บุตร ๓
๑. อติชาตบุตร บุตรที่ยิ่งกว่าบิดามารดา, ลูกที่ดีกว่าเลิศกว่าพ่อแม่
๒. อนุชาตบุตร บุตรที่ตามเยี่ยงบิดามารดา, ลูกที่เสมอด้วยพ่อแม่
๓. อวชาตบุตร บุตรที่ต่ำลงกว่าบิดามารดา, ลูกที่ทราม
ที่มา พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลธรรม (ป.อ.ปยุตโต)
---------------------------------------------------------------------------
ลูกสามประเภทในพุทธศาสนา
ในพระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๗ ขุททกนิกาย ขุททกปาฐ-ธรรมบท-อุทาน ปุตตสูตร ข้อ ๒๕๒ หน้า ๒๕๗ พระพุทธองค์ได้ตรัสสอนเกี่ยวกับลูกว่ามีอยู่สามประเภท คือ อติชาตบุตร อนุชาตบุตร และอวชาตบุตร ดังนี้
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็อติชาตบุตร เป็นอย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย มารดาบิดาของบุตรในโลกนี้ ไม่ถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ว่าเป็นสรณะ ไม่งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ การดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท เป็นผู้ทุศีล มีธรรมอันลามก ส่วนบุตรของมารดาและบิดาเหล่านั้น เป็นผู้ถึงพระพุทธเจ้า พระธรรมพระสงฆ์ ว่าเป็นสรณะ งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกามพูดเท็จ การดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท มีศีล มีธรรมอันงาม ดูกรภิกษุทั้งหลาย อติชาตบุตรเป็นอย่างนี้แล ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อนุชาตบุตรเป็นอย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย มารดาบิดาของบุตรในโลกนี้ ถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ว่าเป็นสรณะ งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ การดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท มีศีล มีธรรมอันงาม ส่วนบุตรของมารดาบิดาเหล่านั้น ถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ว่าเป็นสรณะ งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ การดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท เป็นผู้มีศีล มีธรรมอันงาม ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนุชาตบุตรเป็นอย่างนี้แล ฯ
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็อวชาตบุตรเป็นอย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย มารดาบิดาของบุตรในโลกนี้ ถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ว่าเป็นสรณะ งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ การดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท เป็นผู้มีศีล มีธรรมอันงาม ส่วนบุตรของมารดาบิดาเหล่านั้น ไม่ถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ว่าเป็นสรณะ ไม่งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ การดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท เป็นผู้ทุศีล มีธรรมอันลามก ดูกรภิกษุทั้งหลาย อวชาตบุตรเป็นอย่างนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุตร ๓ จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก ฯ
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความนี้แล้ว ในพระสูตรนั้น พระผู้มีพระภาค ตรัสคาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
บัณฑิตทั้งหลาย ย่อมปรารถนาอติชาตบุตร และอนุชาตบุตร
ไม่ปรารถนาอวชาตบุตร ซึ่งเป็นผู้ทำลายตระกูล ส่วนบุตร
เหล่าใดเป็นอุบาสก บุตรเหล่านั้นแลชื่อว่าเป็นบุตรในโลก
บุตรเหล่านั้นมีศรัทธา ถึงพร้อมด้วยศีล ผู้ (โอบอ้อมอารี)
รู้ความประสงค์ ปราศจากความตระหนี่ ย่อมรุ่งเรืองใน
บริษัททั้งหลาย เปรียบเหมือนพระจันทร์พ้นแล้วจากเมฆ ฉะนั้น ฯ
เนื้อความแม้นี้พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้ว ฉะนี้แล ฯ
ที่มา http://www.crs.mahidol.ac.th/thai/parsit06.htm
เครื่องวัดประเภทของความเป็นบุตร
ถาม : ท่านกล่าวว่า “บุตรมี ๓ ประเภท คือบุตรที่ต่ำกว่าบิดามารดา บุตรที่เสมอด้วยบิดามารดา บุตรที่เหนือกว่าบิดามารดา” ตรงนี้เอามาตรฐานอะไรเป็นเครื่องวัด ?
