++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพฤหัสบดีที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

สหกิจศึกษา “นักศึกษาฝึกงาน” หรือเพียงแค่แรงงานได้เปล่า โดย ทันพงษ์ รัศนานันท์

ต้องขอขอบคุณ ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัทการบินไทยจำกัด (มหาชน) หนึ่งในรัฐวิสาหกิจที่มีฐานะมั่งคั่งของประเทศ และมีภาพลักษณ์อันหรูหราอันโดดเด่นของอุตสาหกรรมบริการที่ต้องแข่งขันเพื่อ สร้างแรงจูงใจต่อการใช้บริการ ดร.ปิยสวัสดิ์ได้กรุณาตอบจดหมายข้อข้องใจของผม เรื่องหลักเกณฑ์การรับนักศึกษาเข้าฝึกงานที่ฝ่ายบริการลูกค้าภาคพื้นของ บริษัทการบินไทย

ผมได้อ่านคำตอบที่อ้างอิงระเบียบการทั่วไปในการรับนักศึกษา เข้าฝึกงานของการบินไทยด้วยความรู้สึกที่ผิดหวัง เพราะคาดหมายว่า จะได้รับคำตอบที่สร้างสรรค์กับประเด็นละเอียดอ่อนต่อภาพลักษณ์ของรัฐ วิสาหกิจแห่งนี้จากมันสมองผู้บริหารระดับสูงของบริษัทการบินไทย

จากประสบการณ์การทำงานและการรับนักศึกษาเข้าฝึกงาน ทำให้ผมทราบว่า “การฝึกงาน” ของนักศึกษานั้น มีความหมายกับตัวนักศึกษามาก โดยเฉพาะหากสถานที่ที่นักศึกษาเข้าไปฝึกงาน เป็นบริษัทหรือหน่วยงานที่ใหญ่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับจากสังคม การฝึกงานก็คือการเตรียมความพร้อมออกไปเผชิญหน้ากับสังคมที่เป็นจริง เป็นเสมือนห้องทดทองที่นักศึกษาจะได้เรียนรู้ ปรับตัว นำความรู้ทางทฤษฎีประสานเข้ากับการทดลองปฏิบัติ นอกจากนักศึกษาแล้ว ผู้ได้รับประโยชน์ที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ บริษัทหรือหน่วยงานที่รับนักศึกษาเข้าฝึกงาน เพราะนั่นเท่ากับว่า บริษัทดังกล่าวได้รับผลประโยชน์จากแรงงานเพิ่ม เป็นแรงงานที่มีความกระตือรือร้นสูง เต็มไปด้วยความมีชิวิตชีวาของนักศึกษาที่ยังเยาว์วัย

และสมควรที่บริษัทหรือหน่วยงานที่รับนักศึกษาเข้าฝึกงานและผู้รับผิด ชอบในการจัดส่งนักศึกษาพึงตระหนักอย่างยิ่งก็คือประสิทธิภาพในการดูแล วิธีการถ่ายทอดประสบการณ์จากองค์กร สถานที่ฝึกงานไปสู่นักศึกษาที่คาดหวังว่านักศึกษาจะเป็นผู้ได้รับประโยชน์ สูงสุดและมีความรู้สึกได้รับความอบอุ่นถนอมรักจากผู้ถ่ายทอดประสบการณ์ มิได้เป็นเพียงแรงงานเสริม แรงงานนอกระบบหรือแรงงานทดแทน ซึ่งสถานประกอบการไม่จำเป็นต้องดูแลด้านสวัสดิการใดๆ ด้วยการอ้างระเบียบกฎเกณฑ์เป็นกำแพงสร้างความชอบธรรมให้กับตัวเอง

กล่าวโดยสรุป ระบบระเบียบของการจัดส่งนักศึกษาไปฝึกงานตามสถานประกอบการของมหาวิทยาลัยและ สถานศึกษาทั่วประเทศในทุกวันนี้ก็คือ การนำส่งแรงงานได้เปล่าให้กับสถานประกอบการ ซึ่งนักศึกษาและผู้ปกครองจะไม่สามารถคาดหวังอะไรได้เลยแม้แต่ความรู้ความ ชำนาญที่เพิ่มขึ้น นอกจากการไปใช้แรงงานทดแทนระบบที่อ่อนล้า มองในมุมนี้แล้ว จะเห็นได้ว่า ผลสำเร็จของการฝึกงานขึ้นอยู่กับสำนึกของผู้บริหารสถานประกอบการกับผู้รับ ผิดชอบในการจัดส่งนักศึกษาให้ไปฝึกงานของทางสถานศึกษาจริงๆ ว่า จะสามารถก้าวข้ามเงื่อนไขอันจำกัดที่วางเป็นกฎเกณฑ์ตายตัวและเอารัดเอา เปรียบทำให้สถานภาพนักศึกษาป็นเสมือนแรงงานได้เปล่า

ลองมาทบทวนเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง ก่อนอื่น อาจจะต้องกล่าวถึงหลักสหกิจศึกษา อันเป็นระบบการศึกษาภาคปฏิบัติ โดยจัดให้มีการเรียนในสถานศึกษาที่รองรับการปฏิบัติงานจริง ณ สถานประกอบการ ทำให้นิสิตมหาวิทยาลัยเกิดการเรียนรู้จากประสบการณ์เพื่อเตรียมความพร้อม ทำให้นักศึกษามีคุณภาพตามที่สถานประกอบการต้องการมากที่สุด หัวใจอยู่ที่ความร่วมมือระหว่างสถานประกอบการ มหาวิทยาลัยในโครงการสหกิจศึกษา ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเกิดผลประโยชน์ร่วมกัน สูงสุดโดยเฉพาะต้องเน้นย้ำผลประโยชน์ของนักศึกษาสูงสุด

ดังนั้น วลีที่ว่า “เกิดผลประโยชน์ร่วมกันสูงสุด โดยเน้นคุณภาพของนักศึกษา” นั้นเป็นจะกุญแจสำคัญในการพิจารณาความถูกต้องเหมาะสมของเรื่องนี้

แต่ในระบบของการจัดส่งนักศึกษาไปฝึกงานในปัจจุบัน หาได้เป็นเช่นนั้นไม่ ภาพที่เห็นและเป็นอยู่ก็คือ สถานประกอบการได้รับประโยชน์เต็มจากการรับแรงงานได้เปล่าไปโดยไม่มีเงื่อนไข ของต้นทุน แม้กระทั่งสวัสดิการที่นักศึกษาจะพึงมีพึงได้

ลองสร้างสมมติฐานขึ้นมาสักเรื่องหนึ่ง

โรงงานแห่งหนึ่งเป็นอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนรถยนต์และสามารถรับนิสิต นักศึกษาสาขาวิศกรรมเครื่องกลที่รู้เรื่องเครื่องรถยนต์ได้รุ่นละ 30-40 คน โดยเริ่มฝึกงานภาคเรียนที่ 2 ของนิสิตนักศึกษาชั้นปีที่ 3 และภาคเรียนที่ 1 ของชั้นปีที่ 4 เพื่อความต่อเนื่อง แต่ต้องมีชั่วโมงเรียนในชั้นเรียนครบตามหลักสูตรให้มาตรฐานนิสิตนักศึกษาแต่ ละคนขึ้นอยู่กับความรู้ความสามารถระดับ A-C ซึ่งได้จากการทดสอบ หรือสามารถวิเคราะห์ได้จากแหล่งการศึกษาที่ถูกจัดระดับมาตรฐาน A-C เช่นกัน

ผู้ประกอบการธุรกิจผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ สามารถทดสอบเรื่องความสามารถนิสิตนักศึกษาได้ตั้งแต่ปฐมนิเทศ มีการวัดระดับความรู้ ความสามารถเพื่อบรรจุลงในหน้าที่ต่างๆ อย่างเหมาะสมและเป็นโอกาสของนิสิตนักศึกษาที่จะเรียนรู้และเข้าทำงานได้ใน อนาคต จึงต้องแข่งขันกันในช่วงทดสอบฝึกงาน

แต่สิทธิประโยชน์ที่นิสิตนักศึกษาพึงได้รับขณะฝึกงานจะต้องเหมือนกับ สิทธิประโยชน์ของพนักงานโรงงานนั้นทุกประการ เพียงแต่ไม่ได้ค่าตอบแทนเป็นเงิน และนี่เป็นส่วนที่ผู้ประกอบการจะต้องคำนึงถึงจากประโยชน์แรงงานได้เปล่าจาก นิสิตนักศึกษา

ลักษณะสหกิจศึกษาประกอบด้วย 4 ลักษณะที่ผู้ประกอบการต้องคำนึงถึง คือ 1. เสมือนหนึ่งเป็นลูกจ้างชั่วคราว 2. มีหน้าที่รับผิดชอบที่แน่นอน 3. ปฏิบัติงานในตำแหน่งผู้ช่วยวิศวกร ผู้ช่วยนักวิชาการหรือผู้ช่วยวิจัย ฯลฯ 4. ทำงานเต็มเวลา 5. ระยะเวลาปฏิบัติงานเต็ม 1 ภาคเรียน ประมาณ 16 สัปดาห์ 6. มีค่าตอบแทนสมควร (ตามแต่สถานประกอบการเป็นผู้พิจารณา)

