++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันจันทร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

มงคลที่ ๑๖ ประพฤติธรรม ผู้สะอาดด้วยความดี

มงคลที่ ๑๖

ประพฤติธรรม
ผู้สะอาดด้วยความดี

ความบริสุทธิ์บริบูรณ์ เป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับสรรพสัตว์ทั้งหลาย เมื่อใดมีความบริสุทธิ์บังเกิดขึ้น ย่อมเป็นทางมาแห่งความสุขความสงบในจิตใจ และจะแผ่ขยายไปสู่สังคม ตลอดจนกระทั่งมวลมนุษยชาติทั้งหลาย เมื่อนั้นโลกย่อมพบกับสันติสุขอันไพบูลย์ได้อย่างง่ายดาย ความบริสุทธิ์นี้ เป็นสิ่งที่สามารถเข้าถึงได้ เพราะมีอยู่แล้วในตัวของพวกเราทุกคน พระธรรมกายภายในตัวเป็นทางมาแห่งความบริสุทธิ์ และความสุขที่แท้จริง เมื่อเราเข้าไปอยู่ในกลางของท่าน ความสุขและความบริสุทธิ์จะพรั่งพรูขึ้นมาอย่างไม่รู้จักหมดจักสิ้น จิตใจจะรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพระธรรมกาย จะมีความปีติเบิกบานคลี่ขยายออกไป ไม่มีประมาณทีเดียว

มีวาระแห่งพุทธศาสนสุภาษิตใน สิริกาลกรรณิชาดก ว่า

“อตฺตนา กุรุเต ลกฺขึ อลกฺขึ กุรุตตฺตนา
น หิ ลกฺขึ อลกฺขึ วา อญฺโญ อญฺญสฺส การโก

บุคคลย่อมทำความดีและความชั่วด้วยตนเอง
คนอื่นจะทำความดีหรือความชั่วให้แก่คนอื่นไม่ได้เลย”

เมื่อได้โอกาสเกิดมา เราควรทำให้ชีวิตที่ดำเนินไปแต่ละวันแต่ละคืนนั้น เป็นช่วงเวลาของเราอย่างแท้จริง สามารถกล่าวได้ว่า หากปรารถนาจะให้ชีวิตของเรามีทิศทางมุ่งไปทางใด ต่ำต้อยหรือสูงส่งเพียงไหน ย่อมขึ้นอยู่กับตัวของเราเอง ความหมายคือ ขึ้นอยู่กับคุณธรรมในใจของเรานั่นเอง คุณธรรมในที่นี้หมายถึงความดีงาม หรือธรรมะที่มีอยู่ในตัว หากไม่มีความดี ไม่มีธรรมะ แม้จะอยู่ในภาวะที่สูงส่ง เป็นเศรษฐีมหาเศรษฐี บัณฑิตนักปราชญ์ทั้งหลายก็กล่าวว่า เป็นผู้ที่ต่ำต้อย ไม่ควรแก่การยกย่องสรรเสริญแต่อย่างใด ตรงกันข้าม หากบุคคลนั้น เป็นผู้ที่เปี่ยมด้วยคุณธรรมความดีงามแล้ว แม้อยู่ในสภาวะเช่นไร ยังคงเป็นที่ยกย่อง และเป็นแบบอย่างให้แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายได้

เมื่อเรากระทำสิ่งใดไว้ เราต้องเป็นเจ้าของสิ่งนั้น ทำดีย่อมได้ดี ทำบาปอกุศลย่อมต้องได้รับผลแห่งวิบากกรรม นักปราชญ์ผู้รู้จึงกล่าวไว้ว่า จะสร้างโชคหรือสร้างเคราะห์ ก็ด้วยตัวเราเองเท่านั้น ผู้มีปัญญาทั้งหลายจึงหมั่นทำความบริสุทธิ์ให้กับตนเองด้วยการทำความดี ธรรมดาต้นไม้ใหญ่ที่มีร่มเงาเย็นสบาย จะเป็นที่อยู่อาศัยของหมู่วิหค และสรรพสัตว์ทั้งหลาย ผู้ที่มีคุณธรรม สะอาดด้วยความดีงามนี้ก็เช่นกัน จะเป็นที่พึ่งพิงของบัณฑิตชนทั้งหลาย ฝูงนกย่อมบินเข้าฝูงนก ฝูงเนื้อย่อมเข้าฝูงเนื้อ ผู้เปี่ยมด้วยความดี มีความสะอาดบริสุทธิ์ ย่อมเข้าอยู่ในกลุ่มของผู้ที่มีความสะอาดบริสุทธิ์เช่นกัน

ความเป็นผู้สะอาดด้วยความดีในจิตใจนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “คนดีย่อมไปหาคนดี คบกับคนดี” ครั้งเมื่อพระบรมศาสดาประทับอยู่ที่พระเชตวัน ได้ปรารภถึงท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี นับตั้งแต่ท่านดำรงอยู่ในโสดาปัตติ ผล เป็นพระอริยบุคคล ท่านมีศีล ๕ เป็นปกติ ไม่เคยขาดแม้แต่วันเดียว แม้ภรรยา บุตรธิดา บ่าวรับใช้ทั้งหมดของท่าน ต่างพากันรักษาศีล ๕ ไม่ขาดเช่นเดียวกัน เรื่องราวของท่านจึงเป็นที่โจษจัน เป็นที่อนุโมทนาของนักสร้างบารมีทั้งหลายตลอดมา

วันหนึ่ง พระภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปสนทนากันที่โรงธรรมสภา เมื่อพระบรมศาสดาทรงสดับดังนั้น จึงตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ไม่ใช่แต่เพียงในภพชาตินี้เท่านั้น แม้โบราณกบัณฑิตทั้งหลายก็เป็นผู้สะอาด และยังทำหมู่บริวารให้เป็นผู้สะอาดเช่นกัน” จากนั้นพระองค์ได้นำเรื่องในอดีตมาตรัสเล่าว่า

