++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันจันทร์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ทศบารมี ทศพิธราชธรรม

ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร
บรรยายแก่พระนวกะภิกษุ ในพรรษากาล ๒๕๓๐

--------------------------------------------------------------



สรุปความหมายของบารมี

ได้ แสดงถึงกำเนิดพระโพธิสัตว์และบารมี ก็จะแสดงเรื่องชั้นของบารมี การใช้คำว่าบารมีในความหมายหลายอย่าง และตามที่ได้กล่าวแล้วว่า คำว่า บารมี นี้ ไม่มีในพระสูตรใหญ่ๆ ในพระสุตตันตปิฎก แต่ก็ได้มีในบางพระสูตรซึ่งใช้ในความหมายว่า เลิศ ก็อย่างยิ่งนี่แหละ แต่ว่าอย่างยิ่งชนิดที่เป็นอย่างยิ่งที่สุด และได้พบใน นิธิกัณฑสูตร แสดงถึงอานิสงสผลของ บุญนิธิ คือบุญที่บุคคลผู้กระทำได้กระทำเหมือนอย่างฝังเอาไว้ ซึ่งมีสรุปอานิสงส์ของบุญซึ่งใช้ศัพท์ว่า ให้สำเร็จสาวกภูมิ แต่ว่าไม่ใช้คำว่า สาวกภูมิ ใช้คำว่า สาวกปารมี ปัจเจกภูมิ และ พุทธภูมิ เพราะฉะนั้น เมื่อพิจารณาดูความหมายของคำนี้ ก็กล่าวได้ว่า ได้มีความหมายที่ใช้ในพระสูตรบางพระสูตร ที่เป็น มัชฌิมนิกาย คือที่เป็นพระสูตรอย่างกลาง ใช้คำที่มีความหมายว่า เลิศ คือที่สุด คือเมื่อได้แสดงธรรมที่ปฏิบัติมาโดยลำดับ ผู้ปฏิบัติเมื่อปฏิบัติมาโดยลำดับดังที่แสดงไว้แล้ว ก็จะได้บรรลุถึงบารมีคือที่สุด เมื่อเป็นที่สุดจริงๆ ก็ย่อมจะเป็นมรรคผลนิพพาน และมรรคผลนิพพานนั้นก็มีเป็นชั้นๆ ถ้าเป็นที่สุดจริงๆ ก็ต้องเป็นมรรคผลนิพพานชั้นอรหัตมรรค อรหัตตผล นิพพาน เพราะฉะนั้น จึ่งไม่ได้หมายความว่าเป็นข้อปฏิบัติที่ดำเนินมาโดยลำดับตั้งแต่เบื้องต้น เมื่อปฏิบัติมาจนถึงผลที่สุดแล้ว ผลที่สุดนั่นแหละจึงเรียกว่าบารมี แม้คำว่า สาวกบารมี ในนิธิกัณฑสูตรนั้น ก็แสดงไปด้วยกันกับปัจเจกภูมิ พุทธภูมิ อันมีความหมายว่าเป็นข้อปฏิบัติที่ให้บรรลุถึงความเป็นสาวก คือพระอรหันตสาวก ให้บรรลุถึงความเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ให้บรรลุถึงความเป็นพระพุทธเจ้า ซึ่งในพระสูตรดังกล่าวนี้ คำว่าบารมีกับภูมิใช้มีความหมายเสมอกัน ถ้าหมายถึงภูมิที่ให้เป็นพระพุทธเจ้า ให้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า เป็นพระอรหันตสาวก ก็ย่อมมีความหมายถึงที่เป็นอย่างสูงสุด คือเป็นที่สุดดังที่กล่าวนั้น