ตอบ : การปฏิบัติของลูก ถ้าหากว่าลูกมี ทาน ศีล ภาวนา น้อยกว่าหรือไม่เอาความดีเลย ก็ถือว่าเป็น “อวชาตบุตร” คือต่ำกว่าบิดามารดา
ถ้าหากว่ามีความดีใน ทาน ศีล ภาวนา เสมอใกล้เคียงกับบิดามารดา เขาเรียกว่า “อนุชาติบุตร”
ถ้าทำได้ ดีกว่า พิเศษกว่า เขาเรียกว่า “อภิชาตบุตร”
ถาม : แล้วเรื่องรวยจนไม่เกี่ยว ?
ตอบ : รวยจนไม่เกี่ยว ถ้าหากว่าฐานะจน แต่ประเภทอยู่ในศีล กินในธรรม จนแต่โลกียทรัพย์ โลกุตรทรัพย์เขารวยกว่าคุณเยอะเลย
สนทนากับพระเล็ก สุธมฺมปญฺโญ
เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๖ (ต่อ)
ณ บ้านอนุสาวรีย์ฯ
ที่มา : http://www.grathonbook.net/book/80.3.html
มงคลที่ ๑๒ เลี้ยงดูบุตร
ถ้าลูก ทำดี คนทั้งหลายก็ชมมาถึงพ่อแม่ว่าเลี้ยงลูกดีความสุขกายสบายใจก็ติดตามมาเพราะ ลูก ความดีบุญกุศลก็ไหลมาเพราะลูก แต่ถ้าลูกทำชั่วช้าเลวทราม คนทั้งหลายก็แช่งด่ามาถึงพ่อแม่ สร้างความลำบากให้พ่อแม่ ทั้งทรัพย์สินเงินทองชื่อเสียงเสียหายไปเพราะลูก พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงชี้ว่า สิริมงคลของคนที่เป็นพ่อแม่อยู่ที่ลูกและในทางตรงข้ามถ้าไม่ป้องกันแก้ไขให้ ดีแล้วอัปรีย์จัญไรก็จะมาจากลูกนั่นเหมือนกัน
ทำไมจึงต้องเลี้ยงดูบุตร
วันหนึ่งเราต้องแก่และตาย สิ่งที่อยากได้กันทุกคนคือ ความปีติ ความปลื้มใจ ไว้หล่อเลี้ยงใจให้สดชื่น ความปลื้มปีติจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อได้เห็น ผลแห่งความดี หรือผลงานดีๆที่เราทำไว้
สุดยอดผลงานของนักปฏิบัติธรรม คือ การกำจัดกิเลสในตัวให้หมด
สุดยอดผลงานของชาวโลก คือ การมีลูกหลานเป็นคนดี
ความหวังสุดยอดของชาวโลก
๑. บุตรที่เราเลี้ยงมาแล้วจักเลี้ยงตอบแทน
๒. บุตรที่เราเลี้ยงมาแล้วจักทำกิจแทนเรา
๓. วงศ์ตระกูลของเราจักดำรงอยู่ได้นาน
๔. บุตรจักปกครองทรัพย์มรดกแทนเรา
๕. เมื่อเราละโลกไปแล้วบุตรจักบำเพ็ญทักษิณาทานให้
เพราะเล็งเห็นฐานะ ๕ ประการนี้ บิดามารดาจึงอยากได้บุตร
ประเภทของบุตรแบ่งโดยความดีในตัวได้เป็น ๓ ชั้นดังนี้
๑. อภิชาตบุตร คือ บุตรที่ดีมีคุณธรรมสูงกว่าบิดามารดา เป็นบุตรชั้นสูง สร้างความเจริญแก่วงศ์ตระกูล
๒. อนุชาตบุตร คือ บุตรที่มีคุณธรรมเสมอบิดามารดา เป็นบุตรชั้นกลาง ไม่สร้างความเจริญแก่วงศ์ตระกูล แต่ก็ไม่ทำให้เสื่อมลง
๓. อวชาตบุตร คือ บุตรที่เลว มีคุณธรรมต่ำกว่าพ่อแม่ เป็นบุตรชั้นต่ำ นำความเสื่อมเสียมาสู่วงศ์ตระกูล
องค์ประกอบให้ได้ลูกดี