*ชาติหนึ่ง พระโพธิสัตว์เกิดเป็นเศรษฐี อาศัยอยู่ในเมืองพาราณสี เป็นผู้มีจิตใจดีงามมาก รักการสร้างมหาทานบารมี ท่านให้ทานไม่เคยขาดแม้แต่วันเดียว วันไหนที่ยังไม่ได้ถวายทาน วันนั้นท่านจะยังไม่กินข้าว เป็นผู้มีจิตใจรักการให้ทานมาก อีกทั้งยังเป็นผู้ตั้งใจรักษาศีล และศีลของท่านบริสุทธิ์มาก เหมือนแก้วมณีที่ไม่มีรอยตำหนิแม้แต่น้อย

ครั้นถึงวันอุโบสถ ท่านตั้งใจรักษาอุโบสถศีล ความดีงามเช่นนี้ จึงทำให้ทั้งภรรยา บุตรธิดาและข้าทาสบริวารต่างประพฤติธรรมเช่นเดียวกับท่าน ทำให้เหล่ามนุษย์และเทวดาทั้งหลายต่างชื่นชมและอนุโมทนาสาธุการ เป็นที่รู้จักกันทั่วไปว่า ท่านเศรษฐีเป็นผู้สะอาดด้วยความดี แม้บริวารของท่านก็เป็นผู้สะอาดด้วยความดีเช่นกัน

วันหนึ่ง ท่านเศรษฐีคิดว่า “ถ้าหากใครเป็นผู้ที่มีความสะอาดเป็นปกติ เข้ามาหาเรา การที่จะให้ที่นั่งที่นอนของเราแก่บุคคลนั้น ไม่เป็นการสมควรเลย ควรที่จะตระเตรียมที่นั่งที่นอน ที่ยังไม่มีผู้ใดใช้ไว้ให้บุคคลนั้น” คิดดังนั้นแล้ว ท่านได้ให้จัดที่นอนที่นั่งไว้ในที่ที่เหมาะสม

ครั้งนั้น มีเทพธิดา ๒ องค์ คือ ธิดาของท้าววิรูปักษ์มหาราช ชื่อ กาลกรรณี และธิดาของท้าวธตรฐมหาราช ชื่อ สิริ ต่างอยู่ในเทวโลกชั้นจาตุมหาราชิกา ทั้งสองถือของหอมและดอกไม้จำนวนมาก พากันมายังท่าน้ำสระอโนดาต ด้วยตั้งใจว่าจะเล่นน้ำที่ท่าน้ำนี้ มีเรื่องที่น่าอัศจรรย์ คือ ท่าน้ำจะจัดไว้เป็นระเบียบเรียบร้อย จะไม่ปะปนกัน จะแยกกันว่า นี่ท่าสำหรับพระพุทธเจ้า สำหรับพระปัจเจกพุทธเจ้า สำหรับพระภิกษุ ท่าสำหรับดาบสทั้งหลาย หรือสำหรับเทพบุตรชั้นต่างๆ เป็นต้น สำหรับเทพธิดาก็จะเป็นอีกที่หนึ่ง ไม่ปะปนกัน นี่เป็นเรื่องที่แปลกอย่างหนึ่ง

วันนั้นมีเรื่องบังเอิญเกิดขึ้น เมื่อเทพธิดาทั้งสองมาถึงท่าน้ำในเวลาเดียวกัน ต่างฝ่ายต่างอยากจะอาบน้ำก่อน ทั้งสองตกลงกันไม่ได้ เทพธิดาชื่อกาลกรรณี เป็นฝ่ายกล่าวก่อนว่า “ฉันเป็นผู้เที่ยวตรวจดูและรักษาโลก สมควรจะอาบก่อน”

ฝ่ายนางสิริเทพธิดาชี้แจงว่า “ฉันเป็นผู้ที่ปฏิบัติชอบ ควรจะได้อาบน้ำก่อน” เมื่อตกลงกันไม่ได้ จึงพากันไปหาท้าวมหาราชทั้งสี่ ขอให้พระองค์เป็นผู้ตัดสิน

ท้าวมหาราชทั้งสี่เกรงว่า การตัดสินให้ผู้ใดผู้หนึ่งได้อาบน้ำก่อน จะทำให้อีกฝ่ายไม่พอใจ จึงพากันไปหาท้าวสักกะ ท้าวสักกะก็ตัดสินไม่ได้ จึงออกกุศโลบายว่า “ในเมืองพาราณสี มีเศรษฐีท่านหนึ่ง เป็นคนดี ในบ้านของเขาปูอาสนะและที่นอนอันสะอาดไว้ ถ้าหากใครสามารถนั่งหรือนอนบนที่ที่เศรษฐีจัดไว้ก่อน ผู้นั้นสมควรได้อาบน้ำก่อน”

นางกาลกรรณีเทพธิดารีบประดับประดาด้วยเครื่องประดับสีเขียว ลงจากเทวโลกมาปรากฏกายอยู่ในที่ไม่ไกลจากท่านเศรษฐี บริวารของเศรษฐีถามว่า “ท่านเป็นใครกัน”

นางเทพธิดาตอบว่า “ดิฉันเป็นธิดาของท้าววิรูปักษ์มหาราช เป็นผู้ที่ใครๆ ต้องเกรงขาม นามว่า กาลกรรณี ท่านเป็นผู้ที่ฉันขอโอกาสแล้ว ขอจงให้ที่พักแก่ดิฉันด้วยเถิด”

เศรษฐีต้องการทดสอบนางจึงถามว่า “ตัวท่านนั้น ชอบผู้ชายที่มีความประพฤติเช่นไร”

ธรรมดาเทพธิดาจะไม่พูดโกหก นางจึงตอบว่า “ดิฉันชอบชายที่ดุดัน โหดเหี้ยม โอ้อวด มีจิตริษยา ชายใดได้ทรัพย์มาแล้วนำมาปรนเปรอให้หมดไป ผู้นั้นจะเป็นที่รักของดิฉัน”

ท่านเศรษฐีฟังดังนั้น รีบบอกว่า “นางกาลกรรณีเอ๋ย ความประพฤติของท่าน หาเป็นที่รักของเราไม่ ขอท่านจงไปอยู่ที่อื่นเถิด”

