++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพฤหัสบดีที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

เทคนิคดุสิต จิตอาสา ปันน้ำใจ ให้เรือนจำ

ท่าม กลางแดดร้อนในช่วงเที่ยง นักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคกลุ่มหนึ่งยังคงปฏิบัติภารกิจที่ได้รับมอบหมายอย่าง แข็งขัน ที่สำคัญนั่นเป็นภารกิจที่มาด้วยความสมัครใจ กับการทาสีใหม่ ปรับปรุงภูมิทัศน์ของทัณฑสถานหญิงธนบุรี เพื่อสร้างสภาพแวดล้อม ยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ต้องขังให้ดีขึ้น ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมครั้งสำคัญ “โครงการกำลังใจในพระราชดำริ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา”

ภาพลักษณ์ของนักศึกษาเทคนิค-อาชีวะฯ ที่ปรากฏต่อสังคม มักออกมาเป็นภาพลบอยู่บ่อยครั้ง แต่ทว่าในความเป็นจริง ยังมีนักศึกษาคุณภาพดี และเป็นกำลังสำคัญต่อสายงานวิชาชีพต่างๆอีกเป็นจำนวนมาก ดังเช่นกลุ่มนักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคดุสิต ที่รวมตัวกันมาประกอบกิจกรรมจิตอาสาเพื่อสังคม

ดร.สุวรรณา ศาสนรักกิจ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ วิทยาลัยเทคนิคดุสิต เปิดเผยถึงจุดเริ่มต้นของโครงการว่า สืบเนื่องจากทัณฑสถานหญิงธนบุรี ต้องใช้เป็นสถานที่จัด “โครงการกำลังใจในพระราชดำริ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา” พร้อมทั้งรับเสด็จพระองค์ฯ จึงต้องมีการพัฒนาบูรณะทัณฑสถาน

“วิทยาลัยเทคนิคดุสิต ได้ประสานต่อไปยังบริษัทเอกชนอย่างทีโอเอ เพื่อขอความอนุเคราะห์เรื่องสี และอุปกรณ์ เนื่องจากบริษัทมี “โครงการ Build Thailand สร้างไทยยั่งยืน” ซึ่งเป็นโครงการที่ให้นักศึกษาบำเพ็ญประโยชน์อยู่แล้ว วิทยาลัยจึงประสานตกลงในการร่วมโครงการนี้ เพราะมีนักศึกษาที่เกี่ยวข้อง ทั้งสาขาก่อสร้าง สาขาโยธา โดยเด็กที่เข้ามาร่วมกิจกรรมเป็นเด็กที่อยู่ในกรุงเทพฯ เพราะเป็นช่วงปิดภาคเรียน จะมาแบ่งงานกันเป็น 3 ส่วน มีการทาสี ซึ่งรับผิดชอบในพื้นที่อาคารสูทกรรม , ห้องเด็กสำหรับลูกของผู้ต้องขังที่คลอดในทัณฑสถาน ซึ่งต้องอยู่กับแม่ 1 ปี และห้องเด็กเก่าที่จะปรับเป็นห้องประชุมและห้องทรงงานของพระองค์ท่าน นอกจากนี้ วิทยาลัยยังนำคณาจารย์และนักศึกษามาช่วยอบรมวิชาชีพถ่ายทอดความรู้ให้แก่ผู้ ต้องขัง คือ การฝึกทำที่ใส่ร่มซึ่งเป็นงานช่างไม้ที่นักศึกษาเรียนในหลักสูตรของแผนก เครื่องเรือนและตกแต่งภายใน ซึ่งเป็นสาขาวิชาเรียนที่เปิดสอนอยู่แล้ว จึงนับเป็นการนำความรู้จากห้องเรียนมาสู่สังคม”

ด้าน อาจารย์วีระชาติ กุลสิทธิ์ รองผู้อำนวยการ ฝ่ายพัฒนากิจการนักศึกษา กล่าวเสริมว่า การคัดเลือกนักศึกษามาร่วมโครงการนั้น มาจากความสมัครใจ โดยนักศึกษาเป็นกลุ่มทำงานของชมรมอาสาพัฒนาอยู่แล้ว และก่อนหน้านี้ก็เคยไปช่วยก่อสร้างโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนเทคนิคดุสิตที่ จังหวัดเชียงราย ซึ่งในอีก 2 สัปดาห์ก็จะกลับไปทำต่อให้เสร็จ พร้อมส่งมอบเร็วๆนี้

