++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอาทิตย์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ฮุนเซนใช้เอ็มโอยู 43 เป็นเบี้ยหงายแทงใจคนไทย

โดย ว.ร. ฤทธาคนี 24 กุมภาพันธ์ 2554 17:02

คนไทยทุกคน จะต้องเคารพความชอบธรรมของคนไทยทั้งประเทศในการรักษาผลประโยชน์ให้ชาติบ้าน เมือง โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับบูรณภาพแห่งดินแดน และการนี้ทำให้เราจะต้องศึกษาเอ็มโอยู 43 กันอย่างจริงจัง ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งแต่ต้องเป็นคนทั้งชาติ เพราะว่าการลงนามเอ็มโอยูนี้ เป็นการยอมรับเนื้อหาสาระทั้งหมดที่อยู่ในเอ็มโอยู หรือบันทึกความเข้าใจ ซึ่งเป็นสัญญาทำให้เราต้องยอมรับตัวสัญญาและคำกล่าวอ้างในสัญญานี้

เอ็มโอยู 43 เป็นสัญญาระหว่างไทย - กัมพูชา ว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก ปี พ.ศ. 2543 ที่เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย และในสัญญานั้นรัฐบาลนายชวน ยอมรับแผนที่มาตราส่วน 1: 200,000 ที่ทนายฝ่ายเขมรใช้เป็นหอกแทงใจคนไทยเมื่อ พ.ศ. 2505 ว่าไทยยอมรับแผนที่ฝรั่งเศสเป็นคนเขียนขึ้นมา และทนายฝ่ายกัมพูชาเรียกว่า แผนที่ภาคผนวก 1

เอ็มโอยู 43 ดูเหมือนว่าเป็นเพียงเอกสารสัญญาสร้างสันติสุขระหว่างไทยกับกัมพูชา แต่ในระยะยาวแล้วไทยเองจะต้องหวานอมขมกลืน เพราะว่ามันจะทำให้เราต้องยอมรับอะไรๆ เกี่ยวกับบูรณภาพแห่งดินแดนระหว่างไทย - กัมพูชาตลอดแนว และอาจจะเป็นตัวอย่างให้ประเทศเพื่อนบ้านรายรอบไทย ใช้เป็นรูปแบบในการเจรจาว่าด้วยปัญหาเขตแดน

รัฐบาลนายชวน หลีกภัย ลงนามในสัญญาหรือเอ็มโอยู 43 นี้ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่ต้องวิเคราะห์ และพรรคประชาธิปัตย์ต้องยอมรับสภาพต่างๆ ที่เกิดขึ้นในอนาคต ปัจจุบันมีเหตุการณ์รุนแรงบริเวณพื้นที่ขัดแย้งรอบปราสาทพระวิหาร โดยทหารเขมรยิงปืนถล่มพลเมืองไทยได้รับความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน อันเป็นการแสดงว่าฝ่ายเขมรละเมิดเอ็มโอยู 43 ที่คาดหวังว่าจะเป็นกุญแจสร้างสันติสุขไทย - กัมพูชา

เหตุนี้เองเราควรยกเลิกเอ็มโอยู 43 ฉบับนี้ และรื้อฟื้นการเจรจาใหม่ เพราะขณะนี้ความขัดแย้งพัฒนาโดยฝ่ายเขมร มิใช่เกิดจากฝ่ายเรา รัฐบาลไทยจะต้องแสดงจุดยืนให้มั่น โดยเอาผลประโยชน์แห่งบูรณภาพดินแดนไทยและศักดิ์ศรีเป็นที่ตั้ง มิใช่ว่าเราลงนามไปแล้วจะต้องยึดถือ แต่เป็นเพราะฝ่ายเขมรเริ่มต้นปัญหาชายแดนต่างๆ ก่อนทุกครั้ง โดยไม่มีผลอะไรทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการละเมิดดินแดนโดยทหาร หรือจะเอาเรื่องนักเคลื่อนไหว นักการเมือง และสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรที่เข้าไปในดินแดนที่ขัดแย้ง จับตัวขึ้นศาลลงโทษข้อหาบุกรุกดินแดนที่เป็นปัญหา ทำให้เป็นละครฉากใหญ่ตบตาคนทั้งโลก

ขณะนี้เป็นโอกาสที่ดีเลิศในการใช้ข้อวิพากษ์ของ 3 ตุลาการศาลโลก ที่มีความคิดขัดแย้งกับเสียงข้างมากฯ เสียงในการพิพากษาให้เขมรชนะคดีปราสาทพระวิหาร ในวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2505 เพราะอย่างน้อยประชาคมโลกในยุคศตวรรษที่ 21 จะได้รับรู้พฤติกรรมการครองอาณานิคมในอดีตของฝรั่งเศส ที่รังแกประเทศไทยหรือสยามในครั้งนั้น