๑. ตนเองต้องเป็นคนดี ทำบุญมาดีจึงได้ลูกดี เด็กที่เกิดในท้องแม่จะมีคุณธรรมในใจที่ติดตัวมาในระดับใกล้เคียงกับของพ่อ แม่ ดังนั้นพ่อแม่ที่ต้องการได้ลูกดี ก็ต้องขวนขวายสร้างความดีไว้มากๆ ยิ่งพ่อแม่สร้างบุญมากเท่าไหร่ โอกาสที่จะได้ลูกดีก็มากเท่านั้น
๒. การเลี้ยงดูอบรมดีมี ๒ ทาง คือ
วิธีเลี้ยงดูทางโลก
๑. กันออกจากความชั่ว หมายถึง ป้องกัน กีดกัน คือ ไม่เพียงแต่ห้าม หากต้องดำเนินการทุกวิถีทางที่จะไม่ให้ลูกตกไปสู่ความชั่ว
๒. ปลูกฝังลูกในทางที่ดี หมายถึง ให้ลูกประพฤติดี มีศีลธรรม พ่อแม่ต้องพยายามเล็งเข้าหาใจของลูก เพราะใจเป็นตัวควบคุมการกระทำของคน ที่ว่าเลี้ยงลูกให้ดี คือ ทำใจของลูกให้ดีนั่นเอง พ่อแม่ต้องปลูกใจลูก จึงจะเป็นการปลูกฝังลูกในทางที่ดีซึ่งทำได้โดย
- กระทำตนเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ลูก
- เลือกคนดีให้ลูกคบ
- หาหนังสือดีให้ลูกอ่าน
- พาลูกไปหาบัณฑิต เช่น พระภิกษุ ครูบาอาจารย์ที่ดี
๓. ให้ลูกได้รับการศึกษา คือ ให้ลูกได้เล่าเรียน เพื่อให้มีความรู้สามารถช่วยตัวเองต่อไปได้
๔. จัดแจงให้ลูกแต่งงานกับคนดี ความหมายในทางปฏิบัติมีอยู่ ๒ ขั้นตอน คือ
- พ่อแม่ต้องเป็นธุระในการแต่งงานของลูก ช่วยหาสินสอดทองหมั้นให้
- พ่อแม่ต้องพยายามให้ลูกได้คู่ครองที่ดี ปรึกษาหารือและตกลงกัน พ่อแม่ควรเป็นเพียงที่ปรึกษา ไม่เจ้ากี้เจ้าการจนเกินงามต้องให้ลูกได้แต่งงานกับคนที่เขารัก เพราะความรักเป็นมูลฐานของการสมรสฝ่ายลูกจะเลือกใครก็ต้องให้พ่อแม่เห็นชอบ ด้วย
"คนที่เราไม่ชอบแต่ลูกรัก ดีกว่าคนที่เรารักแต่ลูกไม่ชอบ"
เว้นแต่คนที่ลูกปลงใจรักเป็นคนเลว หลอกลวงจะชักนำลูกเราไปในทางเสีย อย่างนี้ต้องห้าม แม้ว่าลูกจะรักก็ตาม
๕. มอบทรัพย์มรดกให้เมื่อถึงกาลอันสมควร เมื่อถึงเวลาควรให้จึงให้ ถ้ายังไม่ถึงเวลาอันควรให้ก็อย่าเพิ่งให้ เช่น ถ้าลูกยังประพฤติชั่ว หมกมุ่นอยู่ในอบายมุข ก็รอให้เขากลับตัวได้เสียก่อนแล้วจึงให้
วิธีเลี้ยงดูลูกในทางธรรม
๑. พาลูกเข้าวัดเพื่อศึกษาหาความรู้ทางศาสนา
๒. ชักนำลูกให้สวดมนต์ก่อนนอนทุกคืน
๓. ชักนำให้ลูกทำบุญ เช่น ตักบาตร รักษาศีล
๔. ชักนำให้ลูกทำสมาธิภาวนา
๕. ถ้าลูกเป็นชายให้บวชเป็นสามเณรหรือเป็นพระภิกษุ แล้วเข้าปฏิบัติกรรมฐาน
ข้อเตือนใจ
๑. รักลูกแต่อย่าโอ๋ลูก อย่าตามใจลูกเกินไป
๒. อย่าเคร่งระเบียบจนเกินไป รู้จักผ่อนสั้นผ่อนยาว
๓. ให้ความอบอุ่นแก่ลูกให้เพียงพอ ไม่ว่างานจะยุ่งมากเพียงไรก็ต้องหาเวลาให้ลูก
๔. เมื่อเห็นลูกทำผิด การตำหนิทันทีจำเป็นมาก จะได้แก้ไขทันท่วงที แต่ต้องใช้เหตุผล อย่าใช้อารมณ์ และเมื่อเห็นลูกทำดี ก็ชมเพื่อให้เกิดกำลังใจ
