++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

อภิสิทธิ์ กับจุดยืน “โหวตโน” โดย อุษณีย์ เอกอุษณีษ์

การเลือกตั้งเมื่อ 2 เมษายน 2549 คะแนนโหวตโน รวมกับบัตรเสียราว 10 ล้านเสียงได้กลายเป็นประวัติศาสตร์การเมืองที่ถูกหยิบยกไปพูดถึงกันทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะถูกใช้เป็นใบเสร็จเรียกร้องให้ นช.ทักษิณ ชินวัตร นายกฯ รักษาการ ขณะนั้นทบทวนตัวเองว่า ยังมีความชอบธรรมหลงเหลืออยู่อีกหรือไม่ ที่จะถืออำนาจอยู่ในแวดวงการเมืองของไทย แม้ในขณะนั้นทักษิณจะกอดคะแนนเสียงข้างมากจากการเลือกตั้ง 16 ล้านเสียงเอาไว้ในอ้อมอกก็ตาม

เพราะวันนั้นผลการเลือกตั้งที่มีผู้ใช้สิทธิทำเครื่องหมายหรือกาช่องไม่ประสงค์ลงคะแนนอย่างถล่มทลาย คือ เครื่องสะท้อนให้เห็นมิติทางสังคมที่ประชาชนจำนวนมากแสดงออกในรูป “โหวตโน” อันเป็นผลมาจากภาวะถดถอยในด้านความนิยมของประชาชนที่มีต่อพรรคการเมืองหรือนักการเมือง พวกเขาจึงแสดงออกมาผ่านทางการใช้สิทธิออกเสียงไม่สนับสนุนใคร ยิ่งผลคะแนนไม่ประสงค์จะเลือกใครมีสูงมากๆ ก็ยิ่งสะท้อนภาพชัดเจนถึงระดับการไม่สนับสนุนที่มีสูงมาก ซึ่งแม้ว่าในต่างประเทศ คนจะอารยะขัดขืนด้วยการไม่ไปเลือกตั้ง หรือไม่ออกไปใช้สิทธิ แต่สำหรับบ้านเรานั้น โชคดีที่กฎหมายเปิดช่องให้ใช้สิทธิ-รักษาสิทธิได้...โดยกาช่องประสงค์ “ไม่ลงคะแนน” แทน

เวลานั้น ในบรรดาผู้ที่ออกมาให้สติ ทักษิณ ชินวัตร นอกจากจะมีเครือข่ายนักวิชาการที่นำโดย นายแก้วสรร อติโพธิ และ ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ยังมีอดีตผู้นำฝ่ายค้านอย่างนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่พูดเอาไว้อย่างน่าฟังว่า

“ผลคะแนนที่ผู้ใช้สิทธิไม่ประสงค์ลงคะแนนมีเป็นจำนวนมากกว่าคะแนนที่ผู้สมัครจากพรรคไทยรักไทยได้รับ (ในบางเขต) แสดงให้เห็นว่าประชาชนมีเจตนารมณ์อย่างไร ต่อพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรและพรรคไทยรักไทย ต้องถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อน เนื่องจากมีผู้ไม่ประสงค์ลงคะแนนมากถึงขนาดนี้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นนัยสำคัญที่นายกรัฐมนตรีต้องกลับไปทบทวนว่ายังเหมาะสมที่จะบริหารประเทศต่อไปหรือไม่ ทั้งนี้เหตุการณ์ที่ผ่านมาจนถึงการเลือกตั้งครั้งนี้ถือว่าเป็นการปลุกให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลหลายแง่มุมที่ไม่เคยมีโอกาสได้รับรู้ จนกระทั่งการเลือกตั้งครั้งนี้ได้แสดงผลลัพธ์ที่มีนัยสำคัญทางการเมือง (1)

หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวอีกว่า หลังจากนี้ต้องการให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มองถึงอนาคตข้างหน้าว่า จะมีวิธีใดที่จะนำไปสู่การปฏิรูปการเมืองด้วยการยอมรับจากประชาชน และอยากให้คำนึงถึงผลการเลือกตั้งที่ออกมาด้วย ไม่ใช่ใช้กติกาที่นายกรัฐมนตรีเป็นผู้กำหนดแต่เพียงอย่างเดียว

จุดยืนวันนั้นของหัวหน้าพรรคฝ่ายค้านอย่างคุณอภิสิทธิ์ ถ้าเป็นเสียงของประชาชนแล้ว แม้แต่เสียงเดียวก็ยังต้องเงี่ยหูฟัง นับประสาอะไรกับเสียงโหวตโนนับล้าน...

…เวลาผ่านมาหลายปี ไม่รู้ว่าวันนี้คนพูดยังจดจำวาจา และอุดมการณ์ของตนเองในอดีตได้หรือไม่ …

ผล “โหวตโน” ร่วมสิบล้านเวลานั้น หากดูตามเจตนารมณ์ของ “เจ้าของเสียง” ทั้งหลาย มีความน่าสนใจไม่น้อย โดยสวนดุสิตโพล ในเวลานั้นได้จัดทำผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง และกาช่องไม่ลงคะแนน (Vote No) โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล หลังวันเลือกตั้งเพียงหนึ่งวัน สรุปสาเหตุที่ทำให้ประชาชนพากันตัดสินใจไม่ลงคะแนนให้กับใครดังนี้

33.11% ให้เหตุผลว่า โหวตโนเพราะไม่รู้จะเลือกใคร

19.02% ให้เหตุผลว่า ไม่ชอบนายกฯ/รู้สึกผิดหวังต่อตัวนายกฯ และการชี้แจงที่ไม่ชัดเจนในหลายประเด็น

17.89% รู้สึกเบื่อการเมือง/เลือกไปก็ไม่มีอะไรดีขึ้น/ไม่ว่าใครเข้ามาก็วุ่นวาย

7.33% นักการเมืองปัจจุบันมุ่งหวังแต่ผลประโยชน์และช่วยเหลือพวกพ้องกันเอง

6.20% รู้สึกไม่ไว้วางใจต่อระบบการเมืองไทยในปัจจุบัน/สับสนกับข่าวที่เกิดขึ้นไม่รู้ว่าเรื่องไหนจริง เรื่องไหนเท็จ

5.98% คิดว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่โปร่งใส/เป็นเกมการเมืองมากกว่า

3.51% ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ที่ผ่านมามีข้อผิดพลาดมากมาย

2.92% อยากให้เหตุการณ์วุ่นวายต่างๆ ยุติลงโดยเร็ว โดยเฉพาะการชุมนุมประท้วง

2.70% ถึงอย่างไรก็คงจะมีการเลือกตั้งขึ้นใหม่อีกครั้งแน่นอน

1.34% ไปใช้สิทธิของตนตามหน้าที่เท่านั้น/ไม่อยากเสียสิทธิ

ไม่น่าเชื่อว่า ผ่านมา 4-5 ปี อารมณ์ความรู้สึกทั้งหลายทั้งปวง ที่ถูกระบุข้างต้นนี้ ยังคงอยู่ ไม่ได้ถูกขจัดให้หมดไปจากสังคมไทยแต่อย่างใด ตรงกันข้าม ความเบื่อหน่าย “การเมืองที่ล้มเหลว” ดูจะยิ่งหนักข้อขึ้น และแม้ว่า การเลือกตั้งใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นในเดือนกรกฎาคมนี้ พรรคการเมืองที่เคยประกาศคว่ำบาตรเลือกตั้งครั้งที่แล้วจะเดินหน้าลงสู่สนามอย่างพร้อมเพรียง แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้ประชาชนมีทางเลือกมากขึ้นเลย เพราะพรรคเหล่านี้ก็ได้พิสูจน์ตนเองแล้วว่า “ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของการเมืองที่ล้มเหลว” ด้วยกันทั้งปวง

* (1) เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ (Th)Monday, April 03, 2006 09:29

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น