++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอาทิตย์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ท่องเที่ยวข้างในไม่ไปไม่รู้ สถานปฏิบัติธรรม

 ท่องเที่ยวข้างในไม่ไปไม่รู้

ค่ายพักใจท่องเที่ยวข้างใน ไม่ไปไม่รู้

 แทบไม่น่าเชื่อว่า พอไขกุญแจ เปิดประตูต่ออินเทอร์เน็ตเข้าไปท่องในโลกไซเบอร์ ปรากฎว่าชาวต่างชาติเขารวบรวมวัดและสถานปฏิบัติธรรมในเมืองไทยไว้มากมายทีเดียว จนน่าเสียดายแทนคนไทยว่า เราเองอยู่ใกล้ๆ กลับไม่ได้ประโยชน์จากความสงบเย็นจากรสพระธรรม ถ้าเรามัวแต่เสพในสิ่งฉาบฉวยอย่างไม่ลืมหูลืมตา แล้วละทิ้งเพชรอันมีคุณค่าในประเทศเราไปเสีย เราจะขาดทุนทางปัญญาอย่างน่าสงสาร และในอนาคต เราอาจจะต้องไปศึกษาพุทธศาสนาจากชาวต่างชาติก็เป็นได้ (ปัจจุบันก็เริ่มเป็นอย่างนั้นบ้างแล้ว ) เนื่องจากปัจจุบันการอบรมวิปัสสนากรรมฐานได้ขยายไปสู่กลุ่มชนทุกเชื้อชาติศาสนา ทั้งในซีกโลกตะวันออกและตะวันตกทั่วทุกทวีป ไม่ว่าจะเป็นประเทศอินเดีย เนปาล ศรีลังกา ไทย พม่า ลาว กัมพูชา ไต้หวัน มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย  จีน ญี่ปุ่น ฮ่องกง มองโกเลีย อิหร่าน โอมาน อิสราเอล สหรัฐอาหรับอิมิเรสต์ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ รัสเซีย  ยุโรป อังกฤษ ฮังการี เยอรมัน อเมริกา แคนาดา สวิสเซอแลนด์ เม็กซิโก อาร์เจนติน่า อุรุกวัย คิวบา เวเนซูเอล่า  ซิมบับเว เคนย่า อัฟริกาใต้ ฯลฯ และอีกหลายประเทศทั่วโลก

 อย่ากระนั้นเลย เวลาในชีวิตมีไม่มากนัก หากมีโอกาสสักครั้งหนึ่งในชีวิตลองแบกเป้ แล้วเปลี่ยนเส้นทางดูสักหน่อย รสชาติของการปฏิบัติธรรมอาจไม่สนุกนัก เพราะไม่มีใครตามใจเรา และเราไม่อาจตามใจตัวเองได้ แต่ครูบาอาจารย์ และสถานที่อับสงบเงียบจะช่วยให้เราเรียนรู้ธรรมชาติภายในตัวเราอย่างลึกซึ้ง และฝึกให้เรามองเห็นทุกอย่างตามความเป็นจริง ซึ่งไม่มีใครบอกเราได้
แล้วคุณจะพบว่า ไม่มีอาหารชนิดไหนที่วิเศษเท่ากับรสพระธรรมที่เป็นรสแห่งการรู้ทันตัวเองและทำให้เรา “หยุด” เป็น   

 บางคนอาจยังไม่สนุกกับการหยุดก็ไม่เป็นไร ทำตามใจ ทำตามกิเลสไปเรื่อยๆ จนกว่าความทุกข์จะถั่งโถมถึงที่สุดก่อนก็ได้ ถึงวันนั้นค่อยเจอกัน แต่ขอบอก บางทีอาจจะสายเกินไป...


เราจึงทำหน้าที่เป็นเพียงเมนูอาหารทางใจให้ท่านได้สัมผัสด้วยสายตาไปก่อน ไม่ได้หวังอะไรนอกไปจากว่า ขอให้ท่านมีความสุขกับการเดินทางไปกับตัวหนังสือเหล่านี้ที่ทำหน้าที่เป็นสะพานรอให้วันหนึ่งท่านเดินก้าวข้ามจากหน้ากระดาษออกมาแล้วไปพบกับของจริง เราก็Happy ending แล้วค่ะ

 ค่ายพักใจทั้งหมดที่เรานำเสนอนี้เป็นเพียงบางส่วนที่ค้นพบในโลกอินเทอร์เน็ต และจากการเดินทางไปคุยกับคนโน้นคนนี้ถึงเรื่องความทุกข์และการแก้ทุกข์ของแต่ละคน ส่วนใหญ่คำตอบที่น่าสนใจมากๆ คือ ไม่ว่าเขาจะทุกข์เพียงใด อย่างแรกคือเขาหยุดก่อน!!! แล้วอยู่นิ่งๆ พิจารณา ทบทวนสิ่งที่ผ่านมา ถ้ามาสามารถหยุดด้วยตัวเองได้ ก็ไปวัดกัน วัดกันด้วยใจว่า จะสามารถแก้ทุกข์ที่ถั่งโถมได้จริงหรือ


