++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอาทิตย์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

จน เขลา และ คด สั้น

โดย ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน

การบริหารปกครองประเทศจะประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นผู้ใช้อำนาจรัฐได้แก่รัฐบาล รวมตลอดทั้งข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ที่เป็นผู้บริหารประจำ อีกส่วนหนึ่งเป็นส่วนของประชาชน ทั้งสองส่วนนี้เกิดขึ้นจากความเข้าใจที่ว่าฝ่ายที่เป็นผู้ใช้อำนาจรัฐนั้น ได้รับอาณัติจากประชาชนให้ทำหน้าที่แทนประชาชนในการออกกฎเกณฑ์ต่างๆ วางนโยบายใช้ทรัพยากร เพื่อแก้ปัญหาและเพื่อการพัฒนา อันจะเอื้ออำนวยประโยชน์ต่อประชาชนเจ้าของประเทศเป็นส่วนใหญ่
      
        ระบบการปกครองมีหลายระบบ แต่ในปัจจุบันระบบที่มีการใช้กันดาษดื่นมากที่สุดคือระบบการปกครองที่เรียก ว่าระบบประชาธิปไตย ภายใต้ระบบประชาธิปไตยจะมีรัฐบาลที่เรียกว่ารัฐบาลภายใต้ระบอบการปกครองแบบ ประชาธิปไตยซึ่งมาจากการเลือกตั้ง อันเป็นแหล่งของความชอบธรรมของการใช้อำนาจรัฐ ทั้งนี้เพราะเป็นการได้รับอาณัติจากประชาชน และเนื่องจากประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย เท่ากับประชาชนได้มอบหมายให้ผู้ใช้อำนาจรัฐนั้นทำหน้าที่แทนตน
      
        การเลือกตั้งจึงเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย แต่การเลือกตั้งนั้นต้องเป็นการเลือกตั้งที่แท้จริง ประชาชนมีข่าวสารข้อมูล ความรู้ เข้าใจสิทธิและหน้าที่ของตน ขณะเดียวกันก็ได้ตัดสินใจลงคะแนนเสียงโดยการตัดสินใจด้วยตนเอง ปลอดจากการรับอามิสสินจ้าง หรือถูกปลุกเร้า ชี้แนะชี้นำโดยบุคคลซึ่งเป็นผู้สมัครหรือหัวคะแนน ในส่วนนี้ประชาชนจึงมีความสำคัญเพราะเป็นผู้กำหนดชะตาชีวิตของตนเองและของ สังคม เป็นผู้ให้ความชอบธรรม มอบอาณัติให้กับผู้ชนะการเลือกตั้ง
      
        แต่ถ้าประชาชนส่วนใหญ่มีฐานะทางเศรษฐกิจไม่ดี หาเช้ากินค่ำชักหน้าไม่ถึงหลัง จนขาดความเชื่อมั่นและคอยรับส่วนที่จะได้รับประโยชน์ทางเศรษฐกิจด้วยการรับ อามิสสินจ้าง การขายสิทธิขายเสียงให้กับผู้ซื้อสิทธิซื้อเสียง การขาดข้อมูล ขาดความรู้ ก็จะนำไปสู่ความเขลาทำให้ถูกชักจูงโดยง่าย ความจนและความเขลา จึงเป็นความชั่วแฝดที่เป็นอุปสรรคอย่างยิ่งต่อการพัฒนาระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่ต่อเนื่องและยั่งยืน
      
        ในส่วนของผู้ใช้อำนาจรัฐนั้นคือผู้ที่ได้รับอาณัติจากประชาชนหลังชนะการ เลือกตั้ง มีอำนาจในการออกกฎเกณฑ์วางนโยบาย ที่สำคัญคือ การกำหนดทิศทางของการพัฒนา การแก้ปัญหา ผู้ใช้อำนาจรัฐจึงสามารถดำรงตนให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติ หรือสร้างความเสียหายให้เกิดขึ้นได้ จึงต้องมีกลไกในการควบคุมไม่ให้ผู้ใช้อำนาจรัฐลุแก่อำนาจ ละเมิดกฎหมายและหลักนิติธรรม ฉ้อราษฎร์บังหลวง ข่มเหงบีฑากรรมประชาราษฎร ผู้ใช้อำนาจที่พึงประสงค์ต้องมีจริยธรรม ยึดหลักธรรมาภิบาล ขณะเดียวกันผู้ใช้อำนาจรัฐต้องมีข่าวสารข้อมูล ความรู้ความสามารถ หรือมีที่ปรึกษาที่ดี ไม่จมปลักอยู่ในความคลั่งลัทธิอุดมการณ์ หรือหลักการที่ผิดๆ นโยบายที่ดันทุรัง
      
        กล่าวโดยง่ายๆ ผู้ใช้อำนาจรัฐหรือผู้นำทางการเมืองต้องเป็นคนดี มีความรู้ความเข้าใจปัญหาของบ้านเมือง มีความสามารถในการทำงานได้อย่างเต็มเปี่ยม สิ่งที่เป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อสังคมและประเทศชาติคือผู้นำทางการเมืองหรือ รัฐบาลที่คด (มีนิสัยคดโกง ทุจริต) และสั้น (คิดสั้น มุ่งผลประโยชน์เฉพาะหน้า) กล่าวคือ ไม่มีจริยธรรม มุ่งเน้นในการหาผลประโยชน์ส่วนตัวด้วยการฉ้อราษฎร์บังหลวง อุกอาจในการใช้อำนาจอย่างผิดๆ และมีเจตนาที่ไม่บริสุทธิ์ในการใช้ทรัพยากร ขาดความรู้ความเข้าใจปัญหาอย่างแท้จริง ดันทุรังนำนโยบายที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสังคมและประเทศชาติมาปฏิบัติ ผู้ใช้อำนาจรัฐเช่นนี้เป็นผู้ซึ่งอันตรายอย่างยิ่งต่อสังคมและประเทศชาติ
      
