เป็นข่าวใหญ่ครึกโครม จากกรณีที่ บิ๊กจิ๋ว พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย อันเป็นการทิ้งนัยยะทางการเมืองไว้อย่างสำคัญ เพราะท่านมิได้เอื้อนเอ่ยวาจาใดๆ จึงยิ่งทำให้สังคมสงสัยและค้นหาเหตุผล เพราะท่านบิ๊กจิ๋วท่านเป็นผู้ที่มากด้วยประสบการณ์ทางการเมือง ลุ่มลึกจนเกินคำบรรยาย
หลายฝ่ายยกย่องให้ท่านเป็น “ขงเบ้งแห่งเมืองไทย” ผู้เคยแก้ไขปัญหาวิกฤตชาติ ด้วยนโยบายสำหรับใช้ขจัดภัยอันตรายของชาติ เพื่อความมั่นคงแห่งชาติ ด้วยการยุติสงครามกลางเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ทำลายแนวทางการต่อสู้ด้วยอาวุธของพคท. ด้วยแนวทางสันติ ยุติเหตุการณ์ที่พี่น้องคนไทยเข่นฆ่ากันเองสู่สถานการณ์สันติภาพ นำพาประเทศไทยออกจากวิกฤตอย่างหวุดหวิดแบบเส้นยาแดงผ่าแปด
นั่นคือ การกู้ภัยของชาติอย่างเป็นสำคัญ คุณูปการแห่งผลงานของท่านพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ยังอยู่ในความทรงจำของผู้คนตลอดมา และเป็นปริศนาว่าวันนั้นท่านทำสำเร็จได้อย่างไร
พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เคยสะท้อนความเห็นและมุมมองทางการเมืองของประเทศไทย ในหลายๆเวทีไว้อย่างน่าสนใจ คือ ด้วยปัจจุบันสถานการณ์ของประเทศไทยเข้าสู่ภาวะคับขัน อันจะนำไปสู่การปะทะเกิดการนองเลือดระหว่างประชาชนคนไทยที่ลุกขึ้นสู้ผู้ ปกครอง จนบานปลายกลายเป็นจลาจลมิคสัญญีกลียุคแผ่นดินลุกเป็นไฟอันเป็นสภาพอนาธิปไตย ไร้ขื่อแป ผู้ปกครองทำการปกครองไม่ได้ เพราะประชาชนไม่ยอมให้ปกครอง อันจะนำไปสู่ความล่มสลายของชาติ
ปัญหาของชาตินั้นเป็นความรับผิดชอบของประชาชนทุกคน หากปล่อยให้ชะตากรรมของบ้านเมืองตกอยู่ในสถานการณ์เผชิญหน้าระหว่างม็อบกับ รัฐบาล ชาติบ้านเมืองย่อมมิอาจหลีกเลี่ยงความหายนะได้อย่างแน่นอน
เพราะเหตุแห่งอวิชาบังปัญญา เกิดโทสะ เกิดความโกรธแค้นเกลียดชัง ทำให้ปัญญามืดบอดทั้งสองฝ่าย โดยเห็นได้ชัดจากข้อเสนอของหลาย ๆ ฝ่ายนั้น เมื่อพิจารณาตรวจสอบด้วยหลักวิชาแล้ว หาใช่เป็นทางออกของประเทศชาติและประชาชนแต่อย่างใดทั้งสิ้น
การสร้างประชาธิปไตยเป็นภารกิจในระยะผ่าน (Transition Period) ของประเทศชาติ จากระบอบเผด็จการไปสู่ระบอบประชาธิปไตย เป็นภารกิจทางประวัติศาสตร์ (Historical Mission) คือภารกิจแบ่งยุคแบ่งสมัย นั่นคือ จากประเทศด้อยพัฒนา (Underdeveloped country) สู่ความเป็นประเทศกำลังพัฒนา (Developing country) และไปสู่ความเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว (Developed country) ภารกิจในระยะผ่านเป็นภารกิจที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากสถานการณ์เก่า ที่ล้าหลังไปสู่สถานการณ์ใหม่ที่ก้าวหน้า การเปลี่ยนระบอบหรือโครงสร้าง คือ ภารกิจในระยะผ่าน จึงเป็นภารกิจของรัฐบาลเฉพาะกาลโดยเฉพาะ เท่านั้น
