กโปตกชาดก
ว่าด้วยโภคะของมนุษย์
พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภ ภิกษุโลภรูปหนึ่ง จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ ดังนี้.
เรื่องภิกษุโลภ ได้ให้พิสดารแล้วโดยเรื่องราวมิใช่น้อยเลย ส่วนในชาดกนี้ พระศาสดาตรัสถามภิกษุนั้นว่า ดูก่อนภิกษุ ได้ ยินว่าเธอเป็นผู้โลภจริงหรือ ? เมื่อภิกษุนั้นกราบทูลว่า พระเจ้าข้า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ มิใช่ในบัดนี้เท่านั้น แม้ ในกาลก่อน เธอก็เป็นคนโลภมาแล้ว ก็เพราะความเป็นคนโลภ จึง ได้ถึงความสิ้นชีวิต แล้วทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :
เนื้อเรื่องเหมือน กโปตกชาดก เอกนิบาต และ โลลชาดก ติกนิบาต
ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในนครพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในกำเนิดนกพิราบอยู่ในกระเช้าที่เขา ทำเป็นรังนก ในโรงครัวของท่านพาราณสีเศรษฐี ครั้งนั้น มีกาตัวหนึ่งอยากได้เนื้อปลา จึงกระทำไมตรีกับนกพิราบนั้น ได้อยู่ในกระเช้ารังนั้นเหมือนกัน วันหนึ่ง กานั้นเห็นเนื้อปลามากมาย คิดว่า จักกินเนื้อปลานี้ จึงนอนถอนใจอยู่ในกระเช้าที่เป็นรังนั่นแหละ แม้นกพิราบจะกล่าวว่า มาเถอะสหาย พวกเราจักไปหากินกัน ก็กล่าวว่า ฉันมึนเมาเพราะอาหารไม่ย่อย ท่านจงไปเถอะ เมื่อนกพิราบนั้นไปแล้ว คิดอยู่ว่า เสี้ยนหนามคือศัตรูของเราไปแล้ว บัดนี้ เราจักกินเนื้อปลาได้ตามชอบใจ จึงกล่าวคาถาที่ ๑ ว่า:
[๘๒๕] บัดนี้ เราเป็นสุข ไม่มีโรค นกพิราบผู้เหมือนหนามในหทัยบินไปแล้ว
บัดนี้ เราจักกระทำความยินดีแห่งหทัย เพราะเหตุว่า ชิ้นเนื้อและแกง
จะทำให้เราเกิดกำลัง.
กานั้น เมื่อพ่อครัวทอดเนื้อปลาแล้วออกไปเช็ดเหงื่อออกจากตัว จึงออกจากกระเช้าแล้ว แอบอยู่ในภาชนะใส่เครื่องปรุงอาหารให้มีรส ภาชนะใส่เครื่องเทศ ทำให้เกิดเสียงดังกริ้ก ๆ พ่อครัวจึงมาจับกาถอนขนออกหมด แล้วบดขิงสดกับแป้งและเมล็ดผักกาด ขยำกระเทียมเข้ากับเปรียงบูด ทาจนทั่วตัว แล้วเราะกระเบื้องอันหนึ่ง เจาะให้ทะลุร้อยด้ายผูกไว้ที่คอกานั้น ใส่มันเข้าไว้ในรังกระเช้าตามเดิม แล้วออกไป นกพิราบกลับมาเห็นดังนั้น เมื่อจะทำการเยาะเย้ย ว่า นี่นกยางอะไรมานอนอยู่ในกระเช้าของสหายเรา ก็สหายของเรานั้นดุร้าย กลับมาแล้วจะพึงฆ่าเจ้าเสีย จึงกล่าวคาถาที่ ๒ ว่า:
[๘๒๖] นกกระยางอะไรนี่ มีหงอน ขี้ขโมย เป็นปู่นก โลดเต้นอยู่ แน่ะนก
กระยาง ท่านจงออกมาข้างนอกเสีย กาผู้เป็นสหายของเราดุร้าย.
