++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพุธที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ความสุขของผู้ครองเรือนคืออะไร

ถาม อยากทราบว่า ความสุขของผู้ครองเรือนอย่างเราๆ นี้อยู่ที่อะไร

ตอบ ในเรื่องนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในอันนนาถสูตร อัง. จตุกนิบาต ข้อ ๖๒ ถึงความสุขของผู้ครองเรือน อันเป็นความสุขที่ไม่มีโทษ ๔ อย่าง คือ
๑. อัตถิสุข สุขเกิดจากความมีทรัพย์ คือมีทรัพย์ที่หามาได้ด้วยน้ำพักน้ำแรงของตน ที่หามาโดยสุจริต ขอบธรรม เมื่อมีทรัพย์แล้วก็ทำให้ภาคภูมิใจ เอิบอิ่มใจไม่เดือดร้อนใจ
๒. โภคสุข สุขเกิดแต่การใช้จ่ายทรัพย์ที่หามาได้ คนที่มีทรัพย์อยู่ในมือแล้วย่อมสบายใจ เอิบอิ่มใจ เมื่อเวลาที่ต้องการจะใช้ ก็สามารถจะเอามาใช้ได้ ไม่ขาดแคลน ข้อที่ว่าสุขเกิดแต่การใช้จ่ายทรัพย์ได้ตามต้องการนี้ รู้สึกคนไทยทุกคนจะซาบซึ้งใจกันดี เพราะคนไทยเป็นนักจ่าย เห็นอะไรก็อยากได้อยากซื้อไปหมด ถ้าไม่มีเงินคงไม่เป็นสุขแน่เทียว
๓. อนณสุข สุขเกิดจากความไม่เป็นหนี้ ถ้าเราเป็นหนี้ ต้องขวนขวายหาเงินมาใช้หนี้เขา จะหาความสุขได้อย่างไร ยิ่งเวลาที่ต้องส่งเงินต้นหรือดอกเบี้ย แต่ไม่มีจะส่ง ยิ่งเป็นทุกข์ใจมาก เพราะฉะนั้นถ้าเราพยายามใช้จ่ายให้พอเหมาะพอสมกับฐานะ ไม่ใช้จ่ายเกินตัวจนต้องเป็นหนี้เป็นสินเขาแล้ว เราจะมีความสุขมากทีเดียว เพราะฉะนั้นความไม่เป็นหนี้จึงเป็นความสุขของผู้ครองเรือน
๔. อนวัชชสุข สุขอันเกิดจากความประพฤติที่ไม่มีโทษ คือประพฤติสุจริตธรรม เมื่อประพฤติแต่สุจริตธรรมก็ไม่มีใครที่จะติเตียนเราได้ ทำให้เกิดความภูมิใจ เอิบอิ่มใจว่า เราประพฤติตนดี ไม่เป็นที่ครหาของใคร ๆ


ขอสรุปอีกครั้งว่า สุขของผู้ครองเรือนมี ๔ อย่าง คือ
๑. สุขเกิดแต่ความมีทรัพย์

๒. สุขเกิดแต่การใช้ทรัพย์
๓. สุขเกิดแต่ความไม่เป็นหนี้
๔. สุขเกิดแต่ความประพฤติที่ไม่มีโทษ คือประพฤติแต่สุจริตธรรม
________________________________________

ที่มา อ้างอิง และแนะนำ :-

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๓

อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต

อันนนาถสูตร
http://www.84000.org/tipitaka/book/v.php?B=21&A=1846&Z=1878



พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)

คำว่า สุขของคฤหัสถ์
http://www.84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=สุขของคฤหัสถ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น