++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

โหวตโนแล้วได้อะไร โดย สุรวิชช์ วีรวรรณ

ตอนแรกผมไม่รู้หรอกครับว่า การรณรงค์โหวตโนของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจะได้รับการตอบรับขนาดไหน จนกระทั่งเห็นนักวิชาการ และสื่อมวลชนที่สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ออกมาแถแดดิ้นว่า การโหวตโนของพันธมิตรฯ นั้นจะทำให้พรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาลและจะทำให้ ปชป.แพ้เลือกตั้ง

ผมเลยรับรู้ได้ทันทีว่า กระแสโหวตโนก็คงแรงเอาเรื่องเหมือนกัน ไม่งั้นหลายคนคงไม่ออกอาการทุรนทุรายอย่างในขณะนี้

หนังสือพิมพ์และคอลัมนิสต์หลายฉบับหลายคนที่เชียร์ ปชป.ถึงกับสร้างกระแสบิดเบือนว่า การใช้สิทธิโหวตโนไม่เป็นประชาธิปไตย ทั้งที่สิทธิในการไม่เลือกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งนั้นเป็นสิทธิตามกฎหมายของประชาชน

ดังเช่น แก้วสรร อติโพธิ ที่บอกว่า ไม่ออกไปเลือกตั้งดีกว่าไปโหวตโน หรือขวัญสรวง อติโพธิ ที่บอกว่า โหวตโน คือ วิตถาร ซึ่งเป็นคำพูดที่ไม่มีเหตุผลรองรับ และเป็นเพียงความพยายามอธิบายเพื่อให้เข้ากับผลประโยชน์ของตัวเอง หรือตัดตีนให้เข้ากับเกือก

บางคนที่แปลก คือ พยายามโจมตีว่า ไม่มีกระแสของพันธมิตรฯ แล้ว แต่ดันกลัวการรณรงค์โหวตโนของพันธมิตรฯ และปล่อยข่าวโจมตีการรณรงค์ครั้งนี้ต่างๆ นานาทั้งบนดินและใต้ดิน

น่าประหลาดว่า แม้การรณรงค์โหวตโนของพันธมิตรฯ จะปฏิเสธพรรคการเมืองในระบบทุกพรรคที่จะลงเลือกตั้งครั้งนี้ไม่เว้นแม้แต่พรรคการเมืองใหม่ แต่พรรคการเมืองและกลุ่มผู้สนับสนุนพรรคออกมาโวยวายต่อต้านกระแสโหวตโนมากที่สุดก็คือ พวก ปชป.

มีการปล่อยข่าวว่า พันธมิตรฯ รับเงินทักษิณมาสร้างกระแสโหวตโนเพื่อทำให้ปชป.แพ้เลือกตั้ง ซึ่งฟังแล้วก็แปลกดี เพราะนั่นเท่ากับว่า ปชป.ยังเชื่ออยู่อีกหรือว่า ถ้าพันธมิตรฯ ไม่โหวตโนคนที่ตั้งใจจะโหวตโนตอนนี้ทั้งหมดจะเลือก ปชป.

คิดแล้วมันก็ตลกและขำสิ้นดี

เพราะอย่างไรเสียพันธมิตรฯ ก็ไม่เลือก ปชป.อยู่แล้ว ไม่ใช่พอมีโหวตโนแล้วไม่เลือก หรือ ปชป.ยังคิดว่า พันธมิตรฯ ยังจะเลือกตัวเองอยู่ ทำไมไม่คิดมุมกลับว่า การที่พันธมิตรฯ ออกมาชุมนุมขับไล่รัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์แล้วไม่สวิงกลับไปเลือกพรรคเพื่อไทย แต่ออกมารณรงค์โหวตโนแทนก็เพราะพันธมิตรฯ นั้นมีจุดยืนของตัวเอง

ไม่เลือกพรรคของทักษิณที่ตัวเองเคยขับไล่มา และไม่เลือก ปชป.พรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลที่ตัวเองออกมาขับไล่อยู่ในตอนนี้ และไม่เลือกพรรคอื่นทุกพรรค

