++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันจันทร์ที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2551

การศึกษาปัญหาสุขภาพจากการประกอบอาชีพรับจ้างแบกสัมภาระ (ลูกหาบ) ณ วนอุทยานแห่งชาติภูกระดึง จังหวัดเลย


Study of Health problem in manual labour who carry baggage especially on their shoulder at phukradung, Loei province



ชูชาติ คล้ายหิรัญ - สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 ขอนแก่น
หฤทัย ทบวงษ์ศรี - สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 ขอนแก่น
โกวิทย์ ไวชมภู - สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเลย
สมชาย บุญสืบชาติ - สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเลย



บทคัดย่อ


การศึกษาวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาปัญหาสุขภาพ เช่น การปวดหลัง การเกิดอุบัติเหตุ ฯลฯ และ สิ่งแวดล้อมในการทำงาน ของผู้ประกอบอาชีพรับจ้างขนสัมภาระขึ้นภูกระดึง ศึกษาข้อมูลทั่วไปของผู้ประกอบอาชีพรับจ้างขนสัมภาระขึ้นภูกระดึง และ เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ในกลุ่มผู้ประกอบอาชีพรับจ้างแบกสัมภาระ (ลูกหาบขึ้นภูกระดึง) ในจังหวัดเลย การวิจัยเชิงสำรวจ โดยการสุ่มอย่างง่าย (Simple Random Sampling) ได้กลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 246 คน



ผลการศึกษาพบว่า ข้อมูลทั่วไปของกลุ่มตัวอย่างคือ ลูกหาบ พบว่าเป็นเพศชาย ร้อยละ 67.1 หญิงร้อยละ 32.9 อายุเฉลี่ย 40.02 ปี น้ำหนักเฉลี่ย 61.21 กิโลกรัม ส่วนสูงเฉลี่ย 161.63 เซนติเมตร ความดันเลือดต่ำสุด 100/60 มิลลิเมตรปรอท ความดันเลือดสูงสุด 130/90 มิลลิเมตรปรอท อาชีพหลักคือลูกหาบร้อยละ 84.1 ระยะเวลาทำงานลูกหาบเฉลี่ย 5.04 ปี ข้อมูลทางด้านประวัติสุขภาพและพฤติกรรมสิ่งแวดล้อม พบว่า ส่วนใหญ่จะไม่เคยสูบบุหรี่ ร้อยละ 48.8 ไม่เคยดื่มสุราร้อยละ 54 เครื่องดื่มบำรุงกำลังจะดื่มบ้าง ร้อยละ 55.5 มียาที่ใช้เป็นประจำร้อยละ 29.7 มีการใช้ยากระตุ้นการทำงานอื่นๆ ร้อยละ 9.3 ไม่มีการออกกำลังกาย ร้อยละ 66.7 การรับประทานอาหารเช้าร้อยละ 82.3 มีความวิตกกังวล/ ความเครียด ร้อยละ 54.9 นอนหลับพักผ่อนเฉลี่ยวันละ 7.77 ชั่วโมง ก่อนจะมาทำงานลูกหาบเคยมีปัญหาสุขภาพคือ มีอาการปวดเมื่อย ร้อยละ 32.92 โรคเกี่ยวกับกระดูกร้อยละ 4.46 ทางเดินปัสสาวะร้อยละ 3.25 ปัญหาทางด้านสุขภาพขณะทำงานลูกหาบ มีปัสสาวะแสบขัดร้อยละ 24.76 มีปัญหากระดูกสะโพก / ขาร้อยละ 14.23 กระดูกสันหลัง ร้อยละ 6.50 กระดูกคอ ร้อยละ 2.85 จะปวดกล้ามเนื้อน่อง ขา ร้อยละ 54.7 ปวดกล้ามเนื้อต้นคอ / ไหล่ ร้อยละ 16.7 เมื่อมีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อรักษาโดยไปสถานพยาบาล ร้อยละ 84 แต่ถ้าได้รับบาดเจ็บจากการทำงานก็จะปล่อยให้หายเอง ร้อยละ 75.6 การหยุดงานเมื่อได้รับอุบัติเหตุ ร้อยละ 20.7 และจะหยุดงานเฉลี่ย 9.176 วัน ไม่ทราบวิธีการป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากการทำงาน ร้อยละ 69.1 ปัญหาสุขภาพรวมทุกด้านขณะทำงานลูกหาบ จะพบว่ามีปัญหาน้อย ร้อยละ 54.9 ปัญหาระดับปานกลาง ร้อยละ 41.5 มีปัญหามากร้อยละ 3.7 ความคิดเห็นเกี่ยวกับการเจ็บปวดขณะทำงานลูกหาบ พบว่า ส่วนใหญ่คิดว่าการทำงานนี้ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพ ร้อยละ 46.8 สาเหตุที่คิดจะเลิกจากการทำงานเป็นลูกหาบก็เพราะทำไม่ไหวเนื่องจากปัญหาสุขภาพร้อยละ 55 ลูกหาบมีบัตรหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ร้อยละ 87.0 เมื่อได้รับการเจ็บป่วยหรืออุบัติเหตุจากการทำงานลูกหาบสะดวกที่จะไปรับบริการที่โรงพยาบาลประจำอำเภอ / จังหวัด ร้อยละ 71.1 ส่วนใหญ่มีความต้องการที่จะปรับปรุงการทำงานลูกหาบเพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างมประสิทธิภาพ ร้อยละ 80.9 ความสัมพันธ์ระหว่างลักษณะประชากรกับปัญหาสุขภาพ พบว่า อายุ และระยะเวลาในการทำงานลูกหาบ พบว่า มีความสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P < 0.05) ความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมสุขภาพกับปัญหาทางสุขภาพ พบว่า การดื่มสุรา ยาที่ใช้ประจำตัว ยากระตุ้น และปัญหาสุขภาพก่อนมาทำงานลูกหาบ พบว่า มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P < 0.05)



ที่มา วารสาร สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 ขอนแก่น
ปีที่ 11 ฉบับที่ 1 ตุลาคม - ธันวาคม 2546


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น