++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพฤหัสบดีที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

การนิมนต์พระสงฆ์

การนิมนต์พระสงฆ์ คือ การที่เจ้าของงาน หรือผู้แทนงาน ไปติดต่อแจ้งความจำนงกับเจ้าอาวาส หรือพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ณ วัดใดวัดหนึ่ง ขออาราธนา คือ ขอเชิญพระสงฆ์ตามจำนวนที่ต้องการ ให้ไปประกอบพิธีในงาน การนิมนต์พระสงฆ์ไปเจริญพระพุทธมนต์พิธีทำบุญงานมงคลทั่วไป นิยมนิมนต์พระสงฆ์จำนวนอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 5 รูป ส่วนจำนวนข้างมากไม่มีกำหนด ตามกำลังศรัทธาของเจ้าภาพยิ่งมีจำนวนมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเพิ่มบุญกุศลมากขึ้นเท่านั้น ทั้งนี้ย่อมขึ้นอยู่กับกำลังทรัพย์ และพอเหมาะแก่สถานที่ซึ่งจะอำนวยให้เป็นประการสำคัญ

การนิมนต์พระสงฆ์ในงานมงคลสมรส

การนิมนต์พระสงฆ์ไปเจริญพระพุทธมนต์พิธีทำบุญงานมงคลสมรสนั้น แต่เดิมมานิยมนิมนต์พระสงฆ์จำนวนคู่ คือ 6 รูป 8 รูป หรือ 10 รูป เป็นต้น เพื่อกำหนดแบ่งให้ฝ่ายเจ้าบ่าว และฝ่ายเจ้าสาว เลือกนิมนต์พระสงฆ์ที่มีความรู้จักมักคุ้นกับตระกูลของตนฝ่ายละเท่า ๆ กัน จะได้ไม่ได้เปรียบเสียเปรียบกันและกัน
แต่ในสมัยปัจจุบันนี้ พิธีทำบุญงานมงคลทุกประเภท รวมทั้งพิธีทำบุญงานมงคลสมรสด้วย โดยมากมักนิยมนิมนต์พระสงฆ์ไปเจริญพระพุทธมงคล จำนวน 9 รูป ทั้งนี้ เพราะชาวบ้านโดยมากถือกันว่า เลข 9 นั้น การออกเสียงใกล้เคียงกับคำว่า “ก้าว” คือก้าวหน้า หมายถึงความเจริญรุ่งเรือง หรือ ถือกันตามมหาทักษาพยากรณ์ว่า เลข 9 นั้น เท่ากับกำลังพระเกตุ 9 ซึ่งอาจคุ้มครองป้องกันภยันตรายได้นานาประการ และถือกันตามคติธรรมทางพระพุทธศาสนาว่า เลข 9 นั้น เท่ากับนวหรคุณ 9 ประการ อันเป็นสิริมงคลอย่างสูง และเท่ากับโลกุตตรธรรม 9 ประการ คือ มรรค 4 ผล 4 นิพพาน 1 ซึ่งเป็นผลที่เยี่ยมยอดสูงสุดในพระพุทธศาสนา

การนิมนต์พระสงฆ์ในงานทำบุญอายุ

การนิมนต์พระสงฆ์ไปเจริญพระพุทธมนต์งานทำบุญอายุนั้น นิยมนิมนต์พระสงฆ์จำนวนเกินกว่าอายุของเจ้าภาพขึ้นไป 1 รูป เช่น
ทำบุญอายุ 48 ปี นิยมนิมนต์พระสงฆ์ 49 รูป ทำบุญอายุ 72 ปี นิยมนิมนต์พระสงฆ์ 73 รูป
ทำบุญอายุ 60 ปี นิยมนิมนต์พระสงฆ์ 61 รูป ทำบุญอายุ 84 ปี นิยมนิมนต์พระสงฆ์ 85 รูป เป็นต้น

