มหาวิทยาลัยศรีนครรินทรวิโรฒ (มศว) จัดเสวนาทางวิชาการร่วมกับนักวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ธนาคารแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้แนวทางนโยบายและราคาพลังงานที่เหมาะสมต่อประเทศไทย เน้นภาครัฐเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน แสวงหาแหล่งพลังงานใหม่ พร้อมทำความเข้าใจแก่ทุกภาคส่วนโดยคำนึงถึงคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม หวังดันโครงสร้างราคาพลังงานสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง และเป็นธรรม เพื่อความยั่งยืนในอนาคต
ศ.ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ นักวิชาการเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ราคาในตลาดโลก ผันผวนและมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน การกำหนดนโยบายและราคาพลังงานที่เหมาะสมต่อประเทศไทยเป็นแนวทางสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างการบริโภคและจัดสรรพลังงานให้เพียงพอต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนครัวเรือนต่างๆ ในประเทศไทย โดยจำเป็นที่จะต้องได้รับความร่วมมือจากภาครัฐในการบรรจุเป็นวาระแห่งชาติเพื่อให้หน่วยงานต่างๆ ที่มีส่วนรับผิดชอบด้านพลังงานเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ ดำเนินการ และ สร้างผลสัมฤทธิ์ให้เกิดขึ้นจริง
ส่วน ดร.ทรงธรรม ปิ่นโต ผู้อำนวยการสำนักเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า น้ำมันถือเป็นปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจไทย เนื่องจากเป็นพลังงานทีใช้ในภาคธุรกิจการขนส่งต่างๆ ด้วยเหตุนี้ความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลกจึงส่งผลต่อประเทศไทย ดังนั้น หากหน่วยงานภาครัฐมีการกำหนดนโยบายทางพลังงานที่ชัดเจนและวางแผนถึงอนาคต ก็จะเป็นการสร้างความมั่นใจให้ภาคเศรษฐกิจได้มีการวางแผน พร้อมรับสถานการณ์ทางพลังงานที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ และลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากความผันผวนของราคาน้ำมันได้ดียิ่งขึ้น
ด้าน ผศ.ดร.แนบบุญ หุนเจริญ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ปัจจุบันสถานะทางพลังงานของไทยมีแหล่งที่มาจากพลังความร้อนร่วม 15,602.0 เมกะวัตท์ คิดเป็น 52.2% พลังความร้อน 8,965.6 เมกะวัตท์ คิดเป็น 30.0% พลังน้ำ 3,424..2 เมกะวัตท์ คิดเป็น 11..5% พลังงานทดแทน 288.1 เมกะวัตท์ คิดเป็น 0.9% กังหันแก๊สและเครื่องยนต์ดีเซล 971.4 เมกะวัตท์ คิดเป็น 3.3% สายส่งจากล่าว 340 เมกะวัตท์ คิดเป็น 1.1 % และ สายส่งจากมาเลเซีย 300 เมกะวัตท์ คิดเป็น 1 % ซึ่งคาดว่าในอนาคตจำเป็นต้องพึ่งพาแหล่งพลังงานจากช่องทางอื่นหรือจากประเทศเพื่อนบ้านเพื่อให้เพียงพอกับความต้องการภายในประเทศ
“ดังนั้น นโยบายด้านพลังงานจึงต้องมีประสิทธิผล ดูแลปัจจัยด้านความมั่นคง ความปลอดภัย สุขอนามัยและสิ่งแวดล้อม นำเทคโนโลยีที่มีคุณภาพและความก้าวหน้ามาประยุกต์ใช้ในการควบคุมและเพิ่มศักยภาพทางพลังงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุด พร้อมทั้ง เสาะแสวงหาพลังงานทดแทนในรูปแบบใหม่ๆ โดยเน้นพลังงานสะอาดเพื่อโลกสีเขียวด้วยความรับผิดชอบ เพื่อการสะสมพลังงานไว้ใช้ในอนาคต นอกจากนี้ต้องมีการคิดค้นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ประหยัดพลังงานยิ่งขึ้น โดยกระบวนการทั้งหมดนี้จะต้องมีการสื่อสารทำความเข้าใจทุกผ่ายและตั้งอยู่บนความปลอดภัยที่สามารถควบคุมได้” ผศ.ดร.แนบบุญ กล่าว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น