หลังจากที่นางกาลกรรณีจากไป นางสิริเทพธิดาได้มาปรากฏกาย ด้วยความที่นางเป็นผู้มีศีล และประพฤติธรรม ราศีแห่งความดีนั้นได้เอิบอาบไปทั่วร่างของนาง เมื่อท่านเศรษฐีเห็นเช่นนั้น เกิดความรักใคร่เสมือนได้พบธิดาของตน จึงถามความในใจว่า “เจ้าชอบผู้ชายประเภทไหน”

เทพธิดาตอบตามความเป็นจริงว่า “ชายใดที่ไม่โกรธ มีกัลยาณธรรม มีการเสียสละ และรักษาศีล เป็นคนซื่อตรง แม้จะเป็นใหญ่ก็อ่อนน้อมถ่อมตน ดิฉันชอบใจชายที่มีความประพฤติเช่นนั้น”

ท่านเศรษฐีได้ฟังดังนั้น รู้สึกชื่นชม จึงกล่าวว่า “เตียงและที่นั่งที่เราเตรียมไว้นี้ เหมาะสมกับผู้ที่มีจิตใจ และความประพฤติที่สะอาดด้วยความดีเช่นนี้แหละ ขอเชิญท่านนั่งลงเถิด”

นางอยู่ในที่นั้นแล้ว ครั้นรุ่งเช้านางได้ออกไปอาบน้ำที่ สระอโนดาตก่อน นางสิริเทพธิดาได้ชื่อว่า เป็นผู้สะอาดทั้งกายและใจ เพราะเป็นผู้ประพฤติธรรม ทำให้เตียงที่เทพธิดานั้นนอน ได้ชื่อว่า สิริสยนะ คือ เป็นเตียงที่เป็นสิริมงคล เพราะนางสิริเทพธิดาเป็นผู้มีศีลมีธรรมอันงามมานอนก่อนผู้อื่น สิริเทพธิดาในคราวนั้น คือ พระนางอุบลวรรณาเถรี ผู้เป็นพระอรหันต์เถรีรูปหนึ่งนั่นเอง

จากเรื่องนี้ จะเห็นได้ว่า ความสะอาดที่แท้จริง ทำให้มนุษย์และเทวดาทั้งหลายยอมรับ และยกย่องสรรเสริญ อีกทั้งเป็นต้นแบบให้กับนักสร้างบารมีรุ่นแล้วรุ่นเล่า ความสะอาดนั้นต้องเป็นความสะอาดด้วยความดีงาม มีศีล มีธรรม เพราะคุณธรรมนี้จะชำระจิตใจให้ใสสะอาดบริสุทธิ์เพิ่มขึ้นทุกๆ วัน เมื่อเต็มเปี่ยมบริบูรณ์แล้ว ย่อมส่งผลให้เข้าถึงความบริสุทธิ์ที่แท้จริง คือ พระนิพพาน ดังนั้น หมั่นชำระตนเองให้สะอาดบริสุทธิ์ด้วยความดีกันทุกๆ วัน

พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)

