เพื่อเตือนสติคนไทยทุกคนครับ (ไม่ได้อยู่ข้างไหน)
เสียงไซเรน ณ โรงพยาบาลวชิระ ในคืนวันที่ 7 ตุลาคม 2551
เป็นสัญญาณบอกถึงความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในเมืองฟ้าอมร กรุงเทพมหานคร
หมอและพยาบาลในชุดขาว ต่างทำหน้าที่กันอย่างหนักเพื่อรักษาผู้บาดเจ็บ
ที่ร่างกายล้วนนองเลือด โดยไม่สนใจว่าคนๆนั้นจะใส่ชุดสีกากี หรือ สีเหลือง
บุรุษในเสื้อสีเหลือง ร้องโอดโอยจากการมีรอยแผลลึกที่หน้าแข้ง
และ ตามตัวหลายแห่ง ขณะที่ตำรวจซึ่งใส่ชุดสีกากีนั้น หมดสติไปแล้ว
จากการถูกของของแข็งบางอย่างฟาดเข้าตามร่างกาย
ห ลังจากเข้าทำการรักษาในห้องผู้ป่วยฉุกเฉิน พยาบาลได้เปลี่ยนชุดทั้งคู่เป็นชุดของโรงพยาบาล และ พาเข้าพักฟื้นในห้องเดียวกัน ในห้องมีครอบครัวของทั้ง 2 ฝ่ายมาเยี่ยมตามคาด แต่ต่างไม่ได้คุยกันด้วย ไม่รู้จักกันมาก่อน มีเพียงม่านบางๆกั้นระหว่างความเป็นส่วนตัวของครอบครัวทั้ง 2
"พ่อเป็นไงบ้าง เจ็บไหม?" เสียงเล็กๆที่บริสุทธิ์ดังมาจากฝั่งหนึ่งของห้อง
"เจ็บนิดหน่อยลูก" เสียงผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ในชุดของโรงพยาบาล พยายามพูดเพื่อปลอบใจลูกรัก
"หนูไม่อยากให้พ่อออกไปทำงานอีกแล้ว ทำไมเขาถึงต้องตีพ่อด้วย" เสียงเล็กๆยังถามต่อไปด้วยความไม่ประสีประสาเรื่องของผู้ใหญ่
"มันเป็นงานนะลูก ….พ่อเป็นตำรวจชั้นผู้น้อย หัวหน้าสั่งก็ต้องทำ มันเป็นหน้าที่ มันเป็นกฎ "
คำสนทนาเหล่านี้ดังเพียงพอที่จะทำให้เพื่อนร่วมห้องของเขาต้องเงี่ยหูฟังด้วยความสนใจ
"ถึงพ่อไม่ชอบพ่อก็ต้องทำเหรอ"
"พ่อไม่อยากจะทะเลาะกับคนไทยด้วยกันเลยลูก บ้านเราก็ไม่ได้ชอบรัฐบาลนี่ "
"แล้วพ่อจะออกไป ให้เขาทำร้ายแบบนี้ทำไม" เสียงเล็กๆเริ่มสั่นเครือ เพราะไม่เข้าใจเหตุผลที่พ่อของเธอพยายามจะอธิบาย
บรรยากาศในห้องเริ่มผู้ป่วยเริ่มเงียบงัน มีเพียงเสียงโทรทัศน์ที่บรรดานักวิจารณ์
ต่างพร่ำบอกกับสังคมว่า ตำรวจรังแกประชาชน ประชาชนบาดเจ็บ เสียชีวิต ตรงกันข้าม
กับภาพที่เด็กน้อยเห็นเบื้องหน้า เธอกับพ่อของเธอต่างหากที่ถูกทำร้าย
เสียงเล็กๆในห้อง กำลังร่ำไห้บอกกับโทรทัศน์ บอกกับคนที่กำลังวิพากษ์วิจารณ์เหล่านั้นว่า
แล้วพ่อหนูล่ะ ….พ่อหนูอยู่ที่นี่ นอนอยู่ตรงนี้ บอกหน่อยได้มั้ยว่า แล้วพ่อหนู ไม่ใช่คนไทยหรือไง
ใครทำพ่อของหนู???
