++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ข่าวสารล้น ความรู้ขาด

โดย ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน


"ข่าวสารล้น ความรู้ขาด"
แปลมาจากคำกล่าวของผู้สังเกตการณ์ชาวตะวันตกผู้หนึ่ง คือ over supply of
information, under supply of knowledge ซึ่งหมายความว่า
โลกในยุคโลกาภิวัตน์อันเป็นยุคของข่าวสารข้อมูล
มีการสื่อสารผ่านสื่อมวลชนต่างๆ ผู้รับสารหรือผู้เสพสื่อจะได้รับ
ข่าวสารเป็นจำนวนมาก ในชีวิตประจำวัน ทั้งในการทำงาน การศึกษา
ความบันเทิง และการดำรงชีวิตอย่างปกติ แต่เนื่องจากประชาชนจำนวนไม่น้อย
ขาดความรู้ ทำให้ไม่สามารถแยกแยะได้ว่าข้อมูลข่าวสารใดน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด

ข่าวสารคือชิ้นของข้อมูลที่ผู้เสพสื่อหรือผู้รับข่าวสารต้องสามารถย่อยข่าว
สารได้ ทำนองเดียวกับการรับประทานอาหารจะต้องสามารถเคี้ยวให้ละเอียด
เพื่อให้รู้ซึ้งถึงความเอร็ดอร่อยหรือไม่อร่อยของอาหาร
หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง
ต้องสามารถคิดวิเคราะห์ว่าข้อมูลดังกล่าวจริงเท็จอย่างไร
ความสามารถในการวิเคราะห์ข่าวสารนั้นจะเกิดไม่ได้ถ้าผู้รับข่าวสารหรือผู้
เสพสื่อ "ขาดความรู้" และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง "คิดไม่เป็น"

การคิดวิเคราะห์จะต้องมีวัฒนธรรมที่ชอบสงสัย ตั้งคำถาม หาคำตอบ
แยกแยะข้อมูลข่าวสารเพื่อหาความน่าเชื่อถือ ความสอดคล้องด้วยหลักตรรก
ความมีเหตุมีผล ความสามารถในการย่อยข่าวสารดังกล่าวนี้ต้องประกอบด้วยการมีจิตวิเคราะห์โดย
มีความรู้ ข้อมูล หรือทฤษฎี เป็นฐานสำหรับการวิเคราะห์
มิฉะนั้นผู้รับข่าวสารจำนวนมากจะเหมือนกับผู้ตักอาหารใส่ปากกลืนโดยไม่ได้
เคี้ยว และบางครั้งเหมือนรับประทานอาหารในที่มืดโดยไม่รู้เสียด้วยซ้ำว่ากลืนอะไรลง
ไป และนี่อาจเป็นที่มาของคำพูดที่ว่า "ข่าวสารล้น ความรู้ขาด"

หรืออีกนัยหนึ่ง
ความรู้ของคนที่อยู่ในสังคมที่มีความพลวัตในปัจจุบัน
ถ้าหากเป็นบุคคลซึ่งต้องวุ่นวายอยู่กับการทำมาหากินจนไม่มีเวลาที่จะศึกษา
หรือพินิจพิเคราะห์เกี่ยวกับข่าวสารที่โถมทะลวงเข้ามาจนรับไม่หวาดไหว
และเมื่อถึงเวลาที่ต้องตัดสินใจก็ไม่มีเวลาที่จะคิด
หรือแม้พยายามจะคิดเพื่อแยกแยะหาความจริง ที่สำคัญก็คือ ไม่มีข้อมูลอื่น
ความรู้ ทฤษฎี โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสามารถในการคิดวิเคราะห์เนื่องจากขาดจิตวิเคราะห์ทำ
ให้สำลักข่าวสารข้อมูล
และตัดสินใจเข้ากับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งโดยไม่ได้พินิจพิเคราะห์อย่างละเอียด
เพราะไม่สามารถจะกระทำได้

จากสภาวะดังกล่าวคือ "ข่าวสารล้น ความรู้ขาด"
ทำให้สามารถปลุกกระแสการเมืองได้ด้วยการปลุกเร้าทางการเมือง
ระดมหาพรรคพวกโดยการพูดจาปลุกเร้าอารมณ์ร่วม สร้างกระแสการเมืองขึ้นมา
ในขณะเดียวกันผู้ถูกปลุกเร้าก็จะรู้สึกว่าเป็นการง่ายและสะดวกกว่าในการ
ตัดสินใจเข้ากลุ่มโดยไม่ต้องคิดให้ลำบากใจ
เพราะคิดเท่าไหร่ก็ไม่สามารถจะตีข่าวสารให้แตกได้เนื่องจากขาดความรู้