        อุปสรรคอันใหญ่หลวงต่อการพัฒนาระบบการปกครองแบบเปิด หรือระบบประชาธิปไตย ก็คือการที่ประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยนั้นมีฐานะยากจนและขาดข่าว สารข้อมูลและความรู้ ที่เรียกว่า จนและเขลา อันเป็นความชั่วแฝดของสังคม ในส่วนของผู้ใช้อำนาจรัฐหรือผู้ที่ทำหน้าที่รัฐบาล ถ้าประกอบด้วยบุคคลที่คดและคิดสั้นๆ ก็เท่ากับได้โจรที่ไม่มีศีลมีสัตย์ ขาดความรู้ ขึ้นครองแผ่นดิน สร้างความเสียหายและความเดือดร้อนเกิดขึ้นทั่วทุกหย่อมหญ้าได้
      
        สังคมทุกสังคมที่เกิดปัญหาความสับสนวุ่นวายก็เนื่องจากความไม่สมบูรณ์จาก ทั้งสองส่วนที่กล่าวมาแล้ว ในส่วนของประชาชนนั้นจะต้องแก้ปัญหาความเขลาด้วยการศึกษาและการปฏิรูป วัฒนธรรม ส่วนความยากจนนั้นก็ต้องแก้ไขด้วยการให้การศึกษาและโอกาสการว่าจ้างแรงงาน โดยการพัฒนาเศรษฐกิจ ในส่วนของผู้ใช้อำนาจรัฐ ระบบจะต้องสามารถกลั่นกรองไม่ให้คนคดและคิดสั้นๆ เฉพาะหน้าเข้า สู่ศูนย์อำนาจ และต้องมีกลไกในการควบคุมทั้งในตัวระบบเองและโดยประชาชนเจ้าของประเทศ เช่น กลุ่มผลักดันต่างๆ รวมทั้งสื่อมวลชน รวมตลอดทั้งกลไกในการทำหน้าที่ควบคุมการใช้อำนาจ เช่น องค์กรอิสระและรัฐสภา
      
        ปัญหาสังคมและการปกครองบริหารหนีไม่พ้นสองส่วนดังที่กล่าวมาแล้ว ซึ่งระดับการพัฒนาของแต่ละประเทศสามารถจะวิเคราะห์ได้จากทั้งสองส่วนและตัว แปรที่กล่าวมาเบื้องต้น
      
        ตัวอย่างของสังคมที่ประชาชนจนและเขลานั้นดูได้จากประเทศด้อยพัฒนาที่ในบาง ประเทศนั้นคนส่วนใหญ่ไม่รู้หนังสือ การดำรงชีวิตเต็มไปด้วยความยากลำบาก ตกอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลที่เป็นเผด็จการ ไม่เอาใจใส่ต่อความเป็นอยู่ของประชาชน จนต้องมีการอพยพหนีออกนอกประเทศกลายเป็นผู้ลี้ภัย หรือหลบหนีเข้าเมือง บุคคลเหล่านี้สุขภาพไม่ดีเนื่องจากขาดอาหาร ส่วนใหญ่ด้อยการศึกษา ขาดความเชื่อมั่นและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์
      
        ถ้ามีประชากรเช่นนี้เป็นจำนวนมาก การนำระบบการเมืองแบบประชาธิปไตยมาปฏิบัติย่อมสำเร็จได้ยาก ขณะเดียวกัน ผู้ใช้อำนาจรัฐของประเทศเหล่านี้ก็มุ่งเน้นแต่การรักษาอำนาจของตน ดำเนินนโยบายซึ่งมุ่งเน้นในการรักษาสภาพคงที่ไม่มีการเปิดระบบให้มีส่วนร่วม ทางการเมือง หรือไม่มีการให้น้ำหนักกับการสร้างคุณภาพประชากรด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจและการ ศึกษา บางครั้งก็มีการปิดประตูประเทศไม่คบหาชาติอื่นๆ เกาะกลุ่มยึดโยงอยู่กับอำนาจอย่างเหนียวแน่นด้วยการใช้อาวุธและกองกำลังจัด ตั้งเป็นหลัก การปิดกั้นตัวเองจากโลกภายนอกโดยไม่สนใจต่อความเห็นของชาวโลก
      
        ขณะ เดียวกันก็มีความเห็นแก่ตัวพอที่จะรักษาอำนาจไว้ในมือให้นานที่สุดเท่าที่จะ นานได้ เสวยสุขอยู่บนความทุกข์ของประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย จนบางครั้งเกิดการขาดแคลนอาหาร ประชาชนอดอยาก เด็กๆ ต้องเสียชีวิตด้วยโรคขาดอาหารเป็นจำนวนไม่น้อย ความคลั่งอุดมการณ์หรือการยึดอยู่กับอำนาจบ่งชี้ถึงความคิดแบบสั้นๆ ขาดวิสัยทัศน์ สะท้อนถึงนิสัยที่คดโกงของผู้นำที่เห็นแก่ตัวอย่างรุนแรง ประเทศที่กล่าวมานี้สามารถที่จะยกตัวอย่างมาให้เห็นได้หลายประเทศ

http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9520000034062

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น