที่จะได้ก็คือสวรรค์ และพระนิพพานในที่สุด
นั่นคือรางวัลแห่งการต่อสู้ ด้วยความชนะ

ด้วยเหตุอย่างนี้เราก็จงรักษาที่มั่น คือ รักษาที่มั่น
ที่เราชนะแล้วนี้ ให้ชนะอยู่เรื่อยๆ ไป
ถึงเราจะแพ้นิดๆ หน่อยๆ ก็ช่างมันเถอะ
แต่อย่าให้มันแพ้มากนัก แล้วเราให้มีส่วนชนะให้มากที่สุด

(รักษาสมาธิ คือ การทำเพิ่มเติม)

ที่ว่าชนะให้มากที่สุดนั้นก็คือให้จิตนี้สงบให้มากที่สุด
วันหนึ่งสงบครั้งหนึ่ง วันหนึ่งสงบครั้งหนึ่ง ก็พอค่อยยังชั่ว
แต่ถ้าหากว่า 7 วันสงบครั้งหนึ่ง มันก็ค่อยยังชั่ว แต่ค่อยยังชั่วไม่มากนัก
แต่ถ้าหากว่านานๆ สงบครั้งหนึ่ง คราวนี้เห็นจะแย่

เพราะฉะนั้น การรักษาความสงบหรือรักษาฐานะของจิตนี้
พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสว่า เป็นเรื่องใหญ่มาก หรือเรียกว่าเป็นเรื่องสำคัญ
เพราะการรักษาของดีนี้ไม่เหมือนกันกับรักษาของไม่ดี
ของไม่ดีที่เรียกว่าเป็นพวกปุ๋ย เป็นอุจจาระ ปัสสาวะ หรือพวกนั้นน่ะ
พวกปุ๋ยที่กองพะเนินเทินทึก ไว้ในกลางทาง คนก็ไม่ขโมย
หรือว่าก้อนดิน ก้อนหิน กองเอาไว้กลางทาง คนก็ไม่ขโมย ไม่มีใครเค้าอยากได้
หรือว่าขโมยไปมันก็ไม่เสียหายเท่าไร

ส่วนทองคำที่มีอยู่นั้น หรือว่าเพชรนิลจินดาอย่างนี้
ถ้าลองเอาไปตกไว้ข้างทางนั้น ไม่ถึง ๕ นาที มันก็จะหายโดยพลัน
เพราะฉะนั้น การรักษาทองคำ รักษาทรัพย์สมบัติ เพชรนิลจินดาเหล่านี้
เขาจำเป็นจะต้องมีตู้เซฟ เขาจะต้องมีที่อารักขา
เขาจะต้องมีการรักษาหวงแหนอย่างมหันต์อนันต์
เช่นเดียวกันกับความดี หรือสมาธิที่เราได้มาแล้วนี่แหละ
เมื่อเราได้แล้วนี่ เราจะต้องรักษามันเอาไว้ เพราะมันเป็นของดีมีค่าเหลือเกิน

ถ้าหากว่าเราจะไปเปรียบเทียบเงินทองข้าวของ เพชรนิลจินดา
สมาธิมีค่ามากกว่าสิ่งเหล่านั้น หลายร้อยเท่า
เพราะฉะนั้น เพชรนิลจินดา เงินทองข้าวของ เขายังรักษากันอย่างถวายชีวิต
และในเมื่อ สมาธิหรือความดีที่เกิดขึ้นจากสมาธิ
มันเป็นเรื่องใหญ่ยิ่งกว่านั้น ดีกว่านั้น
แล้วเราไม่รู้จักรักษา นี่เป็นผลเสียกับเราอย่างยิ่ง

