++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันจันทร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

เปิดประสบการณ์ตรง เคสวัยรุ่นท้อง-แท้ง จากใจว่าที่คุณหมอ

เปิดประสบการณ์ตรง เคสวัยรุ่นท้อง-แท้ง จากใจว่าที่คุณหมอ




วันวาเลนไทน์ กลายเป็นวันที่จุดประกายแง่มุมเรื่องเพศมากที่สุดวันหนึ่ง วัยโจ๋บางคนถึงกับต้องการเสียตัวในวันนี้ให้ได้ แล้วปัญหาก็ตามมาเสมอ ผู้ใหญ่หลายฝ่ายขบคิดหาทางออก และคนอีกกลุ่มที่ต้องรับดูแลปัญหานี้โดยตรงคงหนีไม่พ้นแพทย์และนักศึกษาแพทย์ ที่ได้คลุกคลีอยู่กับคนไข้ที่ท้องและแท้งก่อนวัยอันควร หลายคนลงมติตรงกันว่า ได้เวลาสอนเรื่องการคุมกำเนิดให้เด็กไทยอย่างเปิดเผยเสียที





ว่าที่คุณหมอ "ต่อ" วิทวัส เจิมกลิ่นจันทน์ นิสิตคณะแพทยศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 รั้วสีชมพู เปิดเผยถึงประสบการณ์ที่ได้พบเจอเหล่าคุณแม่วัยใสว่า ตอนนี้ประจำอยู่ที่วอร์ดสูตินรีเวช ทำให้เจอเคสแบบนี้มาบ้าง โดยเฉลี่ยพบอายุประมาณ17-18 ปี ส่วนมากเป็นน้องๆที่ยังเรียนอยู่ แต่จากการสอบถามเพื่อนๆที่อยู่โรงพยาบาลต่างจังหวัดพบว่ามีเคสแบบนี้เยอะกว่า หญิงวัยรุ่นบางคนมีลูกหลายคนแล้วด้วย

"วัยรุ่นที่ท้องมา ส่วนใหญ่ก็ต้องหยุดเรียนไป หลังจากที่คลอดแล้วก็ออกมาหางานทำเลย คือไม่ได้เรียนต่อ เท่าที่ผมเจอก็เป็นคุณแม่วัยรุ่นประมาณ 10 - 20 % ไม่ได้เจอทุกวัน หรือบางวันก็เจอหลายราย เท่าที่ได้คุยกับคนไข้ พบว่าเด็กเหล่านี้ไม่ค่อยรู้เรื่องการคุมกำเนิด หลายคนตั้งท้องแบบไม่ตั้งใจ ไม่มีการใช้ถุงยางอนามัย ไม่ใช้ยาคุมแบบเม็ด บางคนใช้ยาคุมฉุกเฉินแต่ก็ยังตั้งท้อง ส่วนใหญ่จากเคสที่ผมเห็นมา ผมมองว่าความรู้เรื่องการคุมกำเนิดน้อยยังอยู่ครับ" วิทวัสเล่า

นิสิตแพทย์ลูกพระเกี้ยว เล่าถึงการให้ความรู้ทางเพศศึกษาว่า การเรียนการสอนเรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญ ควรให้ความรู้กับเด็กที่ย่างเข้าสู่วัยรุ่นให้ทันท่วงที หากเทียบกับสมัยก่อน เด็กทุกวันนี้เข้าถึงสื่อได้มากขึ้น เห็นเรื่องทางเพศได้มากขึ้น รวมถึงการเจริญเติบโตทางร่างกายก็เข้าสู่ช่วงวัยรุ่นที่เร็วขึ้น เด็กผู้หญิงมีประจำเดือนเร็วขึ้น เมื่อเทียบกับเมื่อ 20 ปีที่แล้ว เรื่องเหล่านี้เด็กรับรู้ได้เร็วกว่ากันมาก ก็เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องสอนเรื่องการคุมกำเนิดตั้งแต่เนิ่นๆ

"ผมไม่แน่ใจว่าในหลักสูตรมีการสอนเรื่องเพศศึกษากันมากแค่ไหน ส่วนตัวคิดว่าน่าจะมีการให้ความรู้เรื่องนี้กันแต่แต่ช่วงม.ต้น นอกจากเรื่องคุมกำเนิดแล้ว ก็ต้องดูเรื่องความคิด การตัดสินใจ เขาก็ยังคิดแบบเด็กๆอยู่ ต่างกับเด็กฝรั่งที่กล้าเปิดเผยมากกว่าบ้านเรา และมีความรู้ที่จะป้องกันตัวเองได้ แต่สังคมไทยไม่ค่อยเปิดเผยเรื่องนี้ คนไทยก็ไม่ค่อยมีความรู้ ไม่ใช่ว่าให้เราเปลี่ยนแปลงไปเป็นแบบฝรั่งเลยทีเดียว แต่มองว่าต้องมีการสอนเรื่องนี้ให้มากขึ้น ต้องคุยถึงวิธีการคุมกำเนิด คุยตั้งแต่เริ่มต้นเลยว่าให้รู้จักควบคุมตัวเอง ถ้าเรายังไม่ได้รักใครจริงๆก็อย่าเพิ่งมีความสัมพันธ์ลึกซึ้ง แต่ถ้าเกิดมีขึ้นมาก็ต้องรู้จักป้องกัน ต้องให้เขามี Second Choice ด้วย และต้องเริ่มปลูกฝังกันตั้งแต่ในครอบครัวให้เด็กมีค่านิยมที่ถูกต้อง" ต่ออธิบาย