เมื่อทุกคนกลับออกมาจากวัดใจตนเอง สิ่งแรกที่ทุกคนบอกคือว่า เขาพบแล้ว พบหนทางแก้ทุกข์ด้วยตนเองแล้ว
แต่ก็นั่นแหละ แต่ละวัด แต่ละสถานที่ปฏิบัติธรรมก็อาจจะมีเทคนิคการสอนที่หลากหลายและแตกต่างกันไป อยู่ที่จริตนิสัยส่วนตัวของแต่ละคนว่าจะชอบแบบไหน


แต่ก่อนอื่น มาทำความเข้าใจกับเล็กน้อยเกี่ยวกับการเตรียมตัวก่อนเดินทางข้างในกันค่ะ เนื่องจากนักปฏิบัติมือใหม่อาจมีความกังวลเป็นเบื้องต้น อันดับแรกจึงขอให้ศึกษาตัวเอง และศึกษาสถานปฏิบัติธรรมล่วงหน้าเล็กน้อย อาทิ
สถานที่แห่งนั้นควรจะอยู่ไม่ไกลจากหมู่บ้านหรือชุมชนมากนัก มีการคมนาคมสะดวก เป็นสถานที่สัปปายะ คือ สะอาด สว่าง และสงบเงียบ ไม่พลุกพล่าน ไม่เป็นสถานที่ท่องเที่ยว ซึ่งจะทำให้จิตใจวอกแวก มีธรรมชาติร่มรื่น มีพระวิปัสสนาจารย์ที่มีศีลาจริยาวัตรงดงาม หรือครูบาอาจารย์ที่เป็นฆราวาสที่มีประสบการณ์ในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน และสามารถแนะนำผู้เข้าปฏิบัติได้
มือใหม่หัดปฏิบัติควรศึกษาเรื่องอาหารไว้ด้วยว่า สถานที่เราจะไปนั้น เขารับประทานอาหารกันกี่มื้อ เป็นอาหารชนิดไหน ส่วนใหญ่จะเป็นมังสวิรัติ เพื่อศีลข้อหนึ่งจะได้บริสุทธิ์ ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ที่สำคัญคือ ทุกสถานที่เขาเตรียมอาหารอย่างดีไว้ให้สำหรับผู้ปฏิบัติอยู่แล้วค่ะ เพราะฉะนั้นไม่ต้องห่วง กังวลเรื่องอาหารไปก่อน เช่นเดียวกับการพักอาศัย สถานปฏิบัติธรรมส่วนใหญ่ไม่ให้นอนตามใจกิเลส แต่จะให้นอนพักผ่อนตามความเหมาะสม แล้วตื่นเช้าตั้งแต่ตี 4 หรือ ตี 3 ครึ่ง เพื่อไปทำวัตรสวดมนต์พร้อมเพรียงกัน เรื่องเวลาและความพร้อมเพียงเป็นวินัยที่สำคัญมาก ควรปฏิบัติอย่างไม่เกเร  สำหรับเวลานอนส่วนใหญ่จะเข้านอนตอน 3 ทุ่มหรือดึกกว่านั้น ไม่ต้องกังวลไปก่อน ไปถึงแล้วก็ทำได้ค่ะ


 ส่วนใหญ่สถานปฏิบัติธรรมแต่ละแห่งจะให้ผู้ปฏิบัติปิดวาจา หรืออยู่เงียบตลอดการปฏิบัติ เพื่อให้เราอยู่กับตัวเอง ดูตัวเองอย่างลึกซึ้ง อย่าเพิ่งปฏิเสธกฎเกณฑ์เล็กๆ น้อยๆ ที่ดูจะเข้มมาก แต่ความเป็นจริงกฎเกณฑ์เหล่านี้เอื้อให้ผู้ปฏิบัติได้ปฏิบัติอย่างเต็มที่ และจะเห็นผลด้วยตนเอง
ข้อสำคัญคือ ประสบการณ์จากผู้อื่นที่เราสอบถามไปก่อน อาจทำให้เราวอกแวก ควรไปปฏิบัติให้เห็นจริงด้วยตนเองจะดีกว่า และเมื่อไปแล้วอย่าเปรียบเทียบ อย่าตัดสิน พยายามปฏิบัติตามที่ครูบาอาจารย์แนะนำ แล้วจะเห็นผลเหมือนเรากำลังทดลองวิทยาศาสตร์เลยทีเดียว แต่ครั้งนี้เรากำลังเข้าห้องแลบด้วยกายและใจของเราเอง
พร้อมหรือยังคะ ถ้าพร้อมแล้วก็ลางาน ลาครอบครัว ไปที่ชอบ ที่ชอบกันก่อนที่จะตาย... ไปกันเลยค่ะ
ไปกันใกล้ๆ ก่อนในกรุงเทพมหานคร และต่อด้วยในจังหวัดต่างๆ ที่พอจะหามาฝากกันเล็กๆ น้อยๆ นะคะ