อรรถกถา สิริกาฬกัณณิชาดก
ว่าด้วย สิริกับกาฬกรรณี

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภอนาถปิณฑิกเศรษฐี จึงตรัสเรื่องนี้ มีคำเริ่มต้นว่า กา นุ กาเลน วณฺเณน ดังนี้
ความย่อว่า ท่านอนาถปิณฑิกเศรษฐีนั้น จำเดิมแต่เวลาได้ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผลแล้ว รักษาศีล ๕ ไม่มีขาด ทั้งภรรยา ทั้งบุตรธิดา ทั้งทาส ทั้งกรรมกรผู้ทำงานรับจ้างของท่านก็พากันรักษาศีลเหมือนกันหมดทุกคน.
อยู่มาวันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายตั้งเป็นเรื่องขึ้นในธรรมสภาว่า ดูก่อนท่านผู้มีอายุ อนาถปิณฑิกเศรษฐีทั้งตนเองก็สะอาด ทั้งบริวารก็สะอาดประพฤติธรรมอยู่.
พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เธอทั้งหลายนั่งสนทนากันด้วย เรื่องอะไรหนอ? เมื่อภิกษุกราบทูลว่า ด้วยเรื่องชื่อนี้ พระเจ้าข้า จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ไม่ใช่เพียงเดี๋ยวนี้เท่านั้น แม้ในกาลก่อน โบราณกบัณฑิตทั้งหลายก็ได้เป็นผู้สะอาดเอง ทั้งเป็นผู้มีบริวารสะอาดด้วย ดังนี้แล้ว
ภิกษุเหล่านั้นพากันทูลขอ จึงทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธกดังต่อไปนี้:-
ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในนคร พาราณสี พระโพธิสัตว์เป็นเศรษฐี ได้ถวายทาน รักษาศีล รักษาอุโบสถ ฝ่ายภริยาของท่านก็รักษาศีล ๕ ถึงบุตรและธิดา แม้ทาสกรรมกรและชายชาติทั้งหลาย ก็พากันรักษา.
ท่านจึงปรากฏว่าเป็นเศรษฐีผู้มีบริวารสะอาดทีเดียว.
อยู่มาวันหนึ่ง ท่านคิดว่า ถ้าหากใครเป็นผู้มีบริวารสะอาดเป็นปกติจักมาหาไซร้ เราไม่ควรให้แท่นสำหรับนั่งหรือที่นอนสำหรับนอนของเราแก่เขา เราควรให้ที่นั่งที่นอนที่ไม่เปรอะเปื้อนที่ยังไม่ได้ใช้แก่เขา. เมื่อเป็นเช่นนั้น ท่านจึงให้เขาปูที่นั่งและที่นอนที่ยังไม่ได้ใช้ไว้ข้างหนึ่ง ในที่สำหรับเฝ้าปรนนิบัติตน.
สมัยนั้น ธิดา ๒ ตนเหล่านี้คือ ธิดาของท้าววิรูปักข์มหาราช ชื่อกาลกรรณี ๑ ธิดาของท้าวธตรฐมหาราช ชื่อสิริ ๑ ในเทวโลกชั้นจาตุมมหาราชิกา ถือของหอมและดอกไม้จำนวนมาก พากันมายังท่าน้ำสระอโนดาดด้วยหมายใจว่า พวกเราจักเล่นน้ำในสระอโนดาด.
ก็ในสระอโนดาดนั้น มีท่าน้ำหลายท่าด้วยกัน ในจำนวนท่าน้ำเหล่านั้น ที่ท่าสำหรับพระพุทธเจ้าทั้งหลาย พระพุทธเจ้าเท่านั้นทรงสรงสนาน ที่ท่าสำหรับปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย ก็เฉพาะปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายทรงสรงสนาน ที่ท่าสำหรับภิกษุทั้งหลาย ก็เฉพาะภิกษุทั้งหลายพากันสรงน้ำ ที่ท่าสำหรับดาบสทั้งหลาย ก็เฉพาะดาบสทั้งหลายอาบกัน ที่ท่าสำหรับเทพบุตรทั้งหลายในสวรรค์ ๖ ชั้น มีชั้นจาตุมมหาราชิกาเป็นต้น เทพบุตรทั้งหลายเท่านั้นสรงสนานกัน ที่ท่าสำหรับเทพธิดาทั้งหลาย ก็เฉพาะเทพธิดาทั้งหลายสรงสนานกัน.
ในจำนวนเทพธิดาเหล่านั้น เทพธิดาทั้ง ๒ ตนนี้ทะเลาะกันด้วยต้องการท่าน้ำว่า ฉันจักอาบก่อน ฉันก่อนดังนี้. กาลกรรณีเทพธิดาพูดว่า ฉันรักษาโลก เที่ยวตรวจดูโลก เพราะฉะนั้น ฉันควรจะได้อาบก่อน. ฝ่ายสิริเทพธิดาพูดว่า ฉันดำรงอยู่ในข้อปฏิบัติชอบ ที่จะอำนวยอิสริยยศแก่มหาราช เพราะฉะนั้น ฉันควรจะได้อาบก่อน.
พวกเขาเข้าใจว่า ท้าวมหาราชทั้ง ๔ จักรู้ว่า ในจำนวนเราทั้ง ๒ นี้ใครสมควรจะอาบน้ำก่อนหรือไม่สมควร. จึงพากันไปยังสำนักของท้าวมหาราชเหล่านั้น แล้วทูลถามว่า บรรดาหม่อมฉันทั้ง ๒ ใครสมควรจะอาบน้ำในสระอโนดาดก่อนกัน.
ท้าวธตรัฐและท้าววิรูปักข์บอกว่า พวกเราไม่อาจจะวินิจฉัยได้ จึงได้ยกให้เป็นภาระของท้าววิรุฬหก และท้าวเวสสุวรรณ. ท่านทั้ง ๒ นั้นบอกว่า ถึงพวกเราก็ไม่อาจวินิจฉัยได้ จักส่งไปแทบบาทมูลของท้าวสักกะ แล้วได้ส่งเธอทั้ง ๒ ไปยังสำนักของท้าวสักกะ. ท้าวสักกะทรงสดับคำของเธอทั้ง ๒ แล้ว ทรงดำริว่า เธอทั้ง ๒ นี้ก็เป็นธิดาของบริษัทของเราเหมือนกัน เราไม่อาจวินิจฉัยคดีนี้ได้.
ครั้งนั้น ท้าวสักกะได้ตรัสว่า ในนครพาราณสี มีเศรษฐีชื่อว่า สุจิปริวาระ ในบ้านของเขาปูอาสนะที่ไม่เปรอะเปื้อนและที่นอนที่ไม่เปรอะเปื้อนไว้. เทพธิดาตนใดได้นั่งหรือได้นอนบนที่นั่งที่นอนนั้น เทพธิดาตนนั้นควรได้อาบน้ำก่อน
กาลกรรณีเทพธิดาได้สดับเทวโองการแล้ว ในขณะนั้นนั่นเอง ได้นุ่งห่มผ้าสีเขียว ลูบไล้เครื่องลูบไล้สีเขียว ประดับเครื่องประดับแก้วมณีสีเขียวลงจากเทวโลก เหมือนหินยนต์ ได้เปล่งรัศมีลอยอยู่บนอากาศในที่ไม่ไกลที่นอน ใกล้ประตูเป็นที่เฝ้าปรนนิบัติแห่งปราสาทของท่านเศรษฐี ในระหว่างมัชฌิมยามนั่นเอง.
เศรษฐีแลดูได้เห็นนาง พร้อมกับการเห็นนั่นเอง นางไม่ได้เป็นที่รัก ไม่ได้เป็นที่พอใจของเศรษฐีนั้นเลย. ท่านเมื่อจะเจรจากับนาง จึงได้กล่าวคาถาที่ ๑ ว่า:-

ใครมีผิวดำ และเขาก็ไม่น่ารักและไม่น่าทัศนา เราจะรู้จักเจ้าได้อย่างไร? ว่าเจ้าเป็นใคร? เป็นธิดาของใคร?

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กาเลน ได้แก่ สีเขียว.
บทว่า วณฺเณน ความว่า ด้วยสีของร่างกายและสีของผ้าและอาภรณ์.
ด้วยบทว่า น จาสิ ปิยทสฺสนา พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายท่องเที่ยวไปโดยทาส และเทพธิดาตนนี้ไม่มีมารยาทคืออาจาระ เป็นผู้ทุศีล เพราะฉะนั้น เธอจึงไม่เป็นที่รักของท่านเศรษฐี พร้อมกับด้วยการเห็นนั่นเอง.
ด้วยเหตุนั้นนั่นแหละ ท่านจึงกล่าวว่า เธอเป็นใคร?
อีกอย่างหนึ่ง ศัพท์ว่า กา จ ตฺวํ ได้แก่เจ้าเป็นใครล่ะ? นี้นั่นแหละเป็นปาฐะบาลีเดิม.

