++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

เปิดใจกระโปรงบาน-ขาสั้น ก่อนเข้าเรียนมหา'ลัยในฝัน

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์

ฤดูกาลแห่งการต้อนรับนิสิต นักศึกษารุ่นใหม่ เริ่มต้นขึ้นแล้ว!!!

แน่นอนว่า
ชีวิตของพวกเขาเหล่าเฟรชชี่จะไม่เหมือนเมื่อครั้งที่เป็นนักเรียนกระโปรง
บานขาสั้นอีกต่อไป เพราะในรั้วมหาวิทยาลัยนั้น
วิถีชีวิตของแต่ละคนจะเปลี่ยนแปลงไป
ทุกคนจะต้องมีความเป็นผู้ใหญ่มากขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง
โดยต้องมีความรับผิดชอบต่อทั้งการเรียนและการใช้ชีวิตของตนเอง
เริ่มต้นกันตั้งแต่เรื่องของการลงทะเบียน การเลือกวิชาเรียน
การทำความรู้จักกับวิชาที่ยากขึ้นและไม่เคยเรียน การเลือกชมรม
ตลอดจนการใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย
ที่จะมีกิจกรรมรับน้องคอยเป็นเครื่องมือนำทาง

ในช่วงก้าวผ่านนี้ Life On Campus
ขอพาไปเปิดหัวใจของบรรดาน้องใหม่กันดูว่า
แต่ละคนจะมีการเตรียมการย่างเข้าสู่การเป็นนิสิตนักศึกษากันอย่างไรบ้าง


เสียงบูมของรุ่นพี่ ทำเอาน้องใหม่ตื่นเต้นไม่หาย
" เฟิรส์ ศควรรษ ทรงลักษ์ " ลูกช้างกทม.ผลัดถิ่นสู่บ้านใหม่มช.

ต่างทิศต่างถิ่นมาศึกษาเล่าเรียน
แน่นอนว่าการเตรียมการของคนที่สอบติดมหาวิทยาลัยที่อยู่ไกลๆอย่างภาคเหนือ
ก็คงจะต้องเตรียมการ รวมถึงสัมภาระมามากพอควร แต่สำหรับเฟิรส์
เขาเพียงต้องอาศัยการปรับตัวสักนิดหน่อยเท่านั้นด้วย
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นมหาวิทยาลัยในฝันของเขาอยู่แล้ว

ที่สำคัญคือ เฟิร์สไม่ต้องกลัวเหงา
เพราะเหล่ารุ่นพี่ได้จัดการมารับน้องประเพณีกันถึงที่ สถานีรถไฟหัวลำโพง
แถมตลอดทางก็แนะนำที่อยู่ที่กินกันแบบไม่ให้เคว้ง
ส่วนน้องก็ทำหน้าที่ทำใจที่เตรียมใจที่ไกลบ้านอย่างเดียว

" การรับน้องรถไฟ
พี่ๆจะเหมาโบกี้ให้ทุกคนได้นั่งรถไฟไปมหาวิทยาลัยพร้อมๆกัน
แล้วทำกิจกรรมกันตั้งแต่ในรถไฟเลย ด้วยจุดประสงค์ที่เค้าอยากให้เรารู้จัก
รู้จักกันทั้งหมด ทำให้เรารู้สึกดีในวินาทีแรก
ซึ่งผมก็คิดว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการไปอยู่สถานที่ใหม่ๆที่จะมีมิตรภาพ
ดีๆเกิดขึ้น เพราะเราต้องพักอยู่หอ จากเดิมที่อยู่บ้าน
ซึ่งหลายคนอาจเตรียมเครื่องใช้ต่างๆมาเยอะแต่สำหรับผมไม่ได้เตรียมอะไรมาเลย
ตั้งใจมาหาซื้อเอาที่นี่หมดเพราะคิดว่าสะดวกมากกว่า "

" เพียงแค่ 2 วันตอนนี้ก็ลงตัวแล้ว
เหลือแค่การปรับตัวเข้ากับเพื่อนและรับคำแนะนำ อื่นๆอีก ซึ่งรวมทั้ง
ที่อยู่ที่กิน การปฏิบัติตนของนักศึกษาปีหนึ่ง เรื่องการแต่งกายด้วย
ศึกษาเรื่องเรียนด้วย ว่ามีเรียนวิชาอะไรบ้างควรจะเลือกเรียนช่วงไหน
ลงทะเบียนวิชาไหนก่อน
แนวการสอนของอาจารย์หลายๆท่านเป็นสิ่งที่ผมค่อนข้างจะเตรียมเป็นพิเศษรวมถึง
เตรียมสอบถามถึงกิจกรรมที่น่าสนใจเพราะเป็นคนชอบทำกิจกรรมอยู่ตลอด
โดยรุ่นพี่ก็จะแนะนำและบอกออกมาหมด
ทำให้เรารู้สึกว่าได้รับการดูแลที่ดีมากๆ
ไม่รู้สึกเหงาจะมีอย่างเดียวคือความเคยชินที่อยู่กับครอบครัวทุกวัน
แล้วต้องไกลบ้านเท่านั้น
คิดว่าคงใช้วิธีโทรศัพท์หาที่บ้านบ่อยๆก็น่าจะเป็นทางออกทีดี "
เฟิร์สบอกเล่าความรู้สึก