บารมีที่มีความหมายว่าเลิศ คือที่สุด

เพราะ ฉะนั้น เมื่อสรุปความหมายของบารมีตามที่ใช้ ก็สรุปลงได้เป็น ๒ คือบารมีที่มีความหมายว่าเลิศคือที่สุด อันหมายความว่าผลที่สุด และแปลว่าอย่างยิ่งก็ได้ คือเป็นอย่างยิ่งจริงๆ เป็นอย่างยิ่งที่เป็นยิ่งที่สุด ที่เป็นเลิศก็เป็นเลิศที่สุด ความหมายดังกล่าวนี้พบใช้ในบางพระสูตร ไม่พบใช้มากแห่งนัก และก็ใช้หมายถึงเป็นเลิศที่สุดสำหรับเป็นพระสาวกด้วย ใช้อย่างเดียวกับภูมิดังที่อ้างมานั้น สาวกปารมี ปัจเจกภูมิ พุทธภูมิ แต่ทำไมจึงใช้ปารมี ไม่ใช้สาวกภูมิ ก็เพราะว่าพระสูตรที่กล่าวมานี้เป็นคาถา ถ้าใช้สาวกภูมิก็ไม่เป็นคาถาที่ถูกต้อง คือไม่เป็นฉันทคาถาที่ถูกต้องสำหรับตรงนั้น เมื่อใช้ปารมีจึงจะถูกต้อง ลงได้พอดี ส่วนคำว่าปัจเจกภูมิ พุทธภูมินั้นเหมาะที่จะใช้ภูมิ เพราะรวมเข้าในบาทเดียว ซึ่งทำให้เห็นว่ามีความหมายเสมอกัน และทำให้สันนิษฐานว่า มีความหมายถึงที่เป็นอย่างยิ่งที่สุด เรียกว่าเลิศ หรือประเสริฐที่สุด สำหรับที่จะเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ที่จะเป็นพระพุทธเจ้า ที่จะเป็นพระสาวกของพระพุทธเจ้า และก็เมื่อใช้สำหรับพระสาวกดั่งนั้น ก็แสดงว่าได้มีใช้สำหรับพระสาวก ติดอยู่ในพระไตรปิฎกนั้นด้วยแล้ว

บารมีที่หมายถึงคุณธรรมที่สั่งสมมาโดยลำดับ

และ โดยที่คำว่าบารมีมีที่ใช้น้อยในพระสูตรในพระไตรปิฎกดังกล่าว และพบที่ใช้ก็มีความหมายถึงว่า อย่างยิ่งที่สุด เลิศหรือประเสริฐที่สุด จึงทำให้เข้าใจว่า คำว่าบารมีนี้ได้มีมาเริ่มใช้แม้ในครั้งพุทธกาลนั้นเองก็ในช่วงหลัง และก็ในความหมายว่าเลิศที่สุด อย่างยิ่งที่สุด ดังกล่าวนั้นมาก่อน และต่อมาเมื่อมีแสดงถึง พุทธวงศ์ จึงได้ใช้ในความหมายเป็นบารมี ๑๐ ที่ได้แสดงมาแล้ว และก็ไม่ได้มีความหมายว่า อย่างยิ่งที่สุด เลิศที่สุด แต่มีความหมายว่า เป็นคุณธรรมที่ได้ปฏิบัติสั่งสมมาโดยลำดับตั้งแต่เบื้องต้น ก็เรียกว่าบารมีขึ้นมาโดยลำดับ จึงเป็นคำกลาง ที่หมายถึงคุณธรรมที่ปฏิบัติสั่งสมขึ้นมา เพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายตามที่ตั้งใจ เพราะฉะนั้น จึงต้องแบ่งบารมีเป็น ๓ ชั้น เป็นชั้นบารมีธรรมดา ชั้นอุปบารมี บารมีที่สูงขึ้น ใกล้จะถึงอย่างยิ่งที่สุด กับปรมัตถบารมี บารมีที่เป็นอย่างยิ่งที่สุด เพราะฉะนั้น คำว่า ปรมัตถบารมีนี้ ก็มีความหมายได้กันกับคำว่าบารมีที่ใช้ในตอนต้น ในบางพระสูตรดังกล่าวที่มีความหมายว่าเลิศที่สุด อย่างยิ่งที่สุดแต่อย่างเดียว แต่ครั้นมาใช้ในความหมายเป็นคุณธรรมที่ปฏิบัติตั้งแต่เบื้องต้นขึ้นมา เพื่อบรรลุซึ่งเป้าหมายอย่างสูง เรียกว่าบารมีมาตั้งแต่ขั้นต้น จึงต้องแบ่งเป็น ๓ ชั้นดังที่กล่าวมานั้น ความหมายจึงต้องต่างกันออกไป

