++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันเสาร์ที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2552

“กษิต” แจงแผนฟื้นภาพลักษณ์ไทย-หยุดนำการเมืองยุ่งสัมพันธ์เขมร

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์    

       
“กษิต” แจงแผนฟื้นภาพลักษณ์ไทย ย้ำความพร้อมจัดประชุมผู้นำอาเซียนปลาย ก.พ. เผย “มาร์ค”เตรียมบินไปสวิสปลายเดือนนี้ ร่วมกล่าวสุนทรพจน์ที่ดาวอส พบปะทูตในยุโรป ก่อนใช้งบ 300 ล้าน จัดโร้ดโชว์ 6 เดือน นายกฯ นำทีมเอง พบนักธุรกิจญี่ปุ่นที่โตเกียว พร้อมผนึกกำลังเพื่อนบ้านอาเซียน ฟื้นเขตการค้าเสรี สานสัมพันธ์กัมพูชาใหม่ เลิกเอาการเมืองภายในเข้าไปยุ่ง วอนสื่ออย่าถามชวนทะเลาะ
      
       เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 15 ม.ค. นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แสดงปาฐกถาเรื่อง “ภาพพจน์ไทยในสายตาชาวโลก” ในงาน “โพสต์ฟอรั่ม 2009 พลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย” ที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ เซ็นทรัลเวิลด์ว่า การจะส่งเสริมภาพลักษณ์ประเทศไทยในสายตาชาวโลกนั้นเริ่มทำที่บ้านและใน กทม. โดยช่วงที่ผ่านมานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีและตนเองก็ได้พบคณะเอกอัครราชทูตหลายประเทศ รวมทั้งผู้แทนองค์กรระหว่างประเทศ ซึ่งทำให้รัฐบาลมีโอกาสชี้แจงเรื่องภาพลักษณ์ของประเทศ และยืนยันว่ารัฐบาลมีความพร้อมในจัดการประชุมสุดยอดผู้นำเซียนระหว่างวันที่ 27 ก.พ.-1 มี.ค. อีกทั้งข้อตกลงและเอกสารที่จะลงนามในช่วงการประชุมอาเซียนทั้ง 33 ฉบับผ่านมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว และจะเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาในวันที่ 21 ม.ค.
      
       นายกษิต กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจได้ให้กระทรวงการต่างประเทศประสานกระทรวงอื่น เพื่อออกไปโร้ดโชว์ จัดการประชุมสัมมนา ในช่วง 6 เดือนแรกเพื่อเร่งสร้างภาพลักษณ์ โดยได้งบมา 300 กว่าล้านบาท โดยได้เตรียมจะให้นายกฯ นำทีมไปกรุงโตเกียวประเทศญี่ปุ่น เพื่อพบนักธุรกิจชาวญี่ปุ่น ซึ่งเป็นชาติที่มาลงทุนในประเทศไทยมากที่สุดจำนวนถึง 1.3 ล้านคน และปลายเดือน ม.ค. นายกฯ ก็จะไปร่วมประชุมเวิลด์ อีโคโนมิกฟอรัม ซึ่งเป็นเวทีเศรษฐกิจใหญ่ ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อร่วมกล่าวสุนทรพจน์ ทั้งจะจัดให้พบเอกอัครราชทูตไทยในยุโรปและประเทศแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เพื่อสร้างความมั่นใจให้คณะทูตไปชี้แจงว่าวันนี้ประเทศไทยกำลังกลับมาบทบาท และพร้อมร่วมมือกับประเทศต่างๆ และไทยจะเป็นประชาคมโลกที่ดี ข้อตกลงต่างๆ ที่ค้างอยู่ จะผลักดันให้ผ่านสภา เพื่อให้เป็นภาคีโดยสมบูรณ์
      
       นายกษิต กล่าวต่อไปว่า ไทยตั้งมั่นจะสร้างความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน เพื่อเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ และผลิตพลังงานทดแทน จึงอยากให้มั่นใจว่าไทยจะผลิตข้าว อ้อย และมันสำปะหลังที่เป็นทั้งอาหารคน สัตว์ และยานพาหนะได้ทั้งสองอย่าง
      
       นอกจากนี้นายกษิต ยังกล่าวถึงการวางยุทธศาสตร์อาเซียนในเวทีโลก ในฐานะที่ไทยเป็นประธานอาเซียนว่า อาเซียนกำลังจะมีกฎบัตรอาเซียน ซึ่งเป็นกติกาให้ประชาคมอาเซียนปฏิบัติ และเราต้องปฏิบัติตามก่อน โดยเฉพาะการเสริมสร้างอาเซียนให้ไม่ใช่เป็นแค่สมาคม แต่เป็นประชาคม เพื่อผนึกกำลังบูรณาการทั้งเรื่องการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม รวมทั้งทบทวนเรื่องเขตการค้าเสรีอาเซียน เพื่อให้ประชาชนอาเซียนทำมาค้าขายได้สะดวกขณะที่การมีบทบาทในเวทีระหว่างประ เทศทั้งที่ยูเอ็นและดับเบิลยูทีโอ ในอดีตอาเซียนเคยร่วมต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์จนสำเร็จ และนำสันติกลับสู่ภูมิภาค รวมทั้งมีส่วนนำชัยชนะมาสู่ระบบเศรษฐกิจเสรี ดังนั้นเราต้องคงบทบาทอาเซียนอยู่ในเวทีโลกอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการช่วยเหลือกองกำลังสันติภาพของยูเอ็น การแก้ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ การแก้ปัญหาโจรสลัด เป็นต้น
      
