++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพฤหัสบดีที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

“ประถมจินดา” วรรณคดีชั้นเยี่ยมของสยาม แต่ถูกปฏิเสธจากสังคมไทย โดย ประทีป ชุมพล

บทความฉบับที่แล้ว ผู้เขียนได้ตบท้ายด้วยวรรณคดีไทยเรื่อง ประถมจินดา ทำให้ผู้อ่านโดยทั่วไปตั้งคำถามว่า เป็นวรรณคดีที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน และตั้งคำถามต่อไปอีกว่า ทำไมวรรณกรรมเรื่องนี้จึงถูกประเทศเจ้าอาณานิคมบังคับให้ยกเลิกในการเรียนการสอน จึงเป็นที่น่าฉงนสำหรับผู้สนใจทั่วไป

ความจริงหนังสือประถมจินดานั้น ผู้เขียนได้เคยนำมาเสนอในการบรรยายให้ครูบาอาจารย์ฟังในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงในประเทศมาแล้ว แต่ขณะบรรยายมีอาจารย์ภาษาไทยผู้เป็นห่วง ได้ขึ้นประท้วงผู้เขียนว่า น่าจะจำหนังสือผิด ที่ถูกต้องน่าจะชื่อ จินดามณี มากกว่า ผู้เขียนได้ชี้แจงว่า จินดามณี นั้นเป็นตำราเรียนภาษาไทยและลักษณะคำประพันธ์ที่ใช้เรียนกันในราชสำนัก แต่ประถมจินดาเป็นตำราที่ว่าด้วยการดูแลแม่และเด็ก ผู้ใช้คือ หมอยาและหมอตำแย

โดยที่ประถมจินดาเป็นวรรณคดีที่สำคัญ ผู้เขียนก็เคยเสนอให้กระทรวงศึกษาธิการใช้เป็นหนังสือเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายคือเมื่อครั้งหนึ่ง ผู้เขียนได้เคยรับเชิญให้เป็นผู้ร่วมเขียนแบบเรียนวรรณคดีไทย ผู้เขียนได้นำประถมจินดาไปเสนอและเขียนโครงร่างให้เสร็จ แต่ก็ไม่ได้รับความสนใจจากผู้ตรวจ ความคิดดังกล่าวจึงล่มสลายไปตามกาลเวลา

“ประถมจินดา” หมายถึง ชีวิตที่เริ่มต้นอันมีค่าประดุจดั่งแก้วมณี คือ ทารกที่เกิดใหม่ สังคมไทยถือว่ามีค่ามาก จะต้องประคบประหงมให้ร่างกายเจริญเติบโตและมีสมองอันเฉียบแหลม เมื่อเติบใหญ่สามารถทำคุณให้แก่ชุมชนได้ดี ดังนั้นหนังสือเล่มนี้มีเนื้อหาตั้งแต่การดูแลแม่อันเป็นผู้เลี้ยงดูทารกที่คลอดออกมา สอนให้แม่ควรตั้งตัวอย่างไรระหว่างตั้งครรภ์ในแต่ละเดือน ทั้งความสมบูรณ์ทางร่างกายและจิตใจ การเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงอย่างไร หนังสืออธิบายไว้อย่างละเอียด มีโวหารไพเราะเพราะพริ้งสมกับเป็นวรรณกรรมที่ดี

โดยที่ประถมจินดาเป็นตำราที่น่าทึ่งมาก โดยเฉพาะการอธิบายลักษณะการเจริญเติบโตของทารกในท้อง การดูแลแม่และเด็กหลังคลอด โดยเฉพาะการอธิบายคุณค่าของน้ำนมและความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับต้นไม้และพืชพันธุ์ธัญญาหาร อีกทั้งการเลี้ยงดูเด็ก ซึ่งเป็นตำราที่หมอบรัดเลย์แพทย์จากประเทศอเมริกาที่เดินทางมาเผยแพร่ศาสนา และเป็นผู้นำทางการแพทย์ตะวันตกตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นที่น่าเชื่อถือในสังคมไทย

