++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอาทิตย์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

กาชาดเผยไทยสูญเลือดไขมันสูงเดือนละ 4 แสน บ.แนะงดอาหารไขมันก่อนบริจาค 4 ชม.

สภากาชาดไทย ชวนบริจาคเลือดถวายเป็นพระราชกุศลแด่ในหลวง พร้อมเผยประเทศไทยสูญเลือดที่มีไขมันสูง รวมมูลค่าเดือนละ 4 แสนบาท เหตุไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ แนะผู้บริจาคงดอาหารไขมันสูง ก่อนบริจาคโลหิต 4 ชม.

น.ท.หญิง พญ.อุบลวัณณ์ จรูญเรืองฤทธิ์ รองผู้อำนวยการศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย กล่าวในการจัดอบรมผู้ประสานงานจัดหาผู้บริจาคโลหิต ประจำปี 2554 เรื่อง สุขภาพดี บริจาคโลหิตได้ “Give Blood ...it’s a healthy Sign” ว่า เนื่องจากในปี 2554 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะมีพระชนมายุครบ 84 พรรษา ดังนั้น สภากาชาดไทยจึงอยากเชิญชวนชาวไทยที่ต้องการบริจาคเลือดเพื่อถวายเป็นพระราช กุศล โดยในวันนี้ถือเป็นโอกาสดีที่ทางได้มาอบรมให้ความรู้ด้านข้อมูลที่ประชาชน ควรทราบก่อนบริจาคเลือดโดยคุณสมบัติพื้นฐานของผู้ที่สามารถบริจาคเลือดได้ คือ ต้องสุขภาพกายแข็งแรงสมบูรณ์ มีอายุตั้งแต่ 17-70 ปี ซึ่งกรณีอายุต่ำกว่า 18 ปีต้องมีใบยินยอมจากผู้ปกครอง และในอายุ 60 ปีขึ้นไป ต้องมีใบรับรองแพทย์ อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลที่ผ่านมาของผู้บริจาคอายุตั้งแต่ 17-24 ปี ยังบริจาคน้อยประมาณร้อยละ 40 ขณะที่ผู้บริจาคอายุ 50 ปีขึ้นไป พบสูงเกือบร้อยละ 60 ดังนั้น จำเป็นต้องรณรงค์ในกลุ่มอายุ 17-24 ปีอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ สำหรับเกณฑ์ข้อกำหนดการบริจาคโลหิต ยังต้องคำนึงถึงน้ำหนักตัวต้อง 45 กิโลกรัมขึ้นไป และต้องมีสุขภาพดี พักผ่อนเพียงพอ ไม่เจ็บป่วย หรือมีข้อห้ามบริจาคโลหิต ยกตัวอย่าง กรณีผู้บริจาคที่มีไขมันสูงต้องระวัง เนื่องจากเลือดดังกล่าวจะไม่สามารถใช้ได้ เพราะเมื่อนำไปสกัดแยกเป็นพลาสมากับเลือด ในส่วนของพลาสมาจะกลายเป็นสีน้ำนมเข้มและข้น แทนที่จะเป็นสีใสๆ ซึ่งไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้

น.ท.หญิง พญ.อุบลวัณณ์ กล่าวอีกว่า กรณีดังกล่าวแม้จะไม่อันตราย แต่จะไม่นำไปใช้เพื่อความปลอดภัยของผู้รับมากที่สุด ซึ่งในแต่ละเดือนสภากาชาดไทยต้องสูญเสียเลือดที่มีไขมันสูง คิดเป็นมูลค่าประมาณ 4 แสนบาทต่อเดือน ดังนั้น อยากขอความร่วมมือผู้มาบริจาคโลหิต ควรงดอาหารที่มีไขมันจัด เช่น ข้าวขาหมู พิซซ่า พวกของทอดที่ต้องใช้น้ำมันมาก ก่อนจะมาบริจาคเป็นเวลา 4 ชั่วโมง และในกรณีผู้ป่วยโรคไขมันสูง หากสามารถควบคุมไขมันได้แล้วก็สามารถเข้าบริจาคโลหิตได้

“นอกจากนี้ ผู้บริจาคจะต้องไม่ติดโรคติดเชื้อที่ถ่ายทอดทางกระแสโลหิต โดยเฉพาะโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ อย่าง ซิฟิลิส หรือ เอชไอวี รวมทั้งผู้ที่ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบบี โรคมาลาเรีย รวมทั้งโรคระบาดอย่างโรควัวบ้า หรือโรคจากไวรัสชนิดอื่นๆ จะไม่สามารถบริจาคโลหิตได้ อย่างไรก็ตาม ปัญหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ต้องระวังมากที่สุด โดยเฉพาะเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย เปลี่ยนคู่นอนบ่อยๆ พฤติกรรมเหล่านี้ต้องระวัง เพราะอาจเสี่ยงติดเชื้อเอชไอวีได้” น.ท.พญ.อุบลวัณณ์ กล่าว

รอง ผอ.ศูนย์บริการโลหิต กล่าวต่อว่า หากท่านมีคุณสมบัติไม่ตรง และมีพฤติกรรมเสี่ยงดังกล่าว ทางสภากาชาดไทยจะไม่อนุญาตให้บริจาคโลหิต เนื่องจากมีโอกาสที่เชื้อจะแพร่กระจายสูง เพราะไม่มีใครทราบว่าผู้บริจาคจะอยู่ในช่วงที่เรียกว่า วินโดวส์ พิหริด(Window period) หรือไม่ ซึ่งเป็นช่วงอันตรายของการเพาะเชื้อเอชไอวี เนื่องจากเชื้อเอชไอวีจะแสดงตัวชัดเจนในวันที่ 11 นับแต่วันรับเชื้อ แต่ในช่วง 10 วันแรกเชื้อยังน้อยจะไม่สามารถตรวจพบได้ในห้องปฏิบัติการ ตรงนี้อันตรายมาก ทางที่ดีที่สุดผู้มีพฤติกรรมเสี่ยงต้องทราบและมีจิตสำนึกคิดถึงผู้ป่วยที่ อาจได้รับเชื้อได้ โดยที่ทั้งผู้บริจาคและผู้รับไม่รู้ตัว

“ทั้งนี้ ตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก ปริมาณโลหิตที่เพียงพอสำหรับผู้ป่วย จำนวนโลหิตที่ได้รับจากการบริจาคควรจัดหาให้ได้ร้อยละ 3 ของประชากร สำหรับประเทศไทยปัจจุบันปริมาณโลหิตที่จัดหาได้ทั่วประเทศมีจำนวน 1.6 ล้านยูนิต ซึ่งตามมาตรฐานต้องจัดหาให้ได้ประมาณ 1.9 ล้านยูนิต สำหรับในกรุงเทพฯจัดหาโลหิตได้ปีละกว่า 5 แสนยูนิต หรือเดือนละประมาณ 40,000-45,000 ยูนิต ซึ่งขณะนี้ถือว่า ขาดแคลนโลหิตสำรองในบางครั้ง จึงจำเป็นต้องมีการรณรงค์จัดหาโลหิตด้วยการออกหน่วยรับบริจาคเคลื่อนที่ รวมทั้งการจัดกิจกรรมส่งเสริมการบริจาคโลหิตอย่างต่อเนื่อง” รอง ผอ.ศูนย์บริการโลหิต กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น