 1.ปลีกวิเวกกลางกรุง

1.1 ณ วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก
เลขที่ 999 ซ.19 ถ.พระราม 9 กทม. บรรยากาศสงบเงียบ เราสามารถไปร่วมสวดมนต์ทำวัตรเย็น เจริญสมาธิภาวนา พักใจให้อบอุ่นและเบาสบายได้ทุกวัน เวลา 18.00-19.19 น. สอบถามรายละเอียดได้ที่โทร.0-2318-5925-7,0-2319-1123
ดินแดนแห่งความสงบเย็น
วัดปทุมวนาราม ราชวรวิหาร
ศูนย์กลางแห่งความสงบเย็นท่ามกลางความทันสมัยระหว่างเวิล์ดเทรด เซ็นเตอร์ กับ สยามพารากอน บนถนนพระราม 3
ในวัดจะมีส่วนของสวนป่า เรียกว่าสวนป่าพระราชศรัทธา และมีศาลาพระราชศรัทธา  เปิดให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าร่วมสวมดมนต์ทำวัตรเช้า –เย็น นั่งสมาธิ ฟังธรรม สวดมนต์ เดินจงกรม หรือทำกิจทางศาสนาอื่นได้ตามอัธยาศัยทุกวัน โดยจะมีเทปธรรมะเปิดให้ฟังตลอดทั้งวัน และทุกวันอาทิตย์ที่ 1และ 3 ของเดือนจะมีการนิมนต์พระจากวัดต่าง ๆมาเทศน์ ในช่วง 13.00 น.
 สำหรับ “ศาลาพระราชศรัทธา” นี้  สามารถเข้า-ออกได้ตลอด  24 ชม. มีห้องน้ำและน้ำดื่ม มีบริการให้ตลอด บริเวณศาลาสามารถเดินเท้าเปล่าได้ตลอดและมีที่เก็บรองเท้าไว้อย่างเป็นระเบียบ
สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ มูลนิธิถาวรจิตตถาวโร-วงศ์มาลัย
โทร. 0-2251-2315, 0-2252-5465, 0-2253-8822 กองเลขามูลนิธิฯ โทร.0-2658-3885


1.2 ห้องหนังสือเรือนธรรม บ้านพักผ่อนทางจิตใจด้วยธรรมะ
เลขที่ 290/1 อาคารพงศ์วราภา ถนนพิชัย แขวงถนนนครชัยศรี เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300 การเดินทาง มีรถเมล์สาย 70 ผ่าน (ต้นสายสนามหลวง หน้าวัดมหาธาตุ) โทรศัพท์ 0-2244-8292
นอกจากมีห้องสมุดหนังสือธรรมะไว้บริการประชาชนที่สนใจการศึกษาพุทธธรรมแล้ว ยังมีเทปธรรมะของหลวงพ่อพุทธทาสภิกขุ หลวงพ่อปัญญานันทะ หลวงพ่อชา สุภัทโท อาจารย์วศิน อินทสระ และอีกหลายๆ ท่าน ให้ยืมกันด้วยโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ และยังมีการอบรมพุทธธรรมทุกวันอังคาร พุธ พฤหัสบดี และวันศุกร์ โดยอาจารย์อนัตตา น้อยศรี
สำหรับวันสุดสัปดาห์จัดอบรมสมาธิภาวนาตั้งแต่วันศุกร์ถึงวันอาทิตย์ เปิดรับทุกสัปดาห์ ครั้งละ 15 คน ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น

ฝึกดูกายดูใจ ทำอะไรให้ช้าลง

1.3 ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
เริ่มต้นง่ายๆ คือขอข้อมูลจากยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ก่อน จากนั้นดูตารางว่าเราสามารถเข้าคอร์สได้ช่วงไหน ควรวางแผนระยะยาว เพราะที่นี่ส่วนใหญ่จะมีคนเข้าคอร์สเต็มยาวนาน
ครั้งแรกจะเริ่มต้นด้วยคอร์ส ”พัฒนาจิตให้เกิดปัญญาและสันติสุข โดยคุณแม่สิริ กรินชัยเป็นพื้นฐาน ใช้เวลา 7 วัน จากนั้นจะมีคอร์สเข้มขึ้นเรื่อยๆ ตามความสามารถของผู้เข้าปฏิบัติธรรม
ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ 58/8 ซ.เพชรเกษม 54 เขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ 10160 โทรศัพท์ 0-2805-0790-3 โทรสาร 0-2413-3131 www.ybat.org


