โดยอาชีพผมเคยสอนและเขียนตำราเกี่ยวกับ “คณิตศาสตร์ว่าด้วยการระบาดของโรค” แต่โดยความสนใจส่วนตัว ผมได้ค้นคว้าและเขียนหนังสือเกี่ยวกับปัญหาพลังงานและการเคลื่อนไหวทางสังคมมากว่าสิบปี จนมาเป็นคอลัมน์ “โลกที่ซับซ้อน” อย่างที่ท่านเห็น
มาวันนี้มี 2 เรื่องที่จะนำประสบการณ์รวมทั้งแนวคิดที่ผมได้รับจากหนังสือเล่มหนึ่งมาแลกเปลี่ยนในที่นี้ นั่นคือ เรื่อง Vote No ที่กำลังจะเกิดขึ้นในการเลือกตั้งครั้งหน้า กับ “เครือข่ายพลเมืองปฏิรูปพลังงานไทย” ที่เพิ่งก่อตั้งในงานรำลึกวันครบรอบ 25 ปีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลระเบิด
ประเด็นชวนคิดก็คือ ทำอย่างไรให้แนวคิดเชิงสังคมทั้ง 2 เรื่องนี้ได้ส่งผลกระทบไปในวงกว้างจนก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างได้
ถ้าเรื่อง Vote No ก็ต้องถามว่า ทำอย่างไรให้คนเห็นด้วยและทำตามมากที่สุด จนทำให้นักการเมืองและสังคมรู้สึก “ช็อก” แล้วจึงชวนกันมาครุ่นคิดอย่างเป็นระบบ เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปการเมือง ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง (1) กระบวนการเข้าสู่อำนาจและการตรวจสอบนักการเมือง (2) การลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของประเทศไทยที่เลวที่สุดในทวีปเอเชีย (3) การให้ชุมชนสามารถรักษาทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นฐานชีวิตของพวกเขาโดยไม่ให้ทุนระดับชาติและระดับโลกละเมิดสิทธิ และ (4) ทำอย่างไรให้ความหมายของกระบวนการประชาธิปไตยที่ ศาสตราจารย์อมาตยา เซน นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลเชื่อว่า “คือกระบวนการที่มีการถกเถียงกันด้วยเหตุด้วยผล” ซึ่งหมายรวมถึงทั้งในสภาฯ และสังคมภายนอก แล้วโยงไปถึงการปฏิรูปสื่อครั้งใหญ่
สำหรับเรื่องการปฏิรูปพลังงานซึ่งมีส่วนร่วมถึงเกือบ 1 ใน 5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติก็ต้องทำให้คนส่วนใหญ่ (1) รู้ปัญหาและความจริงว่า แม้ไม่ใช้ถ่านหินและนิวเคลียร์ เราก็มีแหล่งพลังงานอื่นๆ (2) ร่วมเสนอและผลักดันนโยบาย เช่นเดียวกับพลเมืองในประเทศที่เขาตื่นตัวแล้ว (3) ร่วมผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพื่อขายเข้าสายส่งไฟฟ้าได้ และ (4) รวมไปถึงการแก้ปัญหาแหล่งปิโตรเลียมที่ถูกต่างชาติสัมปทานไปในราคาต่ำมาก การกำหนดราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นโดยพ่อค้า รัฐบาลที่ประชาชนเลือกไปไม่ได้มีบทบาทใดๆ เลย เป็นต้น
ผมคิดว่า ผู้ที่เป็นแกนนำในแต่ละประเด็นจะต้องให้ความสนใจอย่างยิ่งกับรายละเอียดที่ได้กล่าวมาแล้ว ไม่ใช่หยุดอยู่แค่ Vote No หรือ ไม่เอานิวเคลียร์ ไม่เอาถ่านหิน แต่ต้องคิดล่วงหน้าไปก่อน ถ้ายังไม่มีความชัดเจนพอก็ไม่เป็นไร ถือว่าเป็นการเรียนรู้ท่ามกลางการปฏิบัติ แต่อย่างน้อยควรจะทำให้สังคมรู้สึกว่าสภาพที่เป็นอยู่ในขณะนี้ มันเหลืออดเหลือทนและนำไปสู่หายนะ
กฎ 3 ข้อที่จะกล่าวถึงในที่นี้มาจากหนังสือ “The Tipping Point: How Little Things Can Make a Big Difference” โดย Malcohm Gladwell
เขาสังเกตว่าในเรื่องโรคระบาดมีลักษณะพิเศษสามข้อ คือ (1) เชื้อโรคมีความสามารถที่จะติดต่อกันได้ (2) สาเหตุเพียงเล็กน้อยสามารถส่งผลกระทบอย่างขนานใหญ่ได้ และ (3) ผลกระทบหรือการเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ใช่ค่อยๆ เพิ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อย แต่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและกระจายไปทั่ว