กาลกรรณีเทพธิดาได้ยินคำนั้นแล้ว จึงกล่าวคาถาที่ ๒ ว่า:-
ดิฉันเป็นธิดาของท้าววิรูปักษ์มหาราช เป็นผู้โหดเหี้ยม ดิฉันคือนางกาลีผู้ไร้ปัญญา เทพทั้งหลายรู้จักดิฉันว่าชื่อกาลกรรณี ท่านเป็นผู้ที่ดิฉันขอโอกาสแล้ว ขอจงให้ดิฉันขอพักอยู่ในสำนักของท่าน.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า จณฺฑิยา คือ มักโกรธ. อธิบายว่า คนทั้งหลายตั้งชื่อดิฉันว่าจัณฑี เพราะเป็นคนมักโกรธ.
บทว่า อลกฺขิกา ได้แก่ ผู้ไม่มีปัญญา.
บทว่า มํ วิทู ความว่า เทพทั้งหลายในเทวโลกชั้นจาตุมมหาราชิกา รู้จักดิฉันด้วยประการอย่างนี้.
บทว่า วเสมุ ความว่า วันนี้ดิฉันขออยู่ในสำนักของท่านคืนหนึ่ง ขอท่านจงให้โอกาสแก่ดิฉันในการนั่งและนอนบนที่ที่ไม่เปรอะเปื้อนแห่งหนึ่งเถิด ดังนี้.

พระโพธิสัตว์ ครั้นได้ยินคำนั้นแล้ว จึงกล่าวคาถาที่ ๓ ว่า :-
เจ้าปลงใจในชายผู้มีปกติอย่างไร มีความประพฤติเสมออย่างไร? ดูก่อนแม่กาลี เจ้าถูกฉันถามแล้ว จงบอกฉัน. พวกฉันจะพึงรู้จักเจ้าได้อย่างไร?

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นิวิสเส ความว่า ตั้งลง คือประดิษฐานอยู่ในใจของเจ้า.

ลำดับนั้น นางเมื่อจะกล่าวถึงคุณของตน จึงกล่าวคาถาที่ ๔ ว่า :-
ชายใดลบหลู่คุณท่าน ตีตนเสมอ แข่งดี ริษยาเขา ตระหนี่และโอ้อวด ชายใดได้ทรัพย์มาแล้วย่อมพินาศไป ชายนั้นเป็นที่รักใคร่ของดิฉัน.

คาถานั้นมีเนื้อความว่า
ชายใดไม่รู้จักคุณที่ผู้อื่นทำแล้วแก่ตน เป็นผู้ลบหลู่คุณท่าน เมื่อเขากล่าวถึงเหตุอะไรๆ ของตน ก็ยึดถือเป็นคู่แข่งว่า ฉันไม่รู้จักสิ่งนั้นหรือ? เห็นอะไรที่คนเหล่าอื่นทำแล้ว ก็ทำเหตุให้เหนือขึ้นไปกว่า ด้วยอำนาจแห่งการแข่งดี เมื่อคนอื่นได้ลาภก็ไม่ยินดีด้วย ปรารถนาว่า คนอื่นอย่ามีความเป็นใหญ่กว่าเรา ขอความเป็นใหญ่จงเป็นของเราคนเดียว หวงแหนสมบัติของตนไม่ให้แก่ผู้อื่น แม้หยดน้ำมันด้วยปลายหญ้า เป็นผู้ประกอบด้วยลักษณะของฝ่ายคนเกเร ไม่ให้สิ่งของๆ ตนแก่ผู้อื่น กินของๆ คนอื่นอย่างเดียวด้วยอุบายวิธีนั้นๆ.
ทรัพย์หรือข้าวเปลือกที่ชายใดได้มาแล้ว ย่อมพินาศไปไม่คงอยู่ คือชายใดเป็นนักเลงสุราบ้าง เป็นนักเลงการพนันบ้าง เป็นนักเลงหญิงบ้าง ยังทรัพย์ที่ได้มาแล้วให้พินาศไปถ่ายเดียว ชายคนนี้นั้นผู้ประกอบด้วยคุณสมบัติเหล่านี้ เป็นที่ใคร่ คือเป็นที่รักได้แก่เป็นที่ชอบใจของฉัน ฉันให้คนแบบนี้ให้ตั้งอยู่ในดวงใจของฉัน.

ลำดับนั้น นางจึงได้กล่าวคาถาที่ ๕ ที่ ๖ และที่ ๗ ด้วยตนนั่นแหละว่า:-

คนมักโกรธ มักผูกโกรธ พูดส่อเสียด ทำลายความสามัคคี มีวาจาเป็นเสี้ยนหนามหยาบคาย เขาเป็นที่รักใคร่ของดิฉันยิ่งกว่านั้นอีก.

ชายผู้ไม่เข้าใจประโยชน์ของตนว่า ทำวันนี้ พรุ่งนี้ ถูกตักเตือนอยู่ก็โกรธ ดูหมิ่นความดีของผู้อื่น.

ชายผู้ที่ถูกความคนองรบเร้าพรากจากมิตรทั้งหมด เป็นที่รักใคร่ของดิฉัน ดิฉันไม่มีความทุกข์ร้อนในเขา.

คาถาเหล่านั้นควรให้พิสดารโดยนัยนี้เถิด แต่ในที่นี้พึงทราบเนื้อความแต่โดยย่อ.
บทว่า โกธโน ได้แก่ เป็นผู้โกรธแม้ด้วยเหตุเพียงเล็กน้อย.
บทว่า อุปนาหี ได้แก่ เก็บความผิดของผู้อื่นไว้ในใจแล้ว ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์เกื้อกูล ไม่ให้มีประโยชน์แม้นานเท่านาน.
บทว่า ปิสุโณ ได้แก่ เป็นผู้มีวาจาส่อเสียด.
บทว่า วิเภทโก ได้แก่ เป็นผู้ทำลายมิตร แม้ด้วยเหตุเพียงเล็กน้อย.
บทว่า กณฺฐกวาโจ ได้แก่ เป็นผู้มีวาจาเป็นไปกับด้วยโทสะ.
บทว่า ผรุโส ได้แก่ เป็นผู้มีวาจาหยาบคาย.
บทว่า กนฺตตโร ความว่า ชายนั้นเป็นที่ใคร่คือเป็นที่รักของดิฉันมากกว่าชายแม้คนก่อน.
บทว่า อชฺช สุเว ความว่า ชายใดไม่เข้าใจคือไม่รู้จักประโยชน์ของตนคือกิจการของตนอย่างนี้ว่า กิจการนี้ควรทำในวันนี้ กิจการนี้ควรทำพรุ่งนี้ กิจการนี้ควรทำในวันที่ ๓ คือมะรืนเป็นต้น.
บทว่า โอวชฺชมาโน ได้แก่ ถูกกล่าวตักเตือนอยู่.
บทว่า เสยฺยโส อติมญฺญติ ความว่า ดูหมิ่นคนที่ยิ่งกว่า คือบุคคลที่สูงสุดโดยชาติ โคตร ตระกูล ถิ่นที่อยู่และคุณคือศีลและอาจาระว่า แกจะพอมือข้าหรือ?
บทว่า ทวปฺปลุทฺโธ ความว่า ถูกความคะนองไม่ขาดระยะในกามคุณทั้งหลาย มีรูปเป็นต้น เล้าโลมแล้ว คือครอบงำแล้ว ได้แก่ตกอยู่ในอำนาจกามคุณแล้ว.
บทว่า ธํสติ ความว่า เขากล่าวว่า แกจะทำอะไรฉันดังนี้เป็นต้น แล้วพลัดพราก คือเสื่อมจากมิตรทั้งหมดทีเดียว.
บทว่า อนามยา ความว่า ดิฉันคิดว่าบุคคลผู้ประกอบด้วยคุณธรรมเหล่านี้จะเป็นผู้ไม่มีทุกข์ไม่มีโศก ด้เขาแล้วจะหมดอาลัยในคนอื่นอยู่ดังนี้.

ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ เมื่อจะตำหนิเขาจึงได้กล่าวคาถาที่ ๘ ว่า :-
นางกาลีเอ๋ย เจ้าจงออกไปจากที่นี้ การทำความรักของเจ้านี้ หามีในเราไม่ เจ้าจงไปชนบทอื่น นิคม และราชธานีอื่นเถิด.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อเปหิ ความว่า จงหลีกไป.
บทว่า เนตํ อมฺเหสุ ความว่า การทำความรักของเจ้ามีการลบหลู่คุณท่านเป็นต้น นี้หามีในพวกเราไม่ คือไม่มี.
ด้วยบทว่า นิคเม ราชธานิโย พระมหาสัตว์แสดงว่า เจ้าจงไปนิคมอื่นบ้าง ราชธานีอื่นบ้าง ในที่อื่น คือจงไปในที่ที่ฉันจะไม่เห็นเจ้า.

นางกาลกรรณีได้ฟังดังนั้นแล้ว ผ่านคำนั้นไปได้ จึงกล่าวคาถาติดกันไปว่า:-
เรื่องนั้นฉันเองก็รู้ว่า เรื่องนั้นหามีในพวกท่านไม่ คนไม่มีบุญมีอยู่ในโลก เขารวบรวมทรัพย์ไว้มาก เราทั้ง ๒ คือทั้งฉันทั้งเทพผู้เป็นพี่ชายของฉัน พากันผลาญทรัพย์นั้น.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เนตํ ตุมฺเหสุ ความว่า ฉันเองก็รู้ข้อนี้ว่าการทำความรักอันใดของฉัน มีการลบหลู่คุณท่านเป็นต้น ฉันประกอบด้วยการทำความรักอันใดมีการลบหลู่คุณท่านเป็นต้น แม้ด้วยตนเอง การทำความรักเป็นต้นนั้น ไม่มีในท่านทั้งหลาย.
บทว่า สนฺติ โลเก อลกฺขิกา ความว่า แต่คนเหล่าอื่นที่เป็นคนโง่ เป็นผู้ไม่มีศีล ไม่มีปัญญายังมีอยู่ในโลก.
บทว่า สงฺฆรนฺติ ความว่า คนเหล่านั้นผู้ไม่มีศีล แม้ปัญญาก็ไม่มี รวบรวมทรัพย์ไว้มากมาย คือเก็บกำไว้เป็นกลุ่มก้อน ด้วยเหตุเหล่านี้มีการลบหลู่คุณท่านเป็นต้น.
บทว่า อุโภ นํ ความว่า แต่เราทั้ง ๒ คน คือทั้งตัวฉันและเทพบุตรชื่อว่า เทพผู้เป็นพี่ชายของฉันนั่นเอง รวมหัวกันผลาญทรัพย์นั้นที่คนเหล่านั้นรวบรวมเก็บไว้.

อนึ่ง เทพธิดานั้นกล่าวว่า ในเทวโลกพวกฉันก็มีเครื่องบริโภคที่เป็นทิพย์อยู่มาก ท่านจะให้ที่นอนทิพย์หรือไม่ให้ก็ตาม ท่านจะมีประโยชน์อะไรเล่าสำหรับฉัน ดังนี้แล้วหลีกไป.
ในเวลาที่กาลกรรณีเทพธิดานั้นหลีกไปแล้ว สิริเทพธิดามีของหอมและเครื่องประเทืองผิวสีเหมือนทองคำ มีเครื่องตกแต่งทองคำมาแล้วเปล่งรัศมีสีเหลืองที่ประตูซึ่งสถิตอยู่ใกล้ๆ มีความเคารพ ได้ยืนเอาเท้าที่เสมอกันวางบนพื้นดินที่เสมอกัน.
พระมหาสัตว์ครั้นเห็นนางแล้ว จึงได้กล่าวคาถาที่ ๑ ว่า :-

ใครหนอมีผิวพรรณเป็นทิพย์ ยืนเรียบร้อยอยู่ที่พื้นดิน เราจะรู้จักเจ้าได้อย่างไร? ว่าเจ้าเป็นใคร? เป็นธิดาของใคร?

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทิพฺเพน ความว่า ประเสริฐคือสูงสุด.

สิริเทพธิดาได้ฟังดังนั้นแล้ว จึงได้กล่าวคาถาที่ ๒ ว่า :-
ดิฉันเป็นธิดาของท้าวธตรฐมหาราชผู้มีสิริ ดิฉันชื่อสิริลักษมิ์ เทพทั้งหลายรู้จักดิฉันว่าเป็นผู้มีปัญญากว้างขวาง ท่านเป็นผู้ที่ดิฉันขอโอกาสแล้ว ขอจงให้ดิฉันขอพักอยู่ในสำนักของท่าน.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สิรี จ ลกฺขี จ ความว่า ดิฉันผู้มีนามอย่างนี้ว่า สิริลักษมิ์ไม่ใช่คนอื่น.