       นอกจากนั้นเมื่อไทย เวียดนาม พม่า และกัมพูชา ต่างก็เป็นประเทศผู้ส่งออกข้าว น่าจะประสานท่าทีช่วยกันจรรโลงความมั่นคงด้านอาหาร เป็นอู่ข้าวอู่น้ำร่วมกันได้ อีกทั้งหากรวมกันเป็นปึกแผ่นจะมีประชากรถึง 600 ล้าน จะเพิ่มอำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจ สามารถสู้กับประเทศยักษ์ใหญ่อย่างอินเดีย จีน บราซิล หรือเม็กซิโกได้ รวมถึงต่อสู้ในเวทีดับเบิลยูทีโอที่มีความไม่ทัดเทียมเรื่องสินค้าเกษตร เพราะมาตรการกีดกันของญี่ปุ่น หรือยุโรป โดยอาเซียนอาจกับประเทศร่วมจี 20 เพื่อเปิดตลาดให้มากขึ้น
      
       รมว.ต่างประเทศ กล่าวถึงนโยบายต่อประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะพม่าว่า รัฐบาลพม่าตระหนักดีว่ากำลังมีกฎบัตรอาเซียน ซึ่งเขาให้สัตยาบันแล้ว และเป็นภาระที่เขาต้องปฏิบัติตาม พม่าเองก็มีหน้าที่จรรโลงอาเซียนให้มีหน้าตาเป็นที่เคารพนับถือจากประชาคม ผู้มีอำนาจมานานย่อมรู้ดีโดยไม่ต้องบอก ไม่ว่าจะช้าหรือเร็ว เขารู้ว่าเขาควรทำอะไร ซึ่งรัฐบาลพม่าให้คำสัญญาว่าเขาจะจัดการเลือกตั้งทั่วไปที่ทุกภาคส่วนมีส่วน ร่วม ในประชาธิปไตยได้ ซึ่งเราก็จะช่วยเท่าที่ช่วยได้ทั้งนี้ในกฎบัตรอาเซียนบอกถึงการจัดตั้งองค์ก รกลางด้านสิทธิมนุษยชน หากเขาทำอะไรที่ถอยหลังเข้าคลอง เขาก็ต้องตอบองค์กรให้ได้ ซึ่งอาเซียนเองก็มีกลไกยุติข้อพิพาท แต่ในฐานะเพื่อนบ้านก็ต้องจับเข่าคุยกัน ต่อไปนี้จะไม่มีการดำเนินนโยบายผ่านจอทีวี หากมีปัญหาอะไรยินดีไปคุยทุกที่ เราอยู่ในครอบครัวไม่ต้องตะโกนให้ชาวบ้านได้ยิน เพื่อให้สังคมจรรโลงไปด้วยกัน
      
       รมว.ต่างประเทศ ระบุอีกว่า จะให้ความช่วยเหลือกับประเทศเพื่อนบ้านต่อไป โดยประเทศไทยอยู่ในฐานะผู้ให้ต่อพม่า เวียดนาม ลาว และกัมพูชา กรมความร่วมระหว่างประเทศมีงบประมาณแน่ชัดเพื่อช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้านลุ ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง มีวงเงินที่กระทรวงการคลังจะช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 ทางรถไฟไทย-ลาว ความยาว 9 กิโลเมตร เป็นต้น โดยจะให้ความช่วยเหลือทั้งแบบทวิภาคี แบบไตรภาคี ร่วมกับธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (เอดีบี) และประเทศผู้ให้อื่น เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน
      
       รมว.ต่างประเทศ กล่าวถึงนโยบายต่อประเด็นเรื่องเขาพระวิหารว่า ไทยและกัมพูชามีรากฐานประเพณีเดียวกันมาเกือบ 2 พันปี ซึ่งน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นสานความสัมพันธ์ ชำระประวัติศาสตร์ร่วมกัน ส่วนเรื่องเขตแดนก็มีทั้งข้อตกลงสยาม-ฝรั่งเศสปี 1904 และ 1907 มีคณะกรรมการปักปันเขตแดน หลักเขตก็ปักแล้ว มีการทำบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) เมื่อปี 2543 จึงมีทั้งตัวบท รากฐานประวัติศาสตร์บนพื้นดิน มีองค์กรเจรจา ทั้งหมดจะให้เจ้าหน้าที่ไปดำเนินการ โดยไม่มีประโยชน์ทับซ้อน ส่วนรัฐบาลมีหน้าที่สนับสนุนเจ้าหน้าที่เทคนิค และทั้งรัฐบาลไทยและกัมพูชาควรให้ความรู้ประชาชนตามข้อเท็จจริง อย่าเอาการเมืองภายในมาเกี่ยวข้อง อย่าบิดเบือนประวัติศาสตร์ อย่าคลั่งชาติ และตนเองจะไม่ทำอย่างนั้น
      
       “ขอกราบวิงวอนสื่อมวลชน ท่านมีหน้าที่เสริมสร้างความสัมพันธ์ อย่าตอแยถามให้เกิดการทะเลาะ ไม่ใช่สิ่งที่ดี ผมคิดว่าไม่สร้างสรรค์ อีกฟากดินแดนไทย เขาฟังวิทยุโทรทัศน์ การทำละครควรคำนึงถึงความอ่อนไหว เห็นใจกัมพูชาที่เขาเคยเป็นเมืองขึ้น เคยมีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เขาเจ็บปวด อย่าให้ไทยไปทำให้เขาต่ำต้อย เราควรร่วมกันแชร์อารยะธรรมอย่างทัดเทียมกัน การจรรโลงความสันพันธ์เป็นหน้าที่ของเราทุกคน” นายกษิตกล่าวปิดท้าย

http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9520000004936   

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น