พันธมิตรฯ นั้น ต่อสู้มากับระบอบทักษิณ และมีคนของ ปชป.เข้ามาร่วมผสมโรงห้อยโหน เมื่อล้มระบอบทักษิณและล้มรัฐบาลของระบอบทักษิณอีก 2 รัฐบาลลงได้ ในการเลือกตั้งครั้งที่แล้วพันธมิตรฯ เกือบทั้งหมดลงคะแนนให้ ปชป.แต่อย่าลืมนะครับว่า ตอนนั้น ปชป.แม้จะได้คะแนนปาร์ตี้ลิสต์มากถึง 12 ล้านคะแนนก็ยังแพ้พรรคของทักษิณไม่ว่าจะแพ้น้อยแพ้มาก แต่ก็ยังแพ้ และส.ส.เขตก็ยังแพ้พรรคของทักษิณมากอยู่ดี

ดังนั้นจึงมีหลักฐานเชิงประจักษ์จากการเลือกตั้งครั้งที่แล้วว่า ถึงแม้พันธมิตรฯ จะเทคะแนนให้ ปชป.สู้กันในเกมเลือกตั้ง ปชป.ก็แพ้พรรคของทักษิณ ดังนั้นการกล่าวหาว่า โหวตโนจะทำให้ ปชป.แพ้นั้นถูกเพียงครึ่งเดียว เพราะจริงๆ แล้ว โหวตโนทำให้ ปชป.แพ้มากขึ้นเท่านั้นเอง

การดิ้นรนของ ปชป.ที่โพลทุกโพลทุกสำนัก (ยกเว้นโพลของนายสุเทพ) สำรวจว่าจะแพ้การเลือกตั้งครั้งนี้อย่างแน่นอนนั้น แทนที่ ปชป.และรัฐบาลในขณะนี้จะสำรวจตัวเอง กลับมาโทษว่า เพราะพันธมิตรฯ รณรงค์โหวตโน แล้วพยายามอธิบายว่าให้เลือกพรรคที่เลวน้อยที่สุด

ซึ่งไม่มีเหตุผลอะไรมาอธิบายเลยว่าสองพรรคการเมืองใหญ่ในขณะนี้ที่ช่วงชิงอำนาจทางการเมืองกันอยู่นั้นเลวน้อยกว่ากันอย่างไร

แน่นอนว่า ขบวนการเสื้อแดงที่มีขบวนการล้มเจ้าซ่อนตัวฟูมฟักอยู่ในนั้นได้สนับสนุนพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง แต่ขณะที่อีกพรรคหนึ่งนั้นชัดเจนว่ามีความอ่อนแอและไร้ประสิทธิภาพจนทำให้ขบวนการล้มเจ้ายิ่งเติบใหญ่

ปัญหาของขบวนการล้มเจ้าจึงเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ฝ่ายความมั่นคงของรัฐที่ไม่ใช่ฝ่ายการเมืองจะต้องตอบโจทย์ข้อนี้ เพราะเราพึ่งพิงฝ่ายการเมืองไม่ได้เลย

ที่สำคัญฝ่ายความมั่นคงต้องยอมรับว่า พลวัตและกระแสทางการเมืองที่เปิดเผยตัวมากขึ้นของขบวนการล้มเจ้านั้น ไม่ใช่เป็นกระแสปกติหรือจะรับมือกับขบวนการนี้อย่างปกติอีกต่อไป แต่ต้องปรับตัวตั้งรับกับกระแสนี้อย่างรู้เท่าทัน

ขณะเดียวกัน สถาบันพระมหากษัตริย์เองก็ต้องปรับตัวไปตามพลวัตของสังคมเพื่อจะได้ดำรงอยู่คู่กับสังคมไทยตลอดไปด้วย ต้องยอมรับว่ากระแสดังกล่าวไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรก แต่เกิดขึ้นตั้งแต่รัชสมัยของรัชกาลที่ 5-7 แต่สามารถปรับตัวตั้งรับกับกระแสและดำรงสถาบันอย่างมั่นคงได้มาจนถึงปัจจุบัน