การแบ่งชั้นของบารมีตามสิ่งที่เสียสละเป็นประมาณ

และ เกณฑ์ในการแบ่งนั้น ที่มีแสดงเอาไว้ ก็มุ่งถึงข้อที่ทำนั้น เป็นการเสียสละอย่างธรรมดา หรืออย่างพิเศษขึ้นไป หรือว่าอย่างยิ่งที่สุด คือตั้งเกณฑ์เอาไว้ว่า อย่างเช่น ทานบารมี หรือแม้บารมีข้ออื่นก็เช่นเดียวกัน ต้องเสียสละทั้งนั้น ในการปฏิบัตินั้นเมื่อต้องเสียสละแค่ทรัพย์สมบัติ ก็เป็นบารมีธรรมดา เมื่อต้องเสียสละอวัยวะร่างกาย ก็เป็นอุปบารมี เมื่อต้องเสียสละชีวิต ก็เป็นปรมัตถบารมี การปฏิบัติของบุคคลก็ดี ของสัตว์เดรัจฉานก็ดี ซึ่งเล่าไว้ในชาดกนั้นๆ ซึ่งมีตั้ง ๕๐๐ กว่าเรื่อง เมื่อต้องเสียสละอย่างไหนแห่ง ๓ อย่างนั้น ก็เรียกว่าบุคคลหรือสัตว์ในเรื่องนั้น ได้บำเพ็ญบารมีในขั้นนั้นขั้นนั้น เช่นเสียสละเพียงทรัพย์ก็เป็นบารมีธรรมดา เสียสละอวัยวะร่างกายก็เป็นอุปบารมี เมื่อเสียสละถึงชีวิตก็เป็นปรมัตถบารมี แม้แสดงถึงชาติที่เป็นกระต่าย ซึ่งในชาดกเรื่องนี้กระต่ายได้สละชีวิต ให้ร่างกายเป็นอาหาร ก็เรียกว่าปฏิบัติในปรมัตถบารมี ถือเอาสิ่งที่เสียสละเป็นประมาณ ไม่ได้ถือเอาคุณธรรมที่ปฏิบัติใกล้พระโพธิญาณเป็นเกณฑ์ เพราะว่าการปฏิบัติบารมีของพระโพธิสัตว์นั้นเพื่อพระโพธิญาณ เพื่อที่จะตรัสเป็นพระพุทธเจ้า ดังที่ได้เล่ามาแล้วในเรื่องสุเมธดาบสซึ่งเป็นชาติแรกแห่งพระโพธิสัตว์ คือที่จะตรัสเป็นพระพุทธเจ้าผู้พระบรมศาสดาของเราทั้งหลายในบัดนี้ ตามที่แสดงเอาไว้