ตามหลักประชาธิปไตยแบบสากลนั้น “การปกครองเฉพาะกาล หรือ รัฐบาลเฉพาะกาล” หมายถึง การปกครองในระยะผ่าน หรือหัวเลี้ยวหัวต่อ (Turning Point) ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงจากสถานการณ์หนึ่งแบบเก่าไปสู่อีกสถานการณ์หนึ่งแบบใหม่ใน ระยะผ่าน เหมือนอย่างการเดินทางมาจนถึงระหว่างหน้าผาหนึ่งซึ่งอยู่ชิดกันย่อมตัดสิน ด้วยการกระโดดข้ามว่าจะพ้นหรือไม่พ้น ถ้ากระโดดไม่พ้นก็ตกเหวตาย ไม่มีวันจะไปถึงจุดหมายได้ หรือเหมือนการแข่งรถซึ่งจะต้องเลี้ยว ๙๐ องศา ก็ตัดสินด้วยการเลี้ยว ถ้ารถคว่ำพลิกกระเด็นตรง “หัวเลี้ยว” นี้ก็อาจคอหักตายไม่มีทางจะไปถึงเส้นชัยได้เลย
ฉะนั้น “ระยะผ่าน” หรือ “หัวเลี้ยวหัวต่อ” จึงเป็นจุดสำคัญที่สุด เป็นเครื่อง “ตัดสินชี้ขาด” ว่าจะเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่ จะต้อง “ผ่าน” ให้ได้เสียก่อน “ข้าม” ให้ได้เสียก่อน หรือ “เลี้ยว” ให้ได้เสียก่อน จึงจะสามารถรุดหน้าไปตาม “วิถีทางใหม่” ความสำเร็จของการเปลี่ยนแปลงจึงขึ้นอยู่กับความสำเร็จใน “ระยะผ่าน” หรือ “หัวเลี้ยวหัวต่อ” จะเห็นว่าเป็นกระบวนการที่สำคัญที่สุดในกระบวนพัฒนาของสิ่งทั้งปวงในระยะ ผ่านหรือหัวเลี้ยวหัวต่อ คือ ขั้นตอนที่สำคัญที่สุด
ภารกิจของรัฐบาลเฉพาะกาล คือ “การแก้ปัญหาพื้นฐานต่างๆ ในสถานการณ์เก่าให้ตกไป คือ แก้ปัญหาการเมือง แก้ปัญหาเศรษฐกิจ และแก้ปัญหาวัฒนธรรม ให้ตกไปโดยพื้นฐาน”
ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ของประเทศ จึงหมายความถึงการเปลี่ยนแปลงแก้ไขปัญหาพื้นฐานของระบบสังคมอย่างรอบด้าน มิใช่การเปลี่ยนแปลงแก้ไขแต่เฉพาะ สิ่งใดสิ่งหนึ่ง ด้านใดด้านหนึ่ง กล่าวคือจะต้องทำให้“ระบบการเมือง”เป็นประชาธิปไตย คือ การเปลี่ยนการปกครองให้เป็นประชาธิปไตยให้สำเร็จตามขั้นตอน แล้วทำให้ “ระบบเศรษฐกิจ”เป็นประชาธิปไตย คือ ส่งเสริมกรรมสิทธิ์เอกชนด้วยการทำลายการผูกขาดรวมศูนย์ทุนด้วยมาตรการกระจาย ทุนทางเศรษฐกิจ และทำให้ “วัฒนธรรมของชาติ” เป็นวัฒนธรรมประชาธิปไตยที่เกิดการปฏิบัติร่วมกันของประชาชน และ จะไม่มีรัฐบาลใดทำสังคมให้เป็นสังคมประชาธิปไตยได้ หากไม่ทำให้เกิดการปกครองแบบประชาธิปไตย และการจะทำให้การปกครองเป็นแบบประชาธิปไตยได้จะต้องทำลายระบอบการเมืองของ เก่าแบบเผด็จการให้เป็นประชาธิปไตย คือ ทำ“อำนาจอธิปไตย” ให้เป็นของปวงชนให้ได้ เสียก่อน
พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เคยกล่าวไว้ว่า ประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่เป็นปัญหาในปัจจุบัน เริ่มตั้งแต่การรัฐประหารของคณะราษฎรที่ยึดอำนาจพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้า อยู่หัวรัชกาลที่ ๗ เปลี่ยนแปลงระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยไม่มีการสร้างประชาธิปไตยแต่อย่างใดทั้งสิ้น ระบอบการเมืองไทยจึงยังคงเป็นเผด็จการอยู่เช่นเดิม เพียงแต่เปลี่ยนอำนาจจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯมาสู่คณะราษฎร เท่านั้น คณะราษฎรจึงเป็นผู้ให้กำเนิดระบอบเผด็จการแบบใหม่ คือ “ระบอบเผด็จการรัฐสภา” เป็นระบอบเผด็จการของคณะบุคคล และ เป็นผู้ให้กำเนิดวงจรอุบาทว์ของการเมืองไทยคือให้กำเนิด “การรัฐประหาร” อีกด้วย การรัฐประหารของคณะอื่นๆในภายหลัง จึงตามรอยของคณะราษฎรตลอดมา ความ “ขัดแย้ง” ทุกๆอย่างจึงยังคงดำรงอยู่เช่นเดิม และกำลังยกระดับพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ หนักว่าเดิม ใกล้ขั้น “แตกหัก” ซึ่งไม่ “ยุติ” ด้วย “การรัฐประหาร” ที่เป็น “วงจรอุบาทว์” รอบใหม่ ก็อาจเลยเถิดไปเป็น “จลาจล” สู่ “สงครามกลางเมือง” สู่ “สงครามประชาชน” ก็เป็นได้
