“ซอสมะเขือเทศ” นับว่าเป็นเครื่องปรุงรสอีกอย่างหนึ่งที่แทบจะขาดไม่ได้ในทุกครัวเรือน เวลาที่กินไส้กรอก สเต๊ก ของทอด หรืออาหารจานอื่นๆ หลายคนก็มักจะเลือกซอสมะเขือเทศมาเป็นเครื่องจิ้ม เพื่อช่วยเพิ่มรสชาติให้ถูกปากมากยิ่งขึ้น
แต่รู้กันหรือไม่ว่า ในซอสมะเขือเทศที่เรากินกันนั้น มีอะไรผสมอยู่บ้าง “108 เคล็ดกิน” เลยอยากจะบอกเล่าเก้าสิบให้ได้รู้กันไว้ จะได้กินซอสมะเขือเทศกันอย่างถูกต้อง และปลอดภัย
เมื่อเทียบกับเครื่องปรุงรส หรือเครื่องจิ้มประเภทอื่นๆ แล้ว เวลาที่กินซอสมะเขือเทศในแต่ละครั้ง เรามักจะจิ้มกินในปริมาณที่มากกว่า เนื่องมาจากซอสมะเขือเทศมีรสหวานนำ ความความเปรี้ยวและความเค็มผสมอยู่ จึงทำให้รู้สึกอร่อย แต่ก็ทำให้มีโอกาสได้รับส่วนผสมประเภท น้ำตาล และเกลือ หรือ โซเดียม เข้าสู่ร่างกายในปริมาณที่มากกว่าปกติ
เคยมีการทดสอบซอสมะเขือเทศ 10 ยี่ห้อ พบว่ามีปริมาณน้ำตาลโดยเฉลี่ย 25.95 กรัม ต่อซอส 100 กรัม และพบว่ามีโซเดียมโดยเฉลี่ย 741 มิลลิกรัมต่อซอส 100 กรัม
ซึ่งเท่ากับว่า หากกินซอสมะเขือเทศในปริมาณ 100 กรัม (หรือ 1 ขีด) จะได้รับปริมาณน้ำตาลถึง 25.95 กรัม แต่ทางกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดปริมาณการบริโภคน้ำตาลว่าไม่ควรเกิน 6 ช้อนชา หรือประมาณ 24 กรัม ต่อวัน
สำหรับผู้ที่มีปัญหาเรื่องสุขภาพ เช่น ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ จึงต้องระวังเป็นอย่างยิ่งในการกินซอสมะเขือเทศ โดยเฉพาะเด็กๆ หากชอบรสชาติของซอสหรือเครื่องปรุงอื่น ก็จะเริ่มติดหวานตั้งแต่เด็ก และเมื่อเติบโตขึ้นก็มีความเสี่ยงสูงที่จะมีปัญหาด้านสุขภาพ
ส่วนมะเขือเทศที่เป็นส่วนประกอบหลักในซอสนั้น ก็จะต้องผ่านความร้อนในกระบวนการแปรรูปมากกว่า 72 องศาเซลเซียส ทำให้สารอาหารต่างๆ ในมะเขือเทศที่เราควรจะได้รับสูญเสียไป
ฉะนั้น จึงควรจะกินมะเขือเทศสดๆ มากกว่า เพราะจะทำให้ได้คุณค่าทางอาหารเพิ่มขึ้น แต่ถ้าหากจะกินซอสมะเขือเทศ ก็ควรกินอย่างพอเหมาะพอดี และควรเลือกซอสมะเขือเทศที่ได้มาตรฐาน โดยดูจากฉลากรับรองขององค์การอาหารและยา เพื่อความปลอดภัยในการบริโภค
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น