++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

การศึกษาหมาหางด้วน - ท่านพุทธทาสภิกขุ

การศึกษาหมาหางด้วน - ท่านพุทธทาสภิกขุ
เขียนโดย ดร.เสรี พงศ์พิศ
Wednesday, 12 July 2006
ที่สวนโมกขพลาราม ไชยา มีสระน้ำเล็กๆ ประมาณสองงานอยู่แห่งหนึ่ง มีเกาะเล็กๆ อยู่ตรงกลาง มีต้นมะพร้าวขึ้นโด่อยู่ต้นเดียว ที่นี่เป็นอุปกรณ์การเรียนการสอนธรรมะเช่นเดียวกับทุกสิ่งทุกอย่างในสวนโมกข์แห่งนี้

ท่านพุทธทาสอธิบายความหมายของสระน้ำโดยใช้เพลงกล่อมเด็กของคนใต้ว่า "มะพร้าวนาฬิเก ต้นเดียวโนเน กลางทะเลขี้ผึ้ง ฝนตกไม่ต้อง ฟ้าร้องไม่ถึง กลางทะเลขี้ผึ้ง ถึงแต่คนพ้นบุญเอย" หมายถึงนิพพาน ซึ่งก้าวพ้นไปจากการแบ่งขั้ว ก้าวพ้นแม้กระทั่งบุญ ก้าวไปสู่ความเป็นหนึ่งเดียว สู่เอกภาพในเอกภพ คนกับทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่มีดี-ชั่ว ถูก-ผิด บุญ-บาป เพราะหลุดพ้นไปแล้ว

การก้าวพ้นการแบ่งแยก แบ่งขั้ว ทำให้หลุดพ้นจากตัวตน ไม่ยึดมั่นถือมั่น ไม่มีตัวกูของกู

อย่างไรก็ดี ท่านพุทธทาสเข้าใจดีว่า คนธรรมดาสามัญยังคงเวียนว่ายในสังสารวัฎ มีกิเลส ตัณหา ยังต้องการรูปธรรม ยังต้องการพิธีกรรม แต่ท่านก็เตือนเสมอว่า อย่าได้ยึดติดกับสิ่งต่างๆ ที่มีรูปธรรม แม้กระทั่งพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ซึ่งอาจกลายเป็น "ภูเขาแห่งวิถีพุทธธรรม" กลายเป็นอุปสรรคของการเข้าถึงธรรม เพราะคนไปยึดติดกับรูปธรรมภายนอก เคารพแต่ (พระพุทธ) รูป เคารพแต่ตัวบุคคล (พระภิกษุ) และยึดติดแต่ตัวอักษรของหลักธรรม (คัมภีร์)

ท่านสอนว่า "ขึ้นต้นไม้ให้ขึ้นทางต้น อย่าขึ้นทางปลาย" หมายความว่า ให้จับหลักคิด จับความคิด จะเกิดปัญญา ไม่ใช่แสวงหาแต่เทคนิก วิธีการ ซึ่งเป็นความรู้และทักษะต่างๆ ชอบแต่ตั้งคำถามว่า "ทำอย่างไร" ไม่ชอบตั้งคำถามว่า "ทำไปทำไม"

ถามว่า ทำไปทำไม ถ้าตอบได้จะรู้เป้าหมายของการกระทำ เป้าหมายของชีวิต เกิดปัญญา ถ้าถามเพียงว่า ทำอย่างไร ก็จะได้แต่ความรู้ วิธีการ ปราศจากหลักการ หลักคิด ซึ่งต้องมาก่อน เหมือนกับธรรมะว่าด้วยมรรคมีองค์แปด ซึ่งเริ่มด้วยสัมมาทิฐิ หรือคิดชอบ แล้วจึงไปสัมมาอาชีวะ หรือปฏิบัติชอบ

"การศึกษาหมาหางด้วน" ท่านใช้เรียกการศึกษาที่ไม่ได้ทำให้คนหลุดพ้น แต่ตรงกันข้ามกลับสร้างกิเลส ทำตามๆ กัน แข่งขันกัน จนหมาหางด้วนกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดา หมามีหางกลายเป็นเรื่องประหลาด ถึงได้แข่งขันกันให้ความรู้ สร้างความรู้ ไม่ได้สร้างปัญญา

การศึกษาที่สร้างปัญญา ทำให้ได้มาซึ่งความรู้ด้วย แต่การศึกษาที่เน้นสร้างแต่ความรู้ มักไม่ได้สร้างปัญญา เหมือนการขึ้นต้นไม้ทางปลาย
แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( Wednesday, 12 July 2006 )

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น