ด้านมืดของผู้ประกอบการที่ไร้จริยธรรมถึงแม้ว่าจะเป็นองค์กรใหญ่และ เป็นที่เชื่อถือหรือโดยหน้าตาผู้บริหารหรือธุรกิจที่ประกอบการก็ตาม คือการใช้แรงงานนิสิต นักศึกษาทำหน้าที่นักการ เป็นคนเดินหนังสือ สำเนาเอกสารหรือที่เลวร้ายยิ่งให้เป็นคนใช้ส่วนตัว วิ่งซื้อข้าวปลาอาหารให้หัวหน้างานทั้งฝ่าย

จากสมมติฐานที่ยกขึ้นมาแสดง ผู้ประกอบการจำเป็นต้องแจ้งให้นิสิต นักศึกษาทราบว่าผู้ฝึกงานรุ่นนี้มีโอกาสเข้าทำงานในบริษัทกี่คนตามแผนงาน บรรจุพนักงาน หรือสามารถประสานงานกับผู้ประกอบการอื่นๆ ในเรื่องการรับสมัครบัณฑิตใหม่เพื่อสร้างทางเลือกและลดภาระนิสิต นักศึกษาในการวิ่งหางาน

ประเด็นนี้เป็นมารยาท น้ำใจและจริยธรรมของผู้ประกอบการ แล้วยังเป็นการตอบสนองประกาศของกระทรวงศึกษาธิการเรื่องนโยบายที่สถาบันอุดม ศึกษาพึงปฏิบัติต่อนิสิต นักศึกษาเพื่อเป็นมาตรฐานในการคุ้มครองสิทธินิสิต นักศึกษา ลดความขัดแย้งและนำไปสู่มาตรฐานในการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา ซึ่งระบุว่า 1. สถานศึกษาอุดมศึกษาต้องจัดให้สถานศึกษาได้รับข้อมูลเกี่ยวกับการจัดการศึกษา ที่เป็นความจริงและถูกต้อง 2. สถาบันการศึกษาต้องจัดให้นิสิต นักศึกษาได้รับการศึกษาอย่างมีคุณภาพตามมาตรฐานอุดมศึกษาและเกณฑ์มาตรฐาน อื่นๆที่เกี่ยวข้อง และ 3. สถาบันอุดมศึกษาต้องจัดให้นิสิต นักศึกษาได้รับบริการและสวัสดิการรวมทั้งได้รับการดูแลสวัสดิภาพระหว่างอยู่ ในสถานศึกษา

สถานประกอบการที่มีนิสิต นักศึกษาไปฝึกงานย่อมถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาของชาติ เป็นการช่วยสังคม และเป็นจรรยาบรรณของผู้ประกอบการที่ต้องดูแลสวัสดิการและสวัสดิภาพนิสิต นักศึกษา

ในกรณีที่นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตหรือมหาวิทยาลัยอื่นกับ ฝ่ายบริการลูกค้าภาคพื้นของบริษัทการบินไทยที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมินั้นก็ เข้าข่ายนี้เช่นกัน

แม้ว่าบริษัทการบินไทยได้ปฏิบัติตามบันทึกความเข้าใจระหว่างทั้ง มหาวิทยาลัยและฝ่ายบริการภาคพื้นอยู่แล้ว รวมทั้งเป็นความยินยอมของผู้ปกครองแล้วก็ตาม แต่ไม่รู้ความจริง หรือได้รับการฟังข้างเดียวถึงภาพความหรูหรา ความมีหน้ามีตาและมีอนาคตที่จะได้เข้าทำงานกับบริษัทการบินไทยซึ่งมีขั้นตอน มากในการรับคนเข้าทำงานและฝ่ายบริการผู้โดยสารภาคพื้นไม่มีอำนาจรับสมัคร พนักงานหรือเรียกร้องแรงงานเพิ่ม นิสิต นักศึกษาฝึกงานจึงเป็นหนทางแก้ไข ทำให้พนักงานบริการลูกค้าภาคพื้นไม่ต้องตื่นเช้าตี 3 ตี 4 มาทำงานตี 5 หรือหกโมงเช้าเพราะบ้านอยู่ไกล หรือบางคนมีภาระต้องส่งลูกไปโรงเรียน

ข้อเท็จจริงมิได้เป็นไปตามหลักจริยธรรมหรือประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต 30 คนต้องตื่นตั้งแต่ตี 3 ตี 4 ไปทำงานแต่ท้องว่าง ฝ่ายบริการลูกค้าภาคพื้นไม่ได้จัดอาหารเช้าบริการนักศึกษา 30 คน เหล่านี้ ทุกคนอาจทนได้เพราะเงื่อนไขบังคับ หากเป็นพนักงานจริงแล้วต้องมีค่าล่วงเวลาตอบแทนมิฉะนั้นสหภาพแรงงานเรียก ร้องแน่