แผนที่ภาคผนวก 1 เป็นเอกสารสำคัญในการว่าความของทนายฝ่ายเขมร เป็นเอกสารนำสู่หลักกฎหมายปิดปาก ซึ่งทำให้ไทยต้องแพ้คดี ซึ่งผู้พิพากษามอเรโน กินตานา ผู้พิพากษาเวลลิงตัน คู และผู้พิพากษาเซอร์เพอร์ซี สเปนเดอร์ โดยทั้ง 3 ท่าน มีความเห็นแย้งคำตัดสินสรุปได้คือ

1. สนธิสัญญาฉบับที่ลงนามในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2447 ระหว่างฝรั่งเศสเจ้าอาณานิคมเขมรกับรัฐบาลสยาม มีข้อบัญญัติไว้ว่า เขตแดนระหว่าง 2 ประเทศนี้ ถือตามสันเขาปันน้ำระหว่างลุ่มแม่น้ำโขงด้านหนึ่ง กับแม่น้ำมูลด้านหนึ่ง และบรรจบทิวเขาภูผาด่าง เส้นเขตแดนทอดไปทางตะวันออกตามสันเขานี้จนถึงแม่น้ำโขง ไม่มีการกล่าวถึงพระวิหารเลย และการขาดความชำนาญและผู้เชี่ยวชาญในการหาตำแหน่งแหล่งที่ของสันปันน้ำ ระหว่างลุ่มแม่น้ำเสนและแม่น้ำโขงด้านหนึ่ง กับแม่น้ำมูลอีกด้านหนึ่งทำให้หาข้อยุติไม่ได้

2. แผนที่ที่เป็นปัญหาไม่มีลักษณะเป็นสนธิสัญญาดังที่กัมพูชาได้อ้าง และเพราะฉะนั้น จึงไม่อาจผูกพันประเทศไทยในสัญญาเรื่องอำนาจอธิปไตย แห่งดินแดนเหนือประสาทพระวิหารได้

3. การเสด็จฯ เยือนปราสาทพระวิหารของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ พ.ศ. 2473 นั้น พระองค์มิได้ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยแล้ว ดังนั้น การที่ทรงไม่แสดงความคิดเห็นใดๆ หรือโต้แย้งใดๆ ก็เพราะว่าพระองค์ไม่ได้ทรงมีหน้าที่บริหารบ้านเมือง และการที่แสดงไมตรีกับทูตฝรั่งเศสนั้น ก็เป็นการแสดงออกตามหลักพิธีการเท่านั้น จะยึดถือเป็นส่วนของการยอมรับหรือไม่ยอมรับของฝ่ายไทยไม่ได้ และการรับสำเนาแผนที่ที่ทูตฝรั่งเศสถวายนั้น ก็เป็นเรื่องการถวายของขวัญให้พระองค์ในการเสด็จฯ เยือนเขาพระวิหาร

4. เป็นที่ทราบโดยทั่วไปขณะนั้นว่า การประท้วงมีแต่จะเปิดทางให้ฝรั่งเศสยกเป็นข้อแก้ตัวที่จะยึดดินแดนมากขึ้น เหตุการณ์ต่างๆ ยังคงเป็นอยู่เหมือนเดิม ตั้งแต่ฝรั่งเศสได้นำเรือรบเข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยาและยึดเมืองจันทบุรี

5. ฝรั่งเศสทราบดีว่าสยามไม่มีความสามารถทางวิชาการที่จะตรวจสอบได้ ฝรั่งเศสทราบอย่างแน่นอนว่าสยามไม่มีทางจะทราบได้เลยว่า เส้นเขตแดนตามภาคผนวก 1 นั้นถูกต้องหรือไม่ และฝรั่งเศสทราบด้วยว่าสยามกำลังพึ่งฝรั่งเศสอยู่ในขณะนั้น ดังนั้น การจัดส่งแผนที่ให้สยามขณะนั้น ไม่ได้เกิดประโยชน์และมีคุณค่าอะไรกับสยามเลย และฝรั่งเศสทำแผนที่นี้ขึ้น เพื่อประโยชน์ของฝรั่งเศสเองเป็นสำคัญ และในโอกาสเดียวกันเพื่อตอบคำขอร้องของสยามในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2447 ที่ขอให้พนักงานฝรั่งเศสช่วยเขียนแผนที่อาณาบริเวณชายแดนให้

6. คำว่า “การรับเอา” “การยอมรับ” “การยอมรับโดยนิ่งเฉย” และ “การยอมรับนับถือ” ซึ่งในระหว่างกระบวนการพิจารณาคดีนี้ได้ใช้อยู่บ่อยครั้ง ดูเหมือนจะทำให้หลักการทางกฎหมายคลุมเครือ

ความคิดเห็นเหล่านี้จะต้องได้รับการศึกษาวิเคราะห์อย่าง ละเอียดโดยนักวิชาการทางกฎหมาย เพื่อประกอบกับการรื้อฟื้นเอ็มโอยู 43 ใหม่ โดยให้นำเข้าสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาใหม่ตามนัยแห่งรัฐธรรมนูญ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น