(๑) ชาติปิ ทุกฺขา ความเกิด เป็นทุกข์
(๒) ชราปิ ทุกฺขา ความแก่ เป็นทุกข์
(๓) มรณมฺปิ ทุกฺขํ ความตาย เป็นทุกข์
(๔) โสโกปิ ทุกฺโข ความโศก เป็นทุกข์
(๕) ปริเทโวปิ ทุกฺโข ความคร่ำครวญ พิไรรำพันบ่นเพ้อ เป็นทุกข์
(๖) ทุกฺขํ ปิ ทุกฺขํ ความไม่สบายกาย เป็นทุกข์
(๗) โทมนสฺสมฺปิ ทุกฺขํ ความเสียใจ เป็นทุกข์
(๘) อุปายาสาปิ ทุกฺขา ความคับแค้นใจ เป็นทุกข์
(๙) อปฺปิเยหิ สมฺปโยโค ทุกฺโข การต้องประสบสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก เป็นทุกข์
(๑๐) ปิเยหิ วิปฺปโยโค ทุกฺโข การพลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รัก เป็นทุกข์
(๑๑) ยมฺปิจฺฉํ น ลภติ ตมฺปิ ทุกฺขํ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้น ก็เป็นทุกข์
(๑๒) สงฺขิตฺเตน ปญฺจปาทานกฺขนฺธา ทุกฺขา
ว่าโดยย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ (คือ กายกับใจ เป็นทุกข์)
ความทุกข์คืออะไร
ท่านว่า...
สรรพชีวิตที่เวียนว่ายตายเกิด ล้วนตกอยู่ภายใต้ความบีบคั้นทั้งปวง
ทั้งปวงเหล่านั้นเป็นทุกข์ทั้งสิ้น ไม่ได้เป็นสุขเลย
เพียงแต่เรามักไม่รู้ตัว ก็มองว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดาไป
ไม่ได้เห็นเป็นทุกข์อะไร เมื่อแก้ทุกข์ได้เป็นคราวๆ ไปก็สุข
เช่นเมื่อหิว แล้วได้อาหารเข้าไปก็เป็นสุข แต่แล้วมื้อหน้า
เดี๋ยวก็ทุกข์อีก เป็นอย่างนี้ร่ำไปไม่รู้จบ
.....
"เรามีทุกข์กายที่ต้องปฏิบัติให้หายทุกข์อยู่ทุกวัน"
เราต้องหายใจ ต้องพึ่งอากาศ ไม่มีอากาศหายใจก็อยู่ไม่ได้
ถ้าไม่มีอากาศหายใจ ถ้าไปอยู่ในที่อึดอัดอับทึบ เราก็จะทุกข์
อึดอัด หายใจไม่ออก เราไม่ได้เป็นนายของตัวเองเลย
จะเลือกว่าตอนนี้จะหายใจ ตอนนี้จะไม่หายใจ ก็ไม่ได้
เราก็ต้องดิ้นรน แสวงหาตรงที่มีอากาศให้หายใจโล่งๆ
เราต้องรับประทานอาหาร ไม่มีอาหาร เราก็อยู่ไม่ได้
ถ้าไม่มีอาหาร กายนี้ก็ยังจะหิววันละ ๓ ครั้ง เราจึงต้องแสวงหา
อาหาร ด้วยวิธีซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ จากมนุษย์ยุคหินเดินเข้าป่าไปหากิน
มาเป็นทำงาน หาเงิน มาซื้อหาอาหารใส่ท้อง ประทังความหิว
ที่หิวทุกวัน วันละสามครั้ง
เราไม่ได้เป็นเจ้านายตัวของเราเลย
เราสั่งไม่ได้ว่าวันนี้จะรับประทาน พรุ่งนี้งด
ร่างกายไม่ได้งดกับเราไปด้วยเลย
เราต้องดิ้นรนเสาะแสวงหาอาหารมาเอาใจกายนี้
อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน รับประทานไปอิ่มแล้ว ก็ยังต้อง
ดิ้นรนแสวงหาที่เพื่อจะขับถ่ายของเสียออกมา
(ขออภัยค่ะ คำไม่ค่อยสุภาพ) ล้วนแต่ไม่อยู่ในบังคับเราเลย
ดังนั้น ท่านจึงว่ากายเรานี้มีแต่ทุกข์ทั้งแท่ง
ทุกข์กาย เมื่อยตัวก็ต้องขยับ เปลี่ยนท่า
นั่งเมื่อยก็เอนนอน นอนเมื่อยก็ลุกเดิน เดินเมื่อยก็ลงนั่ง
เมื่อนั่งเมื่อยก็ต้องลุกเดินอีก วนเวียนอยู่อย่างนี้
ยังไม่นับทุกข์อื่นๆ อีกมากมาย เช่น ทุกขสัจจะ - เกิด แก่ เจ็บ ตาย
ก็เป็นทุกข์ และอีกสารพัดทุกข์
.....
