++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันเสาร์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2551

ระบบการส่งเสริมสุขภาพผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์ในชุมชน โดยผ่านเครือข่ายหมอพื้นบ้าน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ


สุจินดา สุขกำเนิด
สม นาสอ้าน
ยุงยุทธ ตรนุชกร
บุญสวย ต่ออาชีพ
สุชิน เหลืองอุทัยรัตน์



บทคัดย่อ


การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยประยุกต์ (Applied Research) มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาบริบทชีวิตและสังคม การปรับพฤติกรรม การดูแลสุขภาพตนเองของผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์ บทบาทของหมอพื้นบ้าน พระสงฆ์ ใน 4 จังหวัดภาคอีสาน คือ ชัยภูมิ กาฬสินธุ์ เลย และหนองบัวลำภู รวมทั้งวิเคราะห์สารแอนติออกซิแดนซ์ในผักพื้นบ้านอีสานและการจัดอาหารเพื่อส่งเสริมของผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์ และทดลองพัฒนาระบบการดูแลส่งเสริมของผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์ โดยผ่านเครือข่ายหมอพื้นบ้าน ซึ่งศึกษาข้อมูลทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพตั้งแต่ปี 2543-2545 ผลการศึกษาพบว่า บริบทชีวิตสังคมและการปรับพฤติกรรม การดูแลสุขภาพตนเองของผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์ พบว่า ส่วนใหญ่มีการปรับพฤติกรรมการดูแลสุขภาพตนเองในเรื่องงดอาหารแสลง ร้อยละ 71.2 รองลงมาเป็นการใช้สมุนไพร การออกกำลังกาย และการคลายเครียด มีการเปิดเผยตัวร้อยละ 76.4 บทบาทหมอพื้นบ้าน และพระสงฆ์ พบว่า หมอพื้นบ้าน ส่วนใหญ่ใช้ความรู้การรักษาโรคตามอาการและเน้นสมุนไพรบำรุงร่างกาย ส่วนพระสงฆ์จะใช้สมุนไพรตำรับโดยใช้หลักการขับพิษออกจากร่างกายต่อด้วยการใช้สมุนไพรเสริมให้ร่างกายแข็งแรง จากการวิเคราะห์สมุนไพร 49 ชนิด จำแนกตามสรรพคุณและความน่าจะเป็นในการออกฤทธิ์ พบว่า ความน่าจะเป็นในการออกฤทธิ์ต้านเชื้อเอดส์จำนวน 26 ชนิด กลุ่มมีฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกันโรค 14 ชนิด และกลุ่มมีฤทธิ์ต้านเชื้อฉวยโอกาส 18 ชนิด ผลการศึกษาสารแอนติออกซิแดนซ์ในผักพื้นบ้านอีสาน 27 ชนิดพบว่า ผักที่มีฤทธิ์แอนติออกซิแดนซ์ค่อนข้างสูง 6 ชนิด ผลการพัฒนาระบบการส่งเสริมสุขภาพผู้ตืดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์ในชุมชนโดยผ่านเครือข่ายหมอพื้นบ้าน พบว่า ผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์ได้เรียนรู้การดูแล สุขภาพแบบองค์รวมมากขึ้น มีการปรับพฤติกรรม การดูแลส่งเสริมสุขภาพที่ดีขึ้น คนในครอบครัวร่วมดูแลในเรื่องการปลูกผักและจัดรายการอาหารที่เหมาะสม มีการใช้สมุนไพรในการดูแลส่งเสริมสุขภาพผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์ องค์กรชุมชนมีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนและดูแลผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์ ส่วนการยอมรับ การจัดการและการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนยังมีปัญหา เงือนไขความสำเร็จของโครงการคือ การมีส่วนร่วม ระหว่างกลุ่มผู้ติดเชื้อ เจ้าหน้าที่ และหมอพื้นบ้าน ส่วนปัญหาอุปสรรคที่พบคือ ปัญหาเรื่องเศรษฐกิจของผู้ติดเชื้อ การยอมรับของชุมชน ซึ่งควรได้รับการแก้ไขและพัฒนาต่อไป



ที่มา วารสาร สำนักงานป้องกันและควบคุมโรคที่ 6 ขอนแก่น ปีที่ 11 ฉบับที่ 1 ตุลาคม - ธันวาคม 2546


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น