ที่น่าสังเกตก็คือ ผู้มีอำนาจหรือรัฐบาลทุกยุคสมัย เมื่อแย่งชิงอำนาจโดยการโค่นล้มฝ่ายตรงข้ามลงได้แล้ว ต่างก็เห็นสอดคล้องกันว่าจะต้องสร้างประชาธิปไตยให้ได้ ด้วยมาตรการการร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย โดยไม่ได้ดูเลยว่า ประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นในโลกนั้นไม่ได้ใช้รัฐธรรมนูญเป็นตัวสร้าง แต่ใช้นโยบายเป็นเครื่องมือสร้างระบอบประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นจริงก่อน แล้วจึงค่อยยกร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญขึ้นมาเพื่อรักษาระบอบประชาธิปไตยที่ สร้างเสร็จแล้วไว้เท่านั้น
นอกจากนั้นท่านพลเอกชวลิต ยงใจยุททธ ยังได้ยกตัวอย่างไว้ว่า การจะสร้างถนน จะต้องมีนโยบายเป็นโครงการก่อสร้างถนน มีการออกแบบเขียนแบบ แล้วจึงไปจัดหาเครื่องมือสำหรับการก่อสร้าง เมื่อสร้างถนนเสร็จแล้ว จึงมาออกกฎหมายเพื่อรักษาถนน เช่น ห้ามรถบรรทุกเกิน 30 ตัน เป็นต้น ซึ่งท่านเปรียบเทียบไว้ว่า การจะสร้างการปกครองแบบประชาธิปไตย จะต้องมีนโยบายสร้างประชาธิปไตย ออกแบบตามหลักวิชาว่าประชาธิปไตยมีหลักการอะไรบ้าง มีมาตรการอะไรบ้าง แล้วจึงลงมือสร้าง เมื่อสร้างประชาธิปไตยเสร็จแล้วจึงออกกฎหมายไว้เป็นระเบียบปฏิบัติร่วมกัน สำหรับประชาชน เช่นเดียวกันกับเมื่อสร้างวัดสร้างโรงเรียนเสร็จแล้วจึงออกกฎวัดกฎโรงเรียน ไว้ปฏิบัติร่วมกันต่อไป ประชาชนชาวไทยหวังพึ่งพานโยบายทางการเมืองของพรรคการเมืองที่มีอยู่ใน ปัจจุบันเพื่อสร้างประชาธิปไตย แต่ไม่ใคร่จะเห็นมีพรรคการเมืองพรรคไหนนำเสนอ ส่วนใหญ่นำเสนอนโยบายแต่ด้านเศรษฐกิจ ลดแลก แจก แถม หาเสียงสร้างคะแนนนิยมแบบเอาชนะคะคานกัน พรรคนั้นประชานิยม พรรคนี้ประชาวิวัฒน์ โดยมิได้คำนึงถึงผลกระทบที่จะตามมาในอนาคต ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนโยบายแบบประชาชนบริโภคแล้วประเทศชาติตายผ่อนส่งทั้งนั้น ชาติพังไม่ว่าขอพวกข้าเป็นรัฐบาลก็พอ เพราะนโยบายที่พรรคการเมืองต่างๆเสนอมาไม่ใช่นโยบายการพัฒนาประเทศแบบ ยั่งยืน เปรียบเหมือนการโปรยยาหอมต่อพี่น้องเกษตรกรให้ใช้ปุ๋ยเคมี และสารเคมี พรรคการเมืองนั้นบอกต้องใช้สูตร 15-15-15 พรรคการเมืองนี้เสนอสูตร 16-20-0 บอกว่าต้องใช้สารเคมีชนิดนั้นชนิดนี้ฉีดพ่น ทุกพรรคบอกปุ๋ยเคมีดีเป็นอาหารวิเศษ และก็เห็นผลทันตาเพราะพอพี่น้องเกษตรกรนำไปใช้ได้ผลในระยะแรกๆ แต่ต่อมาเกิดปัญหาตามมาอย่างมากมาย ทั้งสารพิษตกค้าง ดินเสีย ที่นาพัง ผลผลิตต่ำ ระบบนิเวศน์เสีย เกิดโรคร้ายมากมาย เพียงเพราะความมักง่ายและค่านิยมที่ผิดๆ จึงต้องหยุดคิดและทบทวน เพราะการทำการเกษตรมีทางเลือกอื่นอีก เช่น การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยจุลินทรีย์ ไม่จำเป็นต้องใช้ปุ๋ยเคมีหรือสารเคมีแต่อย่างใดก็ได้ นี่คือ ตัวอย่างการนำนโยบายที่เป็นค่านิยมแบบผิดๆ ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศ อย่างไม่รู้จบรู้สิ้น