ส่วนว่าที่แพทย์หญิงอย่าง "เฟิร์น" กฤติยากร ดงเทียมสี นิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 5 มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มองเรื่องวัยรุ่นกลายเป็นแม่คนเฉลี่ยวันละ 336 คนว่า ปัญหาเหล่านี้กำลังเกิดขึ้นจริงในสังคมไทย ความที่ประจำอยู่ที่โรงพยาบาลต่างจังหวัดแห่งหนึ่ง ทำให้เจอเคสเด็กหลายคนที่ท้องก่อนวัยอันควร รวมถึงเคสที่ทำแท้งแบบไม่ปลอดภัย เช่น การทำแท้งที่ไม่สะอาด การใช้สารเคมีรุนแรงจนตกเลือด บางรายมีอาการรุนแรงถึงขั้นต้องตัดมดลูกทิ้ง ส่วนใหญ่พบว่ามีอายุประมาณ 13 -18 ปี

"จากที่ได้พูดคุยกับเคสเหล่านั้น พบว่าเด็กมัธยมมีความรู้เรื่องการคุมกำเนิดน้อยมาก อย่างรายที่ต้องตัดมดลูกทิ้ง ถึงจะไม่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตแต่เด็กก็หมดโอกาสที่จะมีลูกได้ในอนาคต ถ้าเป็นเด็กม.ปลาย ก็เริ่มมีความรู้การคุมกำเนิดบ้าง แต่ม.ต้นไม่รู้เลย พอเราถามว่า รู้จักวิธีการคุมกำเนิดไหม รู้ไหมว่าเราไปซื้อยาคุม-ถุงยางอนามัยได้นะ แต่เด็กไม่รู้เลย เหมือนพอรู้ว่าตัวเองท้องก็ต้องไปทำแท้ง ถามว่ามีความรู้ไหม บางคนรู้แต่ไม่เคยใช้ยาหรือถุงยางคุมกำเนิด บางรายไม่คิดจะใช้เลยก็มี ส่วนในรายที่ไปทำแท้งมา มักจะพบว่ามีโรคทางเพศสัมพันธ์ร่วมด้วย เช่น หนองใน หรือมดลูกอักเสบ เพราะใช้วิธีทำแท้งที่ไม่สะอาด เช่น ใช้น้ำยาล้างห้องน้ำฉีดเข้าไปในมดลูก เด็กอีกกลุ่มที่เริ่มรู้เรื่องพวกนี้เยอะ เขาก็จะไปซื้อยาเหน็บทำแท้งมาทำเอง คือเดี๋ยวนี้หาซื้อตามเนตได้ง่ายมาก" เฟิร์นเล่า

นิสิตแพทย์รั้วเหลืองเทา เล่าอีกว่า สำหรับวัยรุ่นกลุ่มที่ท้องมา หากพ่อแม่รับได้พวกเธอก็ไม่สนใจจะเรียนต่ออยู่แล้ว และเข้ามาฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลกรณีนี้ขึ้นอยู่กับครอบครัวของเด็กด้วยว่าSupport แค่ไหน และมองว่าสังคมควรจะเปิดเผยเรื่องการคุมกำเนิด และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ให้มากขึ้น ควรให้เด็กเรียนรู้ตั้งแต่ชั้น ม.1 เพราะถือเป็นวัยเจริญพันธุ์แล้ว คือในสังคมไทยยังไม่ค่อยกล้าพูดเรื่องนี้กัน หากวัยรุ่นท้องมาก็อยากให้เด็กได้ปรึกษาพ่อแม่โดยตรง แต่ควรป้องกันตั้งแต่แรกจะดีกว่า



"เด็กไทยก็ไม่กล้าถามเรื่องแบบนี้ ส่วนผู้ใหญ่เองก็ไม่กล้าพูด ส่วนตัวก็คิดว่าน่าจะมีหนังสือหรือเวปไซต์ที่มีข้อมูลเกี่ยวกับการคุมกำเนิดที่น่าเชื่อถือได้ รัฐอาจจะมาสนับสนุนตรงนี้ได้ มองว่าถ้าเด็กสามารถเข้าถึงความรู้ตรงนี้ได้ด้วยตัวเองแบบที่ไม่ต้องรู้สึกอายจนเกินไป และมีแหล่งความรู้อยู่ใกล้ๆมือ ก็เป็นไปได้ที่เด็กจะหยิบขึ้นมาอ่านหรือศึกษาด้วยตัวเอง ปัญหามันไม่ได้สะท้อนว่าเด็กบ้านเราแรงกว่าที่อื่น ฝรั่งเขาก็เริ่มมีเพศสัมพันธ์ในช่วงอายุไล่เลี่ยกัน แต่เขามีความรู้ในเรื่องนี้และมีการป้องกันอยู่เสมอเป็นวิสัย แต่มันสะท้อนว่าบ้านเราขาดการให้ความรู้เรื่อง Save Sex มากๆ ล้มเหลวในการให้ความรู้เรื่องการมีSex ที่ปลอดภัย" ว่าที่แพทย์หญิงกล่าว

