++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพฤหัสบดีที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

พึ่งตนพึ่งธรรม : ประชานิยมที่ยั่งยืน โดย สามารถ มังสัง

วันนี้ และเวลานี้ ความทุกข์ ความเดือดร้อนอันดับต้นๆ ของคนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจในระดับกลาง และระดับล่าง หรือที่เรียกว่า รากหญ้า ก็คือ ข้าวของแพง รายได้ที่มีอยู่ไม่เพียงพอต่อการเป็นอยู่

ดังนั้น ถ้าท่านเดินไปทางไหน และพบใครสักคนที่มาจากครอบครัวในระดับรากหญ้า หรือแม้กระทั่งระดับกลางแล้วถามว่า การดำเนินชีวิตเป็นอย่างไร? เดือดร้อนไหม? เดือดร้อนเรื่องอะไร และสุดท้ายหลังเลือกตั้งทั่วไปในเดือนกรกฎาคม ได้รัฐบาลใหม่แล้วคิดว่าจะดีขึ้นไหม?

จากคำถามดังกล่าวข้างต้น ผู้เขียนคาดว่าคำตอบที่ได้รับคงจะไม่หนีคำว่า เป็นทุกข์ เดือดร้อนด้วยราคาข้าวของแพงขึ้น และสำหรับคำตอบ คำถามสุดท้ายอาจแตกต่างกันอยู่บ้างขึ้นอยู่กับศักยภาพในการคิด และพฤติกรรมพื้นฐานของแต่ละบุคคล ซึ่งอาจแบ่งออกเป็นประเภทได้ดังนี้

1. ประเภทไม่พึ่งตนเองก่อนจะขอความช่วยเหลือจากคนอื่น เหมือนคนขับเกวียนในนิทานอีสปที่เฝ้าอ้อนวอนให้เทวดาช่วยเมื่อล้อเกวียนติดหล่ม คนประเภทนี้เองที่ได้แต่คาดหวังความช่วยเหลือจากรัฐ จะเห็นได้จากม็อบแบมือขอในทุกเรื่อง จึงกลายเป็นเหยื่อทางการเมืองของพรรคการเมืองผ่านทางนโยบายประชานิยม และประเภทนี้เองที่ตอบว่า หลังเลือกตั้งแล้วทุกอย่างจะดีขึ้น โดยตนเองไม่พยายามทำอะไรมากกว่าที่เป็นอยู่

2. ประเภทพึ่งตนเอง และเคร่งครัดในธรรม คือหลักการดำเนินชีวิตอันได้จากคำสอนของศาสนาที่แต่ละคนนับถือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักคำสอนของพุทธศาสนาที่สอนให้ขยันหาทรัพย์ และรักษาทรัพย์ที่หามาได้โดยใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ตนเอง และครอบครัว ทั้งให้มีส่วนหนึ่งเหลือเก็บเพื่อการลงทุน และใช้สอยในยามจำเป็น และคนประเภทนี้เองไม่คาดหวังอะไรมากนักจากนโยบายประเภทลด แลก แจก แถม ที่พรรคการเมืองมอบให้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้กู้ยืมเพราะนั่นคือการให้คนเป็นหนี้ และเป็นทุกข์เมื่อถึงเวลาต้องจ่ายคืน และประเภทนี้เองที่มีบางรายอาจให้คำตอบในทำนองที่การเลือกตั้งไม่ได้ช่วยอะไรให้ดีขึ้น ถ้าพรรคการเมืองและนักการเมืองยังเป็นหน้าเดิมเข้ามาแสวงหามากกว่าเข้ามารับใช้สังคมโดยรวม

ถึงแม้ว่าคำถามและแนวทางคำตอบจะไม่ครอบคลุมในทุกแง่มุมที่ผู้คนในสังคมได้รับ แต่ก็พอจะอนุมานได้ว่านโยบายประเภทลด แลก แจก แถม เพื่อหวังผลทางการเมืองมิใช่ทางแก้ความทุกข์ ความเดือดร้อนให้ปวงประชาในยามข้าวของแพง เพราะว่าถึงแม้จะเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำและปรับเพิ่มเงินเดือนข้าราชการ แต่ถ้าควบคุมราคาสินค้าไม่ได้ก็เดือดร้อนเหมือนเดิม เมื่อมีรายได้เพิ่มแต่ต้องซื้อสินค้าในราคาแพงขึ้น

ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้นแล้ว ในฐานะที่เป็นชาวพุทธ ผู้เขียนจึงเห็นว่าแนวทางที่จะอยู่รอดได้ก็ด้วยการนำแนวทางแก้ปัญหาแบบพุทธมาใช้ และแนวทางที่ว่านี้ก็คือ การพึ่งตน พึ่งธรรม อันเป็นหัวข้อเทศนาของพระพุทธเจ้าในจักกวัตติสูตร ซึ่งปรากฏในพระไตรปิฎกเล่มที่ 3 ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค โดยมีเนื้อหาสาระโดยย่อดังนี้

พระพุทธองค์ได้ตรัสสอนภิกษุทั้งหลายให้พึ่งตน พึ่งธรรม และเจริญสติปัฏฐาน 4 แล้วตรัสเล่าเรื่องแก้ว 7 ประการของพระเจ้าจักรพรรดิพระนามว่า ทัฬหเนมิ คือ

