++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันศุกร์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

การแก้ปัญหาโรคร้อนด้วยวิธีของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช โดย ประทีป ชุมพล

ในสมัยโบราณนั้น การสร้างบ้านแปงเมืองต้องดูแหล่งน้ำ แหล่งที่ทำงานทำการเพาะปลูก สิ่งอื่นๆ ที่สำคัญเช่นกัน คือ ต้องอยู่ในชัยภูมิที่ดี ข้าศึกหรือศัตรูเข้าตีหรือยึดครองได้ยาก สิ่งต่างๆ ถ้าไม่มีก็ต้องสร้างขึ้นมา ศึกษาได้จากการสร้างเมืองสุโขทัยของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช

ว่าโดยสภาพภูมิศาสตร์ สุโขทัยตั้งอยู่บนที่ราบสูง เพราะบริเวณดังกล่าวในเวลาหน้าฝน น้ำทะลัก ลงมาจากภูเขาค่อนข้างแรงและรวดเร็ว พื้นที่ราบน้ำท่วมนั้นความเสียหายได้ง่าย ดังนั้น เมืองที่เลือกตั้งในที่ราบสูงต้องแก้ปัญหาหลายอย่าง การขาดแคลนความสมบูรณ์คือ ไม่มีต้นไม้ พืชพันธุ์ธัญญาหารต่างๆ เมืองสุโขทัยมีเพียงแหล่งน้ำลำคลองไหลผ่านเท่านั้น แต่พระองค์ทรงแก้ปัญหาด้วยวิธีชาญฉลาด ซึ่งทำให้เมืองสุโขทัยอุดมสมบูรณ์ด้วยฝีมือของมนุษย์

การแก้ปัญหาเรื่องน้ำอุปโภคบริโภคที่ขาดแคลน พ่อขุนรามคำแหงใช้วิธีที่ปรากฏเป็นหลักฐาน คือ ที่เก็บน้ำขนาดใหญ่ทางด้านทิศใต้ “เบื้องหัวนอนเมืองสุโขทัย มีสรีดภงค์” สรีดภงค์มาจากภาษาสันสกฤต คือ สริทภงค แปลว่า “ทำนบ” แสดงว่ามีการเก็บน้ำขนาดใหญ่ไว้ในทำนบ และยังมีแหล่งเก็บน้ำตามธรรมชาติที่ค่อนข้างกว้างขวางมากเหมือนกัน ดังพรรณนาไว้ว่า “เบื้องตะวันออกมีทะเลหลวง” อีกทั้งยังปรากฏหลักฐานเรื่อง ท่อน้ำดินเผา ซึ่งเหมือนกับท่อประปาในปัจจุบันฝังจากแหล่งน้ำไปสู่ตัวเมืองสุโขทัย

สำหรับแหล่งน้ำจืดในตัวเมืองสุโขทัยพรรณนาไว้ว่า “กลางเมืองสุโขทัยมีน้ำตะพังโพย” ตะพัง คือสระน้ำขนาดใหญ่สำหรับไว้ดื่มกิน เพราะกล่าวไว้ว่า “สีใสกินดีดังโขงเมื่อแล้ง” หมายถึงเป็นน้ำดื่มที่เย็นใสสะอาดและอร่อยเหมือนน้ำในแม่น้ำโขงเมื่อยามแล้ง การเปรียบเทียบทำให้เราเห็นได้ชัดเจน และจากการสำรวจตัวเมืองสุโขทัยในปัจจุบันจะเห็นได้ว่า ทุกวัดจะมีตะพังอยู่ในโบราณสถานเหล่านั้น ซึ่งน่าจะเป็นแหล่งน้ำที่ประชาชนสามารถนำมาใช้ดื่ม โดยมีพระภิกษุสงฆ์เป็นผู้ดูแล

ยังมีแหล่งน้ำธรรมชาติอีกชนิดหนึ่งในจารึกกล่าวว่า “เบื้องหัวนอน (ทิศใต้) มีน้ำโศก” น้ำโศก คือน้ำใช้ดื่มมีลักษณะเย็นที่ไหลลงมาจากภูเขาหรือที่ราบสูงขังอยู่ในบ่อ เพราะในบทร้องของเด็ก มีคำว่า “บ่อโศก” อยู่เหมือนกัน เช่น “แม่งูเอ๋ย กินน้ำบ่อไหน กินน้ำบ่อโศก โยกไปก็โยกมา”