๕. ต้องฝึกให้ลูกทำงานตั้งแต่ยังเล็ก การปล่อยให้เด็กอยู้อย่างสบายเกินไป มีเวลาว่างมากเกินไป จะกลับเป็นผลเสียต่อเด็ก โตขึ้นจะช่วยตัวเองไม่ได้
๖. การเลี้ยงดูลูกให้แต่ปัจจัย ๔ ยังไม่พอ จะต้องให้ธรรมะแก่ลูกด้วย
อานิสงส์การเลี้ยงดูบุตร
๑. พ่อแม่จะได้ความปีติภาคภูมิใจเป็นเครื่องตอบแทน
๒. ครอบครัวจะสงบร่มเย็นเป็นสุข
๓. ประเทศชาติจะมีคนดีไว้ใช้
๔. เป็นต้นแบบที่ดีงามของสังคมสืบไปตลอดกาลนาน
ที่มา http://www.oknation.net/blog/ngern42/2007/11/30/entry-1
เทคนิคทำให้ลูกภูมิใจในตนเอง
บทความโดย พญ.สินดี จำเริญนุสิต
เด็กที่ฉลาด ร่างเริง ยิ้มแย้มแจ่มใส เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ น่ารักสมวัย จะเป็นเด็กที่มองโลกในแง่ดี คิดบวก มีความภาคภูมิใจในตนเอง และมองเห็นคุณค่าในตัวเอง ปัจจัยเหล่านี้เป็นพื้นฐานสำคัญต่อทัศนคติที่จะส่งผลต่อความสำเร็จในอนาคต ของลูกได้
การสังเกตพฤติกรรมที่เกี่ยวกับความ รู้สึกภาคภูมิใจในตนเองของเด็กๆ ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่พ่อแม่ผู้ปกครองควรศึกษาทำความเข้าใจ พญ.สินดี จำเริญนุสิต กุมารแพทย์เฉพาะทางด้านพัฒนาการและพฤติกรรม โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวถึงเรื่องความภาคภูมิใจในตนเอง หรือ Self esteem ว่าคือการค่อยๆ เก็บสะสมความคิด ความเชื่อ ความรู้สึกที่มีต่อตนเองตั้งแต่เล็กจนโต ซึ่งมีผลต่อการแสดงออกในทุกๆ ด้านของคนคนหนึ่ง ที่ว่าเริ่มตั้งแต่เล็กนี้ก็คือตั้งแต่ยังเป็นเด็กทารก เด็กเรียนรู้ที่จะพลิกคว่ำพลิกหงาย ลองแล้วลองอีกจนในที่สุดก็ทำได้ ขณะนั้นเองที่เด็กเริ่มหล่อหลอมความเชื่อว่า "หนูทำได้" รับรู้ว่าตนเองก็มีความสามารถ
อย่าง ไรก็ตามความภาคภูมิใจในตนเองนี้ต้องมาพร้อมกับความรู้สึกว่าตนเองมีค่าหรือ ได้รับความรักด้วย นั่นคือขณะที่เด็กโตขึ้น เขาหล่อหลอมความเห็นเกี่ยวกับตนเองผ่านคำพูดหรือการแสดงออกของคนอื่นที่มี ต่อเขา ดังนั้นการที่ได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีความรัก ความอบอุ่น พ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูมีส่วนอย่างมากที่จะปรับมุมมองที่เขามีต่อตนเองได้
เด็ก ที่มีความภาคภูมิใจในตนเองจะรู้สึกดีกับตนเอง มองโลกในแง่ดี ร่าเริง ยิ้มแย้มแจ่มใส แต่เด็กที่มีความภาคภูมิใจในตนเองต่ำ เด็กจะรู้สึกไม่ปลอดภัย กังวลหรือหวาดกลัวได้ง่าย จะรู้สึกว่า ชั้นไม่เก่งพอ ชั้นไม่ดีพอ ชั้นทำไม่ได้หรอก ดังนั้นในฐานะที่เป็นพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดู คุณมีบทบาทสำคัญที่สุดในการสร้างความมั่นใจให้แก่เด็ก