แต่การรักษานั้น ก็ต้องมีความเข้าใจ
คือเข้าใจว่า การกระทำไปอยู่เสมอๆ ถือว่าเป็นการรักษา
การรักษานั้น คือการเพิ่มเติม เมื่อสมาธิเราทำ ๑ ครั้ง เราทำต่อไป ๒ ครั้ง
เราทำต่อไป ๔ ครั้ง เราทำต่อไป ๘ ครั้ง เราทำต่อไปร้อยครั้ง หลายร้อยครั้ง
อย่างนี้ถือว่าเรารักษาสมาธินี้ ถือว่าเราได้พากันรักษา…รักษาสมาธินี้ไว้ ไม่ให้เสื่อมสูญ

(รักษาศีล สมาธินี้ต้องเท่าชีวิต)

นี่ถ้าหากว่าเราเข้าใจอย่างนี้ได้
เราเองนั่นแหละ จะเป็นผู้มีความ เอาชีวิตถวายด้วยการรักษาสมาธิ
เช่นเดียวกันกับท่านพระเถระ ผู้รักษาศีลของท่านด้วยชีวิต
คือ มีพระเถระองค์หนึ่งนั้น ได้รับนิมนต์ของนายช่างแก้วของนายมณีกานต์
นายมณีกานต์นั้น ก็ได้นิมนต์อาราธนาพระภิกษุองค์นั้น
มาถวายบิณฑบาตทุกวัน ทุกวัน เป็นเวลาถึง ๑๒ ปี

อยู่มาวันหนึ่ง พระเจ้าแผ่นดิน ได้เอาเพชรมาให้นายมณีกานต์นั้นเจียระไน
เมื่อเอามาเจียระไนแล้ว นายมณีกานต์นั้นเผลอก็วางไว้บนเขียง
ในขณะที่มือเปื้อนเลือด เปื้อนเลือดที่สับเนื้อ
ในบ้านนั้นมีนกกะเรียนอยู่ตัวหนึ่ง เห็นเพชรเม็ดนั้น
นึกว่าเป็นก้อนเนื้อมันจึงได้เขมือบเข้าไป

ในขณะที่มันเขมือบเข้าไปนั้น พระเถระองค์นั้นท่านก็นั่งอยู่
เห็นนกกะเรียนตัวนั้นเขมือบเพชรเม็ดนั้นเข้าไปในท้องซะแล้ว
นายมณีกานต์กลับออกมาไม่เห็นเพชรตกใจสุดกำลัง
เพราะว่าถ้าหากว่าไม่ได้เพชรแล้ว หมายถึงว่าชีวิตนี้ไม่มีแล้ว ถูกตัดศีรษะแน่นอน
จึงได้ถาม เพราะว่าไม่มีใคร มีแต่พระองค์เดียวนั่งอยู่นั่น

พระท่านก็บอก…ถ้าหากว่าท่านบอกว่า
นกกะเรียนตัวนั้นกินเพชรเม็ดนั้นเข้าไปแล้วท่านก็จะต้องเป็นอาบัติ
แต่ท่านไม่บอก ท่านไม่บอกก็ต้องเป็นอาบัติ ก็ไม่รู้จะทำยังไง ท่านก็นิ่ง
ถามเท่าไรท่านก็นิ่ง คำพูดนั้น ไม่มีพูดโดยเด็ดขาด

ในที่สุด นายมณีกานต์เห็นว่าพระองค์นี้ อมเม็ด…อมเพชรเม็ดนี้ซะแล้ว
จึงได้เอาตะบองมาตี เอาเชือกมามัด แล้วก็เอาตะบองตีพระ
ตีจนกระทั่งเลือด…ท่านอาเจียรออกมาเป็นเลือด เป็นลิ่มๆ ออกมาจากปาก
เมื่อนกกะเรียนได้กลิ่นเลือด มันก็รีบมาที่ก้อนเลือดนั้น มาถึงก็มากินเลือดพระ

ในขณะนั้นเองนายมณีกานต์โมโหอย่างสุดขีด
จึงได้เตะนกกะเรียนทีเดียว นกกะเรียนนั้นตายทันที
เมื่อนกกะเรียนตายแล้ว พระท่านจึงมองไป
บอกว่า โยม นกกะเรียนตายแล้วใช่ไหม?
บอกว่า ใช่ ท่านก็จะตายเหมือนนกกะเรียนนี่แหละ ถ้าไม่บอกว่าเพชรอยู่ตรงไหน

