++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันจันทร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

“ปานเทพ” จี้ เสธ.ทบ.เคลียร์ลงนามเขมร แนะรัฐเปิดฟรีทีวีผลัดกันแจง 3 ชม. 26-27 ก.พ.นี้

21 ก.พ.) ที่สะพานมัฆวานฯ นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวถึงกรณีที่นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ ออกมาระบุว่าเงื่อนไข 8 ข้อที่ทางทหารไทย โดย พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุบรรณ เสนาธิการทหารบก ไปตกลงกับทางกัมพูชาในการหยุดยิงนั้น เป็นเพียงแค่การพูดคุยไม่มีการลงนามแต่อย่างใด เพราะต้องมีการนำเสนอต่อฝ่ายบริหารเสียก่อน ว่า ถือเป็นจุดยืนที่ดีของนายกษิต เพียงแต่ข่าวที่ปรากฎออกมาระบุว่าชัดว่ามีการลงนามกันแล้ว รวมทั้งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ก็ออกมาให้สัมภาษณ์สนับสนุนแนวทางดังกล่าว จึงน่าสงสัยว่าเป็นเพียงการพูดคุยและไม่มีการลงนามจริงหรือไม่ ดังนั้น พล.อ.ดาวน์พงษ์ ควรออกมาเปิดเผยความชัดเจนว่ามีการลงนามไปหรือไม่ และได้รับนโยบายจากใคร เพราะหากมีการลงนามจริงจะเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ที่มีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตของประเทศ ซึ่งต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาเสียก่อน

นายปานเทพ กล่าวต่อว่า หากนายอภิสิทธิ์สนับสนุนให้ฝ่ายทหารไปเจรจาลงนาม 8 ข้อตกลงดังกล่าว แล้วอ้างว่าเพื่อยุติปัญหาความสงบบริเวณชายแดน ทำให้เกิดความสับสนว่านายกฯเห็นชอบด้วยในการหยุดยิงโดยไม่กล่าวถึงดินแดนที่ กัมพูชารุกล้ำยึดครองอยู่ รวมถึงการรุกล้ำที่ละเมิด MOU 2543 ที่ผ่านมา 11 ปี ซึ่งจะทำให้กัมพูชายึดพื้นที่ได้เป็นการถาวร จนกว่ากัมพูชาจะพอใจผลการเจรจาฝ่ายเดียว หรือหากไม่พอใจก็สามารถยึดพื้นที่ได้ตลอดกาล ถือเป็นความล้มเหลวในการเจรจา โดยจากรายงานจากสื่อกัมพูชาระบุชัดเจนว่า ฝ่ายกัมพูชาปฏิเสธข้อเสนอของฝ่ายไทยที่ต้องการให้มีการวางกำลังในวัดแก้ว สิกขาคีรีสวาระ ซึ่งทหารไทยถอยออกมาเมื่อวันที่ 1 ธ.ค.53 ตนเห็นว่าเมื่อไม่มีการวางกำลังในพื้นที่ดังกล่าว กัมพูชาก็สามารถเดินหน้าแผนบริหารจัดการมรดกโลกได้ทันที

“แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลพยายามปัดพัลวันว่าไม่มีการลงนาม เป็นเพียงการเจรจา จึงต้องขอความชัดเจนจาก พล.อ.ดาว์พงษ์ ว่าลงนามหรือไม่ และได้รับนโยบายจากใคร ซึ่งนายกฯอภิสิทธิ์ ก็เห็นดีเห็นงามด้วย ตกลงกลายเป็นนโยบายรัฐบาลในการหยุดยิงโดยไม่พูดถึงดินแดนที่ถูกรุกล้ำใช่ หรือไม่” นายปานเทพ กล่าว