ดร.ปิยะสวัสดิ์ ลองคิดดูหากเป็นลูกท่านต้องตื่นตี 3 ตี 4 หกวันต่อสัปดาห์เพื่อไปทำงานต่อเนื่อง 2 เดือน ไม่ได้รับทานอาหารเช้าและหากินเองในสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งแม้อาหารจานเดียวก็แพงสำหรับเด็กนักศึกษาอยู่แล้ว

หากนักศึกษากลุ่มนี้มาทำงานตามปกติเหมือนนักศึกษาฝึกงานทั่วไปแล้ว ที่พักบริเวณลาดกระบังมันก็คงทำอาหารถูกกินได้หรือใช้ AirPort Link มาทำงานก็มีโอกาสซื้ออาหารถูกกินได้ไม่ยากไม่ต้องเดือดร้อนไปกินของแพงที่ สุวรรณภูมิ

ทุกวันนี้มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตรับภาระสวัสดิการและสวัสดิภาพจัด ที่พักซึ่งนักศึกษาต้องจ่ายอยู่แล้ว แต่อยู่เป็นกลุ่มก้อน มีรถรับส่งนักศึกษาเช้าเย็น

แต่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่ได้ซื้อ Air Bus 380 มาประจำฝูงบินแล้วแต่ไม่มีเงินซื้อข้าวและจัดรถรับ ส่งนักศึกษาจึงเป็นเรื่องสวนกระแส ประกาศกระทรวงศึกษาธิการหรือกระแสสังคม

ความจริงข้อสุดท้าย คือ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ไม่มีนโยบายรับพนักงานในสายงานบริการภาคพื้น เพราะฉะนั้นฝึกงานไปก็ไม่ได้ทำงานกับการบินไทยหรือจะสมัครงานก็ต้องเป็น พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินซึ่งมีเงื่อนไขสูงและเส้นเยอะ ส่วนลูกชาวบ้านมองเห็นความหวังที่เข้าทำงานริบหรี่

เรื่องเหล่านี้ผู้ปกครองนักศึกษามักไม่ทราบแต่ภาพที่ถูกสร้างมันสวย จนไม่รู้ว่าลูกหลานถูกหลอกให้เป็นแรงงานได้เปล่า จึงอยากให้ ดร.ปิยสวัสดิ์ได้จัดการปรับเวลาทำงานให้เป็นปกติ ขออย่าได้อ้างว่านักศึกษาต้องการมีประสบการณ์ ถึงอย่างไรท่านก็ไม่สามารถรับเข้าทำงานกับบริษัทการบินไทยตามทักษะนี้ แต่ความสามารถเฉพาะตัวนักศึกษาเองต่างหากที่ได้ทำงานบริษัทสายการบินอื่น

ดังนั้นควรปรับเวลาฝึกงาน จัดอาหารเช้าบริการ และจัดรถบริการรับส่งนักศึกษาเพื่อมหาวิทยาลัยซึ่งมีทุนน้อยกว่าจะได้ลดต้น ทุนในส่วนนี้

กล่าวโดยสรุป ผมไม่อยากให้แรงงานนักศึกษาฝึกงานมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตที่มาฝึกงานกับ บริษัทการบินไทย กลายเป็นแรงงานได้เปล่าของสถานประกอบการ ที่ต้องหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาขยายความรวมไปถึงระบบการจัดส่งนักศึกษาไปฝึก งานตามสถานประกอบการต่างๆ ทุกๆ ปีในจำนวนมากนั้นสูญเสียมูลค่าไปอย่างน่าเสียดาย บริษัทการบินไทยในฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจที่มั่งคั่งอยู่ในอุตสาหกรรมบริการ อันดับต้นๆ ของประเทศด้วยงบประมาณด้านการโฆษณาและประชาสัมพันธ์มหาศาลในแต่ละปี และที่สำคัญประชาชนในชาติทุกคนร่วมเป็นเจ้าของในฐานะผู้จ่ายภาษี สมควรที่ผู้บริหารจะคิดสร้างสรรค์ให้มากกว่ากฎระเบียบตายตัวที่เป็นการเอา รัดเอาเปรียบนักศึกษา เอารัดเอาเปรียบเยาวชนที่เป็นอนาคตของชาติและเป็นผู้ที่จะกลายเป็นเม็ดเลือด ใหม่ของธุรกิจการบินของประเทศ

ก่อนที่จะทุ่มเทโฆษณาประชาสัมพันธ์สร้างภาพลักษณ์กับลูกค้า ก่อนที่จะแสดงวิสัยทัศน์ของความเป็นผู้นำทางด้านธุรกิจการบินของเอเชีย-ของ โลก ก่อนที่จะทุ่มงบประมาณซื้อฝูงบินใหม่ยกฝูง ผมอยากให้ผู้บริหารการบินไทยช่วยมาพินิจพิจารณาเรื่องใกล้ตัวที่เป็นเรื่อง ละเอียดอ่อนของสังคมเรื่องนี้เสียก่อนครับ.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น