หากเปรียบเทียบกับ วันวาเลนไทน์ กับ “วันมาฆบูชา” ที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าเยาวชนคนรุ่นใหม่ มักไม่ค่อยให้ความสำคัญกับวันมาฆบูชา ซึ่งเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาวันหนึ่งที่พุทธศาสนิกชน(ชาวพุทธ) สะท้อนให้เห็นได้ว่าพื้นฐานความเป็นวัฒนธรรมไทยวิถีชีวิตที่สอดคล้องกับสภาพ สังคมของไทยได้ถูกกลืนไปทุกวันเวลา แน่นอนว่าเราก็ไม่ได้ปฏิเสธค่านิยมใหม่ๆ เพราะมันเป็นประโยชน์และสามารถเอามาพัฒนาการดำเนินชีวิตให้มีคุณภาพที่ดีได้ แต่ในขณะเดียวกันที่เราเป็นห่วงก็คือว่าความเชื่อค่านิยม วัฒนธรรมที่มันเป็นตัวหล่อเลี้ยงสังคมไทยให้อยู่ร่วมกันโดยปกติสุข มันเริ่มลดลงไปตามกระแสสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็นความเอื้ออาทร การกตัญญูรู้คุณ การให้เกียรติ แม้แต่การเคารพซึ่งกันและกัน ก็จะต้องมีอยู่ หรือแม้กระทั่งการให้ความสำคัญตามหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา
ด้วยเหตุนี้ กลุ่มศานติธรรม ฝ่ายวิชาการ สโมสรคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ธรรมสถาน จุฬาฯ จึงจัดตั้ง "โครงการบรรพชาและอุปสมบท ภาคฤดูร้อน ณ วัดเขาแผงม้า อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา" เพื่อส่งเสริมให้นิสิตได้ศึกษาและปฏิบัติธรรมได้อย่างถูกวิธีและต่อเนื่องใน ระยะเวลาหนึ่ง จนสามารถน้อมนำหลักธรรมมามาใช้ให้เกิดผลจริงเพื่อความสงบสุขของตนเอง ผู้อื่น และสังคมโดยรอบ พร้อมทั้งชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตที่ชอบตามหลัก พระพุทธศาสนาอันเป็นการเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรม และเป็นโอกาสให้ได้ฝึกฝนจิตใจอย่างเต็มที่ ปัจจุบันโครงการดังกล่าว จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 20 และกำลังเปิดรับสมัครผู้ที่ประสงค์จะบวชเรียนในโครงการบรรพชาและอุปสมบทหมู่ ภาคฤดูร้อน ครั้งที่ 21 ประจำปี 2554 ระหว่าง 14 มีนาคม - 16 เมษายน 2554 นี้
“ปอ” สมทัศน์ อย่างสุข นิสิตชั้นปี 5 คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีตพระหนุ่ม
ทั้งนี้ Life on campus มีโอกาสได้พูดคุยกับ “ปอ” สมทัศน์ อย่างสุข นิสิต ชั้นปี 5 คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีตพระหนุ่ม อีกหนึ่งเยาวชนที่ให้ความสำคัญทางพระพุทธศาสนา ด้วยการเข้าร่วมโครงการบรรพชาและอุปสมบท ภาคฤดูร้อน ครั้งที่ 20 ประจำปีการศึกษา 2553 ที่ผ่านมา
ปอ บอกว่า โครงการบรรพชาและอุปสมบท ภาคฤดูร้อน เป็นวิชาเรียนพุทธรรมปฏิบัติ ในภาคฤดูร้อนของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ ในหมวดวิชาการศึกษาทั่วไป ในกรณีที่นิสิตยังสะสมหน่วยกิตในหมวดวิชาการศึกษาทั่วไปไม่ครบ โดยจะมีพระอาจารย์จากทางวัด และ คณาจารย์จากคณะแพทยศาสตร์จุฬา ฯ เป็นผู้ดูแล และนอกจากนี้ ก่อนเข้าร่วมกับทางโครงการ ตนต้องเตรียมพร้อมทั้งกาย วาจา ใจให้พร้อมกับการอุปสมบทในครั้งนี้