โฆษกพันธมิตรฯ กล่าวด้วยว่า หากรัฐบาลไทยยังเดินหน้าในแนวทางนี้ต่อไป ในเวทีรัฐมนตีต่างประเทศอาเซียน ในวันที่ 22 ก.พ.นี้ ก็จะมีผลกระทบในระดับรัฐต่อรัฐ ไม่ใช่เพียงฝ่ายทหาร 2 ฝ่ายต่อไป ยิ่งนายกษิต เสนอให้ทหารหรือทางการอินโดนีเซีย เข้ามาสังเกตการณ์ในพื้นที่ ยิ่งจะเป็นการผูกมัดหนักไปอีกขั้น เพราะหากมีการหยุดยิงแล้วฝ่ายไทยไปผลักดันกัมพูชาออกจากดินแดน ก็จะกลายเป็นหลักฐานเพิ่มเติมให้นานาชาติเข้าใจผิดว่าฝ่ายไทยรุกล้ำกัมพูชา เพราะที่ผ่านมาในการต่อสู้บนเวทีคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ไม่ได้มีการกล่าวถึงว่าพื้นที่นี้เป็นของไทย

นายปานเทพ กล่าวด้วยว่า ในวันพรุ่งนี้ (22 ก.พ.) จะมีเหตุการณ์ที่สำคัญเกิดขึ้น 3 เหตุการณ์ คือ 1.การที่ภาคประชาชน 10 คนที่ถูกศูนย์อำนวยการรักษาความสงบ (ศอ.รส.) ออกหมายเรียก จะไปรายงานตัวที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ในเวลา 10.00 น. โดยในวันนี้ (21 ก.พ.) ทางทีมทนายของภาคประชาชนจะไปยื่นหนังสือถึง พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธ์ศรี ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ในหลายกรณีที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อาทิ ขั้นตอนการออกหมายเรียก หรือการออกประกาศพระราชบัญญัติความมั่นคง (พ.ร.บ.ความมั่นคง) ทั้งนี้ทั้งนั้นเรายังยืนยันที่จะไปรายงานตัว เพื่อตอกย้ำว่าเจ้าหน้าที่รัฐทำผิดจริง และเราจะได้ดำเนินการในขั้นตอนต่อไป 2.กรณี ที่คณะรัฐมนตรีจะประกาศต่ออายุ พ.ร.บ.ความมั่นคง ซึ่งเท่ากับตอกย้ำความต้องการจัดการผู้ชุมนุมที่ออกมาทำหน้าที่และใช้สิทธิ ตามรัฐธรรมนูญ แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลต้องการนำกฎหมายเผด็จการมาครอบการชุมนุม ทั้งที่ไม่มีความกระทบต่อความมั่นคง และตำรวจมาตรวจสอบแล้วว่าเป็นการชุมนุมที่ปราศจากอาวุธ และเหตุการณ์ที่ 3 คือ การประชุมรัฐมนตรีอาเซียน ซึ่งต้องจับตามองว่าจะมีแนวโน้มอย่างไรใน 2 ประเด็น คือ การเดินหน้าลงนามข้อตกลงหยุดยิง โดยปราศจากการพูดถึงดินแดนที่กัมพูชารุกล้ำ ซึ่งหากมีการลงนามจริงจะทำให้ฝ่ายไทยเสียดินแดนโดยถาวร รวมทั้งกรณีที่ฝ่ายไทยจะยินยอมให้อาเซียนมายุ่งกิจการภายใน โดยไม่อ้างถึงกฎบัตรสหประชาชาติ ข้อ 2 วรรค 7 ที่ห้ามไม่ให้สหประชาชาติ (UN) เข้ามาแทรกแซงไม่ได้หรือไม่ อย่างไรก็ตามอาจเป็นเพราะรัฐบาลไม่สามารถเถียงเรื่องเขตแดน เพราะไปยอมรับแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 2 แสนไปแล้ว