1. จักร (ลูกล้อรถ) แก้ว 2. ช้างแก้ว 3. ม้าแก้ว 4. แก้วมณี 5. นางแก้ว 6. ขุนคลังแก้ว 7. ขุนพลแก้ว

พระเจ้าทัฬหเนมิได้ตรัสสั่งบุรุษคนหนึ่งให้คอยดูว่าเมื่อจักรแก้วเคลื่อนจากฐาน (ที่ตั้ง) ให้มาบอก ต่อมาเมื่อจักรแก้วจากฐาน บุรุษนั้นได้ไปกราบทูล จึงได้เรียกพระโอรสพระองค์ใหญ่เข้าเฝ้า แล้วมอบราชสมบัติให้แล้วพระองค์เองทรงผนวชเป็นฤๅษี

ครั้นเวลาล่วงไปได้ 7 วัน จักรแก้วได้อันตรธานไป พระราชาพระองค์ใหญ่ก็ทรงเสียพระทัย ไปเฝ้าฤๅษีผู้เป็นพระบิดาเล่าความถวาย พระฤๅษีก็ตรัสปลอบว่า จักรแก้วเป็นของให้กันไม่ได้ และทรงแนะนำให้บำเพ็ญจักกวัตติวัตร คือ ข้อปฏิบัติของพระเจ้าจักรพรรดิ ถ้าปฏิบัติได้โอกาสที่จักรแก้วจะกลับมาก็เป็นไปได้ กษัตริย์ผู้เป็นพระโอรสได้ทูลถามว่า จักกวัตติวัตรเป็นอย่างไร ได้รับคำตอบว่า คือ

“1. จงอาศัยธรรมสักการะ เคารพนับถือธรรม ให้ความคุ้มครองอันเป็นธรรมแก่มนุษย์และสัตว์ ไม่ยอมให้ผู้กระทำอันเป็นอธรรมเกิดขึ้น และเป็นอยู่ในแว่นแคว้น

2. ผู้ใดไม่มีทรัพย์ ก็มอบทรัพย์ให้

3. เข้าไปหาสมณพราหมณ์ผู้เว้นจากความเมา ประมาท ตั้งอยู่ในขันติ และโสรัจจะ และถามถึงสิ่งที่เป็นกุศล อกุศล มีโทษ ไม่มีโทษ ควรเสพ ไม่ควรเสพ อะไรทำแล้วเสียประโยชน์ เกิดทุกข์ เกิดโทษตลอดกาล อะไรทำแล้วได้ประโยชน์ ทำให้เกิดความสุขตลอดกาล ก็ให้นำสิ่งนั้นมาปฏิบัติ นี่แลคือข้อปฏิบัติของจักรพรรดิ”

เมื่อพระราชากระทำตามจักรแก้วก็ปรากฏดังเดิม จึงเป็นประเพณีปฏิบัติสืบทอดกันมาถึง 7 รัชกาล ครั้นลุถึงจักรพรรดิพระองค์ที่ 8 ได้ทรงให้การคุ้มครองอันเป็นธรรมแก่พสกนิกรของพระองค์ แต่ไม่พระราชทานทรัพย์แก่ผู้ไม่มีทรัพย์ ความยากจนก็เกิดขึ้นและเป็นเหตุให้มีการลักทรัพย์ผู้อื่นเกิดขึ้น ครั้นจับได้ก็กราบทูลให้ทราบว่าเพราะยากจนไม่มีอาชีพจึงลักทรัพย์ ก็พระราชทานทรัพย์ให้เพื่อเลี้ยงตน ต่อมามีคนลักทรัพย์เพิ่มขึ้น ครั้นจับได้ก็พระราชทานทรัพย์ให้จึงกลายเป็นให้มีการนำไปอ้างเพื่อให้ได้รับพระราชทานทรัพย์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สุดท้ายก็มีรับสั่งให้มีการลงโทษ ด้วยเกรงว่าถ้ามีการพระราชทานทรัพย์ก็จะมีการลักทรัพย์เพิ่มขึ้นไม่หยุดหย่อน

ทั้งหมดที่ยกมาเป็นเพียงความย่อในพระสูตรนี้เพียงเพื่อให้เห็นว่า การให้ทรัพย์แก่คนที่ไม่พยายามจะพึ่งตน และไม่ประพฤติตนอยู่ในธรรมนั้น สุดท้ายแล้วก็จะทำให้เกิดความเดือดร้อนทั้งผู้ให้และผู้รับเมื่อไม่มีทรัพย์จะให้ และผู้ต้องการขอรับทรัพย์เพิ่มขึ้นเหมือนการให้ทาน ทำให้คนยึดอาชีพขอทานเพิ่มขึ้นนั่นเอง

ในทำนองเดียวกันกับเรื่องนี้ ถ้าทุกพรรคการเมืองเน้นนโยบายประชานิยม ดังที่พรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทยกำลังกระทำอยู่ สักวันหนึ่งผู้คนในสังคมไทยก็จะตกเป็นทาสทางการเมืองผ่านนโยบายประชานิยมแบบโงหัวไม่ขึ้น และสุดท้ายเป็นทาสนายทุนทางการเมืองอย่างถาวรแน่นอน ทางที่ดีควรเป็นนโยบายพึ่งตนเอง และพึ่งธรรมไปพร้อมกันกับให้ความช่วยเหลือจากภาครัฐจะได้ชื่อว่า ประชานิยมยั่งยืน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น