กิจกรรมรับน้อง ถือว่าเป็นประเพณีสำคัญในชีวิตเด็กมหา'ลัย

"เกรียว - กราว" สองแฝด ฟิตอ่านหนังสือ เตรียมเรียนคณะในฝัน

ตามสไตล์เด็กกิจกรรมก็จะเตรียมการว่าจะทำกิจกรรมในชมรมไหน
อยากจะทำอะไรให้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยมีสีสัน ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจ
เพราะสำหรับบางคนก็เลือกเตรียมการอ่านหนังสือตามความชอบและตั้งใจในสาขาที่
ตั้งใจสอบเข้ามา

"เกรียว" กันตพล เหลืองรัตน์ นิสิตใหม่คณะวิศวกรรมศาสตร์
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ "กราว" กลวัชร เหลืองรัตน์
นิสิตใหม่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
คือฝาแฝดที่เลือกแนวทางนั้น

" ตอนนี้เริ่มอ่านหนังสือ อย่างวิชาคณิต ฟิสิกส์
ซึ่งเป็นวิชาพื้นฐานที่จะต้องเรียนตอนปี 1
เพราะอย่างน้อยอาจจะช่วยให้บทเรียนง่ายขึ้น
ส่วนเรื่องชุดนิสิตหรือเอกสารสำหรับการรายงานตัวต้องดูให้ละเอียดอีกครั้ง
อีกทั้งยังต้องถ่ายรูปใหม่เก็บไว้เยอะ
เผื่อว่าจะต้องใช้เวลาสมัครหรือทำกิจกรรมอื่นๆ ด้วย "
นี้คือคำบอกเล่าของสองพี่สองฝาแฝด
นิสิตใหม่ถึงความเตรียมที่จะเข้าเรียนในคณะวิศวกรรมศาสตร์

เกรียวให้ความคิดเห็นส่วนตัวเพิ่มเติมว่า
การเรียนวิศวกรรมศาสตร์ต้องเป็นคนช่างสังเกต เก่งคำนวณ
และมีความรู้ด้านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์พอสมควร
จึงต้องหาความรู้ใส่ตัวไว้เรื่อยๆ
เพื่อเตรียมพร้อมที่จะเลือกเรียนสาขาวิชาในปีที่ 2 หากคะแนนน้อย
คงไม่ได้เรียนตามที่ตั้งใจ


เสื้อผ้านิสิต นักศึกษาใหม่ที่ถูกต้องและถูกระเบียบ
ส่วน กราว-น้องคนเล็ก บอกว่า ความตื่นเต้นคงไม่มีแล้ว
เพราะหลังจากที่คะแนนสอบออกมา
ก็ลุ้นแทบแย่ว่าจะได้เรียนคณะที่ตั้งใจไว้หรือไม่ แต่พอเทียบคะแนนแล้ว
ก็ดีใจ เพราะเราสามารถเข้าเรียนคณะวิศวฯ จุฬาได้
จากนั้นก็เริ่มอ่านหนังสือ เตรียมเอกสารไว้ลงทะเบียนนิสิตใหม่ทันที
พร้อมทั้งจดวันเวลาที่ต้องลงทะเบียนและรายงานตัว
ซึ่งโชคดีที่วันแรกพบของจุฬาฯ มีรุ่นพี่คณะ
แจกเอกสารรายละเอียดของคณะไว้ทั้งหมด

" ตอนนี้คงไม่ต้องเตรียมพร้อมอะไรมาก
เหลือเพียงรอเวลาเปิดเทอมเท่านั้น ส่วนเรื่องการเรียนคงไม่วิตกอะไรมาก
แค่เรารู้จักแบ่งเวลา รู้จักรับผิดชอบชีวิตให้มากขึ้น
เพราะชีวิตเด็กมหาวิทยาลัยก็ไม่เหมือนสมัยที่เรียนมัธยมปลาย
เวลาเรียนอาจจะไม่เป็นเวลา ทำให้เราต้องกระตื้อร้นอยู่ตลอด
ที่สำคัญคงต้องตั้งเวลาตื่นนอน และกะเวลาให้ทันชั่วโมงเรียนในเช้าวันแรก
"