กาได้ฟัง ดังนั้น จึงกล่าวคาถาที่ ๓ ว่า:
[๘๒๗] ท่านได้เห็นเรามีขนปีก อันพ่อครัวถอนแล้วทาด้วยน้ำข้าวเช่นนี้ ไม่
ควรจะมาหัวเราะเยาะเลย.
นกพิราบนั้น กระทำการหัวเราะอยู่นั่นแล จึงกล่าวคาถาที่ ๔ อีกว่า :
[๘๒๘] ท่านอาบดีแล้ว ลูบไล้ดีแล้ว เอิบอิ่มไปด้วยข้าวและน้ำ และมีแก้ว
ไพฑูรย์อยู่ที่คอ ได้ไปกชังคลประเทศ * มาหรือ?
* หมายถึง เมืองพาราณสี ในที่นี้ นกพิราบถามกาว่า ท่านได้ไปยังภายในเมืองมาหรือ ?
ลำดับนั้น กาจึงกล่าวคาถาที่ ๕ ว่า :
[๘๒๙] เราจะเป็นมิตร หรือมิใช่มิตรของท่านก็ตาม ท่านอย่าได้กล่าวว่า ท่าน
ได้ไปยังกชังคลประเทศมาหรือ เพราะว่า ในกชังคลประเทศนั้น ชน
ทั้งหลายถอนขนของเราออกแล้ว ผูกชิ้นกระเบื้องไว้ที่คอ.*
* หมายความว่า คนผู้เป็นมิตรหรือเป็นศัตรูของท่านก็ตาม อย่าได้ไปนครพาราณสีเลย เพราะในนครพาราณสีนั้น คนทั้งหลายถอนขนของเราออกแล้วผูกกระเบื้องกลมไว้ที่คอ.
นกพิราบได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวคาถาสุดท้ายว่า:
[๘๓๐] แน่ะสหาย ท่านจะประสบสภาพเห็นปานนี้อีก เพราะปกติของท่าน
เป็นเช่นนั้น อันโภคะของพวกมนุษย์ไม่ใช่เป็นของที่นกจะกินได้ง่ายเลย.
นกพิราบนั้นโอวาทกานั้น ด้วยประการดังนี้แล้วก็ไม่อยู่ในที่นั้น ได้กางปีกบินไปที่อื่น ฝ่ายกาก็สิ้นชีวิตอยู่ในที่นั้น นั่นเอง.
พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงแล้ว ทรงประกาศสัจจะทั้งสี่ ในเวลาจบสัจจะ ภิกษุผู้ โลภได้ดำรงอยู่ในอนาคามิผล แล้วทรงประชุมชาดกว่า กาในครั้งนั้น ได้มาเป็นภิกษุผู้โลภในบัดนี้ ส่วนนกพิราบในครั้งนั้น ได้เป็นเรา ตถาคต ฉะนี้แล.
จบ กโปตกชาดก
ข้อคิดจากชาดก
.....๑. ต้องฝึกตนให้เป็นคนหนักแน่น ไม่เป็นคนเอาแต่ใจตัวเอง เมื่อตั้งใจจะทำความดีอะไรแล้ว ต้องตั้งใจทำให้จริง มิฉะนั้นจะเป็นคนที่ทำอะไรไม่สำเร็จเลยสักอย่าง
.....๒. คนเราเมื่อมีเพื่อนดี ควรรับฟังตรึกตรองปฏิบัติตามคำแนะนำอันดีของเพื่อน
.....๓. เมื่อพิจารณาตัวเอง รู้ว่ามีข้อบกพร่องอะไรหรือมีนิสัยที่ไม่ดีอะไร ควรรีบแก้ไข ปรับปรุงตนเองเสียทันที เพราะนิสัยเหล่านี้สามารถติดตัวข้ามภพข้ามชาติได้
.....๔. ผู้ประทุษร้ายต่อผู้มีพระคุณ ถือว่าเลวอย่างหาที่เปรียบไม่ได้ ไม่ควรคบหาด้วย
คลิกที่ลิงค์ด้านล่างเพื่อรับชมชาดกเรื่องนี้
http://www.youtube.com/watch?v=1-6G4NRLXQ4
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น