พระท่านก็บอกว่า เมื่อนกกะเรียนตายแล้ว
อาตมาก็จะบอกให้ว่า เพชรนั้นน่ะ อยู่ในตัวนกกะเรียนนั่นแหละ เพราะมันกินไปเมื่อกี้
นายมณีกานต์จึงได้แล่…จึงได้แล่นกตัวนั้นออก แล้วก็พบเพชรอยู่ในกระเพาะ
เสียใจเป็นอันมากที่ได้ตีพระเกือบตายแล้ว ก็ขอขมาโทษ
แล้วก็ขอให้ท่าน ได้มาฉันที่บ้านของข้าพเจ้าอีกต่อไป

พระองค์นั้นจึงบอกว่า อาตมามาฉัน ๑๒ ปีแล้ว สมควรแก่กาล
ถึงจะฉันอีกต่อไปมันก็ไม่เป็นการสมควรแล้ว
อาตมาจะเข้าป่าแล้ว จึงได้เข้าป่าไปบำเพ็ญสมาธิความเพียร
แล้วก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ในเวลาต่อมา

ความรักษานี่เรียกว่าท่านรักษาศีลของท่านด้วยชีวิต
สมาธิที่เราพากันปฏิบัตินี้ ก็ต้องรักษาด้วยชีวิต
ด้วยเหตุนั้น พระผู้ที่ทรงแก่ธรรมทั้งหลายที่ท่านปฏิบัติ
ท่านจึงเอาชีวิตของท่านเป็นเดิมพันในการที่ท่านจะธุดงค์ไปในป่าดงต่างๆ
เพื่อที่จะรักษาสมาธิอันนี้เอาไว้

พวกเราท่านทั้งหลายเช่นเดียวกัน เมื่อสมาธิเกิดขึ้นมาแล้ว
อย่าได้พากันมีความประมาท
พยายามที่จะรักษาฐานะแห่งความชนะของเราเอาไว้ให้ได้ตลอดกาล

(สมาธิเป็นสิ่งอบรมเรา)

เมื่อเรารักษาสมาธิ สมาธินี้เป็นสิ่งแปลกประหลาดอยู่อย่างหนึ่ง
เมื่อเรารักษาแล้วนี่ สมาธิมัน…จะเป็นการที่อบรมไปในตัวเสร็จ

การอบรมสมาธิไปในตัวเสร็จนั้นก็หมายความว่า จะเจริญยิ่งขึ้น
เมื่อเรารักษาดี ก็หมายความว่าเราทำอยู่บ่อยๆ
สมาธินี้ก็จะก้าวขึ้นจากสมาธิธรรมดา
จนกระทั่งเป็นสมาธิอุปจาระ แล้วก็เข้าไปถึงสมาธิอัปปนา

ท่านทั้งหลาย การที่ทำจิตของตนให้เป็นขณิกสมาธิได้นั้น
ก็นับว่าดีอยู่แล้ว แต่ถ้าหากว่าทำให้ถึงอุปจารสมาธิ ก็ยิ่งวิเศษใหญ่
ขณิกสมาธินั้น คือสมาธิเฉียดๆ
หรือเรียกว่าเป็นสมาธิ มันก็ประเดี๋ยวประด๋าว แล้วก็ไม่สงบแล้ว
ประเดี๋ยวก็คิดอีกแล้ว ประเดี๋ยวก็สงบอีกแล้ว ประเดี๋ยวก็คิดอีกแล้ว
ประเดี๋ยวก็สงบอีกแล้ว อย่างนี้เค้าเรียกว่าขณิกสมาธิ

