ผลศึกษาล่าสุดพบว่า คนที่ทำงานเกินวันละ 11 ชั่วโมงมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 2 ใน 3 ที่จะเกิดอาการหัวใจวาย
พร้อมกับแนะแพทย์ให้ซักประวัติคนไข้ให้ครอบคลุมถึงระยะเวลาของการทำงานแต่ละวันด้วย นอกเหนือจากเรื่องการดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่
นักวิจัยของมหาวิทยาลัยคอลเลจ ลอนดอน ได้ศึกษาข้าราชการกว่า 7,000 คนที่ทำงานกับรัฐบาลอังกฤษโดยใช้เวลาติดตามสุขภาพของคนเหล่านี้นาน 11 ปี โดยเก็บข้อมูลสภาพของหัวใจของคนเหล่านี้จากประวัติคนไข้และการตรวจสุขภาพ ในช่วงเวลาดังกล่าว มี 192 รายเกิดอาการหัวใจวาย
รายงาน ซึ่งตีพิมพ์ใน Annals of Internal Medicine พบว่า คนที่ทำงานเกินวันละ 11 ชั่วโมงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 67% ที่จะเกิดอาการนี้เมื่อเทียบกับคนที่ทำงานตามเวลาราชการ
นักวิจัยบอกว่า ผลการศึกษาชิ้นนี้แนะว่าคนที่มีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ เช่น โรคอ้วน สูบบุหรี่ ควรลดชั่วโมงการทำงานของตัวเอง
ศาสตราจารย์มิกา กีวีมากิ หัวหน้าทีม บอกว่า คนที่ทำงานตลอดทั้งวันมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่จะเป็นโรคหัวใจ ข้อมูลนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจเกี่ยวกับการจ่ายยาโรคหัวใจ
ชาวอังกฤษ 2.6 ล้านคนเป็นโรคหัวใจ ไขมันที่สะสมในหลอดเลือดได้ปิดกั้นเลือดที่จะไปเลี้ยงหัวใจ โรคหัวใจคร่าชีวิตประชาชนมากที่สุด แต่ละปีมีคนตายเพราะโรคนี้ 101,000คน
อาการ หัวใจวายเกิดขึ้นเมื่อหลอดเลือดหัวใจเกิดการอุดตันโดยสิ้นเชิง หากเลือดไม่สามารถไปหล่อเลี้ยงหัวใจได้ หัวใจในส่วนที่เชื่อมกับหลอดเลือดนั้นก็จะตาย
คนที่เสี่ยงเป็นโรคนี้คือคนที่สูบบุหรี่ มีความดันโลหิตสูง คอเลสเตอรอลสูง มีน้ำหนักตัวมาก หรือไม่ออกกำลังกาย
ขอบคุณบทความจาก : หนังสือพิมพ์ ไทยโพสต์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น