บทว่า ภูริปญฺญาติ มํ วิทู ความว่า เทพทั้งหลายรู้จักดิฉันในเทวโลกชั้นจาตุมมหาราชิกาว่า เป็นผู้ประกอบด้วยปัญญาไพบูลย์ เสมอด้วยแผ่นดิน.

บทว่า วเสมุ ตว สนฺติเก ความว่า ดิฉันขออาศัยคืนหนึ่งบนที่นั่งที่ไม่เปรอะเปื้อนและที่นอนที่ไม่เปรอะเปื้อน ขอท่านจงให้โอกาสแก่ดิฉัน.

ต่อจากนั้น พระโพธิสัตว์จึงกล่าวคาถาว่า:-

เจ้าปลงใจในชายที่มีศีลอย่างไร มีอาจาระอย่างไร? เจ้าเป็นผู้ที่เราถามแล้ว จงบอกเราโดยที่เราควรรู้จักเจ้า.

ชายใดครอบงำความหนาวหรือความร้อน ลม แดด เหลือบ และสัตว์เลื้อยคลาน ทั้งความหิวและความระหายได้ ชายใดประกอบการงานทุกอย่างเนืองๆ ตลอดทั้งวันทั้งคืน ไม่ยังประโยชน์ที่มาถึงตามกาลให้เสื่อมเสียไปด้วย ชายนั้นเป็นที่ชอบใจของดิฉัน และดิฉันก็ปลงใจเขาจริงๆ.

ชาย ใดไม่โกรธ มีมิตร มีการเสียสละ รักษาศีล ไม่โอ้อวด เป็นคนซื่อตรง เป็นผู้สงเคราะห์ผู้อื่น มีวาจาอ่อนหวาน มีคำพูดไพเราะ แม้จะเป็นใหญ่ ก็มีความประพฤติถ่อมตน. ดิฉันพอใจในบุรุษนั้นเป็นอย่างมาก ดุจคลื่นทะเลปรากฏแก่คนที่มองดูสีน้ำทะเลเหมือนมีมาก.

อีกอย่างหนึ่ง ผู้ใดให้สังคหธรรมให้เป็นไปอยู่ในบุคคลทั้งที่เป็นมิตร ทั้งที่เป็นศัตรู ทั้งที่ประเสริฐที่สุด ทั้งที่เสมอกัน ทั้งที่ต่ำทราม ประพฤติประโยชน์หรือสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ทั้งในที่ลับทั้งในที่แจ้ง ไม่กล่าวคำหยาบในกาลไหนๆ. ผู้นั้นตายแล้วและยังมีชีวิตอยู่ดิฉันก็คบ.

ผู้ใดได้อย่างใดอย่างหนึ่ง บรรดาคุณความดีเหล่านี้แล้ว เป็นผู้มีปัญญาน้อย มัวเมาสิริอันเป็นที่น่าใคร่ ดิฉันต้องเว้นผู้นั้นผู้มีรูปลักษณะร้อนรน ประพฤติไม่สม่ำเสมอ เหมือนคนเว้นคูถฉะนั้น

คนสร้างโชคด้วยตนเอง สร้างเคราะห์ด้วยตนเอง ผู้อื่นจะสร้างโชคหรือเคราะห์ให้ผู้อื่นไม่ได้เลย.

