++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพฤหัสบดีที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

หลงทางประชาธิปไตย : เหตุให้คนไทยเบื่อเลือกตั้ง โดย สามารถ มังสัง

เนื้อความตอนหนึ่งในโปฏฐปาทสูตร ซึ่งปรากฏในพระไตรปิฎกเล่มที่ 9 ทีฆนิกายสีลขันธวัคค์ “พระพุทธเจ้าได้เปรียบเทียบสมณพราหมณ์ผู้ที่กล่าวว่า เมื่อ (คน) ตายไปแล้ว อัตตาจะมีความสุขโดยส่วนเดียว แต่สมณพราหมณ์เหล่านั้นไม่รู้อะไรจริงจังเกี่ยวกับข้อที่ตนกล่าวนั้น ว่าเป็นเหมือนชายที่รักหญิงงามในชนบท แต่ไม่รู้ว่าเป็นใคร ชื่ออะไร สกุลอะไร และอยู่ที่ไหน หรือเหมือนคนที่ตั้งบันไดบนทางสี่แพร่งเพื่อขึ้นปราสาท แต่ไม่รู้ว่าปราสาทอยู่ที่ไหน สูงต่ำปานกลางอย่างไร”

จากคำสอนดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่าพระพุทธองค์ได้ทรงสอนในเชิงเปรียบเทียบหรืออุปมาอุปไมยให้เห็น อย่างเป็นรูปธรรม โดยอาศัยนัยแห่งตรรกศาสตร์ที่ว่า การที่คนพูดถึงสิ่งที่ตนเองยังไม่เคยเห็นหรือไม่เคยสัมผัส จนกระทั่งพิสูจน์ถึงความมีความเป็นของสิ่งนั้นว่ามีอยู่จริง และเป็นอยู่จริง รวมไปถึงวิธีการที่จะเข้าถึงภาวะแห่งความมี และความเป็นของสิ่งนั้นอย่างมีเหตุผลด้วย

คำสอนดังกล่าวข้างต้น พระพุทธเจ้าทรงปรารภเหตุคือ คำถาม และข้ออ้างเกี่ยวกับความคิดเห็นของสมณพราหมณ์หรือนักบวชนอกพุทธศาสนาที่มี ความเชื่อว่า เมื่อคนตายไปแล้ว อัตตา หรือที่เรียกว่า จุติวิญญาณในพุทธศาสนาจะเข้าถึงโลกแห่งความสุขโดยส่วนเดียว หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ การเข้าถึงภาวะแห่งความเป็นพรหมตามคติความเชื่อแห่งศาสนาพราหมณ์นั่นเอง และการที่พระพุทธเจ้าตรัสเช่นนี้ก็ด้วยเหตุที่ว่า เมื่อพระองค์ตรัสถามว่า ผู้ที่พูดว่าอัตตาจะมีความสุขส่วนเดียวเมื่อตายไปแล้ว เคยเข้าถึงโลกที่ว่านี้หรือไม่ และได้รู้จักทางที่จะไปสู่โลกที่ว่านี้หรือไม่ เมื่อได้รับคำตอบว่าไม่รู้ ไม่เคยเข้าถึง จึงได้ตรัสเปรียบด้วย 2 อุปมาดังกล่าวแล้วในเบื้องต้น

จากคำสอนในเรื่องศาสนา และเกี่ยวข้องกับเรื่องลึกซึ้งคือ จิตวิญญาณ ก็สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการเปรียบเทียบกับเรื่องอื่นที่มีลักษณะคล้ายคลึง กัน คือ ผู้สอนไม่เคยเห็น และไม่เคยสัมผัสเรื่องที่ตนเองสอน หรือที่ตัวเองแนะนำอื่นๆ โดยเป็นอย่างดี แม้กระทั่งแนวคิดในการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีจุดมุ่งหมายสุดท้ายค่อน ข้างจะเป็นนามธรรมมากกว่าเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความมี และความเป็นแห่งความเป็นประชาธิปไตยตามความมุ่งหมายดั้งเดิมของเจ้าของทฤษฎี นี้กับนักการเมือง รวมถึงนักวิชาการที่นำเอาหลักการที่ว่านี้มาเผยแพร่ และชี้นำประชาชนให้เดินตาม ทั้งๆ ที่ผู้ชี้นำเองก็ยังไม่มีความเป็นประชาธิปไตย ทั้งในด้านความคิด และวิธีปฏิบัติเพื่อเข้าถึงความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ตรงกันข้ามมีอยู่ไม่น้อยในหมู่นักการเมือง และนักวิชาการผู้พร่ำสอนคนอื่นในเรื่องประชาธิปไตย แต่ตนเองเป็นเผด็จการทั้งในด้านความคิด และการกระทำที่สามารถมองเห็นได้อย่างเป็นรูปธรรม

อะไรคือความมี และความเป็นประชาธิปไตยที่ผู้เรียกร้องหาประชาธิปไตยต้องการ และอะไรคือเหตุให้คนเหล่านี้ไม่สามารถบรรลุถึงความมี และความเป็นแห่งประชาธิปไตยได้

