++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอาทิตย์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

เสริมสร้างภาพลักษณ์ใหม่ หนุนเด็กไทยเรียนอาชีวศึกษา

หลังการประกาศผลแอดมิดชั่นกลาง บางคนสมหวังที่สอบติดในมหาวิทยาลัยที่ตัวเองใฝ่ฝัน แต่เด็กอีกจำนวนไม่น้อยที่ผิดหวังกับผลสอบ จะว่าไปแล้วประเทศไทยมีสถาบันการศึกษาอีกจำนวนมาก ทั้งของรัฐและเอกชน นอกจากสายสามัญแล้วยังมีวิทยาลัยสายอาชีพอีกมากมายที่เปิดรั้วต้อนรับน้องใหม่ไฟแรงทั้งหลาย หนึ่งในนั้นคือวิทยาลัยอาชีวศึกษา ที่ถือว่าเป็นต้นแบบการผลิตแรงงานสายอาชีพ

วิทยาลัยอาชีวศึกษาจึงถือเป็นสถาบันสำคัญในการผลิตบุคลากรภาคแรงงานออกมาในสังคมปีละไม่น้อย แถมคุณภาพของนักศึกษาที่จบออกมาก็ไม่ด้อยไปกว่าเด็กที่จบจากสายสามัญ โดยแนวโน้มความต้องการแรงงานสายอาชีวศึกษาในระยะ 5 ปี ข้างหน้า พบว่ามีความต้องการกำลังคนในสายอาชีวศึกษาสูงกว่าระดับปริญญา ถึงร้อยละ 100 เลยทีเดียว

ดร.ศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า ขณะนี้วิทยาลัยอาชีวศึกษาทั่วประเทศกำลังอยู่ในช่วงของการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งวิทยาลัยอาชีวศึกษาเองมีความโดดเด่นในหลายเรื่อง โดยเฉพาะในเรื่องของการเรียนการสอนในสายอาชีพโดยเฉพาะคหกรรม พาณิชยกรรม ศิลปกรรม ฯลฯ ในการปฏิรูปการศึกษาทศวรรษที่ 2 ทางสำนักงานก็พยายามปรับปรุงมาเรื่อยๆ นอกจากในเรื่องของการบริหารจัดการและหลักสูตรแล้ว ครูและนักศึกษาก็ต้องปรับตัวตามให้ทัน

"เรากำลังปรับในเรื่องการเรียนการสอนให้เด็กมีการไปทดสอบสมรรถนะเพิ่มเติม และพยายามปรับให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน โดยเราจะเพิ่มให้มีสาขาแม่พิมพ์ ยานยนต์ ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และเกษตรกรรม ตอนนี้อาชีวศึกษากำลังปรับปรุงองค์กร การเรียนการสอน และการบริหารจัดการครั้งใหญ่ ว่าต่อไปนี้จะผลิตให้ตรงกับความต้องการโดยเฉพาะภาคเอกชน ดังนั้น วิทยาลัยอาชีวศึกษาธนบุรีและเสาวภาก็เป็นสองสถาบันแรกๆที่จะเข้ามาดำเนินการตามรูปแบบนี้ ในส่วนของวิทยาลัยอาชีวศึกษาธนบุรีจะเด่นสาขาเทคโนโลยี และสาขาพาณิชยการ ส่วนวิทยาลัยอาชีวศึกษาเสาวภาจะเด่นในสาขาคหกรรม และออกแบบตัดเย็บเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย"

ด้าน ดร.ณพสร สวัสดิบุญญา ผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษาธนบุรี เปิดเผยว่า วิทยาลัยอาชีวศึกษาธนบุรีเป็นหนึ่งในวิทยาลัยที่ให้ความสำคัญในการปรับเปลี่ยนสถานศึกษาให้มีความทันสมัย โดยดึงเอาเทคโนโลยี Video Conference เข้ามาใช้ในการเรียนการสอนตั้งแต่ปีพ.ศ. 2552 เพื่อแก้ปัญหาครู-อาจารย์ขาดแคลน และแก้ปัญหาการประชุมต่างๆที่มีคนจำนวนมากๆ แต่เราไม่มีห้องใหญ่พอที่จะรองรับคนได้หมด ก็จะนเทคโนโลยีตรงนี้เข้ามาช่วย โดยแบ่งผู้เข้าร่วมประชุมไปตามห้องต่างๆ แล้วเชื่อมสัญญาณภาพต่อเข้ากับทีวีของทุกห้องให้สามารถร่วมประชุมพร้อมกันหลายๆห้องได้ เป็นต้น

"เราได้เชิญวิทยากรเก่งๆ มาสอนนักศึกษาด้วยระบบนี้ได้อีกด้วย ในกรณีที่วิทยากรไม่สะดวกในการเดินทางมาสอนได้ด้วยตัวเอง จึงทำให้นักศึกษาได้รับความรู้จากผู้ชำนาญการในสายงานต่างๆเพื่อประโยชน์สูงสุดในการนำความรู้นั้นไปประกอบวิชาชีพ เช่น ได้เชิญวิทยากรจากสำนักงานปราบปรามยาเสพติด มาให้ความรู้แกนักศึกษา เป็นต้น คือใช้ระบบนี้ให้เป็นประโยชน์ทั้งเรื่องการบริหารจัดการ ทั้งเรื่องการเรียนการสอนด้วย"

ขณะที่ อาจารย์วสุมดี อิ่มแก้ว ผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษาเสาวภา กล่าวว่า วิทยาลัยชีวศึกษาเสาวภาเป็นแหล่งเรียนรู้ทางวิชาชีพต้นแบบด้านศิลปกรรม คหกรรม และอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ มีมาตรฐานและเป็นเครือข่ายความรู้เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานระดับประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาได้ผลิตบุคลากรที่มีความสามารถจนได้รับรางวัลแชมป์แกะสลักน้ำแข็งระดับโลกมาแล้ว

"ตอนนี้แรงงานสายอาชีพกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานทั้งในและต่างประเทศ กระทรวงศึกษาธิการเองจึงอยากผลักดันให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจศึกษาต่อในวิทยาลัยอาชีวศึกษามากขึ้น พร้อมกันนี้ทางวิทยาลัยอาชีวศึกษาเองก็ต้องมีการปรับปรุงคุณภาพให้มีความเป็นเลิศเพื่อผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพออกสู่สังคม รวมทั้งต้องสร้างภาพลักษณ์ใหม่เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการศึกษาในสถาบันอาชีวะและสร้างการยอมรับจากสังคมให้มากขึ้น"

ผอ.วิทยาลัยอาชีวศึกษาเสาวภา กล่าวอีกว่า การปรับภาพลักษณ์ใหม่นี้ ต้องเริ่มจากความเข้าใจของผู้เรียน ผู้ปกครอง และคนในสังคม โดยชี้ให้เห็นว่าช่างฝีมือไม่ได้เป็นเพียงความรู้พื้นฐานเท่านั้น แต่คือผู้ที่มีความรู้ในสายวิชาชีพอย่างถ่องแท้ สามารถประกอบอาชีพและต่อยอดสู่การเป็นเจ้าของกิจการหรือผู้ประกอบการระดับ SMEs ได้ โดยมีจรรยาบรรณของสายอาชีพนั้นๆคอยกำกับดูแล สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งนักศึกษาจะได้รับจากสถาบัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น