แต่ถ้าหากว่า สงบโดยที่ไม่มีความคิด มีอยู่ตลอดระยะเวลาอันยาวนาน
จะเป็นชั่วโมง ครึ่งชั่วโมง ก็ไม่นึกคิดไปทางใด อย่างนั้นจึงเรียกว่า อุปจารสมาธิ
ส่วนขณิกสมาธินั้น เป็นสมาธิที่ โดยทั่วๆ ไปสามารถทำได้
ส่วนอุปจารสมาธินั้น เป็นสมาธิพิเศษ
ที่บุคคลจะทำเป็นอุปจารสมาธิได้นั้น ก็ต้องต่อเมื่อมีความชำนาญ

แต่อุปจารสมาธินั้นจะเกิดขึ้นก็เพราะอาศัยขณิกสมาธินั่นเอง
ข้อนี้ก็เหมือนกันกับเด็ก สมาธิขณิกะนั้นก็เหมือนกันกับเด็กอ่อน
แต่สมาธิที่เป็นอุปจาระก็เหมือนกับคนหนุ่มสาวที่มีกำลังเต็มที่อย่างนี้
แต่การที่จะเป็นหนุ่มสาวขึ้นไปได้ ไม่ใช่ว่าจะกระโดดเกิดมาทีเดียวก็หนุ่มเลยก็หาไม่
จำเป็นที่จะต้องเป็นเด็กไปก่อน แล้วถึงจะมาถึงหนุ่ม แล้วถึงจะมาเป็นหนุ่ม ต้องมาจากเด็ก

เพราะฉะนั้น สมาธิของขณิกะนี้ จึงเป็นสมาธิที่เราจะต้องทำมากเหลือเกิน
กว่าที่จะเป็นอุปจาระขึ้นมาได้ คือต้องอาศัยความชำนาญ
ความชำนาญนั้นหมายถึงอะไร ความชำนาญหมายถึง
การที่จิตนั้นเข้าสู่ภวังค์ จิตที่จะสงบเป็นองค์ฌานรึเป็นสมาธิจะต้องผ่านภวังค์เข้าไป

เมื่อผ่านภวังค์เข้าไปนั้น ถ้าเป็นขณิกสมาธิ จะเข้าไปแล้วก็ไม่รู้เรื่องอะไร
จะไปรู้เรื่องเอาก็ต่อเมื่อเลิกจากสมาธิแล้ว
ภายในสมาธิทำอะไรไม่ได้ นั่นคือขณิกสมาธิ
ส่วนที่เป็นอุปจารสมาธินั้น เมื่อเข้าไปในภวังค์แล้วก็ไปทำงานได้ในที่นั้น

(สมาธิมีอุปการะมาก)

ภวังค์นั้น ถ้าเรายังไม่รู้ เราก็คิดถึงเอาเวลาที่เราไปนอนหลับก็แล้วกัน
เวลาที่เรานอนหลับนั่นแหละ เรียกว่าเรา จิตมันเข้าภวังค์
ทีนี้เราจะไปรู้สึกได้เอาก็ต่อเมื่อเราตื่นแล้ว
ในภวังค์นั่นแหละ เราทำอะไรไม่ได้หรอก
เช่นอย่างเรา พอเราฝันว่าเราไปอย่างนั้นอย่างนี้
แล้วเราอยากจะเติมความฝันนั้นให้ยิ่งขึ้นไปกว่านั้นไม่ได้
อันนี้เป็นข้อเปรียบเทียบเหมือนขณิกสมาธิ

แต่ถ้าเป็นข้อเปรียบเทียบถึงอุปจารสมาธินั้น
เมื่อเวลาเข้าไปในภวังค์นั้น เหมือนกับความฝัน
แต่ฝันนั้นสามารถที่จะทำอะไรได้ เช่นอย่าง เมื่อเวลาเห็นบ้าน
เราก็สร้างขึ้นมาให้มันมีหลังคา หรือ บ้าน ให้มันมีภูเขา ให้มันมีต้นไม้ สร้างขึ้นมาได้
หรือเห็นร่างกาย แยกร่างกายออกมา ให้เห็นว่าอันนี้เป็นกระดูก
ให้เห็นว่าอันนี้เป็นคนตาย
คือหมายความว่า ทำงานได้ในภวังค์นั้น จึงเรียกว่าอุปจารสมาธิ