ท่านสุเมธดาบสนั้นเมื่อได้ตั้งปรารถนาพุทธภูมิต่อ พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าทีปังกรแล้ว ก็เริ่มพิจารณาหาธรรมปฏิบัติที่จะทำให้เป็นพระพุทธเจ้า อันเรียกว่าพุทธการกธรรมดังที่เล่าแล้ว ท่านก็พิจารณาเห็นตั้งแต่ข้อทานขึ้นไปจนถึงข้ออุเบกขาเป็นที่สุด รวมเป็น ๑๐ ข้อ ว่า ๑๐ ข้อนี่แหละจะเป็นพุทธการกธรรม ท่านพิจารณาค้นหาขึ้นเอง แล้วก็ปรากฏแก่ใจของท่านเองด้วยอภิญญาของท่าน พระพุทธเจ้าทีปังกรไม่ได้ตรัสสั่งสอนอย่างไรไว้ จุดมุ่งก็คือพระโพธิญาณหรือพุทธภูมิที่จะเป็นพระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น ท่านจึงเริ่มปฏิบัติในธรรมปฏิบัติ ๑๐ ข้อนี้เรื่อยมา สืบชาติกันมาโดยลำดับ และชาติต่างๆ ที่มาเล่าไว้กว่า ๕๐๐ ชาตินั้น ก็ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า จะเป็นบารมีประเภทไหน ก็มุ่งเอาข้อที่สละได้ในชาตินั้นๆ เป็นเกณฑ์ แม้เป็นกระต่าย เมื่อสละชีวิต ให้ร่างกายเป็นอาหารเขาได้ ก็เป็นปรมัตถบารมีได้ ไม่ได้มุ่งเอาว่าข้อปฏิบัตินั้นจะสูง ใกล้ที่จะเป็นพระพุทธเจ้าแล้วหรือยัง และแม้ที่แสดงว่าในพระชาติที่เป็นพระเวสสันดร อันเป็นพระชาติสุดท้ายในเมืองมนุษย์ เมื่อพระเวสสันดรสิ้นพระชนม์แล้ว ก็ไปเกิดเป็นเทพในชั้นดุสิต จุติในชั้นดุสิตนั้น แล้วจึงมาบังเกิดเป็นสิทธัตถะราชกุมารตามที่แสดงไว้ แม้ทานที่พระเวสสันดรให้เป็นอันมาก จนนับถือว่าพระเวสสันดรเป็นชาดกแห่งทานบารมี ทานที่พระเวสสันดรได้บริจาคทั้งปวงนั้น ก็ไม่นับว่าเป็นปรมัตถบารมีเพราะไม่ได้สละชีวิต กระต่ายเสียอีกซึ่งบังเกิดในชาติที่ห่างไกล แต่ว่าได้สละชีวิตให้ร่างกายเป็นอาหารเขา ก็ยังได้รับยกย่องว่าเป็นปรมัตถบารมี เพราะถือเกณฑ์ดังที่กล่าวนั้น