นายปานเทพ ยังกล่าวถึงกรณีการเปิดเวทีนำเสนอข้อมูลต่อประชาชนที่สมาคมนักข่าววิทยุและ โทรทัศน์ไทย เสนอตัวเป็นผู้ประสานงาน ว่า ผ่านมาหลายวันแล้วดูเหมือนายกฯอภิสิทธิ์ จะลืมเรื่องนี้ ทางสมาคมนักข่าวฯเองก็ไม่ได้แจ้งความคืบหน้ามาแลย ทั้งที่นายกฯอภิสิทธิ์ พูดเองว่าไม่มีปัญหาอะไร หากเป็นเช่นนี้ก็สามารถเดินหน้าได้เลย โดยเริ่มจากรัฐบาลพูดในวันเสาร์ที่ 26 ก.พ.นี้ได้เลย และภาคประชาชนพูดในวันอาทิตย์ 27 ก.พ.นี้ ในเวลา 3 ชั่วโมงเท่ากัน และอาจใช้เวลาที่เหมาะสมในช่วง 19.00 - 22.00 น.ของทั้ง 2 วัน โดยขอย้ำว่าไม่ใช่การโต้วาที แต่จะเป็นการนำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ส่วนที่นายกฯอภิสิทธิ์ ห่วงว่า จะเป็นการเปิดเผยข้อมูลให้ทางกัมพูชารับรู้นั้น ไม่เป็นความจริงเพราะกัมพูชาก็ไม่มีข้อมูลเท่ากับเรา ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องความลับแต่อย่างใด โดยวัตถุประสงค์เพื่อต้องการให้ประชาชนมีโอกาสได้รับรู้ข้อเท็จจริงด้วย ไม่ใช่ให้นายกฯอภิสิทธิ์ ใช้สื่อรัฐพูดเพียงฝ่ายเดียว

“ขอให้รัฐบาลเปิดใจกว้าง เพื่อทำให้ประเทศนี้มีเอกภาพในการเคลื่อนไหวในเวทีนานาชาติ เพราะการที่รัฐบาลอาศัยสื่อในการให้ข้อมูลเพียงฝ่ายเดียวก็ไม่มีประโยชน์ แต่หากรัฐบาลมั่นใจในข้อมูลตัวเองก็นำเสนอไป ส่วนภาคประชาชนก็นำเสนอเช่นกัน หลังจากนั้นให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินว่าใครมีน้ำหนักมากกว่ากัน ซึ่งหากเชื่อรัฐบาลก็จะไม่มีผู้มาเข้าร่วมการชุมนุม หรือหากเชื่อภาคประชาชนก็จะมีผู้มาร่วมชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลทำ หน้าที่เพิ่มมากขึ้น” นายปานเทพ กล่าว

นายปานเทพ กล่าอีกว่า ส่วนกรณีความพยายามขอพื้นที่คืนนั้น ตนอยากให้รัฐบาลตระหนักว่าการชุมนุมครั้งนี้เป็นสถานที่เดียวกันและในหัวข้อ เดียวกันเมื่อปี 2551 สมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ในวันนั้นพรรคประชาธิปัตย์เองก็ไม่ได้มีท่าทีว่าการชุมนุมสร้างความเดือด ร้อนให้แก่ประชาชนแต่อย่างใด ทั้งยังสนับสนุนการชุมนุมด้วยซ้ำ และยังให้นายสมัคร ฟังเสียงประชาชนด้วย พอมาเป็นรัฐบาลก็พลิกหน้ามือเป็นหลังมือไม่เคารพสิทธิของภาคประชาชน

ผู้สื่อข่าวรายงานในวันนี้ (21 ก.พ.) เวลา 13.00 น.เป็นต้นไป คณะกรรมการรวมพลังปกป้องแผ่นดินจะมีการประชุมเพื่อประเมินผลการชุมนุมที่ ผ่านมา 28 วัน รวมทั้งประเมินสถานการณ์เพื่อหาข้อสรุปถึงการยกระดับการชุมนุมด้วย และในวันพรุ่งนี้ (22 ก.พ.) ผู้ที่ถูกออกหมายเรียกทั้ง 10 คนจะเดินทางไปที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ในเวลา 09.30 น. เพื่อเข้าพบพนักงานสอบสวนในเวลา 10.00 น.ตามนัดหมาย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น