1.4 รู้ตื่นและเบิกบานกับกลุ่มกัลยาณธรรม

 ยิ่งท่องโลกธรรมในโลกเสมือน (อินเทอร์เน็ต) มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งพบเว็บไซด์ธรรมะและเทคนิคการปฏิบัติธรรม ตลอดจนสถานที่ปฏิบัติธรรมดีๆ มากมายยิ่งขึ้น เช่น http://www.kanlayanatam.com/ ของกลุ่มกัลยาณธรรม ตามเจตนารมณ์ของกลุ่มนี้ เขาต้องการเป็น สื่อกลางให้แก่กลุ่มอาสาทำงาน เผยแผ่พระพุทธศาสนา และให้เป็นช่องทางหนึ่งที่จะเผยแผ่ธรรมให้กว้างไกลขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการจัดปฏิบัติธรรมไปตามสถานที่ต่างๆ ที่ติดต่อเข้ามา นอกจากนี้ ยังตั้งใจเป็นสื่อกลางระหว่างเพื่อนสรรพสัตว์ทั้งปวง โดยมีท่านอาจารย์ดร.สนอง วรอุไรให้ความเมตตา ช่วยตอบปัญหาธรรม และมีกำหนดการบรรยายธรรมของดร.สนอง และครูบาอาจารย์ที่สอนวิปัสสนากรรมฐานมากมายตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งผู้เข้าเยี่ยมชมเว็บไซด์นี้สามารถหาเวลาฟังธรรม ปฏิบัติธรรมได้ตามกำหนดเวลา และสถานที่ซึ่งทางกลุ่มกัลยาณธรรมและอาสาสมัครได้ช่วยกันจัดหามามอบเป็นธรรมทาน
  นอกจากนี้เว็บไซด์ของกลุ่มกัลยาณธรรมยังมุ่งมั่นเผยแผ่ธรรมะเป็นธรรมทานผ่านอินเทอร์เน็ต ให้ผู้ชมเข้ามาฟังเสียงธรรมบรรยาย ดาวน์โหลดได้ทั้งเสียง และหนังสือซึ่งแจกเป็นธรรมทานได้ตลอด 24 ชั่วโมงค่ะ
หรือถ้าไม่สะดวกในการใช้อินเทอร์เน็ตก็สามารถติต่อกับกลุ่มกัลยาณธรรมได้ที่ ทญ.อัจฉรา กลิ่นสุวรรณ ชมรมกัลยาณธรรม 100 ถ.ประโคนชัย ต.ปากน้ำ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ 10270 โทรศัพท์ 0-2702-7353 ,0-2702-4624 หรือ 89/6-7 ซอยศึกษาวิทยา ถ.สาธรเหนือ สีลม บางรัก กทม. 10500 โทรศัพท์ 0-2635-3991-2 ,0-2635-3998 ค่ะ


1.5 เจริญสติเพื่อไปสู่วิโมกขธรรม
www.vimokkhadhamma.com
เป็นเว็บไซด์ที่เด่นมากในการทำให้อยากจะปฏิบัติธรรมขึ้นมาจริงๆ เพราะมีเมนูการปฏิบัติธรรมที่อยู่ในทุกๆ ที่แม้แต่สถาบันสอนภาษา Home English Center ปิ่นเกล้า ก็ปรับเป็นห้องกรรมฐานสำหรับฝึกอบรมพัฒนาสติในการภาวนาให้เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น และผู้เบิกบานในชีวิตประจำวัน โดยมีหลวงพ่อวิโมกข์เป็นผู้นำกรรมฐานเป็นประจำทุกเดือนในทุกวันอาทิตย์ โดยเปิดการฝึกอบรมแบ่งเป็น 2 รอบดังนี้
รอบที่ 1 เวลา 10.00 – 12.00 น. (สำหรับผู้ที่ได้ฝึกอบรมพื้นฐานมาแล้ว 2 ครั้ง) เรื่อง “การฝึกภาวนาเพื่อพัฒนาความรู้สึกตัวทั่วพร้อมและสำนึกรู้ให้เป็นใจผู้รู้” สำหรับรอบที่ 2 เวลา 13.00 -15.00 น. (ผู้เริ่มต้นควรเข้าฝึกอบรมพื้นฐานนี้ 2 ครั้ง) เรื่องเดียวกัน
สำหรับท่านผู้สนใจเข้ารับการฝึกอบรมฯ กรุณาแจ้งความจำนง โดยสมัครเพื่อสำรองที่นั่ง พร้อมแจ้งชื่อ-นามสกุล ระบุวันและรอบเวลาที่ต้องการเข้าฝึกอบรม ส่งมาที่ wimoak@yahoo.com หรือ โทร. 0-5832-6441(คุณหมอปิยะ)
หมายเหตุ: เปิดอบรมรอบพิเศษทุกวันอังคาร และ พฤหัส เวลา 18.00-20.00 น. รอบนี้สำหรับฝู้ที่มีพื้นฐานบ้างแล้ว เพราะจะเน้นการฝึกนั่งภาวนาครั้งละ 1.30 ชั่วโมง ผู้ที่สะดวกมาได้เลยโดยไม่ต้องจอง
นอกจากนี้ หลวงพ่อวิโมกข์ยังจัดให้มีการฝึกอบรมพัฒนาสติในการภาวนาสำหรับเด็กและเยาวชน ณ บุญนิเวศน์ธรรมสถาน บางนา โดยรับเด็กตั้งแต่ป.4 - ม.6 โดยจะมีกิจกรรมอื่นๆ อาทิ โยคะ /ไทเก๊กสำหรับเด็ก และอื่นๆ เพื่อเป็นการเสริมทักษะในการฝึกเจริญสติและความรู้สึกตัวทั่วพร้อมอีกด้วย ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่คุณมาลีโทรศัพท์ 0-6335-4626 หรือ email : maleec@yahoo.com เพราะคอร์สสำหรับเด็กๆ จะจัดเป็นครั้งๆ ไป
นอกจากนี้ ยังมีการฝึกอบรมพัฒนาสติให้เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ในชีวิตประจำวันโดยหลวงพ่อวิโมกข์1 วัน (อบรมเต็มวันทั้งวัน) ทั้งนี้ มีการจัดเตรียมอาหารกลางวัน และของว่าง สำหรับผู้เข้ารับการอบรม และมีหนังสือธรรมะ วีซีดีธรรมะ แจก สำหรับผู้เข้ารับการอบรมทุกท่าน รับประมาณ 40-60 คน (รับจำนวนจำกัด)ทุกๆ วันเสาร์ สัปดาห์ที่ 2 ของทุกเดือน กิจกรรมคร่าวๆ คือ ปฏิบัติภาวนา เวลาประมาณ 10.00-12.00 น. และ 13.00 – 15.00น.
รายละเอียด เกี่ยวกับการแสดงธรรมและกิจกรรมอื่นๆ ติดต่อได้ที่สำนักงาน เลขที่ 11 ซอยรามคำแหง 48 ถนนรามคำแหง (ใกล้แยกลำสาลี) แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ 10230 (เป็นสถานที่ประจำ) โทรศัพท์ 0-2732-2484-8 โทรศัพท์มือถือ 0-7827-0732