"สุขอื่นใดเหนือความสงบ ... ไม่มี"
จริงแท้ที่สุด
...
"เห็นว่าเที่ยง" จริงๆ ด้วย เราเกิดมาพร้อมกับยึดว่านี่ใจเรา
นี่กายเรา หารู้ไม่ ถูกอวิชชาครอบไว้
ให้เข้าใจผิด ยึดตัวเราก่อนว่านี่ฉัน
นี่ใจฉัน แล้วก็ยึดสิ่งใกล้ตัว
ว่านี่แม่ฉัน พ่อฉัน แฟนฉัน ลูกฉัน เพื่อนฉัน
แล้วไปยึดวัตถุว่า นี่สมบัติของฉัน
ที่ดินของฉัน ไปยึดสรรพสัตว์ว่า
สุนัขของฉัน แมวของฉัน
ทุกอย่างเริ่มจากเพราะเข้าไปยึดว่า "ตัวฉัน ของๆ ฉัน" ทั้งสิ้น
แล้วก็เห็นว่าตัวฉันต้องไม่เปลี่ยนแปลง
ของๆ ฉันต้องอยู่กับฉันไปชั่วกัลปาวสาน
ยึดเอาไว้เช่นนั้น เมื่อตัวเราเปลี่ยนไปเช่นแก่ลง
ผิวหนังเหี่ยวย่น หรือเมื่อของๆ เราพังทลายไป
รถถูกชนยับเยิน ก็ทุกข์ รับไม่ได้ ทั้งที่สิ่งที่เกิด
คือความจริงแท้ที่ว่า สรรพสิ่งต้องเคลื่อนไป
เกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วต้องดับไป เป็นธรรมดา
ไม่มีอะไรอยู่กับที่ ทุกอย่างเคลื่อนไปสู่ความดับ
ตลอดเวลาอยู่แล้ว แม้บางอย่างจะเห็นได้ไม่ชัด
บางอย่างจะเห็นได้ชัด เช่น ชีวิตของยุงแค่สัปดาห์เดียว
ดอกไม้ไม่กี่วันก็เหี่ยวและโรยราไป
แต่โลกนี้ดูเหมือนยั่งยืนยาวนาน ที่แท้วันหนึ่งก็
จะต้องเสื่อมสลายแตกทำลายไป เป็นธรรมดา
"เห็นว่าเป็นสุข"
แล้วเราก็นึกว่าเราสุข
พอรับประทานอิ่มไปหนึ่งมื้อ ก็นึกว่าเป็นสุข
พอเมื่อยได้ขยับตัวเปลี่ยนท่า ก็รู้สึกสบาย
พอได้ของที่ชอบใจก็เป็นสุข
ได้ลิ้มรสอาหารที่ชอบก็เป็นสุข เป็นต้น
ที่แท้ พระพุทธองค์ทรงค้นพบว่า...
