ข่าวเรื่องการขายประกาศนียบัตรครูที่มหาวิทยาลัยอีสาน ทำให้ความพยายามในการยกสถานภาพครูได้รับความกระทบกระเทือนมาก ทั้งในด้านความน่าเชื่อถือของสถาบันอุดมศึกษา และด้านคุณภาพการผลิตครู
ปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยเกิดขึ้นหลายร้อยแห่ง ทั้งของรัฐ และเอกชน แม้ว่าส่วนใหญ่จะมีการจัดระบบดี โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยเอกชน เช่น มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยศรีปทุม มหาวิทยาลัยสยาม แต่ก็มีบางมหาวิทยาลัยที่มีวิธีการเปิดหลักสูตรปริญญาโท-เอกแบบขายปริญญากลายๆ ผมเคยได้ยินคนเล่าว่าไปสอนที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งที่มีนักการเมืองไปเรียนแยะ สอนไปได้ 45 นาที นักศึกษาก็บอกว่า “พอเถอะค่ะ พวกเราเหนื่อยแล้ว”
มหาวิทยาลัยเอกชนที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว คือ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ซึ่งเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง ยังเป็นเหมือนวิทยาลัยเล็กๆ แต่ได้อดีตผู้บริหารนิด้า และดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ไปช่วย มีการส่งอาจารย์ไปเรียนต่อหลายคน และชวนอาจารย์เก่งๆ ที่เกษียณแล้วไปช่วยงาน อีกแห่งหนึ่งก็คือ มหาวิทยาลัยมหานคร ที่มีชื่อเสียงด้านวิศวกรรมศาสตร์ มีอาจารย์จากลาดกระบังไปช่วยกันพัฒนาหลายคน
มหาวิทยาลัยที่เพิ่งถูกปิดไปนั้น มีสภามหาวิทยาลัยที่ประกอบไปด้วยบุคคลหลายฝ่าย มีนายประจวบ ไชยสาส์น เป็นนายกสภาฯ ถ้าจำไม่ผิด นายประจวบ ก็เป็นนายกสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่มีการปลดอธิการบดีโดยอธิการบดี และรองอธิการบดีถูกกล่าวหาว่าทุจริตด้วย
ที่จริงผู้รับผิดชอบสูงสุด คือ สภามหาวิทยาลัย การเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยนั้น มีความรับผิดชอบสูงมาก เพราะเวลานี้ทางสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษาให้อิสระแก่มหาวิทยาลัยมาก
สำหรับเรื่องการผลิตครูพันธุ์ใหม่นั้น มีความเชื่อกันว่า หากให้ครูเรียนเพิ่มอีกหนึ่งปี และต้องฝึกสอนด้วย ครูก็จะเป็นครูที่มีความเป็นวิชาชีพเหมือนกับหมอ และสถาปนิก ความเชื่อนี้จะจริงหรือไม่ก็ต้องรอดูกันต่อไป แต่เรื่องการศึกษานี้ ได้มีการออกกฎหมายว่า ผู้ที่จะมีใบประกอบวิชาชีพครูเท่านั้น จึงจะเป็นครูได้คือ ต้องเรียนจบทางครุศาสตร์เท่านั้น ความคิดนี้คับแคบมาก และการยืดระยะเวลาการเรียน น่าจะแฝงไว้ด้วยความคิดที่จะเพิ่มเงินเดือนให้ครู
ผมเคยพบครูที่อื่น เขาไม่ได้จบทางครุศาสตร์โดยตรง แต่จบสาขาต่างๆ เช่น วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ ชีววิทยา เป็นต้น อย่างดีก็ไปเรียนด้านการศึกษาเพิ่มอีกหนึ่งปี ส่วนครูที่เรียนทางครุศาสตร์ แม้จะเลือกวิชาหลักอย่างคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ แต่ก็ไม่ได้เรียนอย่างเข้มข้น
การที่การศึกษาจะดีมีคุณภาพได้นั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับระบบโรงเรียนแต่เพียงอย่างเดียว เพราะระบบโรงเรียนเป็นเพียงส่วนเดียวของระบบการเรียนรู้ทั้งหมด สื่อมวลชน รายการโทรทัศน์ หนังสือ ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ ล้วนแล้วแต่เป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญทั้งสิ้น กล่าวคือ “พื้นที่การเรียนรู้” มีขอบเขตกว้างขวางกว่าระบบโรงเรียน ดังนั้นระบบโรงเรียนที่ดีจึงพยายามขยายพื้นที่การเรียนรู้ให้กว้างที่สุดเท่าที่จะทำได้ อีกทั้งมีการจัดกิจกรรมนอกห้องเรียนควบคู่ไปกับการเรียนในห้องเรียนด้วย
ภายในระบบการศึกษาเอง หากครูต้องการมีความเป็นวิชาชีพ สมาคมครูก็มีความสำคัญ เพราะเป็นแหล่งที่มีภารกิจในการพัฒนาครูโดยตรง มีวารสารทั้งวารสารของวิชาชีพครูทั่วไป และมีสมาคมทางวิชาการอีกมากมาย สมัยผมเป็นผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย ผมก็รับวารสารของสมาคมครูอเมริกัน และวารสารของสมาคมฟิสิกส์ของอังกฤษ แต่ในเมืองไทยเรา องค์กรวิชาชีพยังอ่อนแออยู่ และยังไม่มีวารสารทางวิชาการที่เด่น ดังนั้นครูจึงต้องช่วยตนเองเป็นส่วนใหญ่ เวลานี้เริ่มมีความเคลื่อนไหวที่จะสนับสนุนให้มีการจัดตั้งกลุ่มที่เรียกว่า “คลัสเตอร์” (Cluster) ขึ้น เพื่อเป็นเครือข่ายในการช่วยพัฒนาครู แต่ก็ยังคงเป็นแนวคิดอยู่ ยังไม่มีการดำเนินการอย่างเป็นระบบ
ครูชาวอังกฤษของผมเคยบอกว่า เมืองไทยไม่มีทางที่จะให้ครูเก่งได้ ตราบใดที่ยังให้เงินเดือนครูน้อยอย่างนี้ เวลานี้โรงเรียนหลายแห่งในเมืองไทยก็ไปหาครูจากอังกฤษ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ โรงเรียนที่เพิ่งตั้งไม่กี่ปีก้าวหน้าไปมาก เพราะครูใหญ่และครูส่วนใหญ่มาจากอังกฤษ ผมเป็นประธานโรงเรียน Shrewsbury และ British International ได้รับรู้วิธีการจัดการเรียนการสอนที่มีระบบ มีการประเมินคุณภาพการศึกษา ทั้งสองแห่งให้เงินเดือนสูง สวัสดิการดี ทำให้เห็นความแตกต่างอย่างมหาศาล ระหว่างโรงเรียนประเภทนี้ กับโรงเรียนไทย แม้ว่าเราคงไม่สามารถทำโรงเรียนไทยให้ดีเหมือนโรงเรียนเหล่านี้ แต่ก็สามารถพัฒนาครูได้ พวกเราที่เรียนโรงเรียนไทยจากครูไทยไป เมื่อไปเรียนต่างประเทศก็สู้ฝรั่งได้ ดังนั้นจึงไม่ควรเสียกำลังใจ
เวลานี้เทศกาลบางแห่งมีความตื่นตัว และทุ่มเทงบประมาณให้กับโรงเรียนเทศบาลจนโรงเรียนมีคุณภาพดี ในระยะยาวท้องถิ่นจะต้องส่งเสริมการศึกษามากขึ้น และหวังว่าจะใช้รายได้มาเพิ่มเงินเดือนให้ครูด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น