จากคุณสมบัติดังกล่าวเขาจึงตั้งเป็น “กฎ 3 ข้อของโรคระบาด (Three Rules of Epidemics)” ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการแพร่ของข่าวสารได้ ดังนี้
กฎข้อ 1 บุคคลจำนวนน้อยเป็นผู้สร้างกระแส (Law of the Few คำแปลของ ศุภวุฒิ สายเชื้อ)
เขาเชื่อว่าการสื่อสารแบบปากต่อปากยังคงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการสื่อสารของมนุษย์ (เขียนเมื่อปี 2543 ยังไม่มี facebook) ดังนั้นการใช้บุคคลจำนวนน้อยหรือคนหยิบมือเดียวเพื่อกระจายข่าวสารจะต้องใช้คนใน 3 ลักษณะ คือ
(1) ผู้ประสานงาน (Connector) จะต้องเป็นคนที่รู้จักคนเยอะ มีอัธยาศัยที่ดี มีความน่าเชื่อถือ
(2) กลุ่มนักวิชาการ (Maven) ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ มีความพร้อมที่จะเป็นได้ทั้งครูและนักเรียน
(3) นักขาย (Salesmen) ที่มีความสามารถในการชักจูง โน้มน้าว สามารถแปลงเรื่องที่ยากๆ ให้คนทั่วไปเข้าใจได้ง่ายขึ้น
ในประวัติศาสตร์ ความคิดต่างๆ ล้วนเริ่มต้นเกิดมาจากคนส่วนน้อยทั้งสิ้น ไม่เว้นแม้กระทั่งแนวคิดเรื่องระบอบประชาธิปไตย คอมมิวนิสต์ จนถึงฟุตบอลโลกที่คนค่อนโลกติดกันงอมแงม กฎหมายที่ทำให้เกิดการใช้พลังงานหมุนเวียนเพื่อผลิตไฟฟ้ากันอย่างแพร่หลายในหลายประเทศของยุโรปก็เริ่มต้นมาจากคนคนเดียว และ ส.ส.ฝ่ายค้านในสภาผู้แทนของเยอรมนีอีก 2-3 คนเท่านั้น
กฎข้อที่ 2 ความหนักแน่น (stickiness) ของข้อมูลข่าวสาร
ถ้าเป็นความคิดที่มีเหตุผล มีน้ำหนักและมีค่าควรแก่การเผยแพร่ต่อ มันก็จะแพร่ต่อไปอย่างรวดเร็วราวกับโรคระบาด ในตัวแบบทางคณิตศาสตร์ เราสามารถบอกได้ว่าภายใต้เงื่อนไขอะไรบ้างการระบาดของโรคจะเกิดหรือไม่เกิด เราบอกได้เป็นตัวเลขและเห็นผลที่ตามมาอย่างชัดเจน แต่ในทางสังคม นักเคลื่อนไหวจะต้องครุ่นคิดอย่างประณีต ให้ผู้คนกล่าวถึงอย่างไปติดปากติดใจ (stickiness)
คำสะท้อนจากคนใกล้ๆ ตัวผมในขณะนี้พบว่า กรณี Vote No เขากลัวว่าจะทำให้ “เสียของ” ในกรณีพลังงาน กระแสโฆษณาที่ว่า “ถ่านหินสะอาดและนิวเคลียร์ราคาถูก” ยังฝังหัวคนอยู่ระดับหนึ่ง
นี่คือประเด็นที่จะต้องทำให้มีเหตุผลหนักแน่นขึ้น
กฎข้อที่ 3 อำนาจของปัจจัยรอบข้างและบรรยากาศแวดล้อม (the power of context)
Gladwell บอกว่า คนในสังคมมักจะเกี่ยงกันทำความดีหากรู้ว่ามีคนอื่นๆ อยู่ในเหตุการณ์นั้นจำนวนหลายคน เช่น เมื่อมีคนถูกโจรจี้ ถ้ามีคนเห็นเหตุการณ์หลายคน คนที่เห็นเหตุการณ์แต่ละคนมักจะทำเฉย แต่ถ้ามีคนเห็นเหตุการณ์เพียงคนเดียว คนคนนั้นมักจะให้ความช่วยเหลือ นี่คืออำนาจของปัจจัยแวดล้อม
เหตุการณ์โรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลและเหตุการณ์โรงไฟฟ้าฟูกูชิมาได้ทำให้การเคลื่อนไหวเพื่อการปฏิรูปพลังงานไทยมีโอกาสมากขึ้น ความไร้สมรรถนะและการคอร์รัปชันสูงของนักการเมือง ได้ทำให้สังคมรู้สึกหมดหวังจนมีอาการหงอยและเฉยเมยต่อปัญหาสาธารณะ นี่ก็เป็นปัจจัยแวดล้อม
เราจะเกี่ยงกันแล้วรอให้นักการเมืองลุกขึ้นมาปฏิรูปการเมือง ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตและ บริษัท ปตท. มาปฏิรูปพลังงานกระนั้นหรือ
ถ้าไม่ กฎ 3 ข้อนี้ได้ให้แนวคิดคร่าวๆ ไว้แล้วครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น