“กิจกรรมจิตอาสาของเรามีทุกปี เช่น โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนเทคนิคดุสิต การที่สามารถนำชื่อวิทยาลัยไปติดไว้ได้ เพราะเราร่วมก่อสร้างตั้งแต่เริ่มต้น นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมอื่นๆ เช่น การไปสร้างฐานพระ การสร้างอาคารฝึกวิชาชีพให้แก่พื้นที่ห่างไกล โดยการที่นักศึกษาได้ร่วมกิจกรรมลักษณะนี้ นับเป็นการฝึกให้มีจิตอาสา ช่วยคนอื่นที่ด้อยโอกาสกว่า ได้ฝึกทักษะเอาความรู้จากห้องเรียนมาสู่การทำงานจริง มีจิตใจเสียสละช่วยเหลือคนอื่น อันเป็นส่วนหนึ่งในการบำเพ็ญประโยชน์เพื่อสังคม”

“จักรกฤษณ์ มูลเพ็ญ” กับ “เมธี กาญจนพันธุ์วงศ์” นัก ศึกษาที่มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมจิตอาสา เผยว่าอาจารย์มีโครงการมาเสนอ จึงอยากมาทำกิจกรรม เพราะปกติมีกิจกรรมไปบำเพ็ญประโยชน์ในโรงเรียนตามต่างจังหวัด การสร้างห้องสมุด รวมถึงช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย

“งานที่มาทำในครั้งนี้ คือ ทำงานทาสี ทำงานช่างไม้ เตรียมอุปกรณ์ต่างๆมาถ่ายทอด สอนผู้ต้องขังในการทำเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งนำความรู้จากห้องเรียนมาใช้ โดยพวกเราคาดหวังว่า กิจกรรมจิตอาสาแบบนี้จะเป็นประสบการณ์ที่ดี เรียนจบไปก็มีความรู้ด้านนี้ และจะนำไปถ่ายทอดความรู้สึก ความรู้ให้รุ่นน้องต่อไป ด้วยความภูมิใจที่ได้ทำ”

ด้าน “ชนกันต์ ตุ่มทอง” ประธานสโมสรนักศึกษา วิทยาลัยเทคนิคดุสิต ย้ำว่า กลุ่มนักศึกษาเต็มใจมาช่วยอาจารย์ในการทำงาน เพราะถ้าปฏิเสธก็ไม่มีใครที่จะมาทำประโยชน์ดีๆให้เกิดขึ้น

“ก่อนหน้านี้ ผมร่วมทำกิจกรรมจิตอาสามาโดยตลอด เช่น โครงการช่วยเหลือช้างแก่ที่กาญจนบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เดินทางไปลำบาก นักศึกษาก็ไปช่วยเดินสายไฟ สร้างสิ่งอำนวยความสะดวก การไปสร้างโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล การเลือกมาทำกิจกรรมจิตอาสา ถือเป็นการทำตัวอย่างให้รุ่นน้องได้เห็น เพราะถ้าไม่เริ่มที่ตัวเราใครจะทำตาม เวลากลับไปวิทยาลัยผมจะไปถ่ายทอดพูดคุยให้เพื่อนให้น้องฟัง โดยแต่ละสัปดาห์มีการประชุมกันอยู่แล้ว ผมจะนำประสบการณ์ดีๆเหล่านี้ไปพูดให้ฟัง ใครสนใจอยากเข้ามามีส่วนร่วมก็ติดต่อมาได้ ซึ่งกิจกรรมจิตอาสาจะมีอยู่เรื่อยๆแทบทุกเดือน”

ชนกันต์ ทิ้งท้ายเอาไว้ว่า สำหรับสังคมมักมองว่าเด็กเทคนิค-อาชีวะ มีปัญหา มีภาพลักษณ์ในแง่ลบ แต่จริงๆแล้วทุกโรงเรียนมีทั้งคนดีและคนไม่ดี

“ผมคิดว่าเป็นเพราะสื่อที่เข้าถึงง่าย รวดเร็วทำให้เหมือนกับว่านักศึกษากลุ่มนี้ดูแย่ แต่จริงๆสมัยก่อนก็เคยมีเรื่องแบบนี้มาตลอด อย่างไรก็ตามนักศึกษาเทคนิคที่คิดในสิ่งดีๆ ทำสิ่งดี ก็อยู่อีกเป็นจำนวนมาก”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น