การนิมนต์พระสงฆ์ประกอบพิธีงานอวมงคล (ไม่เป็นมงคล
)
การนิมนต์พระสงฆ์ไปประกอบพิธีงานอวมงคลเกี่ยวเนื่องกับศพนั้น นิยมนิมนต์พระสงฆ์มีจำนวน ดังนี้
1. พิธีสวดพระอภิธรรม นิยมนิมนต์จำนวน 4 รูป เป็นอย่างน้อย
2. พิธีสวดหน้าไฟ เวลาเผาศพ นิยมนิมนต์จำนวน 4 รูป เป็นอย่างน้อย
3. พิธีสวดพระพุทธมนต์งานบำเพ็ญกุศลศพ เช่นทำบุญ 7 วัน 50 วัน หรือ 100 วันเป็นต้น นิยมนิมนต์พระสงฆ์ 5 รูป 7 รูป 10 รูป เป็นต้น หรือตามกำลังศรัทธา และพอเหมาะแก่สถานที่นั้น ๆ
4. พิธีสวดแจงงานฌาปนกิจศพ นิยมนิมนต์พระสงฆ์จำนวน 20 รูป 25 รูป 100 รูป หรือนิยมนิมนต์หมดทั้งวัด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับศรัทธา
5. พิธีสวดมาติกาบังสุกุลศพ นิยมนิมนต์พระสงฆ์ จำนวนเท่าอายุของผู้ตายที่บำเพ็ญกุศลอุทิศให้นั้น เช่น ผู้ตายอายุ 75 ปี ก็นิยมนิมนต์พระสงฆ์ 75 รูป เป็นต้น หรือจะนิมนต์ตามกำลังศรัทธา
ไม่มีข้อห้ามแต่ประการใด

วิธีนิมนต์พระสงฆ์

การนิมนต์พระสงฆ์ไปประกอบพิธีในงานมงคล หรืองานอวมงคลต่าง ๆนั้น นิยมปฏิบัติกันทั่วไป ทั้งการนิมนต์ด้วยวาจา และการนิมนต์ด้วยการทำหนังสือฎีกานิมนต์เป็นลายลักษณ์อักษร ถ้าเป็นงานพิธีทำบุญส่วนตัว เช่นงานทำบุญขึ้นบ้านใหม่ เป็นต้น ก็นิยมนิมนต์พระสงฆ์ด้วยวาจา โดยไปติดต่อนิมนต์ด้วยตนเอง แต่ถ้าเป็นงานพิธีทำบุญเกี่ยวกับทางราชการทุกอย่าง ก็นิยมทำหนังสือฎีกานิมนต์เป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อพระสงฆ์จะได้ทราบกำหนดเวลาที่แน่นอน และเพื่อป้องกันความหลงลืมอีกด้วย
การนิมนต์พระสงฆ์ไปประกอบพิธีในงานมงคลและงานอวมงคลทุกประเภทนั้น นิยมกราบเรียนให้พระสงฆ์ทราบโดยย่อ ดังนี้
1. พิธีทำบุญปรารภงานอะไร
2. กำหนดงานวันที่ เดือน พ.ศ. ตรงกับวันขึ้น-แรม เดือนอะไร
3. สถานที่ไหน
4. ต้องการพระสงฆ์จำนวนเท่าไหร่
5. จะจัดรถมารับ หรือ จะให้พระสงฆ์ไปเอง

ตัวอย่างฎีกานิมนต์


ฎีกาอาราธนา
ขอ อาราธนาพระคุณเจ้า........................................... วัด.......................................เจริญพระพุทธมนต์ (สวดพระพุทธมนต์ ใช้เฉพาะงานศพ) แล้วฉันภัตตาหารเช้า (หรือเพล) ในงาน............................................................วัน ที่...............เดือน.......................... พ.ศ......................เวลา...........................น. ตรงกับวันขึ้น(แรม).............ค่ำ เดือน......................ณ บ้านเลขที่...................หมู่............. ถนน........................ ตำบล............................................. อำเภอ............................................. จังหวัด.......................................................
ลงนาม............................................ผู้อาราธนา
......................../............................/......................
(ข้อมูลจากสำนักพุทธศาสนาจังหวัดสุพรรณบุรี)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น