ในครั้งนั้นมีทารกชาวตะวันตกเป็นจำนวนมากที่ติดตามแม่มาประเทศสยาม ล้มป่วยและตายเป็นจำนวนมากโดยไม่ทราบสาเหตุ หมอบรัดเลย์ได้ศึกษาถึงการเลี้ยงดูเด็กในสังคมไทยและได้ไปอ่านตำราประถมจินดา จึงมีความเข้าใจในเรื่องการเจริญเติบโตของเด็กไทย และได้แนะนำให้ชาวตะวันตกเลี้ยงลูกตามแบบสังคมไทย เพราะบรัดเลย์เห็นว่าปราศจากโรคภัยไข้เจ็บมาเบียดเบียน รวมถึงการดูแลทารกในครรภ์ของแม่ที่เป็นคนไทยจากตำราเล่มนี้เอง จึงได้เขียนตำราขึ้นเล่มหนึ่งชื่อ “ครรภ์รักษา” ซึ่งลอกเลียนแบบประถมจินดาตั้งแต่ต้นจนจบ เพียงแต่เปลี่ยนแปลงเนื้อหาในพุทธศาสนาเป็นคริสต์ศาสนาเท่านั้น

นอกจากนี้ หมอบรัดเลย์ได้เตือนให้แม่ของชาวตะวันตกในกรุงรัตนโกสินทร์เลี้ยงดูลูกให้เหมือนกับหญิงสยามเลี้ยงดูลูก คือ ให้เด็กเติบโตตามธรรมชาติ ยกตัวอย่างเช่น การให้กินน้ำนมแม่ การรับประทานผลไม้ ให้เด็กเล่นอยู่บนลานหญ้าและลานดิน เป็นต้น จึงเห็นได้ว่า แม้แต่นายแพทย์ชาวตะวันตก ยังเห็นคุณค่าของตำราประถมจินดา และจงใจแต่งเลียนแบบโดยไม่อ้างอิงที่มาเสียด้วยซ้ำ

แม้ว่าประถมจินดาจะมีการอธิบายการเปลี่ยนแปลงของทารกในครรภ์มารดาตามหลักทางวิทยาศาสตร์แล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงคุณค่าของน้ำนมแม่ ชี้ให้เห็นถึงน้ำนมที่ไม่ดี นมที่ดีและมีประโยชน์ต่อทารกอย่างไรที่น่าสนใจ ถ้าอะไรมีปัญหาก็ให้แนวทางการใช้สมุนไพรมารักษา อีกทั้งชี้ให้เห็นว่าถ้าน้ำนมแม่ไม่ดี ก็ให้หาแม่ที่คลอดลูกใกล้เคียงกันเรียกว่า “แม่นม” มาให้น้ำนมแทน

โดยที่สังคมไทยเป็นสังคมที่ห้ามนำนมสัตว์มาดื่ม หรือใช้เลี้ยงทารก ตามหลักฐานของชาวตะวันตกที่เข้ามาในกรุงสยามได้บันทึกไว้ว่า ชาวสยามไม่ดื่มน้ำนมสัตว์ไม่ว่าจะเป็นน้ำนมวัว หรือน้ำนมควาย แม้แต่น้ำนมแพะ ได้เคยถามเหตุผลก็มีคำตอบว่า คนสยามจะไม่รีดนมสัตว์มาใช้ดื่มเพราะเป็นการทารุณสัตว์ และให้เหตุผลว่านมสัตว์ควรจะเป็นอาหารของลูกสัตว์มากกว่า และชาวตะวันตกยังกล่าวว่า ชาวสยามไม่กินสัตว์สี่เท้า เพราะเอาไปใช้เป็นแรงงานและผูกพันกัน ส่วนเนื้อหมูจะใช้รับประทานกันในเทศกาลหรือในงานต่างๆ มากกว่าอาหารพื้นฐานของชาวสยามคือปลา พืชผักผลไม้มากกว่า ซึ่งโดยแท้จริงแล้วเป็นอาหารที่ดีมีไขมันน้อยและมีกากอาหารมากอันเหมาะสมกับคนที่อยู่ในภูมิอากาศร้อน