แต่ถ้ายังทำไม่ได้ เราก็ต้องยอมรับตัวของเราเองว่า เรายังเป็นขณิกสมาธิ
แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ขณิกสมาธินั่นแหละ ก็มีคุณานุคุณต่อการงาน
ต่อความที่จะยับยั้งชั่งจิตของเราได้มาก คนเคยโมโห โมโหก็หายไป
คนเคยพยาบาท พยาบาทก็เบาบางลงไป
หรือว่าคนเคยทำงานผิดๆ พลาดๆ แต่ก็ทำงานรอบคอบยิ่งขึ้น
คนที่ไม่เคยได้รับความทรงจำ ก็ได้รับความทรงจำมากยิ่งขึ้น

อุปการะของขณิกสมาธิก็มีมาก เพื่อที่จะเป็น สิ่งที่ช่วยเหลือในกิจการงาน
เมื่อผู้ใด เมื่อเราเกิดมีสิ่งที่…เกิดความเดือดร้อนเกิดขึ้น
มันก็ไม่เดือดร้อนในใจนัก หรือ มันเดือดร้อนขึ้นมา ก็ประเดี๋ยวเดียวก็หาย อย่างนี้เป็นต้น

อุปการะของสมาธินี่มากอย่างนี้ แต่ว่านี่ก็คือเป็นเพียงขณิกะ

แต่ถ้าเป็นอุปจาระแล้ว เราสามารถกดไปได้เลย
เรียกว่ามันจะโมโหขึ้นมาก็กดลงไปได้เลยทันที
อย่างนี้ และอุปจารสมาธินี่เองที่คนทั้งหลายที่เค้าปฏิบัติกัน
พวกฤาษีชีไพรรึว่าพวกใครๆ พากันระลึกชาติหนหลังได้บ้าง
หรือพากันแสดงฤทธิ์ได้บ้าง เหาะเหินเดินอากาศได้บ้าง
บังคับจิตใจบุคคลผู้อื่นได้บ้าง อะไรเหล่านี้เกิดขึ้นจากอุปจารสมาธิ

แต่อันนั้นเรียกว่าเป็นโลกีย์ เมื่อทำไปอย่างนั้น
มันก็ไม่สามารถที่จะกำจัดกิเลสอะไรได้
ก็เพียงแต่ว่า ถ้าทำให้ยิ่งขึ้นไปก็เป็นอรูปฌาน
เมื่อเป็นอรูปฌานแล้วก็เรียกว่าเป็นอัปปนาสมาธิ ก็เรียกว่าเป็นสมาธิขั้นสูง
ขั้นสูงเกินไปอย่างนั้น จะบำเพ็ญวิปัสสนาก็บำเพ็ญไม่ได้ มันสูงเกินไป
ต้องลดจิตลงมาจากอรูปฌาน ให้มาเหลือรูปฌาน จึงจะสามารถบำเพ็ญวิปัสสนาได้

การบำเพ็ญวิปัสสนาก็คือบำเพ็ญในอุปจารสมาธิที่มีความชำนาญ
ชำนาญในการเข้า ชำนาญในการออก ชำนาญในการตั้งอยู่
เวลาจิตที่จะเข้าไปนี่ก็รู้ เวลาตั้งอยู่ก็รู้ เวลาออกมาก็รู้
ถ้าอย่างนั้นเขาเรียกว่าอุปจารสมาธิ

ไอ้ข้อนี้พูดกันง่ายๆ ไม่ต้องพูดกันยากๆ คือพูดกันง่ายๆ ว่าอุปจารสมาธินั้น
ก็คือสมาธิที่ทำงานได้เต็มที่ หรืออยู่ในระหว่างรูปฌาน
เมื่อต้องการจะบำเพ็ญให้เป็นวิปัสสนา
คือบำเพ็ญให้เป็นวิปัสสนาก็กำหนดจิตพิจารณาไปเลย