ปัจจุบันจึงได้พิสูจน์แล้วว่า ในขณะนี้ คนไทยก็ยังเรียกร้องหาประชาธิปไตยกันอยู่ไม่รู้จบ นั่นก็เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยในปัจจุบันยังคงไม่เป็น ประชาธิปไตย นั่นคือ ประเทศไทยยังปกครองด้วยระบอบเผด็จการตลอดมา และสลับสับเปลี่ยนกันระหว่างเผด็จการรัฐสภา กับระบอบเผด็จการรัฐประหาร เป็นวงจรอุบาทว์ทางการเมือง นั่นเอง
นักการเมืองและนักวิชาการบ้านเรามักจะเข้าใจกันว่า การสร้างระบอบประชาธิปไตยจะทำได้โดยไม่ต้องทำการปฏิวัติ พวกเขาอยากสร้างระบอบประชาธิปไตย แต่ไม่ต้องการเห็นการปฏิวัติ พยายามหลีกเลี่ยงการปฏิวัติ กระทั้งแม้แต่คำว่า “ปฏิวัติ” ก็ไม่อยากจะได้ยิน ฉะนั้น เมื่อใดมีคนพูดถึงการปฏิวัติจึงฮือฮากันใหญ่โต การสร้างระบอบประชาธิปไตยโดยไม่ทำการปฏิวัตินั้นเป็นไปไม่ได้เลย เพราะการสร้างระบอบประชาธิปไตย คือ การยกเลิกระบอบเผด็จการและสถาปนาระบอบประชาธิปไตย ซึ่งหมายความว่าการทำลายระบอบเก่าทิ้งทั้งหมด
การสร้างระบอบประชาธิปไตย ก็คือ การปฏิวัติ ซึ่งไม่ใช่การรัฐประหารตามที่บิ๊กจิ๋วคัดค้านมาตลอด
นี่คือ การสะท้อนภาพและเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาชาติด้านการเมืองการปกครองของไทยของผู้ มากมีประสบการณ์ ในนามขงเบ้งแห่งเมืองไทย พ่อใหญ่ใจดีของพี่น้องภาคอีสาน พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี อดีตผู้บัญชาการทหารบกและผู้บัญชาการทหารสูงสุด
การปฏิบัติการทางการเมืองของท่านบิ๊กจิ๋วแต่ละครั้งมีนัยยะสำคัญทางการเมือง ที่น่าติดตาม อย่าลืมว่า ท่านบิ๊กจิ๋ว ท่านมีปัญญาอันชอบและแหลมคม มีประสบการณ์แห่งชัยชนะมาแล้วในอดีตในการแก้วิกฤตชาติ ท่านมีความไม่กลัวอันเป็นความกล้าอันบริสุทธิ์ ท่านมีธรรมในจิตใจและมีจุดยืนเพื่อผลประโยชน์ของชาติและประชาชนไม่เคย เปลี่ยนแปลง และที่สำคัญคือภารกิจแห่งชีวิตของพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ผู้ผ่านพิธีศักดิ์สิทธิ์ดื่มน้ำพิพัฒน์สัตยาในอุโบสถวัดพระแก้วต่อหน้าพระ พักตร์องค์พระประมุขของประเทศ
อย่าลืมว่า ท่านบิ๊กจิ๋ว พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ คือ หนึ่งในสมาชิกแห่งเหรียญรามาธิบดี ที่มีหน้าที่ปกป้องสถาบันหลักของชาติและพิทักษ์รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์
ภารกิจแห่งชีวิต คือ การเสียสละได้แม้แต่ลมหายใจ
อย่าได้ดูแคลนต่อการตัดสินใจและปฏิบัติการทางการเมืองของขงเบ้งแห่งกองทัพ ไทย เป็นอันขาด ท่านทิ้งปริศนาธรรมทางการเมืองอะไรเอาไว้ โปรดฟังอีกครั้งหนึ่ง และโปรดติดตามตอนต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น