ก่อนที่จะพูดถึงความมี และความเป็นของประชาธิปไตยในแง่ของรัฐศาสตร์ ในฐานะชาวพุทธจะขอพูดถึงอธิปไตยในมุมมองของพุทธศาสนา เพื่อเป็นการปูพื้นฐานคำว่า อธิปไตย หรือความเป็นใหญ่ ตามความหมายทั้งในเชิงอรรถ และพยัญชนะ โดยแบ่งออกเป็น 3 ประเภทดังนี้

1. อัตตาธิปไตย คือการถือตนเองเป็นใหญ่ เทียบได้กับระบบเผด็จการในทางการปกครอง

2. โลกาธิปไตย ถือโลก หรือถือคนหมู่มากเป็นใหญ่ เทียบได้กับระบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

3. ธัมมาธิปไตย ถือธรรมหรือหลักแห่งความถูกต้องเป็นใหญ่ ในทางรัฐศาสตร์ข้อนี้ไม่มีปรากฏ แต่เป็นหลักแห่งการบริหารที่ยึดความถูกต้อง โปร่งใส ตรวจสอบได้ หรือจัดเข้าในประเภทของธรรมาภิบาล อันเป็นกฎเกณฑ์หรือกติกาที่นักปกครองทุกคนต้องมี

จากการแบ่งอธิปไตยออกเป็น 3 ประเภทนี้เอง ทำให้เห็นได้ว่าพระพุทธเจ้าทรงยอมรับว่า ในยุคที่พระองค์ทรงดำรงอยู่ก็มีความเป็นใหญ่ 3 ประเภทนี้เกิดขึ้นและดำรงอยู่แล้ว เป็นเพียงแต่ว่าจะเกิดและเป็นอยู่ในลักษณะเอกเทศ คืออันเดียวโดดๆ หรือผสมผสานกันเท่านั้น

แต่ถ้าอยู่เดียวโดดๆ จะเห็นได้ว่าอธิปไตยที่ยึดตัวเองเป็นใหญ่ จะอยู่ได้ก็ต่อเมื่อคนที่ยึดถือตนเป็นใหญ่มีคุณธรรม และทำเพื่อคนอื่นก่อนนึกถึง และทำเพื่อตนเอง ทั้งจะต้องมีความเข้มแข็งต่อสู้กับกิเลสเบื้องต่ำของตนเองได้เป็นอย่างดี ถึงขั้นควบคุมตนเองได้ด้วย หรือพูดง่ายๆ ก็คือ มีอัตตาธิปไตยผสมกันหรือควบคู่กับธัมมาธิปไตยนั่นเอง

ส่วนโลกาธิปไตยก็ทำนองเดียวกับคนดีเป็นส่วนใหญ่ หรือที่เรียกว่าโลกาธิปไตยนั้นจะต้องมีธัมมาธิปไตยควบคู่ไปด้วย ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้คนหมู่มาก แต่เป็นคนไม่ดีเข้ามาแสวงหาประโยชน์โดยอาศัยเสียงข้างมาก ดังที่เกิดขึ้นและเป็นอยู่ในวงการเมืองไทยในขณะนี้ และที่การเมืองไทยเป็นเสียงข้างมาก แต่เป็นข้างมากที่ขาดคุณธรรมนี้เอง จึงเป็นบ่อเกิดแห่งการแสวงหาประโยชน์จากเสียงข้างน้อยที่อยู่ในสภา และแม้กระทั่งจากเสียงข้างมากที่อยู่นอกสภาด้วย

และที่เป็นเช่นนี้ก็ด้วยเสียงข้างมากที่ได้มานั้นเป็นเสียงข้างมาก ที่ด้อยคุณธรรม หรือพูดง่ายๆ ว่า ประชาธิปไตยที่ได้มาโดยเสียงข้างมากที่ไม่ถูกต้องหรือไร้คุณธรรม เช่น จากการซื้อเสียงหรือแลกเปลี่ยนด้วยผลประโยชน์ทั้งทางตรง และทางอ้อม โดยผ่านทางนโยบายประชานิยมในรูปแบบต่างๆ ก็จัดอยู่ในข่ายประชาธิปไตยประเภทเสียงข้างมากจอมปลอม คือถือเพียงจำนวน แต่บกพร่องด้วยคุณธรรม

และนี่เองคือจุดที่เรียกได้ว่าประชาธิปไตยที่หลงทาง และการหลงทางในลักษณะนี้เองคือจุดเกิดแห่งความเบื่อหน่ายการเลือกตั้ง และนำไปสู่ความล่มสลายของการปกครองในระบอบนี้ในทุกยุคทุกสมัยที่ผ่านมา เพราะเปิดโอกาสให้ประชาธิปไตยถูกโค่นล้ม และทดแทนด้วยระบอบเผด็จการเป็นระยะๆ เหมือนคนเดินทางไกล แวะข้างทางบ่อย จึงทำให้ถึงปลายทางช้ากว่าที่ควรจะเป็น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น