ข่าวเรื่องสู้รบกันที่แนวชายแดนไทย-กัมพูชาล่าสุด กลายเป็นเรื่องน่าเบื่อเสียแล้วสำหรับผู้เขียน จากความตื่นตระหนก ด้วยคาดหวังว่า สถานการณ์จะบานปลายกลายเป็นความเซ็งที่จะได้รับรู้ปัญหา ซึ่งไม่รู้ว่า ใครเริ่มใครทำ และทำไปเพื่ออะไร แหล่งข่าวต่างประเทศก็บอกว่า เกิดจากการเมืองภายในไทย แหล่งข่าวในประเทศก็ว่าเกิดจากฝ่ายกัมพูชา แต่ผลสรุปเหมือนกันคือ ประชาชนตาดำๆ เดือดร้อน และแน่นอนธุรกิจไทยในกัมพูชาก็เดือดร้อนไปด้วย
แผนการที่จะส่งเสริมให้คนไทยออกไปลงทุนในกัมพูชาดูเหมือนจะถูกบั่นทอนจากสถานการณ์ด้านการเมืองระลอกแล้วระลอกเล่าไม่สิ้นสุด บรรยากาศการลงทุนในกัมพูชาในสายตาของนักธุรกิจไทยเสื่อมถอยลงไปทุกทีจนยากที่จะเยียวยา ในฐานะรัฐบาลหรือหน่วยงานที่ส่งเสริมการลงทุนก็คงจะต้องเริ่มปล่อยวางเสียแล้ว
แต่ทำไมต้องกัมพูชา ทำไมไม่เป็นประเทศอื่นที่ไทยก็มีพรมแดนติดกัน หรือความเปราะบางของประเทศนี้มีมากกว่าประเทศอื่น เป็นสิ่งที่ผู้เขียนยากจะคาดเดาและคงจะให้ข้อมูลเบื้องลึกไม่ได้เพราะไม่ได้มีส่วนรู้เห็นกับเหตุการณ์
สิ่งที่สามารถบอกได้คือ ปัจจุบันมีคนไทยลงทุนในไทยแล้วทั้งสิ้น 82 โครงการ ระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม 2537-31 ธันวาคม 2553 คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุนรวม 363.35 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นเงินลงทุนเฉพาะในส่วนของนักธุรกิจไทย 227.59 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 62.63 ของมูลค่าเงินลงทุนรวมของโครงการของไทยทั้งสิ้น การลงทุนของไทยส่วนใหญ่จะอยู่ในภาคการผลิต การแปรรูปการเกษตร การผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป และเหมืองแร่ เป็นต้น
สำหรับคนไทย กัมพูชาคือเพื่อนบ้านที่ดี หากไม่มีปัญหาด้านการเมืองหลายครั้งที่ผ่านมา คนไทยคงจะเข้าไปลงทุนในกัมพูชามากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เพราะจากประสบการณ์ของนักธุรกิจไทยหลายราย กัมพูชาดูเหมือนจะเข้ายาก แต่เข้าไปแล้วความสำเร็จมีมากกว่าในประเทศเพื่อนบ้านอื่น เช่น เวียดนาม เป็นต้น
สิ่งที่ไทยต้องคิดให้มากคือ อุตสาหกรรมที่ไทยขาดความได้เปรียบ กัมพูชาสามารถรองรับธุรกิจของไทยได้ ยกตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป
อุตสาหกรรมผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปและสิ่งทอถือเป็นเส้นเลือดของเศรษฐกิจกัมพูชา คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 16 ของผลผลิตมวลรวมประชาชาติ และคิดเป็นร้อยละ 70 ของการส่งออกทั้งหมดในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2553 หรือเฉลี่ยร้อยละ 90 ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เป็นอุตสาหกรรมที่มีการจ้างงานสูงที่สุด คิดเป็นร้อยละ 45 ของจำนวนแรงงานในภาคการผลิตทั้งหมด
อุตสาหกรรมผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปในกัมพูชาเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนของต่างชาติ รัฐบาลกัมพูชามีความพยายามที่จะส่งเสริมการลงทุนของต่างชาติโดยการให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษี และในปี 2539 สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปให้การยอมรับสถานภาพประเทศที่ได้รับการปฏิบัติเยี่ยงชาติที่ได้รับการอนุเคราะห์ยิ่ง (MFN) และ GSP แก่กัมพูชาในการส่งออกสินค้าเข้าไปขายในตลาดของตน
ตลาดส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่สำคัญของกัมพูชาคือ สหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วน 2 ใน 3 ของการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปทั้งหมด และในสหภาพยุโรปคิดเป็นร้อยละ 23 ประเทศผู้นำเข้าอื่นๆ ที่สำคัญของกัมพูชาได้แก่ แคนาดา เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น มูลค่าการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปของกัมพูชาเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.2 ในปี 2553 คิดเป็นมูลค่า 2.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ เปรียบเทียบกับ 2.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปีก่อนหน้า
อุตสาหกรรมสิ่งทอในกัมพูชาถึงร้อยละ 93 เป็นการลงทุนของต่างชาติ โดยมีไต้หวันเป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่สุด คิดเป็นร้อยละ 93 รองลงมา คือ จีนและฮ่องกง ร้อยละ 20 เท่ากัน เกาหลีใต้ร้อยละ 12 เนื่องจากการพึ่งพิงการส่งออกเป็นหลัก ทำให้ในปี 2551 - 2552 ที่เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก โดยเฉพาะในสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป กัมพูชาจึงประสบปัญหาอย่างมาก
กัมพูชาเป็นแหล่งลงทุนในอุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูป เนื่องจากมีแรงงานจำนวนมากที่มีราคาถูก จากรายงานของ Source ASEAN Quality Textile and Apparel ระบุว่า กัมพูชาเป็นประเทศที่มีจุดแข็งอย่างมากในอุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูป กัมพูชาสามารถส่งสินค้าเข้าสู่ตลาดโลกได้สะดวก โดยเฉพาะเสื้อผ้าสำเร็จรูป จากความตกลงระดับทวิภาคีที่กัมพูชาลงนามไว้กับสหรัฐฯ สหภาพยุโรป แคนาดา และญี่ปุ่น การได้รับสถานภาพประเทศที่ได้รับการปฏิบัติเยี่ยงชาติที่ได้รับการอนุเคราะห์ยิ่ง (MFN) การได้รับสิทธิ GSP หรือการได้รับสิทธิด้านภาษีในฐานะประเทศด้อยพัฒนาที่สามารถจะได้รับการรับประกันภาษีนำเข้าในอัตราที่ต่ำ และได้รับการพิจารณาการเข้าสู่ตลาดได้
แล้วอย่างนี้ จะไม่ให้สถานการณ์ชายแดนไทย - กัมพูชาเป็นเรื่องน่าเบื่อได้อย่างไร หยุดเสียทีเถิด เซ็งจะแย่อยู่แล้ว...
ติดต่อขอข้อมูล ติชม และเสนอแนะความคิดเห็นได้ที่ศูนย์บริการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 0-2553-8111 หรือที่ head@boi.go.th
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น