ที่สำคัญสภาวะของข้อมูลหรือข่าวสารที่โถมเข้ามานั้นทำให้จัดการกับข้อมูล
ข่าวสารไม่ได้ จึงถูกจูงให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของความเชื่อทางกระบวนการทางการเมืองและสังคม
เช่น จูงใจให้เห็นด้วยกับการกระทำที่ผู้นำความคิดบอกว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้อง
ทั้งๆ ที่ตนเองก็ไม่มั่นใจว่าถูกต้องหรือไม่
เนื่องจากไม่สามารถจะพินิจพิเคราะห์ได้ถึงความถูกความผิดของปรากฏการณ์ที่
เกิดขึ้น คนจำนวนไม่น้อยจึงถูกจูงให้คล้อยตามเป็นกลุ่ม เป็นขบวน
ประหนึ่งฝูงแกะที่นำโดยผู้ต้อนแกะเพื่อไปสู่ทิศทางที่ผู้ต้อนแกะต้องการ

จากสภาพดังกล่าวเบื้องต้น
ในระบบที่สังคมเต็มไปด้วยการพัฒนาและพลวัต
ภายใต้ยุคโลกาภิวัตน์ซึ่งต้องอาศัยเสียงจากประชาชนเป็นการแสดงอำนาจอธิปไตย
และความชอบธรรมทางการเมือง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้ง
กระบวนการทางการเมืองจึงเต็มไปด้วยกลยุทธ์และกลวิธี
ทำการสำรวจความรู้สึกของประชาชน
ใช้กลไกในการหาเสียงเช่นเดียวกับการโฆษณาเสมือนหนึ่งการขายสินค้าในตลาด
พร้อมๆ กันนั้นก็อาศัยสื่อมวลชนในการป้อนข้อมูลทั้งๆ ที่ไม่เป็นความจริง
หรือเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นเพื่อให้ประชาชนคล้อยตาม
โดยจุดประสงค์หลักคือการได้อำนาจรัฐจากการหย่อนบัตรของประชาชน
ผสมผสานกับการใช้เงินซื้อเสียง
จนทำให้อำนาจรัฐที่ได้มารวมทั้งความชอบธรรมทางการเมืองนั้นถูกบิดเบือนจน
เสียรูป

และนี่คืออันตรายที่สำคัญที่สุดของการพัฒนาระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย
ซึ่งโดยทฤษฎีแล้วความสำเร็จของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยขึ้นอยู่กับหลาย
ตัวแปร ตัวแปรหนึ่งคือ การมีข่าวสารข้อมูลของประชาชนและบทบาทของสื่อมวลชน
แต่ในสภาวะที่ "ข่าวสารล้น ความรู้ขาด"
กระบวนการประชาธิปไตยกลายเป็นกระบวนการของความพยายามชนะการเลือกตั้งด้วยการ
ปลุกเร้ามวลชนจากการป้อนข่าวสารข้อมูล
กระหน่ำเสมือนหนึ่งการทิ้งระเบิดปูพรมจนประชาชนไม่มีพื้นที่หลบซ้อน
และนี่คือสภาวะที่เกิดขึ้นในหลายๆ
สังคมที่พยายามพัฒนาระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยในขณะนี้

คำถามคือ จะมีวิธีแก้ไขได้อย่างไร
ในเบื้องต้นจะต้องมีการปรับปรุงระบบการศึกษา
มุ่งเน้นในการหัดคิดวิเคราะห์แทนการท่องจำ
และเชื่อตามที่ตำราหรือครูผู้สอนเป็นผู้บอก
ความสามารถในการถกเถียงกับสิ่งที่ผู้อื่นพูดนั้นจะทำให้เกิดความกระจ่างและ
สามารถคิดเองเป็นได้ในระดับหนึ่ง ยิ่งถ้ามีการขวนขวายหาข้อมูลและความรู้
การถูกชักจูงให้เชื่อโดยข้อมูลที่ไม่เป็นความจริงก็จะยากขึ้น
การแก้ไขดังที่กล่าวมานี้ต้องมีการแก้ไขวัฒนธรรมทางการศึกษาที่สอนให้เชื่อ
โดยไม่ลืมหูลืมตา และนี่น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่สุด

การรับข้อมูลข่าวสารและการพยายามวิเคราะห์แยกแยะความน่าเชื่อถือของข่าวสาร
ข้อมูลนั้น นอกเหนือจากระบบการศึกษาแล้วยังขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมสังคม
รวมตลอดทั้งวัฒนธรรมการเมืองด้วย
มีตัวอย่างของสังคมหนึ่งคือสังคมอินเดียซึ่งอมาตยา เซน
ผู้ได้รับรางวัลโนเบลทางเศรษฐศาสตร์ ได้เขียนหนังสือเล่มหนึ่งชื่อว่า
Argumentative India มีการกล่าวถึงคนอินเดียว่าเป็นคนช่างสงสัย ช่างคิด
ช่างถาม ช่างเถียง ไม่ใช่เชื่อง่ายๆ ในสิ่งที่ผู้มีอาวุโส
ครูบาอาจารย์บอกให้เชื่อ