แหล่งการทดน้ำจากแม่น้ำที่อยู่ห่างไกลออกไปนั้น นักโบราณคดีบางคนสันนิษฐานว่า “ถนนพระร่วง” แท้จริงก็คือ ทำนบกั้นน้ำ มิใช่ถนน เพราะในบันทึกของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้สำรวจเมืองสุโขทัย ทรงบันทึกไว้ว่า ถนนพระร่วงบางตอนสูงท่วมหัว และท่านอาจารย์ทิวา ศุภจรรยา ได้เคยสำรวจแผนที่ทางอากาศและสำรวจเส้นทางถนนพระร่วงได้สันนิษฐานว่า ถนนพระร่วงแท้จริงแล้วคือ ทำนบกั้นน้ำ ซึ่งลำเลียงน้ำจากแม่น้ำมาสู่เมืองสุโขทัย

เมื่อแผ่นดินที่แห้งแล้งกลับอุดมสมบูรณ์ไปด้วยแหล่งน้ำแล้ว สิ่งที่พ่อขุนรามคำแหงทรงดำเนินการต่อไป คือ การโน้มน้าวให้ผู้คนในเมืองสุโขทัยปลูกต้นไม้ โดยประกาศเป็นสัจธรรมว่า “ใครสร้างได้ไว้แก่มัน” ซึ่งเป็นแรงจูงใจอย่างวิเศษ

ทำไมพ่อขุนรามคำแหงจึงให้ความสนพระราชหฤทัยต่อต้นไม้เป็นกรณีพิเศษ วิเคราะห์จากศิลาจารึกจะเห็นว่าพระองค์ทรงเชื่อในตำราประถมจินดา ที่กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนกับต้นไม้ ซึ่งเกี่ยวข้องกันตั้งแต่เกิด

ความเชื่อของคนไทยแต่ดั้งเดิมนั้น เวลาเกิดหรือตกฟากออกมา จะต้องนำรกไปฝังที่โคนต้นไม้ ดังนั้นในปัจจุบันมีคำว่า “รกราก” ซึ่งหมายถึงที่ฝังรกของคนนั้น แต่ก็ได้เปลี่ยนไปคือหมายความถึงที่เกิด หรือ สถานที่กำเนิดของแต่ละบุคคล ซึ่งคนไทยในปัจจุบันไม่ทราบของคำว่า รกราก นั้นมีความหมายที่แท้จริงว่าอย่างไร

ปีเกิดนั้นมีการกำหนดว่าผู้เกิดปีใด มีต้นไม้ประจำตัวอะไร เป็นการบอกกล่าวให้แต่ละคนมีต้นไม้ประจำปีเกิด คือ เป็นการปลูกฝังเด็กทุกคนมีต้นไม้ประจำตัวมาตั้งแต่เกิด และผูกพันโดยแยกกันไม่ออก

คนเกิดปีชวดคู่กับต้นมะพร้าว ปีฉลูคู่กับต้นตาล ปีขาลคู่กับต้นรัง ปีเถาะคู่กับต้นกัลปพฤกษ์ ปีมะโรงคู่กับต้นไผ่ ปีมะเส็งคู่กับต้นโพบาย ปีมะเมียคู่กับต้นกล้วย ปีมะแมคู่กับต้นทองหลาง ปีวอกคู่กับต้นขนุน ปีระกาคู่กับต้นไผ่ ปีจอคู่กับต้นบัวบก ปีกุนคู่กับต้นบัวหลวง

หลักฐานในศิลาจารึกกล่าวว่า พ่อขุนรามคำแหงปลูกต้นตาลได้สิบสี่ข้าว (สิบสี่ปี่) จึงให้ช่างพันขนหินมาตั้งหว่างกลางไม้ตาลนี้” ให้พระภิกษุสงฆ์มาเทศนาให้ประชาชนฟังในวันพระ ถ้าเป็นวันธรรมดาพระองค์จะขึ้นนั่งสั่งสอนประชาชนเอง