“ต้องเริ่มฝึกปฏิบัติตั้งแต่ ทานอาหารมื้อเดียวตอนเช้า ตอนบ่ายดื่มน้ำปานะ หรือน้ำผลไม้ ฝึกร่างกายให้เคยชินด้วยตนเองก่อนบวชอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ฝึกท่องบทขานนาคและคำขอบรรพชา อุปสมบท ให้คล่องแคล่ว พร้อมทั้งศึกษาศีล 227 ข้อและพระวินัย จากนั้นเตรียมใจและเตรียมกายให้พร้อมในการนั่งคุกเข่าให้ได้ถึง 20 นาที เพื่อสวดมนต์ทำวัตรเช้า-เย็น และเดินจงกรม หลังจากนั้นก่อนบวช 7 วัน ต้องทำการปลงผม,นุ่งขาวห่มขาว, ถือศีล 8 นอนในกุฏิหญ้าคาคนเดียว และเดินบิณฑบาตเท้าเปล่า ช่วยงานวัดและพระอาจารย์ โดยมีการแบ่งเป็นกลุ่มย่อยๆมีพระพี่เลี้ยงดูแล ก่อนที่จะอุปสมบท และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ผู้ที่จะบวชต้องเตรียมพร้อมกายและใจ”
โครงการบรรพชาและอุปสมบท ภาคฤดูร้อน ณ วัดเขาแผงม้า อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
หลังจากได้บวชเรียน ณ วัดเขาแผงม้า อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา ครั้งนี้ ถือว่าเป็นประสบการณ์ชีวิตของปอ ในฐานะลูกผู้ชายที่ได้ทำหน้าที่ทดแทนบุญคุณบิดามารดา แม้ว่าจะเป็นเพียงแค่ช่วงเวลาเพียง 45 วัน ทำให้นิสิตหนุ่มคนนี้ได้เรียนรู้หลักธรรมคำสอนมากมาย
"ผมมองว่าเป็นสิ่งที่ สำคัญมาก เพราะการที่เราได้มีโอกาสได้เกิดเป็นคนในชาติหนึ่งเป็นเรื่องที่ยากมาก และในฐานะที่เราเป็นลูกผู้ชายแล้ว นับว่าเป็นโอกาสที่ดีจะได้เรียนรู้หลักธรรมคำสั่งสอนในทางพระพุทธศาสนา อย่างใกล้ชิดผ่านการบวช ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้บวชตลอดชีวิต แต่การบวชเรียนแม้ว่าเป็นเพียงระยะเวลาสั่นๆ ประโยชน์โดยตรง ทำให้เราเข้าใจตนเองให้มากขึ้น มีหลักธรรมในการดำเนิน มันจะเป็นประโยชน์ในการทำงาน การเรียน การใช้ชีวิต แม้กระทั่งการครองเรือนในอนาคต และเรายังมีโอกาสได้ทดแทนคุณของบิดามารดา สะสมบุญบารมีความดีในภพชาตินี้ และที่เป็นประโยชน์ทางอ้อมคือ การได้ช่วยสืบทอดพระพุทธศาสนาให้คงอยู่สืบไป"
กิจวัตรของพระภิกษุที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าว เริ่มตั้งแต่เวลา 03.00 น. ตื่นนอน เวลา 3.30 น.นั่งสมาธิ 1 ชั่วโมง สวดมนต์ทำวัตรเช้า ซึ่งเป็นช่วงที่ต้องต่อสู้กับความง่วงมาก จึงต้องมีความอดทนที่จะเอาชนะใจตนเองให้ได้ เวลา 05.45 น. จัดสถานที่ฉัน บิณฑบาท พระที่มาถึงวัดก่อนให้ถ่ายบาตรออก เสร็จแล้วกวาดใบไม้ บริเวณวัดเตรียมน้ำล้างเท้าพระอาจารย์ จัดอาหาร ประเคนอาหารจากโรงครัว เวลา 07.40 น. นั่งสมาธิ (เมื่อทำธุระส่วนตัวเสร็จ) เวลา 08.00 น. ตักอาหารที่โรงครัว ล้างบาตร ทำความสะอาดโรงฉัน ทำความสะอาดบริเวณกุฏิ เวลา 10.00 น. ศึกษาธรรม 1 ชม. โดยพระอาจารย์จะเป็นคนสอนเรื่อง ศีล 227 ว่าเป็นอย่างไร มีที่มาอย่างไร และสอนหลักธรรมของพระพุทธศาสนา