การแบ่งชั้นของบารมีตามภูมิธรรมที่ได้ปฏิบัติ

คราว นี้เมื่อมาพิจารณาดูแล้ว ก็ควรจะเห็นว่า เมื่อแบ่งบารมีเป็น ๓ ขั้นดั่งนี้แล้วเกณฑ์ที่จะนับว่าเป็นบารมีขั้นไหนนั้นควรจะมุ่งเอาคุณธรรม ที่ได้ปฏิบัติสั่งสมมาเพื่อพุทธภูมิ ได้สูงขึ้น สูงขึ้น ใกล้ความเป็นพระพุทธเจ้าเข้ามาจนถึงเป็นพระพุทธเจ้า คุณธรรมซึ่งได้ปฏิบัติมาในชาติที่ห่างไกลยังไม่สูงมาก ยังไกลที่จะมาเป็นพระพุทธเจ้าก็เป็นบารมีธรรมดาเรื่อยมา จะสละอะไรก็ตาม และเมื่อภูมิสูงขึ้นๆ จนใกล้ที่จะเป็นพระพุทธเจ้า ก็เป็นอุปบารมี คือเข้าพรมแดนของพุทธภูมิ และเมื่อถึงขั้นที่จะให้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าได้ทันที นั่นก็เป็นปรมัตถบารมี ถ้าจัดอย่างนี้แล้วก็จะเข้าลำดับของธรรมปฏิบัติที่สูงขึ้นโดยลำดับ คราวนี้หากจะเทียบกับในพุทธประวัติ เอาปัจจุบันชาติของพระพุทธเจ้าเมื่อเป็นพระพุทธเจ้านั้น เมื่อได้ทรงทอดพระเนตรเห็นเทวทูตทั้ง ๔ ทรงเริ่มปรารถนา โมกขธรรม นั่นก็เริ่มว่าเป็นพระโพธิสัตว์ และก็เริ่มเป็นบารมีที่ได้ทรงขวนขวายที่จะสละออก เป็น เนกขัมมะ จนถึงได้สละออก แล้วก็แสวงหาทางปฏิบัติ เข้าศึกษาในสำนักของดาบสทั้ง ๒ เมื่อเห็นว่าไม่ใช่ทางก็ออกมาทรงทำทุกกรกิริยา เมื่อเห็นว่าไม่ใช่ทางก็ทรงเลิก แล้วก็มาระลึกได้ถึง อานาปานสติ ที่ทรงได้เมื่อเป็นพระกุมาร ตามเสด็จพระราชบิดา และพระกุมารน้อยก็ประทับนั่งใต้ต้นหว้า ในขณะที่พระราชบิดาคือพระเจ้าสุทโธทนะทรงทำพิธีแรกนาขวัญ ก็ทรงกำหนดลมหายใจเข้าออก ทรงบรรลุถึงปฐมฌาน แต่เมื่อเสร็จจากพระราชพิธีนั้นแล้ว ปฐมฌานที่ทรงได้นั้นก็เสื่อมไป ก็ทรงระลึกได้ถึงเรื่องราวที่เล่ามานี้ จึงได้เคยเทศน์เคยแสดงมาแล้วว่า ในที่สุดพระพุทธเจ้าก็ได้ทรงพบพระองค์เองเป็นพระอาจารย์ คือพระองค์เองซึ่งเป็นพระกุมารนั่งประทับใต้ร่มหว้าได้ปฐมฌานนั้น ก็ทรงพิจารณาเห็นว่า การปฏิบัติให้จิตได้ความสงบอย่างบริสุทธิ์ดั่งนั้น จะพึงเป็นทางแห่งความตรัสรู้ได้ จึงได้เริ่มทรงจับปฏิบัติทางสมาธิอันบริสุทธิ์ดังกล่าว นี่ก็เป็นอุปบารมีเรื่อยขึ้นมา แปลว่าเข้าทางที่ถูก เข้าทางมรรคมีองค์ ๘ จนได้พระญาณทั้ง ๓ ในราตรีที่ตรัสรู้ จนถึง อาสวักขยญาณ ญาณที่ทำอาสวะให้สิ้นไป นี่แหละเป็นปรมัตถบารมี มาเป็นพระพุทธเจ้าขึ้น นี่จัดเทียบเป็นนิทัสสนอุทธาหรณ์ ว่าเกณฑ์จัดของบารมีน่าจะเป็นดั่งนี้ คือถือเอาภูมิธรรมปฏิบัติที่สูงขึ้นๆ และถ้าหากว่าจะถือตามที่พระอาจารย์ท่านได้เล่าเรื่อง และเป็นมาในคัมภีร์พระไตรปิฎกก็มี คืออย่างในจริยาปิฎกในพุทธวงศ์ดังกล่าวนั้น ย้อนไปจนถึงพระชาติที่เป็นสุเมธดาบสก็ได้ ก็เริ่มจากนั้นมา ก็เป็นอันว่าได้สั่งสม สละโน่นบ้าง สละนี่บ้าง สละทรัพย์บ้าง สละร่างกายบ้าง สละชีวิตบ้าง สละลูกสละเมียบ้าง เรื่อยมา เรื่อยมา เรื่อยมา จนถึงตรัสรู้ นั่นแหละก็เป็นบารมี อุปบารมี ปรมัตถบารมีมาโดยลำดับ จนถึงที่สุดจะตรัสรู้ นั่นแหละจึงเป็นปรมัตถบารมี แล้วก็ตรัสรู้

มรรคมีองค์ ๘ ก็คือบารมี

และหาว่าจะสรุปเข้าใน มัชฌิมาปฏิปทา มรรคมีองค์ ๘ ก็สรุปเข้าได้ ก็มรรคมีองค์ ๘ นั่นเองคือบารมี ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงปฏิบัติมาจนถึงได้ตรัสรู้ ปฏิบัติทีแรกก็เป็นบารมี ยิ่งขึ้นๆ ก็เป็นอุปบารมี จนถึงยิ่งที่สุดก็เป็นปรมัตถบารมี ก็ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า

๑๓ สิงหาคม ๒๕๓๐

--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บท ความนี้เป็นธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร ได้บรรยายแก่พระนวกะภิกษุ ในพรรษากาล ๒๕๓๐ รวมทั้งสิ้น ๓๘ ครั้ง วัดบวรนิเวศวิหารได้จัดพิมพ์หนังสือเรื่อง ทศบารมี ทศพิธราชธรรม นี้ขึ้นขอพระราชทานถวายเฉลิมพระเกียรติ ในมหาอุดมมงคลวโรกาสพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช วันที่ ๒ - ๕ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๓๑

คัดลอกจาก หนังสือทศบารมี ทศพิธราชธรรม ของ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)
พิมพ์ที่ โรงพิมพ์ชวนพิมพ์ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพฯ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น