การเปลี่ยนอิริยาบท ได้ปิดและบัง "ทุกข์" เอาไว้
(เพื่อนๆ ลองดูนะคะ ลองเมื่อยแล้วไม่เปลี่ยนท่า
แม้แต่นอนก็เถอะ ลองนอนแล้วตั้งใจไม่เปลี่ยนท่า
แม้เมื่อยก็อย่าเปลี่ยน ดูสิจะทุกข์ไหม ลองดูความทุกข์นี้ว่า
จะเป็นอย่างไร การรู้จักทุกข์ในกายและใจเรานี้เอง
ที่จะนำไปสู่การเกิดปัญญาและได้พ้นจากทุกข์นี้ได้)
ความสืบทอดต่อเนื่องของกิริยาต่างๆ
ได้ปิดบัง "อนิจจัง" คือความไม่เที่ยงเอาไว้
ความเป็นกลุ่มเป็นก้อน (เช่นขันธ์ห้า) ที่มารวมเป็นตัวเรา
ได้ปิดบัง "อนัตตา" คือความไม่ใช่ตัวตน
ความไม่อยู่ในบังคับบัญชาของใครเลย
สั่งหรือบงการหรือกำหนดอะไรไม่ได้เลย ทั้งกายและใจ
"เห็นว่าเป็นของเรา"
แล้วเราก็ยึดไว้หมด เป็นของเราหมด ถ้าเราไม่ยึดเราจะไม่ทุกข์
หรือทุกข์น้อย ถ้าเราไปยึดเข้าเมื่อไหร่ ทุกข์เกิดทันที
เช่น ขนมของเพื่อนตกน้ำ เราก็รู้สึกเฉยๆ
แต่ถ้าขนมของเราตกน้ำบ้าง เราก็จะเสียดาย เสียใจ
ขนมที่ไม่ค่อยชอบก็ยังไม่ค่อยเท่าไหร่
แต่ถ้าเป็นขนมที่โปรดปรานเหลือเกิน หารับประทานได้ยาก
ก็จะยิ่งพลุ่นพล่านโกรธ ไม่พอใจ ไม่ทราบจะกี่เท่าตัว
ถ้าเราทำตกน้ำเอง เรายังไม่โกรธหรือเสียดายเท่าไหร่
แต่ถ้ามีใครมาทำให้ตกน้ำไป ก็จะโกรธหรือเสียดาย
เป็นเท่าหรือหลายเท่าตัว เพราะว่า "มาทำของๆ ฉัน"
...
มองเท่าไหร่
ก็ช่างเห็นเป็นแต่ทุกข์มีแต่ทุกข์เสียจริงๆ
สมดังที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้ว่า
ที่แท้ "ความสุข" นั้นหามีไม่ มีแต่ "ทุกข์น้อย" ละจะใช่
เสียมากกว่า
.....
จะออกจากทุกข์ทั้งปวงอย่างไร
พระพุทธองค์ทรงบำเพ็ญพระบารมีมานานแสนนาน
เพื่อค้นพบทางแห่งการออกไปจากทุกข์เหล่านี้
ซึ่งก็ทรงพบว่า จะออกจากทุกข์กายทุกข์ใจทั้งหมดนี้ได้
ก็ด้วยการกลับเข้ามาทำความรู้จักกับกายและใจนี้ให้ถ่องแท้
ด้วยการปฏิบัติสติปัฏฐานสี่และวิปัสสนากรรมฐาน
ฝึกสติให้รู้ตัวทั่วพร้อมในกายและใจของเรานี้เอง
ไม่ต้องออกไปหาวิธีอื่นที่ไหน ไม่ต้องออกไปนอก
กายนี้ใจนี้ ไม่ต้องใช้อุปกรณ์อย่างอื่นเลย
ภาคปฏิบัติ
มาสรุปเรื่อง "ทุกข์" กันหน่อยว่า ในเมื่อมีแต่ทุกข์ ในเมื่อกายนี้ใจนี้ มีแต่ทุกข์ "โลก" ก็เป็นทุกข์ ก็แล้วทำอย่างไรเล่าเราจึงจะออก จากทุกข์นี้ได้
คำตอบที่เรียบง่ายแต่ตรงประเด็นอีกคำตอบก็คือ เราก็ต้องเรียนรู้ทุกข์เหล่านี้ ศึกษาความทุกข์ รู้จักเค้าให้อย่างถ่องแท้ เห็นจริง อย่างเช่น เป็นเหตุผลว่าทำไมเวลาบำเพ็ญเพียร นั่งวิปัสสนาสมาธิ ครูบาอาจารย์ถึงได้บอกว่า "พยายามตั้งกายให้ตรง ดำรงสติให้มั่น"