กำหนดจิตพิจารณาให้เห็น คือกำหนดจิตพิจารณาให้เห็นจริงแจ้งประจักษ์ลงไป
ถ้าอยู่ในอุปจารสมาธิแล้วแจ้ง คืออย่างเราหลับตามองไปเห็นกระดูกหมด
แม้แต่แผ่นดินนี้ก็ไม่สามารถที่จะมาบังได้ ภูเขาก็ไม่สามารถที่จะบังได้
ผู้ที่มีจิตที่ละเอียดเข้าสู่อุปจาระ
และพิจารณาด้วยความชำนาญแล้วนั้นสามารถที่จะมองเห็นได้

เมื่อมองเห็นแล้วก็ดำเนินให้เป็นวิปัสสนาไปก็แล้วกัน
ไม่จำเป็นที่จะต้องเอาไปใช้ทางอื่น ถ้าไปใช้ทางอื่น
เป็นอิทธิฤทธิ์บ้างอะไรบ้างประเดี๋ยวมันก็เสื่อม มันเสื่อมได้
เพราะว่าสมาธินี่มันเป็นสังขารอันนึงเหมือนกัน เอาไปใช้ผิดๆ มันก็เสื่อม

เหมือนกันกับลูกศิษย์ของท่านพระมหากัสปะ ลูกศิษย์ของท่านพระมหากัสปะ
มานพคนหนึ่งนั้นลูกศิษย์ของท่านพระมหากัสปะ
มาเรียนสมาธิกับท่านจนกระทั่งได้อุปจารสมาธิแล้วก็เข้าฌานเหาะไปในอากาศ
เหาะไปเรื่อยไปทุกวัน ทุกวัน วันนึงก็เหาะไป
ไปพบผู้หญิงสาวสวยกำลังเก็บดอกบัวอยู่ที่ในสระ
จิตเกิดปฏิพัทธ์ ตกลงมาจากอากาศ

เมื่อเป็นเช่นนั้น ฌานก็เสื่อมหมด แล้วก็เลยไปได้เสียผู้หญิง
ต่อมาหากินไม่เป็นก็ไปปล้นเค้า เค้าก็จับเอามาประหารชีวิต
ก่อนแต่ที่จะประหารชีวิตนั้น พระมหากัสปะท่านก็สงสารศิษย์ของท่าน เข้าไปใกล้ๆ
แล้วบอกว่า ฌานที่เธอเคยทำน่ะ จิตที่เธอเคยทำน่ะ มันเป็นอย่างนั้น ทำไมถึงไม่ทำ
ว่าเท่านั้นเองล่ะ มานพนั่นก็เข้าฌานได้ ทำลายเครื่องผูกพันธนาการ
เหาะไปในอากาศได้อย่างตามเดิม

เรียกว่า โลกียฌานนั้นเสื่อมได้ ไม่สามารถที่จะไปได้ตลอด
ไม่เหมือนโลกุตระ เพราะฉะนั้นท่านจึงให้ดำเนินวิปัสสนา
การดำเนินวิปัสสนาก็คือ พิจารณาให้เห็นจริง
แจ้งประจักษ์ลงไปในสังขารทั้งหลาย มีรูปเป็นต้น
จะเป็นรูปของเราที่เรายึดว่าเป็นผู้หญิง ผู้ชาย
ยึดว่าเป็นตัวเป็นตนอันนี้แหละ เรียกว่ารูป

เมื่อพิจารณาเห็นจริงแจ้งประจักษ์ลงไปแล้ว
นิพพิทาญาณ คือความเบื่อหน่ายก็บังเกิดขึ้น
เช่นเดียวกับท่านปัญจวัคคีที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงว่า