สังคมไทยดั้งเดิมเป็นสังคมเกษตรโดยพื้นฐาน ดังนั้นคนสยามจะใกล้ชิดกับธรรมชาติ โดยเฉพาะความอุดมสมบูรณ์ของต้นไม้ จะเห็นได้ว่า คนสยามมีความสัมพันธ์กับต้นไม้ ตั้งแต่แรกเกิด รกก็ต้องฝังไว้ที่ใต้ต้นไม้อันเป็นที่มาของคำว่า “รกราก” คือถิ่นฐานที่มา คือรกที่ฝังไว้นั่นเอง อีกทั้งประถมจินดาได้สอนให้คนไทยผูกพันกับต้นไม้ โดยทุกคนจะมีต้นไม้ประจำปีเกิด ซึ่งน่าจะคิดดูว่าถ้าคนไทยยังยึดตามที่คนโบราณสอนไว้ ในวันครบรอบวันเกิดน่าจะมีการปลูกต้นไม้ให้กับวันครบรอบวันเกิด ถ้าเป็นเช่นนี้เมืองไทยน่าจะเต็มไปด้วยต้นไม้ แต่เป็นว่าในปัจจุบันเมื่อถึงวันเกิดคนไทยก็ไปยึดถือตามชาวตะวันตก คือไปซื้อขนมเค้กจุดเทียนเป่าและกินกัน อันเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงการล่มสลายของสังคมไทยในปัจจุบัน

ก่อนหน้าที่จะสร้างกรุงศรีอยุธยา คนสยามขณะนั้นในเมืองอโยธยาได้เกิดอหิวาตกโรคระบาด ซึ่งเป็นโรคระบาดร้ายแรง ผู้คนล้มตายเกือบทั้งเมือง มีบางคนเท่านั้นที่หนีรอดตายออกมาได้ และเมื่อสร้างเมืองหลวงใหม่คืออยุธยา โรคเกิดระบาดอีกอันเป็นที่หวาดกลัวกันมาก จนถึงสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเกิดไข้ทรพิษระบาด ผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก เมื่อ พ.ศ. 1998

หลังจากนั้นเพียงหนึ่งปีได้มีการจัดตั้งกระทรวงสาธารณสุขขึ้นเป็นครั้งแรกมีหน่วยงานจำนวน 7 กรม มีกรมหมอกุมารซึ่งรับผิดชอบในโรคที่เกี่ยวกับเด็ก ในครั้งนี้เข้าใจว่า ตำราประถมจินดาคงจะเกิดขึ้นเป็นหนังสือที่สมบูรณ์ซึ่งรวบรวมมาจากความรู้ที่สั่งสมกันมายาวนาน ตำราเล่มนี้ได้รับการยกย่องว่า “เป็นหลักเป็นประธานแห่งคัมภีร์ฉันทศาสตร์ทั้งปวง” ซึ่งหมายความว่า เป็นตำราหลักของตำรายาไทยทั้งหมด ทำให้เป็นวรรณกรรมที่สำคัญมากของไทย โดยเฉพาะคำสอนให้สังคมไทยรักในพืชพันธุ์ป่าไม้และธรรมชาติสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุดเท่าที่ชาติสยามเคยมีมา แต่ถูกลืมเสียแล้วในสังคมไทยปัจจุบัน

1 ความคิดเห็น:

  1. มีอีกมากเรื่องที่ถูกทอดทิ้ง เฉกเช่น "ไก่ได้พลอย" เห็นความคิดท่านผู้เขียนเช่นนี้ ก็ใคร่อยากจะติดต่อไว้คุยหลายๆเรื่องให้ตกตะกอนต่อกัน
    E-mail ผม :pms848@mail.com ครับ

    ตอบลบ