"พยายามอย่าขยับกาย" "พยายามอย่าเปลี่ยนท่า"
ในชีวิตประจำวันก็เช่นกัน พอทุกข์เราก็ทำให้หายทุกข์ร่ำไป เลยไม่รู้จักเค้าเสียที อาทิ เมื่อยก็เปลี่ยนท่าพรวดพราด ง่วงก็ล้มตัวลงนอนทันที หิวก็รับประทานอย่างไม่ลืมหูลืมตา
สติปัฏฐานสี่ (สิ่งที่เป็นสาระ) พาให้รู้จักทุกข์เหล่านี้อย่างไร ก็โดยการที่เมื่อเมื่อย ก็ลองดู ลองทำความรู้จักกับความเมื่อย หรือความปวด หรือทุกขเวทนานั้นๆ ดูเค้าไปแบบคนดูละคร ไม่เอาตัวเข้าไปเกี่ยว ดูแบบศึกษาอยากรู้จักเค้า กำหนดสติ รู้ไปตามความเป็นจริง เช่น "ทุกข์หนอ" "ปวดหนอ" "เมื่อยหนอ" "ชาหนอ" เป็นต้น
เวลาง่วง ก็ค่อยๆ กำหนดสติดูความง่วงไป ว่าความง่วงเป็น อย่างไร แล้วถ้าอยากนอนก็กำหนดสติดูซิว่าอาการและ ขั้นตอนในการนอนของเราเป็นอย่างไรมีอะไรบ้าง
เวลาหิว ก็ลองพิจารณาดูความหิวก่อน แล้วค่อยๆ ตักอาหารอย่าง มีสติ เคี้ยวอย่างมีสติ และกลืนอย่างมีสติ เมื่ออิ่ม ก็ลองพิจารณา ความอิ่มว่าเป็นอย่างไร วิชาของพระพุทธองค์นี้สนุกมาก มีอะไรให้ค้นพบอีกมากมายในกายนี้ใจนี้ ได้พบแล้วก็จะทึ่งและซึ้งในความเป็นจริงของธรรมชาติ
เมื่อเกิดอารมณ์ใดๆ ก็ดูเค้าไป "โกรธ" ก็ดูอารมณ์โกรธ ดูไปด้วยสติ ดูแบบคนกำลังดูหนังดูละคร อย่าเอาตัวเข้าไป ยึดว่าเป็น "เรา" ที่โกรธ เป็นความโกรธของเรา
ง่วงก็ค่อยๆ สังเกตดูอาการง่วงว่าเป็นอย่างไร หิวมีลักษณะอย่างไร
หมั่นทำความรู้จักกับสาระนี้ คือ กายและใจนี้ หรือให้ละเอียด ก็คือ กาย เวทนา จิตและธรรมที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง นี้เอง
ก็จะค่อยๆ รู้จักธรรมทั้งปวงนี้ตามความเป็นจริงยิ่งๆ เห็นทุกข์ รู้จักทุกข์
ลด - ละ - เลิก กิเลสไปได้จริงๆ ในที่สุด
*****
ถ้าปฏิบัติได้ตามนี้ ทุกข์จะเบาบางลงไปเรื่อยๆ
ตามลำดับสติปัญญาที่เกิด
เป็นเพราะเรารู้จักเค้า รู้เท่าทันเค้าแล้ว เมื่อเห็นความจริง
เค้า (ความทุกข์) ก็ทำร้ายเราได้น้อยลงๆๆ เรื่อยๆ ค่ะ
ทั้งทุกข์กายและทุกข์ใจ ช่วยให้พ้นจากทุกข์หนักๆ ในชาตินี้ และจะทุกข์น้อยลงในทุกเรื่อง
และถ้าหากสามารถประหารกิเลสได้หมดทุกตัวก็แน่นอนว่า
หมดสิ้นภารกิจในการเวียนว่าย ไม่ต้องมาเกิด มาทุกข์ อีกต่อไปแล้วด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น