1.5 คิดอย่างไรก็ปล่อยให้ใจคิด สังเกตสักนิด ความรู้สึกในใจ ชมรมคนรู้ใจ (ตนเอง)
ชมรมคนรู้ใจ ก่อตั้งขึ้นโดยสำนักพิมพ์ดีเอ็มจี และบริษัท เอ็มดีเค คอนซัลแทนส(ประเทศไทย) จำกัด ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2546 และมีกิจกรรมชมรมคนรู้ใจ
ครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2546 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นชมรมฯของผู้แสวงหาหนทาง การเรียนรู้ใจตนเอง แลกเปลี่ยน สนทนา และเรียนรู้ประสบการณ์จากวิทยากร ผ่านกิจกรรมพิเศษ ที่จะจัดขึ้นเป็นประจำทุกวันอังคาร เพื่อเป็นสาธารณะประโยชน์ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ
ท่านที่สนใจสามารถเข้าร่วมฟังบรรยาย ทุกวันอังคาร เวลา 18.00 - 20.00 น. ณ. ห้องโปรดปราณ DMG Books และ MDK Consultants อาคารต้นสนทาวเวอร์ ชั้น 11 ( ตรงข้ามเซ็นทรัลชิดลม และสถานฑูตอังกฤษ ) ซึ่งท่านสามารถสำรองที่นั่งเข้าร่วมกิจกรรมชมรมคนรู้ใจสามารถทำผ่านทางเว็บไซต์ www.konrujai.net และหมายเลขโทรศัพท์ 0-2658-6444
นอกจากนี้ทางชมรมยังได้จัดคอร์สปฏิบัติธรรม ณ สำนักสงฆ์เขาดินหนองแสง ต.เขาวงกต อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี อยู่เสมอ และถ้าจะเดินทางไปปฏิบัติธรรมที่สำนักสงฆ์เขาหนองแสงด้วยตนเอง สามารถเดินทางไปด้วยรถส่วนตัว โดยตั้งต้นจากทางด่วนพระราม 9 ออกมอร์เตอร์เวย์ เลี้ยวซ้ายแยกบ้านบึง –แกลง ประมาณ 70 กิโลเมตร ถึงแยกแกลง-จันทบุรี เลี้ยวซ้ายไปจันทบุรี ประมาณ 22 กิโลเมตร ถึงตลาดนายายอาม เลี้ยวซ้าย (สังเกตป้ายสุดเขตรอยต่อ จ.ระยอง เข้าจันทบุรี เข้าเลนซ้าย) ประมาณ 10 กม. ถึงทางเข้าสำนักสงฆ์เขาดินหนองแสง เลี้ยวขวา ก็ถึงแล้ว 



1.6 ดูข่าว ดูกาย ดูใจ กับโครงการผู้จัดการสุขภาพ ณ บ้านเจ้าพระยา
ที่นี่จัดอบรมวิปัสสนาในชีวิตประจำวันและฟังธรรมเป็นประจำเพื่อฝึกสติให้เกิดสมาธิ และปัญญา ดังเช่นเรื่อง“อานาปานสติในชีวิตประจำวัน” โดย พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก วัดป่าสุนันทวนาราม จ.กาญจนบุรี, “การดูกายใน กาย และเวทนาในเวทนา”  โดย พระอาจารย์โสบิน โสปาโกโพธิ วัดเมตตาสว่างรังษี(วัดวังปลาโด) จ.มหาสารคาม เป็นต้น สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่บ้านเจ้าพระยา ถ.พระอาทิตย์ เขตพระนคร กทม.โทร.0-2629-2211 ต่อ 1117,1118 และ 1152
ความรู้คู่คุณธรรม



1.7 ธรรมสถาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ธรรมสถานได้จัดกิจกรรมต่าง ๆ ที่สำคัญทางศาสนา เพื่อเป็นการปลูกฝังศีลธรรมและ จริยธรรมแก่บุคลากรและนิสิตของจุฬาฯ รวมไปถึงประชาชนทั่วไปได้มีโอกาสมาฟังธรรมและปฏิบัติธรรม ซึ่งทางธรรมสถานได้จัดกิจกรรมนี้ตั้งแต่เวลา 17.00-19.00 น.ทุกสัปดาห์ โดยจะมีวิทยากรรับเชิญมาบรรยายเกี่ยวกับหลักธรรมะในทางพุทธศาสนา นอกจากนี้ยังมีการจัดสัมมนาประจำปี
จุดประสงค์ของกิจกรรมนี้คือ การให้สาธารณชนได้ตระหนักถึงปัญหาทางสังคม โดยทางมหาวิทยาลัยได้จัดเตรียมเวทีอภิปราย เพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้แสดงความคิดเห็นและประสานความร่วมมือกับองค์กรต่างๆ ซึ่งกิจกรรมนี้ช่วยให้ผู้เข้าร่วมสามารถรับมือกับปัญหาวิกฤตทางสังคมในปัจจุบันโดยใช้หลักธรรมะเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาที่สำคัญคือ ทางธรรมสถานได้จัดพิมพ์หนังสือคู่มือสำหรับนิสิตในคณะที่ต้องใช้จรรยาบรรณสำหรับวิชาชีพ 6 สาขาวิชา คือ การศึกษา สื่อสารมวลชน เภสัชศาสตร์ การแพทย์ และการพยาบาล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายมหาวิทยาลัยคือ “ความรู้คู่คุณธรรม” สนใจรายละเอียดติดต่อได้ที่โทรศัพท์ 0-2218-3018-9