เวลา 14.00 น. นั่งสมาธิ 1 ชม. เวลา 15.00 น. กวาดใบไม้ในบริเวณวัด + จัดที่ฉันน้ำปานะ เวลา 16.00 น. ฉันน้ำปานะ เวลา 17.00 น. เดินจงกรม 1 ชม. ฝึกการทำใจให้สงบ โดยพระอาจารย์ให้นับก้าวที่เราเดิน ฝึกการมีใจจดจ่อกับตนเอง ฝึกสมาธิ เวลา 19.00 น. นั่งสมาธิ 1 ชม. สวดมนต์ทำวัตรเย็น เป็นการฝึกความมั่นใจ และสิ่งสำคัญที่ได้คือ เมื่อเราสอนให้คนอื่นทำดีเราเองต้องทำให้ได้ด้วย และเวลา 22.00 น. กลับกุฏิทำเพียรส่วนตัว ต้องนอนในกุฏิมุงหญ้าคาคนเดียวตอนกลางคืนที่มืดมาก ที่ไม่มีไฟฟ้า ฝึกการเอาชนะความเงียบและกลัว เป็นโอกาสฝึกตนตามลำพังเช่น นั่งสมาธิ,สวดมนต์
กุฏิมุงหญ้าคา
“ช่วงแรกของการบวชเรียน สิ่งที่ต้องปรับตัว และฝึกตนมากที่สุด คือ การตื่นนอนที่เช้ามาก แต่หลังจากนั้นไม่กี่วัน เราก็สามารถปฏิบัติได้อย่างไม่รู้สึกว่า การตื่นนอนเป็นสิ่งลำบากหรือยากเกินไป แต่กลับเป็นการฝึกความรับผิดชอบ ความตรงต่อเวลา และสิ่งที่เรียนรู้จากการบวชครั้งนี้คือ การบิณฑบาท ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สอนให้เข้าใจว่า เมื่อเราเป็นฝ่ายรับของจากญาติโยมที่ทำบุญ เราต้องเป็นผู้ให้ที่ดี คือ ต้องตั้งใจปฏิบัติธรรมตอนบวชให้เต็มที่เพื่อเป็นการตอบแทนคุณที่อุปถัมภ์เรา และการบิณบาทนั้นเป็นการสอนให้รู้จักความอดทน เพราะการเดินเท้าเปล่าและระยะทางค่อนข้างที่จะไกลมาก"
"นอกจากนี้การตักอาหารจะเริ่ม ตักจากพระผู้ใหญ่มาถึงผู้น้อย โดยใจใส่อาหารทุกอย่างลงไปในบาตรอันเดียว และจะมีโอกาสที่จะตักอาหารได้ครั้งเดียวเท่านั้น ในส่วนนี้จะสอนให้เราหลายอย่างมาก เช่น การฉันอาหารเฉพาะในบาตรเดียว (ไม่มีจานแยก) ไม่มีการแยกจานเป็นอาหารคาว หวาน ต้องรวมกัน สอนให้เราเป็นคนที่เรียบง่ายและเข้าใจว่าอาหารเป็นสิ่งที่เราบริโภคเพื่อมี ชีวิตอยู่เท่านั้น และในขณะที่ฉันอาหารพระอาจารย์จะมีโจทย์มาให้ เช่น กลืนอาหารทั้งหมดกี่ครั้ง, เคี้ยวกี่ครั้ง ,ให้คนอาหารคาวหวานที่อยู่ในบาตรรวมกัน และช่วงท้ายของโครงการจะมีการเดินทางไปยังวัดป่าเฉลิมพระเกียติ อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน โดยจะให้ไปไปกลดในป่าและเดินธุดงค์ เป็นการทดสอบจิตใจและการเรียนรู้ธรรมตลอดการบวชของโครงการที่ผ่านมา”
เดินบิณฑบาตเท้าเปล่า
สิ่งที่สำคัญที่สุดในการบวชเป็นหมู่คณะครั้งนี้ ทำให้ปอ ได้พบกับกัลยาณมิตรที่ดี รู้จักการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ให้กำลังใจกัน ในเมื่อมีคนในหมู่คณะท้อถอย และได้เรียนรู้ว่า “ในเมื่อคนอื่นทำได้ เราก็ต้องทำได้เหมือนกัน” สรุปคือการเอาชนะใจตนเอง
“สิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากการ บวชเรียนครั้งนี้มากที่สุดคือ “การเรียนรู้,เข้าใจและเอาชนะใจตนเอง” เพราะโอกาสที่เราจะได้อยู่กับตนเองนั้นน้อยมาก ถึงแม้ว่าเราคิดว่า เราอยู่คนเดียว หรือทำงานคนเดียว เพราะเวลาเรามีปัญหาต่างๆเกิดขึ้น เราไม่เคยที่จะมองตนเอง มักจะโทษกับสิ่งรอบข้าง เช่น งาน เพื่อน แล้วก็ทุกข์ใจเอง ไม่สบายใจ การบวชทำให้เราได้อยู่กับตัวเรามากขึ้น ต้องเอาชนะสิ่งต่างๆ ต้องมีสมาธิ ความอดทน อดกลั้น ที่จะเอาชนะความโกรธ ความขี้เกียจ ความเหนื่อย ความกลัว และอุปสรรคต่างๆ เพราะสุดท้ายสุดเราจะเข้าใจว่า “ต้นเหตุของปัญหาต่างในชิวิตส่วนใหญ่ก็คือ ตัวเราเอง” หากเราเข้าใจและเรียนรู้จิตใจของเราแล้ว เราก็จะสามารถใช้ชิวิตในสังคมหลังจากลาสิกขาได้อย่างมีความสุข”