นศ.แพทย์อีกคน "แบงค์" ปาวี ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม นักศึกษาชั้นปีที่ 5 รั้วสีอิฐ กล่าวว่า พบเคสคุณแม่ยังสาวเข้ามาทำคลอดเรื่อยๆ เกือบทุกวัน ส่วนใหญ่อายุประมาณ 13 หรือ 15 ปี เมื่อได้คุยกับคนไข้ พบว่าเด็กส่วนใหญ่ก็รู้เรื่องการป้องกัน แต่บางครั้งเกิดความพลาดมา ส่วนใหญ่หลังจากคลอดแล้ว เด็กก็ออกมาอยู่บ้านไม่ได้เรียนต่อ นอกจากนี้ยังพบเคสที่ทำแท้งแบบไม่ปลอดภัยอีกด้วย

ว่าที่คุณหมอกล่าวอีกว่า ในมุมมองส่วนตัว มองว่าเรื่องทำแท้งไม่ใช่เรื่องผิดหรือถูก แต่ตัวผู้หญิงน่าจะมีสิทธิ์ที่จะตัดสินใจได้ เมื่อตัดสินใจจะทำก็ควรให้เด็กได้ทำแบบปลอดภัยและสะอาด เช่น น่าจะให้เด็กทำที่โรงพยาบาลได้ ไม่ควรให้เด็กไปเสี่ยงอันตรายทำตามคลีนิกเถื่อนที่ทำแบบไม่ปลอดภัย ส่วนประเด็นวัยรุ่นท้องกลายเป็นแม่ก่อนวัยอันควร ก็มองว่าไม่เห็นด้วยที่จะมาท้องในวัยนี้ เพราะตัวเด็กยังดูแลตัวเองไม่ได้เลย แล้วจะดูแลลูกที่ออกมาได้ดีแค่ไหน



"คือการเลี้ยงดูลูกสักคนก็เลี้ยงยากนะ เด็กที่เกิดมาต้องกิน ต้องเข้าโรงเรียน ต้องเติบโตไปข้างหน้า นั่นหมายความว่าต้องมีทุนจำนวนมากพอที่จะมาเลี้ยงดูเขาให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ต้องกลับมามองว่าคุณแม่วัยรุ่นพร้อมที่จะเลี้ยงลูกแล้วหรือยัง และอีกอย่างคือ สังคมเราไม่ได้ออกแบบมาเพื่อต้อนรับ Single Mom อย่างถ้าเห็นว่าใครเป็นSingle Mom ก็มักจะมีคำถามตามมาว่า พ่อเด็กอยู่ไหน ทำไมท้องก่อนแต่ง หรืออะไรประมาณนี้ คือสังคมไทยไม่เปิดรับตรงนี้" แบงค์ กล่าว

ส่วนการแก้ปัญหา แบงค์มองว่า ต้องแก้ปัญหาที่ต้นเหตุก่อน กล่าวคือต้องให้ความรู้ทางเพศศึกษามากขึ้น ในอีกแง่หนึ่งก็ต้องแก้ที่ปลายเหตุด้วย คือ สังคมอย่าไปประณามเด็กกลุ่มนี้ น่าจะใจกว้างยอมรับพวกเขาด้วย มันเป็นเรื่องที่เราต้องช่วยกัน เพราะสังคมเราเป็นสังคมที่ช่วยเหลือซึ่งกันและกันมาตลอด

"เราต้องยอมรับว่าการคุมกำเนิดแม้ว่าจะป้องกันได้ประมาณ 87- 98 % แต่มันไม่มีวิธีไหนที่ป้องกันได้ 100 % ไม่ต้องพูดถึงวัยรุ่น แต่วัยที่โตแล้วก็ทำผิดพลาดได้ ทุกคนผิดพลาดกันได้ นอกจากเขาต้องแบกปัญหาในสิ่งที่เขาผิดพลาดมาแล้ว ก็ยังต้องมาโดนซ้ำเติมว่าเฮ้ย! ท้องไม่มีพ่อ จริงๆแล้วถ้าอยากด่าก็ด่าได้ แต่แทนที่จะด่าอย่างเดียว หลังจากด่าแล้วก็ต้องมีน้ำใจช่วยเหลือด้วย" นศ.แพทย์ มข. กล่าวทิ้งท้าย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น