1.8 ตักบาตรฟังธรรม ณ วัดบรมนิวาส
        ศูนย์อบรมภาวนาสิริจันโท วัดบรมนิวาส เขตปทุมวัน กทม.มีการทำบุญใส่บาตร และฟังพระธรรมเทศนาพระกรรมฐาน ณ ศาลาสนิทวงศ์ ชยางกูรเป็นประจำ ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 0-2216-8176, 0-2215-1890



1.9 เราจะพ้นทุกข์ร่วมกัน ณ เสถียรธรรมสถาน
 แทบจะเรียกได้ว่าเป็นสถานปฏิบัติธรรมของนักบวชหญิงแห่งแรกและแห่งเดียวที่กล้าหาญออกมายืนอยู่แถวหน้า นำทีมโดยแม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต ซึ่งท่านประกาศว่า จะใช้สื่อทุกอย่างเพื่อการพ้นทุกข์ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ ทีวี วิทยุ มือถือ อินเทอร์เนต ดนตรี ละคร มัลติมีเดีย ฯลฯ ในนาม “ปาฏิหาริย์แห่งการตื่นของสื่อ” มารับใช้พระธรรมอย่างนำสมัย ขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวดกับการปฏิบัติธรรมอย่างเข้มข้นของลูกผู้หญิงในโครงการ “สาวิกาสิกขาลัย” ซึ่งจัดมาอย่างต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้ มีทั้งคอร์สสั้นและคอร์สยาว รวมทั้งมีการปฏิบัติธรรม (พักค้าง) สุดสัปดาห์ ในโครงการ “เราจะพ้นทุกข์ร่วมกัน” ทุกวันศุกร์ –เสาร์-อาทิตย์  และยังมีโครงการพิเศษสุดสำหรับคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ในโครงการ “จิตประภัสสรตั้งแต่นอนอยู่ในครรภ์” ไปจนถึงโครงการเจริญสติภาวนาสำหรับเด็กๆ อีกมากมาย
 สนใจติดต่อโดยตรงได้ที่ เสถียรธรรมสถาน โทรศัพท์ 0-2509-1085 หรือ www.sathira-dhammasathan.org 



1.10โลกแห่งธรรม องค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก
  เดินทางไปง่ายมาก ถ้าอยู่ในกรุงเทพมหานคร และใช้เส้นทางรถไฟฟ้า ลงที่สถานีพร้อมพงษ์ แล้วตรงไปยังอุทยานเบญจสิริ เข้าไปด้านในสุดก็จะพบกับองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่ไปออกกำลังกายที่นี่เป็นประจำก็โชคดีมากๆ ที่ไม่ต้องเดินทางไปปฏิบัติธรรมไปไกลที่ไหน เพราะองค์การนี้จัดฟังธรรม ปฏิบัติธรรมทุกวันเสาร์ -อาทิตย์ มีเลี้ยงเครื่องดื่มและอาหารว่าง และทุกเดือนก็จะนิมนต์พระวิปัสสนาจารย์มาสอนกรรมฐานเป็นประจำ ก็จะมีเลี้ยงอาหารกลางวันด้วย
 ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่องค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก เลขที่ 616 ในอุทยานเบญจสิริ ซอยสุขุมวิท 24 แยกซอยเมธีนิเวศน์ ถนนสุขุมวิท เขตคลองเตย กรุงเทพฯ 10110 โทรศัพท์ 0-2661-1284-7 www.wfb-hq.org



1.11 ศิลปะ-ธรรม-สุขใจ วัดชลประทานรังสฤษฏ์
        โรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ วัดชลประทานรังสฤษฎ์ และกลุ่มจิตอาสา จัดกิจกรรม ‘ศิลปธรรม สุขใจที่ได้ไปวัด’ ทุกวันอาทิตย์ของเดือน หัดทำงานปั้น งานวาด งานศิลปะแขนงต่างๆ รวมไปถึงวาดภาพประกอบการขับเสภาคำกลอนของท่านพุทธทาสภิกขุ พร้อมละครหุ่นจากกลุ่มมะขามป้อม สำหรับผู้สนใจสามารถเข้าร่วมกิจกรรม หรือจะไปร่วมทั้งครอบครัวก็ได้ ที่วัดชลประทานฯ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี
หมายเหตุ กิจกรรมนี้เป็นข่วงเวลาหนึ่ง อย่างไรก็ตามโดยปกติ ที่วัดชลประทานฯมีการทำบุญตักบาตร ฟังธรรม และปฏิบัติธรรมเป็นประจำอยู่แล้ว 
        สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร.0-2583-8845