แสดงให้เห็นว่า พ่อขุนรามคำแหงน่าจะประสูติในปีฉลู ซึ่งเป็นการปลูกฝังจากบรรพบุรุษให้พระองค์รักและเข้าพระทัยในเรื่องต้นไม้ เพราะถูกสั่งสอนมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ และทำให้พระองค์เข้าพระทัยในเรื่องต้นไม้เป็นอย่างดี เพราะพระองค์ได้ทรงประกาศให้ประชาชนในเมืองสุโขทัย ซึ่งวางแผนให้ปลูกต้นไม้เป็นป่าสงวน และนอกจากนี้ให้ปลูกพืชผักในการทำอาหารด้วย เป็นที่น่าสังเกตว่าต้นไม้ที่พระองค์ให้ปลูกเป็นต้นไม้ที่ให้ลูกผล นอกจากจะให้ความร่มรื่นและยังเป็นอาหารและนำมาใช้เป็นยารักษาโรค อีกทั้งเป็นเครื่องบูชาด้วย มีทั้งต้นไม้เนื้ออ่อน ไม้เนื้อแข็ง ผสมผสานกันไป ดังข้อความ ดังนี้

“เบื้องตีนนอน (ทิศเหนือ) มีป่าหมากพร้าว ป่าหมากลาง มีไร่ มีนา” แสดงให้เห็นว่า มีต้นไม้ที่ให้ผลแล้วยังมีต้นไม้ทางเศรษฐกิจและมีนาสำหรับปลูกข้าว

นอกจากนี้บริเวณรอบๆ ยังพรรณนาไว้ว่า มีถิ่นฐาน มีบ้านใหญ่ บ้านเล็ก เห็นได้ว่าในป่ายังมีชุมชนอาศัยอยู่เช่นกัน และทิศตะวันออก มีป่าหมาก ป่าพลู สำหรับเบื้องหัวนอน (ทิศใต้) มีป่าพร้าว ป่าลาง มีป่าม่วง ป่าขาม อยู่ร่วมกับชุนชนอีกเช่นกัน นอกจากนี้ ในตัวเมืองสุโขทัยยังมีป่าพร้าวก็หลายในเมืองนี้ หมากม่วงก็หลายในเมืองนี้ หมากขามก็หลายในเมืองนี้

ภายในเมืองสุโขทัยนอกจากมีป่าที่แสดงถึงความร่มเย็น ยังแสดงให้เห็นว่ายังมีแหล่งน้ำทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ มีวัดวาอาราม และบ้านเรือนประกอบกันเป็นชุมชน อยู่ในป่าที่คนในเมืองสุโขทัย ร่วมกันสร้างและช่วยกันรักษา

นอกจากพระองค์ยังสร้างความศักดิ์สิทธิ์มาปกป้องป่ามิให้ถูกมนุษย์มาทำลาย โดยประกาศเป็นคำสาปว่า “มีพระขพุงผีเทพยดาในเขาอันนั้น เป็นใหญ่กว่าทุกผีในเมืองนี้ ผิไหว้บ่ดี พลีถูก เมืองนี้เที่ยง เมืองนี้ดี ผิไหว้บ่ดี พลีบ่ถูก ผีในเขาอันบ่คุ้มบ่เกรงเมืองนี้หาย” คำประกาศดังกล่าวทำให้ประชาชนในเมืองสุโขทัยรักษาต้นไม้ รักสิ่งแวดล้อมในธรรมชาติ แต่เมื่อมาถึงปัจจุบันคนสุโขทัยละทิ้งในคำสาปของพ่อขุนรามคำแหง ได้ทำลายป่าทำลายสิ่งแวดล้อมทำให้สภาพของเมืองสุโขทัยเปลี่ยนไป และเกิดภัยพิบัติ เช่น น้ำท่วมในหน้าฝนและแห้งแล้งในหน้าร้อนอยู่เสมอๆ

สิ่งที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า พ่อขุนรามคำแหงได้ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นมาแก้ไขปัญหาโลกร้อนอย่างได้ผลดี ในขณะที่ประเทศอเมริกายังไม่กำเนิดและหลายประเทศในทวีปยุโรปยังเป็นอนารยชนอยู่ และเชื่อไหมว่าตำราประถมจินดาที่สอนให้คนไทยรักในสิ่งแวดล้อมนั้น ถูกสั่งให้ยกเลิกการสอนที่โรงเรียนแพทย์ในโรงพยาบาลศิริราช ตั้งแต่พวกอาณานิคมเข้ามามีอำนาจในแผ่นดินไทย น่าเจ็บใจไหมล่ะ ท่านผู้อ่านที่เคารพ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น