++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันจันทร์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

สนทนาเรื่องประเทศไทย กับ ติช นัท ฮันห์

เป็น เวลากว่าร่วมทศวรรษแล้วที่นามของ "ท่านติช นัท ฮันห์" พระภิกษุนิกายเซนชาวเวียดนาม ซึ่งได้รับการจารึกในฐานะผู้นำจิตวิญญาณวิถีพุทธที่ถูกชาวโลกพูดถึงมากที่ สุดท่านหนึ่ง
เหตุผลหนึ่งก็มาจากวิธีสอน วิธีคิด ตลอดแนวทางปฏิบัติที่เน้นการเข้าถึงง่าย และทำได้จริง สัมผัสได้ชัดเจนจาก "หมู่บ้านพลัม" ที่กระจายอยู่ใน 12 ประเทศทั่วโลก และยังถือเป็นโมเดลต้นแบบของการปฏิบัติธรรมแห่งพุทธบริษัท 4 ที่เน้นการเจริญสติในชีวิตประจำวัน โดยอาศัยหลักอานาปานสติ หรือการกำหนดลมหายใจเข้า-ออก เป็นเครื่องนำทาง
และ เนื่องในโอกาสที่เดินทาง มาประเทศไทยอีกคำรบ ในฐานะประธานงานทอดผ้าป่าสามัคคี รวบรวมทุนในการจัดซื้อที่ดินสำหรับสถานปฏิบัติธรรมหมู่บ้านพลัมประเทศไทย ก็มีกิจกรรมพิเศษ อย่างการเปิดโอกาสให้บรรดาสื่อมวลชนสนทนาธรรมอย่างใกล้ชิดรวมอยู่ด้วย
จาก การพูดคุยครั้งนั้นเอง ท่านติช นัท ฮันห์ก็ได้กล่าวถึงเรื่องราวเกี่ยวกับประเทศไทยมากมายหลายเรื่อง ทั้งพระพุทธศาสนาในดินแดนสยาม วิกฤตการเมืองในปัจจุบัน รวมไปถึงวิธีปฏิบัติตัวเพื่อให้ผ่านสถานการณ์อันเลวร้ายไปได้ ซึ่งคงเป็นสิ่งที่สังคมไทยทุกวันนี้ต้องการมากที่สุด


อะไรคือสาเหตุที่ทำให้ท่านตัดสินใจมาสร้างหมู่บ้านพลัมในประเทศไทย
ที่ ผ่านมาเรามีนักบวชและฆราวาสเกิดขึ้นในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ซึ่งบุคคลเหล่านั้นเองก็มีความตั้งใจและแรงบันดาลใจที่อยากจะให้เกิดหมู่บ้า นพลัมขึ้นในประเทศไทย ซึ่งข้าพเจ้าเองก็ยินดีสนับสนุน เพราะหมู่บ้านพลัมที่เกิดขึ้นในประเทศไทย คือการสืบเนื่องคติความตั้งใจอย่างหนึ่งของท่านพุทธทาส ซึ่งอยู่ที่สวนโมกข์ ซึ่งถือเป็นพระภิกษุรูปหนึ่งที่ข้าพเจ้าศรัทธาและเลื่อมใสเป็นอย่างมาก

ถ้าอย่างนั้น มองพระพุทธศาสนาในประเทศไทยทุกวันนี้ว่าเป็นอย่างไรบ้าง
จริงๆ ประเทศไทยถือเป็นดินแดนที่มีพุทธศาสนาเถรวาทที่สมบูรณ์เพียบพร้อมอยู่แล้ว ไม่จำเป็นจะต้องไปยืมพระพุทธศาสนาจากที่อื่น หรือจากที่ไหนๆ อีก
เพียง แต่มีสิ่งหนึ่งที่ต้อง พึงกระทำก็คือ การกลับไปค้นหามรดกที่มีอยู่แล้ว มองให้ลึกซึ้งมากกว่านี้ ในที่สุด เราก็จะพบว่าจริงๆ แล้วในศาสนาของเราก็มีเพชรน้ำงามดีๆ ซ่อนอยู่มากมาย โดยคำสอน ซึ่งสามารถนำไปช่วยคนอื่นได้อีกมาก โดยเราอาจจะพยายามหาวิธีการหรือปรับปรุงสักหน่อยเพื่อที่จะทำให้คนสมัยนี้ สามารถจะรับฟังคำสอนและนำไปใช้สำหรับแก้ปัญหาเพื่อสอดรับกับความทุกข์ที่เขา มีอยู่ได้
เพราะ เราต้องไม่ลืมว่า ความทุกข์ที่เราเผชิญอยู่ในทุกวันนี้ ก็คงไม่เหมือนความทุกข์หรือปัญหาในสมัยพุทธกาล เพราะทุกอย่างย่อมมีความเปลี่ยนแปลงและแตกต่างไปอยู่เสมอ ดังนั้น พระพุทธศาสนาในทุกประเทศทุกนิกายก็ต้องการมีปรับปรุงให้ใหม่และทันสมัยอยู่ เสมอ เพื่อให้สอดคล้องกับคนรุ่นใหม่กับสถานการณ์ในปัจจุบัน ตัวอย่างเช่น ท่านพุทธทาสแห่งสวนโมกข์เอง ท่านก็พยายามที่จะปรับปรุงศาสนาให้มีความใหม่อยู่ตลอด และนั่นก็คือสิ่งเดียวกับที่เราพยายามทำกับหมู่บ้านพลัมในประเทศแถบยุโรป และอเมริกา