1.12 สืบสานปณิธานธรรม วัดโฝกวงซัน มูลนิธิส่งเสริมพุทธศาสนาเพื่อสังคม
 ที่นี่นับว่าเอื้อให้กับคนที่อยู่ในเมืองเป็นอย่างมาก เพราะวัดโฝกวงซัน สายเซ็นจากไต้หวัน สาขาประเทศไทยแห่งนี้อยู่บนชั้น 32 อาคารว่องวานิช B จัดนั่งสมาธิ สวดมนต์ ภาวนา ออกกำลังกาย และบางครั้งก็สอนวิธีชงชาเพื่อปฏิบัติสมาธิภาวนา สำหรับวันพระและวันสำคัญจัดปฏิบัติธรรมแบบเข้ม มีเลี้ยงอาหารมังสวิรัติด้วย
 ติดต่อโดยตรงได้ที่มูลนิธิส่งเสริมพุทธศาสนาเพื่อสังคม เลขที่ 100/109  อาคารว่องวานิช B ชั้น 32 ถ.พระราม 9 เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ 10320 โทรศัพท์  0-2645-0598


1.13 อุ่นเครื่องฝึกสติปัฏฐาน 4 ที่สถานปฏิบัติธรรมบ้านพาณิชย์กุล
เลขที่ 44/36 ซอยกำนันแม้น 36 (ซอยบุญมงคล)  แขวงบางขุนเทียน เขต จอมทอง กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 0-1915-5326 ,0-6389-1915,0-2454-1154
ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2548 โดยคุณไพบูลย์ และคุณจรรย์ภรณ์ พาณิชย์กุล เพื่อใช้เป็นสถานที่สำหรับเจริญวิปัสสนากรรมฐาน แบบสติปัฏฐานสี่ ได้รับการออกแบบตั้งแต่ต้นให้เหมาะสมและเกื้อกูลต่อการปฏิบัติฯ ของโยคี  ซึ่งเปิดรับสมัครเข้าปฏิบัติฯ ทั้งโยคีเก่า(ผู้เคยปฏิบัติฯ) และโยคีใหม่ (ผู้ไม่เคยปฏิบัติ) โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น เพื่อสืบสานการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานอันเป็นทางสายเอกของพระพุทธศาสนาในการหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง โดยมีการจัดหลักสูตรเริ่มต้นและต่อเนื่อง 3 วัน 5 วัน และ 7 วัน ซึ่งท่านสามารถดูวันเวลาที่ว่าง และสมัครเข้าปฏิบัติฯ ได้ที่http://www.geocities.com/banphanichkul/index.html หรือโทรศัพท์สอบถามรายละเอียดได้ตามที่อยู่ข้างต้น

1.14 ไปโรงพยาบาลของพระพุทธเจ้า   ไปสวนโมกขพลาราม 
โรงพยาบาลนี้จะแก้โรคทางใจ โรคทุกข์ได้จริงหรือไม่ ทางสวนโมกขพลาราม จัดอบรม "อานาปานสติภาวนา" ที่ธรรมาศรมนานาชาติ สำหรับคนไทยทุกวันที่ 20-26 ของทุกเดือน ไม่ต้องสมัครล่วงหน้า ลงทะเบียนเข้าที่พักวันที่ 19 เวลา 13.00 – 16.00 น.
จบการอบรมเช้าวันที่ 27 เวลาประมาณ 09.00 น. ผู้เข้าอบรมต้องมีอายุระหว่าง 20 - 65 ปี (ผู้ที่มีอายุต่ำ/สูงกว่าที่ระบุ อาจพิจารณาอนุญาตตามความเหมาะสม)
และมีสุขภาพกายและจิตแข็งแรง
สำหรับชาวต่างชาติระยะเวลาอบรม 10 วัน ทุกวันที่ 1-10 ของทุกเดือน (เข้าที่พักวันสิ้นเดือน กลับวันที่ 11)
สำหรับลูกผู้หญิงโดยเฉพาะ ท่านพุทธทาสได้มอบธรรมาศรม ธรรมมาตาไว้ให้ ผู้หญิงได้มีโอกาสศึกษาและปฏิบัติธรรมอย่างต่อเนื่องและเต็มความสามารถ เพื่อโลกนี้มีมารดาที่มีธรรมะ และมีธรรมะเป็นมารดา
ในวาระที่ท่านพุทธทาสครบ 100 ปีในปี 2549 นี้ ธรรมาศรมธรรมาตาได้จัดโครงการปฏิบัติบูชาตลอดทั้งปีแบ่งเป็นสองคอร์ส สองระยะเวลาคือ 2 สัปดาห์ และ 4 สัปดาห์ ก่อนที่จะเข้าสู่คอร์สปกติ 4 เดือนในปี 2550
ท่านที่สนใจที่จะเข้ารับการฝึกอบรม หรือต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อได้ที่ ธรรมทานมูลนิธิ (หน้าสวนโมกขพลาราม) 68/1 หมู่ 6 ต.เลม็ด อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี 84110 โทร. 0-7743-1596, 0-7743-1661–2 โทรสาร 0-7743–1597
http://www.buddhadasa.org, http://www.suanmokkh.org/ ,http://www.buddhadasa.com, http://www.khonnaruk.com/html/phra.html