ทันใดนั้นม่านบางๆซึ่งกั้นระหว่างเตียงของ บุรุษผู้รักชาติและผู้พิทักษ์สันติราษฏร์ ได้ถูกเปิดขึ้น
"คุณตำรวจ….ผมขอโทษ" คำพูดสั้นๆคำแรกที่บรรยายความรู้สึกนับพัน หลุดออกมาจากความรู้สึกของชายมีอายุผู้รักชาติคนนั้น
นายตำรวจในชุดผู้ป่วย แปลกใจกับสิ่งที่ตัวเองเพิ่งจะได้ยิน
ตลอด 1 เดือนที่ผ่านมา กับการต้องเผชิญหน้ากับกลุ่มพันธมิตรทุกวี่วัน
เขาเคยชินซะแล้วกับคำพูดถากถางต่างๆ จากฝ่ายที่ได้ชื่อว่าเป็นฝ่ายตรงข้าม หรือ เป็นฝ่ายรักชาติอะไรก็ตามแต่
"คุณลุงเป็นใครคะ ?" เสียงใสๆถามด้วยความสงสัย
"ลุงก็อยู่กลุ่มเดียวกับคนที่ทำให้พ่อหนู เข้าโรงบาลนั่นแหละ" เสียงชายสูงอายุพูดอย่างชัดถ้อยชัดคำ
"แล้วเพื่อนคุณลุงทำร้ายพ่อหนู ทำไม?" เสียงเล็กๆเริ่มถามอย่างคาดคั้น
"บางครั้งหนูก็ไม่เข้าใจ มันเป็นเรื่องของผู้ใหญ่กับความถูกต้อง วันหน้าหนูจะได้อยู่ในสังคมที่ดีนะหนูนะ"
" แล้วลุงไม่คิดเหรอคะว่า ถ้าพ่อหนูตาย …ลุงได้สังคมทีดี แล้วหนูต้องเป็นเด็กกำพร้า…..หนูทำผิดอะไร ?" เด็กน้อย ไม่ได้พูดอะไรต่อ นอกจากให้น้ำตา แทนคำพูดที่เหลือทุกๆอย่าง
"บางครั้งเมื่อลุงอยู่กับเพื่อน ลุงอยู่กับคนคิดเหมือนกัน …
ลุงเห็นคนข้างหน้าคือศัตรู ที่ต้องจัดการ ลุงเห็นคนใส่เสื้อไม่เหมือนลุงคิดไม่เหมือนลุง เป็นสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น…..พอวันนี้เราใส่เสื้อเหมือนกัน …..ได้ฟังหนูกับพ่อคุยกัน ลุงว่า….ลุงเหมือนพึ่งจะเข้าใจอะไรบางอย่างขึ้นมา ลุงต้องขอโทษหนูจริงๆ..." เสียงกับแววตาของชายสูงอายุ มีท่าทีสำนึกต่อเสียงเล็กๆนั้น
"ผมก็ต้องขอโทษด้วยเหมือนกัน ถ้าทำอะไรให้ประชาชนอย่างคุณโกรธ หรือ เข้าใจผิด...
หลายวันที่ผ่านมานี้ ผมโดนเสียดสีและยั่วโมโหจากผู้คนและสังคมมากมาย
เหมือนผมไม่ใช่คน เหมือนเป็นสัตว์ร้ายอะไรสักอย่าง ผมเสียใจจริงๆ ผมไม่เคยคิดจะทำร้ายใคร
ผมก็มีลูกเมีย ผมอยากกลับบ้าน อยากพาลูกเมียไปเที่ยว ผมก็ไม่ได้ทำ ผมต้องออกมาทำงาน
ทุกวันในรอบ 1 เดือนมานี้ ผมคิดถึงลูกเมียผมมาก ภาวนาว่าขอให้เรื่องนี้มันจบๆเสียที
จะได้กลับไปเห็นหน้าลูกเมีย พึ่งจะเห็นหน้าลูกครั้งแรกก็ตอนที่ลูกต้องมาเยี่ยมผมที่โรงพยาบาล....
แต่ถ้าคุณเข้าใจผม ผมคิดว่านาทีนี้ ตรงนี้มันคุ้มค่ามาก " เสียงคุณตำรวจ พูดแทรกขึ้นมาด้วยน้ำเสียงที่เปี่ยมไปด้วยมิตรไมตรี
วันนั้นภายในพื้นที่เล็กๆของห้องพักฟื้นสี่เหลี่ยม หัวใจของชาย 2 คนทำให้ห้องนี้ดูกว้างขวางขึ้น
อย่างน้อยก็ดูกว้างกว่าที่ทำเนียบ หรือ รัฐสภา กรอบที่พันธนาการคนทั้งคู่ไว้ด้วยหัวโขนที่แต่ละคน
ใส่อยู่ด้วยความโกรธและเกลียด ถูกทำลายลงหลังจากที่ได้มีการพูดคุย และตระหนักต่อความรู้สึกของการเป็นมนุษย์ด้วยกัน ... ใช่แล้ว!!!เรายังคุยกันด้วยภาษาไทย และมีพ่อคนเดียวกัน
ทำไมเรา ถึงคุยกันไม่ได้ ทำไมปากของเรา ความเห็นของเราถึงถูกใช้เพื่อนำพาไปสู่ความขัดแย้ง แทนที่จะเป็นความสามัคคี น้ำตาหยดนี้จะไม่มีวันไหลเลย ถ้าเราหยุดคิดสักนิดเพื่อพูดจากัน เปิดใจรับความเห็นต่างกันบ้าง?
ว ันต่อมาสงครามทางความคิดยังคงอยู่ แต่คนที่ได้รับ forward mail นี้จะได้ตระหนักมากขึ้นว่าการให้อภัย และ เห็นความจริงในมุมเล็กๆที่ไม่มีใครคาดคิด ก็คงจะตอบคำถามได้ว่า เรากำลังสู้ทำไม สู้เพื่อใคร และ ถามด้วยเหตุผลต่อทั้ง 2 ฝ่ายว่า วันนี้คุณเห็นคุณค่าน้ำตาหยดนั้นแค่ไหน ชัยชนะของประชาชนหรือตำรวจในวันนี้ แลกกับหยดน้ำตาของคนอยู่เบื้องหลัง ไม่ว่าฝ่ายไหน คุณจะเรียกมันว่าชัยชนะ หรือ ความพ่ายแพ้
Theขี้ฝุ่นริมทาง
วันพุธที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2551
วันนี้คุณเห็นคุณค่าน้ำตาหยดเมื่อ 7 ต.ค.2551 นั้นแค่ไหน
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น