รูปัง ภิกขเว อนัตตา ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย รูปไม่ใช่ตน
รูปัง นิจจัง วา อนิจจัง วา ติ รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง
ตัสมา ติ ห ภิกขเว เพราะเหตุนั้น ภิกษุทั้งหลาย
รูปังอตีตัง อนาคตัง ปัจจุปันนัง รูปในอดีต อนาคต ปัจจุบัน
สัพพัง รูปัง รูปทั้งปวง
เนสา มะ มะ เนโส ห มัสมิ นะ เมโส อัตตา ติ
ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวตนเรา
เอวะ เมตัง ยถา ภูตัง สมปัญญา ยถาตัปปัง
พิจารณาตามความเป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบ

ถ้าจิตเข้าสู่อุปจารสมาธิแล้วมีความชำนาญแล้ว
สามารถทำปัญญาอันชอบนี้ให้เกิดขึ้นมาได้
แล้วก็เห็นจริงแจ้งประจักษ์ลงไปในสังขารทั้งหลาย
รูปัสมิง ติ นิพินะ ติ ก็เบื่อหน่ายในรูป

แต่การบำเพ็ญวิปัสสนานั้น มีเรื่องที่จะต้องอธิบายเยอะแยะเหมือนกัน
เราจะต้องเข้าใจ ไม่ใช่ว่า ทำปั๊บ ได้ปุ๊บ
เมื่อเกิดนิพพิทาญาณขึ้นมาแล้ว ก็สำเร็จเลย ไม่ใช่อย่างนั้น

จะต้องเกิดนิพพิทาญาณขึ้นมาอีกหลาย แล้วก็ยังมีสิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นมาในที่นี้อีกเยอะ
จะเป็นความละเอียด ความอ่อนนุ่ม ความเบิกบาน ความผ่องใส
แล้วมีธรรมทั้งหลายเกิดขึ้นมาบอกว่า
เราได้สำเร็จอย่างนั้นอย่างนี้อะไรเป็นต้น อย่างนี้เป็นต้น ก็มี

แต่ถ้าหากว่าเราไปหลงเชื่อ เช่นนั้นแล้ว ท่านเรียกว่าเป็น วิปัสสนูปกิเลส
วิปัสสนูปกิเลสนั้น ไม่ได้ทำให้คนไปตกนรกหรอก
แต่ว่าทำให้เกิดความเนิ่นช้าในการปฏิบัติเท่านั้น

เพราะฉะนั้นก้มหน้าก้มตาทำไปเรื่อยไป
แต่การทำ การพิจารณานั้น ท่านไม่ให้พิจารณาหมดเลยเวลานั่งสมาธิ
ไม่ให้พิจารณาหมดเลยอย่างนั้นมันจะเกิดความฟุ้งซ่าน
พิจารณาเพียงชั่วระยะ พอชั่วระยะแล้วก็ละลายทิ้ง
เมื่อทำอย่างนี้จิตมันก็หลุดพ้น คือหลุดพ้นจากอาสวกิเลสด้วยอำนาจแห่งวิปัสสนา

แต่เรื่องของการปฏิบัตินี้ ท่านทั้งหลายจงพากันระวัง
อย่าทำจิตใจของเรานี้ให้เกิดความโลภ ให้พยายามตั้งใจอุตส่าห์ทำไป
จะพบก็ตาม ไม่พบก็ตาม จะเห็นก็ตาม ไม่เห็นก็ตาม จะเป็นก็ตาม ไม่เป็นก็ตาม
จะอย่างไรก็ตาม เรามีหน้าที่ทำ ทำเรื่อยไป
แต่เมื่อมีอะไรเกิดขึ้น แล้ว เราก็แก้ไขตามที่เรามีความรู้
ในที่สุด สมถะเต็มที่ วิปัสสนาเต็มที่ เราก็จะพบหนทางอันบริสุทธิ์

ต่อไปนี้ก็สมาธิกันไปอีกสักพักหนึ่ง

ที่มาแสดงกระทู้ - คุณค่าของสมาธิ (หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร) • ลานธรรมจักร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น