วิธี การในการแสดงออกในสถานการณ์ต่างๆของเด็ก เป็นตัวบ่งบอกการมีความภาคภูมิใจในตนเอง หากพ่อแม่ได้ทราบลักษณะบางอย่างที่บ่งบอกว่าเด็กมีระดับของความภาคภูมิใจใน ตนเองในระดับไหน ก็จะทำให้พ่อแม่เสริมความมั่นใจให้แก่เด็กได้อย่างถูกทาง
ลักษณะของเด็กที่มีความภาคภูมิใจในตนเองต่ำ
-หลีกเลี่ยงการเข้าร่วมกิจกรรมใหม่ๆ หรือไม่คุ้นเคย
-มองว่าตนเองไม่มีความสามารถ หรือคิดในแง่ลบไว้ก่อน เช่น "ชั้นทำไม่ได้หรอก", "ไม่มีใครสนใจหนูหรอก"
-ถ้าตนเองทำผิดก็อาจจะโทษคนอื่น มองโลกในแง่ร้าย
-ง่ายต่อการถูกผู้อื่นชักนำ
-หงุดหงิด คับข้องใจได้ง่ายๆ หรือยอมแพ้ง่ายๆ
-อ่อนไหวต่อคำวิจารณ์
-รู้สึกไม่พอใจรูปร่างลักษณะของตนเอง
-ไม่ค่อยมีส่วนร่วมในห้องเรียน
ลักษณะของเด็กที่มีความภาคภูมิใจในตนเองสูง
-ชอบที่จะมีส่วนร่วมในกิจกรรมใหม่ๆ อยู่เสมอ หรือการพบปะผู้คนมากหน้าหลายตา -ภูมิใจในความสำเร็จของตนเอง
-เรียนรู้จากความผิดพลาดของตนเอง ยอมรับจุดเด่นและจุดด้อยของตนเอง
-ยอมรับกับคำวิจารณ์ และมักพูดได้เต็มปากว่า "หนูไม่เข้าใจ" แทนที่จะเป็น "หนูมันโง่"
-มั่นใจในรูปร่างลักษณะของตนเอง
** จำไว้ ว่าเด็กไม่สามารถคิดหรือทำได้อย่างผู้ใหญ่ ดังนั้น คาดหวังพวกเขาตามความเป็นจริง หลีกเลี่ยงการวิพากษ์วิจารณ์ที่มากเกินไป
แล้วความภาคภูมิใจในตนเองมีผลกระทบอะไรต่อเด็ก?
ระดับ ของความภาคภูมิใจในตนเองมีผลกระทบต่อชีวิตและบุคลิกภาพของเด็กแตกต่างกัน ถ้าเด็กที่ดูขาดความมั่นใจ เขาก็มีแนวโน้มที่จะกลัวสิ่งแวดล้อมใหม่ๆและโอกาสใหม่ๆ ทำให้เป็นการจำกัดความรู้ความสามารถของตนเองไปโดยปริยาย ส่วนเด็กที่มีความมั่นใจ ก็มักจะชอบเผชิญกับสถานการณ์ใหม่ๆ ด้วยทัศนคติในทางบวก
ความภาคภูมิใจในตนเองกับแง่มุมที่อาจกระทบกับเด็ก ได้แก่
-ความสัมพันธ์กับผู้อื่น
-ทัศนคติ
-ความสามารถในการตัดสินใจหรือการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
-การเผชิญกับสิ่งใหม่ๆ
-ความคิดสร้างสรรค์
-การตอบสนองต่อแรงกดดันจากกลุ่มเพื่อน
-ความสามารถในการไปให้ถึงเป้าหมาย
-การประสบความสำเร็จในโรงเรียน
กุญแจสร้างความภาคภูมิใจในตนเอง
มุมมองที่คนจะมีต่อตนเองนั้นหล่อหลอมมาจากสิ่งที่พวกเขาได้ยินหรือประสบการณ์ในวัยเด็ก ดังนั้นผู้ปกครองสามารถช่วยเด็กได้ โดย
-ช่วยให้เขาเรียนรู้และยอมรับเอกลักษณ์เฉพาะของตนเอง
-เป็นตัวอย่างที่ดีของผู้ที่มีความมั่นใจในตนเองให้แก่ลูกผ่านคำพูดหรือการแสดงออก