คำถามเป็นของเศรษฐี ส่วนคำตอบเป็นของสิริเทพธิดา.
บรรดาบทเหล่านั้นในบทว่า ฑํสสิรึสเป จ เหลือบเขาเรียกว่า ฑํสะ
อีกอย่างหนึ่ง กำเนิดแมลงวันทุกชนิด
เทพธิดาประสงค์เอาว่า ฑํสะ ในที่นี้.
กำเนิดสัตว์เลื้อยคลานเรียกว่า สิรึสปะ. ทั้งเหลือบทั้งสัตว์เลื้อยคลาน ชื่อว่า ฑํสสิรึสปะ
ในเหลือบและสัตว์เลื้อยคลานนั้น มีคำอธิบายไว้ว่า
ชายมหาเศรษฐีคนใด เมื่อมีความหนาว ความร้อน ลม แดด หรือเหลือบและสัตว์เลื้อยคลาน ถึงถูกอันตรายเหล่านี้มีความหนาวเป็นต้นเบียดเบียนอยู่ ก็ครอบงำคือย่ำยี อันตรายแม้ทั้งหมดนี้ คืออันตรายแม้เหล่านี้มีความหนาวเป็นต้น และความกระหายมากไว้ได้ ได้แก่ไม่คำนึงถึงอันตรายนี้ เหมือนหญ้าแล้วประกอบ คือประกอบตนเป็นไปในกรรมของตนเนืองๆ มีกสิกรรมและพาณิชยกรรมเป็นต้น และในทานและศีลเป็นต้นทั้งคืนทั้งวัน.
บทว่า กาลาคตญฺจ ความว่า ไม่ให้กิจทั้งหลายมีกสิกรรมเป็นต้นเสื่อมเสียไปในเวลาทำกสิกรรมเป็นต้น และไม่ให้เสื่อมเสียประโยชน์ที่จะนำความสุขมาให้ในปัจจุบันและภายภาคข้างหน้า แยกประเภทเป็นการบริจาคทรัพย์เป็นต้น ในกาลทั้งหลายมีการบริจาคทรัพย์ การรักษาศีลและการฟังธรรมเป็นต้น คือทำงานในเวลาที่ควรทำนั่นเอง.
ชายเศรษฐีคนนั้นเป็นที่พอใจของดิฉันและดิฉันจะอยู่ประจำกับชายคนนั้น.
บทว่า อกฺโกธโน ได้แก่ ผู้ประกอบด้วยอธิวาสนขันติ คือความอดทนที่ยับยั้งอารมณ์ไว้ได้.
บทว่า มิตฺตวา ได้แก่ ผู้ประกอบด้วยกัลยาณมิตร.
บทว่า จาควา ได้แก่ ผู้ประกอบด้วยการบริจาคทรัพย์.
บทว่า สงฺคาหโก ได้แก่ ผู้ทำการสงเคราะห์มิตร การสงเคราะห์ด้วยอามิสและการสงเคราะห์ด้วยธรรม.
บทว่า สขิโล ได้แก่ เป็นผู้มีวาจาอ่อนหวาน.
บทว่า สณฺหวาโจ ได้แก่ เป็นผู้มีถ้อยคำสละสลวย.
บทว่า มหตฺตปตฺโตปิ นิวาตวุตฺติ ความว่า ถึงแม้จะดำรงตำแหน่งใหญ่คืออิสริยยศที่กว้างขวาง แต่ก็ไม่ผยองด้วยยศ ถ่อมตนทำตามโอวาทของบัณฑิต.
บทว่า ตสฺสาห โปเส ความว่า ดิฉันเป็นคนกว้างขวางสำหรับชายคนนั้น.
บทว่า วิปุลา ภวามิ ความว่า เราไม่ใช่คนเล็ก ความจริงชายนั้นเป็นพื้นฐานของสิริอันยิ่งใหญ่.
บทว่า อุมฺมี สมุทฺทสฺส ยถาปิ วณฺณํ ส่องความว่า อุปมาเสมือนหนึ่งว่า ลูกคลื่นที่ทยอยกันมาจะปรากฏแก่คนที่มองดูสีของมหาสมุทร เหมือนกะใหญ่โตฉันใด ดิฉันก็ฉันนั้นเป็นเสมือนใหญ่โตในเพราะคนๆ นั้น.
บทว่า อาวี รโห ความว่า ทั้งต่อหน้าทั้งลับหลัง.
บทว่า สงฺคหเมว วตฺเต ความว่า เขาให้สังคหธรรมทั้ง ๔ อย่างนั่นแหละเป็นไป คือเป็นไปคือทั่วถึงในบุคคลนั้น แยกประเภทเป็นมิตรเป็นต้น.
บทว่า น วชฺชา ความว่า ผู้ใดครั้งไร คือในกาลไหนไม่พึงกล่าวคำหยาบ คือเป็นผู้มีถ้อยคำไพเราะเท่านั้น.
บทว่า มตสฺส ชีวสฺส ความว่า บุคคลนั้นตายแล้วก็ตามมีชีวิตอยู่ก็ตามดิฉันก็ภักดีต่อ.
สิริเทพธิดาแสดงว่า ดิฉันคบหาคนเช่นนั้นทั้งในโลกนี้ทั้งในโลกหน้า.
บทว่า เอเตส โย ความว่า บุคคลใดประมาท คือลืมคุณความดีแม้อย่างเดียว บรรดาคุณความดีเหล่านี้ คือคุณความดีที่ได้กล่าวไว้แล้วในหนหลัง มีการครอบงำความหนาวได้เป็นต้น. อธิบายว่า ไม่เพียรประกอบบ่อยๆ ซึ่งคุณนั้น.
บทว่า สิริ มีปาฐะถึง ๓ อย่าง คือ กนฺตา สิรี, กนฺตสิริ และ กนฺตํ สิรึ แปลว่าสิริที่น่าใคร่.
ด้วยอำนาจปาฐะทั้ง ๓ เหล่านั้น มีการประกอบเนื้อความดังต่อไปนี้
บุคคลใดได้สิริแล้วคิดว่า สิริของเราที่น่าใคร่ ดำรงอยู่แล้วตามฐานะ ย่อมประมาทคือลืมคุณความดีอย่างใดอย่างหนึ่ง บรรดาคุณความดีเหล่านี้.
อีกอย่างหนึ่ง บุคคลใดปรารถนาสิริเหมือนคนที่มีสิริที่น่าใคร่ ได้คุณความดีอย่างใดอย่างหนึ่ง บรรดาคุณความดีเหล่านี้แล้วจึงประมาท.
อีกอย่างหนึ่ง บุคคลใดได้สิริน่าใคร่ น่าชอบใจแล้วจึงประมาท คุณความดีอย่างใดอย่างหนึ่ง บรรดาคุณความดีเหล่านี้.
บทว่า อปฺปปญฺโญ ได้แก่ไม่มีปัญญา.
บทว่า ตํ ทิตฺตรูปํ วิสเม จรนฺตํ ความว่า ดิฉันเว้นคนที่มีสภาพร้อนรนประพฤติไม่สม่ำเสมอมีกายทุจริตเป็นต้น เป็นประเภทเหมือนมนุษย์หรือบุคคลผู้มีความสะอาดโดยกำเนิด เว้นหลุมคูถแต่ไกลฉะนั้น.
บทว่า อญฺโญ อญฺญสฺส การโก ความว่า เป็นเช่นนี้ ชายที่ชื่อว่าสร้างโชคสร้างเคราะห์ให้คนอื่นไม่มี ผู้ใดผู้หนึ่งก็สร้างโชคหรือเคราะห์ให้แก่ตนดังนี้.

พระมหาสัตว์ ครั้นกล่าวถามอย่างนี้ และได้ฟังคำตอบของสิริเทพธิดาแล้วชื่นชม จึงได้กล่าวว่า แท่นเตียงนอนนี้เหมาะสมสำหรับเธอและที่นั่งก็เหมาะสมสำหรับเธอทีเดียว เพราะฉะนั้น ขอเชิญนั่งบนที่นั่งและนอนบนแท่นเถิด.
นางอยู่ ณ ที่นั้นแล้วรุ่งเช้าก็ออกไปที่เทวโลกชั้นจาตุมมหาราชิกา ได้อาบน้ำที่สระอโนดาดก่อน. ที่นอนแม้แห่งนั้นจึงเกิดมีชื่อว่า สิริสยนะ เพราะว่านางสิริเทพธิดาใช้นอนก่อนคนอื่น.
นี้คือวงศ์ประวัติของสิริสยนะ คือที่นอนที่เป็นมิ่งขวัญ ด้วยเหตุนี้ เขาจึงเรียกกันว่าสิริสยนะ ที่นอนที่เป็นมิ่งขวัญมาจนตราบเท่าทุกวันนี้.

พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประมวลชาดกไว้ว่า
สิริเทพธิดาในครั้งนั้น ได้แก่ พระอุบลวรรณา ในบัดนี้
ส่วนสุจิปริวารเศรษฐีคือ เราตถาคต ฉะนี้แล.
จบ อรรถกถาสิริกาลกรรณิชาดกที่ ๗
-----------------------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น