สำหรับวันแรกพบของจุฬาฯ ที่ผ่านมา กราวบอกว่า ทำเอาตื่นเต้นไม่หาย
เพราะเป็นครั้งแรกที่ได้พบรุ่นพี่และเจอเพื่อนใหม่
อีกทั้งยังกิจกรรมใหม่ๆ ที่รุ่นพี่จัด
เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัย

สีสันการรับน้องของแต่ละมหา'ลัย

"กัส-เทิดเกียรติ บุญเที่ยง" ชีวิตนศ.ตาบอดลูกแม่โดม ต้องเตรียมเพื่อน

และในขณะที่หลายคนเตรียมพร้อมในเรื่องบทเรียน
ที่จะเกิดขึ้นในปีการศึกษาใหม่ รวมทั้งเตรียมศึกษาเส้นทาง
วางแผนการเดินทางไปเรียนตลอดจนเตรียมปรับตัวรับสิ่งแวดล้อมใหม่ในรั้ว
มหาวิทยาลัย ซึ่งก็ดูเหมือนจะครบถ้อยกระบวนความการตระเตรียมแล้ว

แต่สำหรับ "กัส" เทิดเกียรติ บุญเที่ยง นักศึกษาตาบอด
น้องใหม่คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ.
สิ่งแรกที่เจ้าตัวเลือกในรั้วใหม่แห่งการศึกษา คือ
การเตรียมตัวเป็นผู้ใหญ่ พร้อมทั้งสานสัมพันธ์ไมตรีกับเพื่อนใหม่

" รู้สึกกังวลอยู่เหมือนกัน
เพราะชีวิตในมหาวิทยาลัยคงไม่เหมือนกับสมัยเรียนมัธยมปลายที่มีอาจารย์คอย
ดูแล แต่สำหรับที่นี้ ผมคงต้องทำตัวให้เป็นผู้ใหญ่มากขึ้น
มีความรับผิดชอบ การบ้านจะเยอะ กิจกรรมก็จะมาก อาจจะต้องหาเพื่อนไว้เยอะ
เพราะบางเรื่องในรั้วมหาวิทยาลัยผมคงทำได้ไม่ดีเท่ากับคนอื่น
อย่างเวลาที่เรียนคงต้องขอยืมเลกเชอร์ของเพื่อนหรือไม่เวลาที่ต้องเข้าห้อง
ทดลองแล็บ จะต้องใช้สายตาในการมอง และแยกแยะสี
คงต้องอาศัยเพื่อนช่วยบอกสี และพยายามจดจำ "

" ผมไม่ได้หวังว่าจะเรียนให้เกรดสูงๆ ขอเพียงแค่เรียนจบ มีงานทำ
และเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับรุ่นน้องต่อไป เพราะการเรียนในมหาวิทยาลัย
ต้องช่วยตัวเอง ต้องทำอะไรด้วยตัวเอง
จะให้เพื่อนและอาจารย์มาดูแลตลอดคงไม่ได้ " กัสบอกเล่าความในใจทิ้งท้าย

....... ถึง ตรงนี้ คงต้องบอกว่า
แม้การสอบเข้ามหาวิทยาลัยจะเป็นเรื่องยากสำหรับใครหลายๆ คนแล้ว
แต่สิ่งที่ยากไปกว่านั้นก็คือ
การตักตวงหาความรู้และประสบการณ์ให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้
เพราะตลอดเส้นทางของชีวิตนิสิต นักศึกษานั้น
มีอุปสรรคและขวากหนามที่พร้อมจะทำให้แต่ละคนหลุดพ้นจากรั้วมหาวิทยาลัยไปได้
เสมอ

http://www.manager.co.th/Campus/ViewNews.aspx?NewsID=9520000058706

ฉันเยาว์ ฉันเขลา ฉันทึ่ง
ฉันจึง มาหา ความหมาย
ฉันหวัง เก็บอะไร ไปมากมาย
สุดท้าย ให้กระดาษ ฉันแผ่นเดียว
เพียงหวังจะเฟื่องฟุ้ง หรือจึงมุ่ง มาศึกษา
เพียงเพื่อปริญญา เอาตัวรอด เท่านั้นฤๅ
แท้ควรสหายคิด และตั้งจิต ร่วมยึดถือ
"รับใช้ประชาคือ ปลายทางเรา ที่เล่าเรียน"
Freddy ปีแก่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น