การรณรงค์โหวตโนของพันธมิตรฯ นั้น นอกเหนือจะเป็นการชี้ให้เห็นว่าระบอบการเมืองปัจจุบันนั้น ไม่สามารถทำให้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมีความมั่นคงอยู่ได้ ยังชี้ให้เห็นว่า พรรคการเมืองทุกพรรคล้วนแล้วแต่เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ไม่น้อยกว่ากัน

ดังนั้น ทำไมพันธมิตรฯ ต้องเลือกพรรคที่เลวน้อยที่สุด ตามที่นักวิชาการที่เชลียร์ ปชป.ออกมาชี้แนะ ในเมื่อพันธมิตรฯ ชี้ให้เห็นแล้วว่า ทั้งสองพรรคไม่ได้ดีเลวไปมากน้อยกว่ากันเลย แต่ต้องกล้าตัดสินใจที่จะเป็นหัวหอกเพื่อเดินหน้าไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น และนักการเมืองมีสำนึกในระบอบประชาธิปไตยมากขึ้น

การจะไปสู่จุดนั้นได้ นั่นคือจะต้องมีการออกมากาช่อง “ไม่ประสงค์จะเลือกใครหรือเลือกพรรคการเมืองใด” จำนวนมาก แน่นอนว่า เดิมในการเลือกตั้งครั้งที่แล้วนั้นมีผู้เลือกช่องนี้จำนวนประมาณ 1 ล้าน 5 แสนคน การณรงค์โหวตโนจะประสบความสำเร็จหรือไม่ต้องลบฐานตัวนี้ออกไปคือต้องให้ได้มากกว่าเดิมอย่างน้อย 1 เท่าตัวคือ 3 ล้านคน และตั้งเป้าหมายให้ได้ถึง 5 ล้านคน

ถามว่าการรณรงค์โหวตโนเมื่อไม่มีผลต่อการเลือกตั้งครั้งนี้ คนที่มีคะแนนมากกว่าก็ได้รับการเลือกตั้งและได้เป็นรัฐบาลอยู่ดี คะแนนโหวตโนจะเป็นคะแนนที่สูญเปล่าหรือไม่

คำตอบของผม เริ่มด้วยคำถามว่า คุณคิดว่า ปชป.จะแพ้การเลือกตั้งครั้งนี้หรือไม่ คำตอบที่ตามมาคือ โพลทุกโพลบอกว่าจะแพ้ สิ่งที่คิดต่อไปคือ ถ้าพรรคของทักษิณชนะในเกมเลือกตั้ง การเลือกตั้งครั้งนี้จะหมายถึงการประทับความชอบธรรมให้กับระบอบและพรรคของทักษิณหรือไม่

คำตอบเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากคือ ใช่

ดังนั้นคะแนนที่เลือกพรรคประชาธิปัตย์ที่มีแนวโน้มจากการสำรวจว่าจะแพ้การเลือกตั้งนั่นต่างหากที่ชี้ให้เห็นว่าจะเป็นคะแนนที่เสียเปล่าและประทับความชอบธรรมให้กับพรรคของทักษิณ

แต่ถ้ามีการโหวตโนมาก 3-5 ล้านคน ก็จะมีพลังมากเพียงพอที่จะทำให้สังคมตั้งคำถามว่า ทำไมประชาชนจึงออกมาปฏิเสธระบอบการเมืองที่เป็นอยู่มากขนาดนี้ และจะกลายเป็นแรงเหวี่ยงให้นักการเมืองต้องปรับตัวเอง สังคมก็จะมีความชอบธรรมที่จะลุกขึ้นมาทวงถามเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของระบอบการเมืองชั่วร้ายที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน

และเราต้องยอมรับว่า ถ้าไม่โหวตโนกันให้มาก เราจะเปลี่ยนแปลงระบอบการเมืองชั่วร้ายที่ดำรงอยู่นี้ ด้วยการไปเลือกตั้งแค่ 4 วินาทีไม่ได้อย่างแน่นอน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น