1.15 ดูจิตพิชิตใจ ณ วัดมเหยงคณ์ จ.อยุธยา
พระครูเกษมธรรมทัต (สุรศักดิ์ เขมรังสี) กล่าวว่า งานหลักที่สำคัญของมนุษย์คือ การเจริญวิปัสสนากรรมฐาน เพื่อทำให้มีปัญญา รู้แจ้ง เห็นจริงในทุกข์ เพื่อความหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด พ้นจากทุกขเวทนา และอย่าได้ลืมว่าการงานที่เราทำอยู่ทุกวันนี้เป็นเพียงแค่งานอดิเรกทั้งนั้น ทำเพื่อให้ได้มาซึ่งเงินเลี้ยงชีพ คนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจ หลงผิดคิดว่าการงานที่ทำเพื่อแค่เลี้ยงชีพ สำคัญจนลืมเวลาปฏิบัติธรรม โลภ กอบโกยกัน เพื่อหาความสุขสบาย ทางกาย ทางโลก สิ่งที่ต้องทำเป็นอันดับแรก คือ เอาชนะใจตนเอง ไม่ใช่จ้องแต่จะเอาชนะผู้อื่น ถ้าเราสามารถเอาชนะใจตนเองได้แล้ว นั่นคือ “เรามีธรรม”
เมื่อเรามีธรรม เราจะเท่าทันทุกข์ทั้งปวง
ทางวัดมเหยงคณ์ ต.หันตรา อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา จัดอบรมวิปัสสนากรรมฐาน ระยะเวลา 9 วันของทุกเดือน สำหรับผู้ที่ยังไม่เคยปฏิบัติธรรมมาก่อน สามารถเปิดเวปไซด์ดูรายละเอียดได้ที่ www.mahaeyong.org หรือโทรศัพท์สอบถามรายละเอียดได้ที่ 0-3524-2892,0-3524-4335 โทรสาร 0-3524-5112

1.16 เจริญสติ รู้เท่าทันความคิด ที่วัดสนามในและวัดป่าสุคะโต
ธัมมจารี สุขัง เสติ. ผู้ปฏิบัติธรรมเป็นประจำมีชีวิตเป็นสุขค่ะ ในคู่มือการทำความรู้สึกตัว โดยหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ มีตอนหนึ่ง ท่านกล่าวว่า...ความทุกข์เกิดขึ้นเพราะเราไม่เห็นความคิด แต่ตัวความคิดจริงๆ นั้นมันไม่ได้มีความทุกข์ สาเหตุที่มันมีความทุกข์เกิดขึ้นคือ เมื่อเราคิดขึ้นมา เราไม่ทันรู้ ไม่ทันเห็น ไม่ทันเข้าใจความคิดอันนั้น มันก็เลยเข้าไปในความคิด เป็นโลภ เป็นโกรธ เป็นหลงไป  แล้วมันก็นำทุกข์มาให้เรา เมื่อเราไม่รู้วิธีแก้ไข มันก็คิด คิดอันนั้น คิดอันนี้
คนเราจึงอยู่ด้วยทุกข์ กินด้วยทุกข์ นั่งด้วยทุกข์ นอนด้วยทุกข์ ไปไหนมาไหนด้วยทุกข์ทั้งนั้น เอาทุกข์นั่นแหละเป็นอารมณ์ไป
แต่ถ้ามาเจริญสติให้รู้เท่าทันความคิด พอดีมันคิดปุ้ป..ทันปั๊ป คิดปุ้ป..ทันปั๊ป มันไปไม่ได้ มันจะทำให้จิตใจของเราเปลี่ยนแปลงที่ตรงนี้ ความเป็นพระอริยบุคคลจะเกิดขึ้นที่ตรงนี้ หรือเราจะได้ต้นทางหรือกระแสพระนิพานที่ตรงนี้ “
 สนใจฝึกสติปัฏฐาน 4 แบบเคลื่อนไหว ตามแนวทางของหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ ติดต่อได้ที่วัดสนามใน ต.วัดชลอ อ.บางกรวย จ.นนทบุรี 11130 โทร 0-2883-7251 และมูลนิธิหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ 52

2 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ21 กรกฎาคม 2552 เวลา 21:14

    ขอบคุณครับ

    ตอบลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ8 เมษายน 2554 เวลา 20:38

    สวัสดีคะ ดิฉันอ่านแล้วชอบมากๆ ดิฉันกำลังจะทำรายการธรรมมะเพื่อเผยแพร่พระพุทธศาสนาให้ผู้คนได้เข้าใจกันง่ายๆ โดยเฉพาะกลุ่มวัยยรุ่น กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เข้าใจเรื่องที่ดีนี้น้อยนัก จะมาขออนุญาต ใช้เนื้อหาบ้างช่วงบ้างตอนของบทความนี้ในรายการคะ เพราะเนื่อหาของคุณดีมาก ดีมากๆ และทำให้วัยรุ่นหันมาสนใจมากยิ่งขึ้นคะ ถ้ามีอะไรอยากเพิ่มเติม หรือสอบถาม เมลมาได้คะ ma_prang_ce@hotmail.com

    ตอบลบ