ดย รัชญา จันทะรัง
อากาศในบ้านเราตอนนี้ ถ้าเปรียบเป็นเหมือนคนเราก็ต้องบอกว่า 3 วันดี 4 วันไข้ เดี๋ยวแดดออก เดี๋ยวฝนตก โดยเฉพาะคนพระนครที่ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาจนล่วงเข้าสู่สัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤษภาคมต้องผจญกับสภาพอากาศแปรปรวนแบบนี้ ยิ่งวันไหนฝนตกหนักทำเอาการจราจรอัมพาตจากน้ำท่วมขังในถนนหลายสาย หน่วยงานที่ทุกๆคนจะต้องนึกถึงซึ่งเป็นใครไปไม่ได้นอกเสียจากสำนักการระบายน้ำ (สนน.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จะต้องรับผิดชอบดูแลแก้ไขเรื่องเหล่านี้
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
สัญญา ชีนิมิตร ผู้อำนวยการสำนักดังกล่าว เล่าถึงการเตรียมการรับมือกับน้ำท่วม ว่า ที่ผ่านมา สำนักการระบายน้ำได้ดำเนินการขุดลอกคูคลองที่มีทั้งหมดถึง 1,682 แห่ง ระยะทาง 2,604 กิโลเมตร ซึ่งในปีนี้กทม.มีโครงการขุดลอกคูคลอง กำจัดวัชพืชและเก็บขยะในคลอง จำนวน 289 คลอง ความยาวประมาณ 760 กิโลเมตร คิดเป็น 29 เปอร์เซ็นต์ของความยาวทั้งหมด ซึ่งในปัจจุบันได้ดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 273 คลอง ความยาวประมาณ 690 กิโลเมตร คิดเป็น 90 เปอร์เซ็นต์ ของความยาวตามโครงการทั้งหมด นอกจากนี้ สนน.ยังได้ร่วมกับกองพลพัฒนาที่ 1 กองทัพบกขุดลอกคูคลองอีก 234 คลอง ความยาวประมาณ 677 กิโลเมตร ซึ่งดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อเดือน พ.ย.2553 ที่ผ่านมา โดยมีสำนักงานเขตในพื้นที่ร่วมดำเนินงานขุดลอกคูคลองในส่วนที่รับผิดชอบ
“อย่างไรก็ตาม เราได้ดำเนินการพร่องน้ำโดยเฉพาะในคลองสายหลักต่างๆ เช่น คลองแสนแสบที่ลดระดับน้ำให้ได้ 80 เซนติเมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง แต่ปัญหาคือเราต้องการลดระดับน้ำลง 1 เมตร เพื่อที่จะได้พร่องเป็นแก้มลิงรองรับปริมาณน้ำฝนที่จะตกลงมาซึ่งจะทำให้เป็นปัญหาในการสัญจร เพราะการพร่องน้ำในระดับนี้จะต้องมีการสร้างท่าเรือใหม่ให้สอดคล้องกันโดยในเรื่องดังกล่าว ผมได้ทำหนังสือไปยังสำนักการจราจรและขนส่ง ของกทม.เพื่อหารือในประเด็นนี้เรียบร้อยแล้ว”
ในส่วนการขุดลอกท่อระบายน้ำในพื้นที่เมืองกรุงที่มีถึง 6,404 กิโลเมตร นั้น ผอ.สำนักการระบายน้ำ กทม.ระบุว่า ในปีงบประมาณ 2554 ตั้งแต่เดือน ธ.ค.ปีที่ผ่านมาได้ล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำไปแล้วประมาณ 3,780 กิโลเมตร คิดเป็น 59 เปอร์เซ็นต์ของความยาวท่อระบายน้ำทั้งหมด และจะดำเนินการในส่วนที่เหลือให้แล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคมนี้
ภาพเมื่อครั้งม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกทม.พร้อมด้วยผู้บริหารกทม.เปิดอุโมงค์ระบายน้ำยักษ์พระรามเก้า-รามคำแหงเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2554
ผอ.สัญญา เล่าอีกว่า ส่วน 1 ในอุโมงค์ยักษ์ระบายน้ำพระรามเก้า-รามคำแหง ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 เมตร ความยาว 5 กิโลเมตร สามารถระบายน้ำได้กว่า 60 ลบ.ม.ต่อวินาทีซึ่งช่วยระบายน้ำจากคลองลาดพร้าวเชื่อมกับคลองแสนแสบ และไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาโดยเปิดใช้บริการอย่างเป็นทางการไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2554 นั้น สามารถใช้งานได้เป็นอย่างดี ส่วนอุโมงค์ยักษ์อื่นๆ นั้นอยู่ระหว่างการจัดทำขั้นตอนการประกวดราคา
นอกจากนี้ สนน.ได้เตรียมความพร้อมในส่วนอื่นๆ ทั้งการเตรียมความพร้อมสถานีสูบน้ำ 158 แห่ง พลังสูบ 1,584.14 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โครงการแก้มลิง 21 แห่ง ซึ่งสามารถกักเก็บน้ำได้ 12.75 ล้านลูกบาศก์เมตร กระสอบทรายจำนวน 3 ล้านใบ ทั้งนี้โครงการดังกล่าวจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำออกจากพื้นที่ ตลอดจนช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในกทม.ได้เป็นอย่างดี
“ที่ผมเป็นกังวล ก็คือ ขยะตามคลองต่างๆ ซึ่งชาวบ้านทิ้งกันอย่างไม่เป็นระเบียบซึ่งทำให้บางทีเราต้องเสียเวลาระบายน้ำเพราะต้องดับเครื่องสูบน้ำก่อนจึงค่อยเก็บขยะ ดังนั้นจึงอยากให้ช่วยกันอย่าทิ้งขยะโดยเฉพาะคลองลาดพร้าว คลองบางซื่อ คลองเปรมประชากร คลองบางเขนใหม่ คลองแสนแสบ คลองประเวศที่ขยะเยอะมากจนผมงงเลย ยิ่งวันไหนฝนตกหนักมากขยะจะมากถึง 50-60 ตันซึ่งปริมาณมากขนาดนี้ส่งผลให้แทนที่จะสามารถระบายน้ำได้ 2 ชั่วโมง กับต้องใช้เวลาระบายน้ำ 7-8 ชั่วโมงแทน” ผอ.สนน.กทม.กล่าวทิ้งท้าย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น