วัฒนธรรมดังกล่าวนี้ทำให้เกิดมีการหัดคิดวิเคราะห์
ถกเถียงที่มาที่ไป ด้วยเหตุด้วยผล
ถึงแม้คนอินเดียจำนวนไม่น้อยขาดการศึกษาในระดับสูง
แต่ด้วยวัฒนธรรมดังกล่าวก็จะมีความสงสัยและการตั้งคำถามอยู่ตลอด
มีคำถามที่สำคัญคือ "ใครเคยพบแขกโง่บ้างไหม?"
ไม่ว่าจะมีอาชีพส่งหนังสือพิมพ์ ขายโรตี ขายถั่ว แขกยาม ขายผ้า ฯลฯ
จะมีลักษณะเป็นคนเฉลียวฉลาดเป็นส่วนใหญ่

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า อินเดียยังมีการใช้เงินซื้อเสียง
แต่คนจำนวนไม่น้อยจะตั้งคำถามเมื่อถูกจ้างให้ลงคะแนนเสียงถึงผลดีผลเสีย
และเหตุผลที่จะต้องทำตามผู้ว่าจ้าง ดังนั้น
เมื่อมีการตั้งโจทย์ทางการเมืองโดยผู้ใช้อำนาจรัฐ
ให้มีการถกเถียงในประเด็นดังกล่าว
ก็จะขยายเป็นการอภิปรายถกเถียงกันโดยทั่วไป

วัฒนธรรมสังคมในส่วนนี้ส่งผลถึงวัฒนธรรมทางการเมือง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ความคิด
ความเป็นอิสระ และความเป็นตัวของตัวเอง
การถกเถียงหาเหตุและผลไม่ถูกจูงให้เชื่อโดยง่าย
จึงทำให้ประเทศอินเดียถึงแม้จะเป็นประเทศยากจนแต่ประสบความสำเร็จในการ
ปกครองแบบประชาธิปไตย
โดยเป็นประเทศที่มีการปกครองแบบประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลกด้วยประชากร
1,150 ล้านคน ผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง 700 ล้านคน

และเหตุผลสำคัญอีกเหตุผลหนึ่งคือ
ผู้นำประเทศอินเดียมีจิตวิญญาณของความเป็นประชาธิปไตย
ขณะเดียวกันประชาชนก็มีวัฒนธรรมดังกล่าวมาเบื้องต้น
และนี่คือตัวอย่างของข้อมูลข่าวสารซึ่งจะต้องย่อยด้วยความรู้และการคิด
วิเคราะห์ ในกรณีของอินเดียนั้นความรู้เรื่องการปกครองแบบประชาธิปไตยมาจากประเพณี
ปฏิบัติตั้งแต่การได้รับเอกราชจากอังกฤษ
รวมทั้งการบริหารงานอันเป็นมรดกตกทอดของรัฐบาลอังกฤษภายใต้ระบบ British
Raj อินเดียจึงเป็นตัวอย่างของการสามารถย่อยข้อมูลข่าวสารได้ในระดับที่ทำให้
ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาอังกฤษประสบความสำเร็จ

ในขณะเดียวกันระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยแบบประธานาธิบดีก็ประสบความ
สำเร็จในประเทศฟิลิปปินส์
ซึ่งได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมทางการเมืองจากสหรัฐอเมริกา

ใน ยุคข้อมูลข่าวสารที่มีลักษณะ over supply (อุปทานล้น)
แต่ระบบการศึกษา วัฒนธรรมแบบคิดวิเคราะห์ และความรู้ มีลักษณะ under
supply (อุปทานขาด)
ย่อมจะนำไปสู่การเสียดุลและความล้มเหลวของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยได้


http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9520000059366

ภาพทั่วๆ ไปของคนไทยนอกจากไม่ชอบการคิดวิเคราะห์แล้ว
ยังชอบใช้กำลังความรุนแรงในการแก้ปัญหาเมื่อมีความเห็นต่างกันด้วย
เวลาถกเถียงกันมากๆ คนไทยจะท้าตีท้าต่อยแทนที่จะใช้เหตุผลหรือปัญญา

ผมเคยไปอินเดียเห็นแขกทะเลาะกันขโมงโฉงเฉงอยู่ตั้งนาน
แต่ไม่ลงไม้ลงมือกัน ถ้าเป็นบ้านเรา ชกกันไปนานแล้ว

ที่ว่ามานี้ เราต้องลอกคราบวัฒนธรรมที่แย่ๆ ของคนไทย
ไม่งั้นสู้บ้านเมืองอื่นเขาไม่ได้
ทิวลิปดำ
++

ก็จริงอย่าว่าแหละ แต่ความรู้ไม่ใช่อยู่แต่ในชั้นเรียน
(ซึ่งเมืองไทยประสบความล้มเหลว)
รัฐน่าจะอัดความรู้ไปกับสื่อให้มาก
แต่จะทำได้เร๊อ แค่ช่องหอยอย่างเดียวก็คุมมันไม่ได้แล้ว
เอวัง
++
เห็นด้วยอย่างยิ่ง ความรู้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้
ความรู้คู่คุณธรรม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น