แนวทางการปฏิบัติตัวเช่นใด ที่คิดว่าเหมาะกับสภาพสังคมไทยมากที่สุดในขณะนี้
สิ่ง หนึ่งที่ทุกคนควรจะทำ ก็คือการฝึกภาวนาปฏิบัตินั่นเอง ยิ่งรวมกลุ่มกันทำก็ยิ่งดี เพื่อจะเป็นการบ่มเพาะความสงบ สันติ ความสุข เข้าใจ ความเมตตากรุณาให้เกิดขึ้นในจิตใจเของเราเอง
ขณะ เดียวกัน การฟังซึ่งกันและกัน ก็ถือเป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กัน ยิ่งในฐานะที่เราเองก็เป็นนักปฏิบัติธรรมชาวพุทธ เราจะต้องรับฟังความทุกข์ของเราเองก่อน ถ้าเกิดว่าเข้าใจความทุกข์ของตัวเองว่าเป็นเช่นไร เราก็ย่อมจะมีความทุกข์น้อยลง ความกรุณาจะบังเกิดขึ้นในตัว
ที่ สำคัญมันยังทำให้เราเกิด ความรู้สึกอยากจะเข้าใจความทุกข์ของคนอื่น เพราะถึงตอนนั้นเราก็จะรู้ว่าเขาก็มีความทุกข์ไม่แตกต่างไปจากเรา ความรู้สึกอยากลงโทษก็จะไม่เกิดขึ้น แต่มันจะกลายเป็นความรู้สึกอยากรับฟัง อยากเข้าใจความทุกข์ที่มีอยู่ในตัวของคนๆ นั้นแทน เพราะถ้าเราเข้าใจความทุกข์ของแต่ละคน ท่าทีที่ไม่ดีก็จะไม่เกิดขึ้น และก็มีโอกาสจะช่วยเธอได้




แล้วกับองค์กรต่างๆ ในสังคมล่ะ มองว่าควรต้องมีบทบาทเช่นไรบ้าง
สำหรับ เรื่องนี้ก็ถือว่าจำเป็นไม่น้อย เพราะองค์กรเหล่านี้ถือเป็นตัวกลางที่สำคัญในสังคม ยิ่งบรรดาผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเองอาจจะจับมือกันจัดงานภาวนาขึ้น เพื่อทำให้เกิดความสันติสุข และสมานฉันท์ คืนดีกันมาใหม่ โดยอาจจะนำกลุ่มคนที่มีความขัดแย้งทั้งสองฝ่ายหันหน้าเข้าหากัน ปล่อยให้ฝึกปฏิบัติภาวนาให้มีความสงบ ปล่อยให้เขาได้มีโอกาสรับฟังซึ่งกันและกัน ปล่อยให้เขามีโอกาสที่จะได้พูดทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ในหัวใจของเขา
โดย เราอาจจะจัดงานในสถานที่ มีบรรยากาศสิ่งแวดล้อมที่เต็มไปด้วยความน่ารัก และความเมตตา โดยในช่วงสัปดาห์ของงานนั้น เราจะพักเรื่องทางการเมือง และปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นเอาไว้ก่อน แต่เราจะให้เขามีโอกาสมานั่งสมาธิร่วมกัน ทานอาหารอย่างมีสติร่วมกันเพื่อให้มีเกิดความสงบ มีโอกาสได้ผ่อนคลายร่างกายและ คลี่คลายสิ่งต่างๆ ที่อยู่ในหัวใจ
พอ สัปดาห์ที่ 2 เราอาจจะเชิญกลุ่มที่อยู่ในความขัดแย้งกลุ่มแรก มาพูดถึงสิ่งที่อยู่ในใจของเขาทั้งหมด แต่อาจจะต้องหลีกเลี่ยงการพูดในเต็มไปด้วยการประณาม การดูถูก เพราะการพูดเช่นนั้นจะทำให้อีกฝ่ายรับฟังยาก และเสียโอกาสที่จะทำให้เขาเข้าใจเราได้
และ หากทั้งสองกลุ่มสัญญาและ สามารถพูดจากันอย่างอ่อนโยน นุ่มนวล ไม่ดูถูกหรือประณามกัน และยอมให้อีกฝ่ายได้พูด ในที่สุดเราก็จะสามารถออกข่าวการพูดจานั้นไปสู่สาธารณชนทั่วประเทศได้ ซึ่งข้าพเจ้าเชื่อว่า หากทั้งหมดทำได้ระยะเพียง 5-6 วัน ความทุกข์ของเขาก็จะลดลงอย่างแน่นอน ...๐






สนทนาเรื่องประเทศไทย กับ "ท่านติช นัท ฮันห์"
เรื่อง : สุทธิโชค จรรยาอังกูร
ภาพ : มูลนิธิหมู่บ้านพลัม
ASTVผู้จัดการรายวัน 14 พฤศจิกายน 2553

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น