ปอ ยังไม่ลืมที่จะเอาหลักธรรมคำสอน มาใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน และประยุกต์ใช้ในการเรียน โดยเริ่มจากการรู้ใช้ชีวิตในสังคมปัจจุบันให้มีความสุขได้อย่างเรียบง่าย โดยมองที่คุณค่าทางจิตใจมากกว่าทางวัตถุ เข้าใจปัญหา รู้จักวิธีทางแก้ไขต่างๆ เรียนรู้ความอดทน อดกลั้น และการเข้ากับผู้อื่น สามารถแยกเยอะสิ่งที่ดี-ชั่ว และการปฏิบัติตนให้เป็นคนที่ดีของสังคมได้ และที่สำคัญ ปอกลายเป็นคนใจเย็นมากขึ้น ค่อยคิดๆทำ ไม่ใช้อารมณ์ในการตัดสินปัญหาต่างๆ
“ผมตั้งใจที่จะเรียน รู้หลักธรรมคำสั่งสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในฐานะที่เป็นพุทธศาสนิกชนคนหนึ่งที่มีมีโอกาสบวชได้ แต่สิ่งสำคัญในการบวชครั้งนี้คือ การที่จะได้เรียนรู้และทำความเข้าใจตนเอง ฝึกการชีวิตที่เรียบง่าย ซึ่งจะส่งผลให้เราเข้าใจตนเองได้มากขึ้นและสามารถดำเนินชีวิตในสังคมได้ อย่างมีความสุข”
ท้ายนี้ ปอ ยังถือโอกาสแนะนำ นิสิต นักศึกษาและเยาวชนทั่วไปที่ตั้งใจอยากบวชเรียนหรือในช่วงภาคฤดูร้อนที่กำลังจะมาถึงนี้ว่า เป็น การใช้ชิวิตนิสิตนักศึกษาในช่วงที่ศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัยที่คุ้มค่ามากที่ สุด เปรียบกับการเรียนวิชาชิวิตในช่วงซัมเมอร์ เป็นการเรียนรู้ประสบการณ์ต่างๆที่ดีและเป็นช่วงเวลาที่เราจะมีโอกาสที่จะ ได้บวชได้นานที่สุด ก่อนที่เราจะจบเป็นบัณฑิตที่ดีของสังคมต่อไป
สิ่งแรกเราต้องถามจิตใจตนเองว่า “เราพร้อมที่จะเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงที่จะเอาชนะใจตนเองหรือไม่” เรา สามารถหมู่คณะที่เราจะบวชด้วยได้เปล่า ความศรัทธาในหลักธรรมพระพุทธศาสนา หากเราบวชด้วยใจที่ถูกบังคับหรือไม่สมัครใจ การบวชนั้นอาจไม่มีความหมายใดๆเลยก็ได้ เพราะการถูกบังคับ ทำให้เราไม่มีเป้าหมายและไม่อยากที่จะเรียนรู้อะไรเลย
ส่วนทางกาย การบวชนั้นย่อมทำให้ชีวิตเราเปลี่ยนไป ไม่สะดวกสบายเหมือนอยู่ที่บ้าน เราต้องพร้อมที่เรียนรู้ชีวิตจากความลำบาก การมีศีลเป็นข้อดำเนินชิวิต การที่ต้องใช้ชีวิตอย่างเรีบยง่าย และสิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ การบวชไม่ได้สำคัญที่ต้องจัดงานมีพิธีใหญ่โต มีแขกเพื่อนฝูงร่วมงานมากมาย แต่ทุกอย่างมันขึ้นอยู่ที่ “ผู้ที่จะบวช” เองเท่านั้นเอง"
ถือว่าเป็นเด็กรุ่นใหม่คนหนึ่งที่ระลึก และให้ความสำคัญทางพระพุทธศาสนา และมีความตั้งใจที่จะศึกษาหลักธรรมตามหลักพระพุทธศาสนา ในฐานะของพุทธ ศาสนิกชน และปฏิบัติตนเป็นตัวอย่างที่ดีต่อเยาวชนไทยอีกหลายคน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น