-แสดงออกถึงความรักที่มีต่อเขาบ้าง
-พยายามสนับสนุนหรือชมเชยความพยายามของเขาด้วย ไม่ใช่มองไปที่ผลอย่างเดียว
-หลีกเลี่ยงการเปรียบเทียบกับพี่น้อง เพื่อนของเขา
-ปล่อย ให้เด็กได้ตัดสินใจเองหรือแสดงออกอย่างอิสระ เพื่อจะได้เรียนรู้ความผิดพลาดด้วยตนเองบ้าง (ภายใต้ดุลยพินิจของผู้ปกครอง)
-ใช้คำพูดที่คอยส่งเสริมเขาหรือเป็นไปในเชิงบวก เพราะเด็กอ่อนไหวต่อคำพูดของพ่อแม่มาก
-ให้ ความสนใจลูกบ้าง เพราะการที่เราให้ความสนใจเขา นั่นคือการที่เรายืนยันว่าเขามีค่าสำหรับเราแค่ไหน การมีเวลาให้กับเขาแสดงให้เห็นว่าเขามีความสำคัญกับคุณ การจะแสดงออกซึ่งความรักนี้อาจทำได้โดยการพูดคุย การเล่น การแสดงอารมณ์ความรู้สึกออกมา
การช่วยเหลือเด็กอาจทำได้โดยการเปิดโอกาสให้เขาได้เรียนรู้ทักษะใหม่ๆด้วยตนเอง ตามวัย ดังนี้
แรกเกิด-5 ปี
-ส่ง เสริมพัฒนาการและการเจริญเติบโตของเขา เช่น การหัวเราะ การพลิกคว่ำพลิกหงาย การคลาน การลุกนั่ง การเดิน การเล่นของเล่น การใช้ช้อน การดื่มน้ำจากแก้ว การใช้คำต่างๆในการพูดคุยสื่อสารหรือบอกความต้องการและการอยู่ร่วมกับผู้ อื่น
-ตอบสนองความต้องการของลูกทั้งทางกายและจิตใจ
-ให้เด็กได้มีโอกาสทำกิจกรรมต่างๆด้วยตนเอง เช่น งานศิลปะ
-ให้เด็กได้มีส่วนร่วมในการช่วยเหลืองานบ้าน เช่น จัดโต๊ะ หรือเก็บผ้า
เด็กวัยประถม
-ฉลอง ความสำเร็จเล็กๆน้อยๆบ้าง เช่น นักเรียนดีเด่นประจำเดือน, ว่ายน้ำเป็นแล้ว, ขี่จักรยานได้ หรือทำคะแนนได้ดีขึ้นที่โรงเรียน
-อนุญาตให้เด็กได้ช่วยงานบ้านหรือมีหน้าที่ในบ้าน เช่น เก็บจาน ให้อาหารสัตว์ ช่วยดูน้อง จัดโต๊ะ
-ได้เข้าร่วมงานสำคัญบ้าง เช่น กิจกรรมโรงเรียน กีฬาสี
-ชมเชยหรือสนับสนุนความพยายามของลูกบ้าง เช่น นั่งอ่านหนังสือในเวลาว่าง การมีน้ำใจคิดถึงคนอื่น ทำการบ้านที่มอบหมายเสร็จ
เด็กวัยรุ่น
-ให้รับผิดชอบงานในบ้านบ้าง เช่น ทำกับข้าวง่ายๆ
-อาจจัดให้มีระบบรุ่นพี่ช่วยเหลือรุ่นน้อง เช่น การช่วยสอนน้องอ่านหนังสือ
-ฉลองความสำเร็จเล็กๆน้อยๆบ้าง เช่น เข้าร่วมแข่งกีฬาได้เหรียญ
-ชมเชยหรือสนับสนุนความพยายามของลูก เช่น การตัดสินใจเรื่องบางเรื่อง การบริหารเงินออม ผลในระยะยาว
-เมื่อเด็กรู้สึกมั่นใจที่จะแสดงความคิดเห็นของตนเอง เขาจะสามารถคุยกับพ่อแม่ได้อย่างเปิดเผยมากขึ้น
-การมีความภาคภูมิใจในตนเองสามารถช่วยให้เด็กมั่นใจทัศนคติหรือคุณค่าของตนเองพอที่จะรับมือกับแรงกดดันจากกลุ่มเพื่อน
-เด็กเคารพความแตกต่างของบุคคล
-การที่ไม่ถูกเปรียบเทียบกับพี่น้องหรือเพื่อน จะทำให้เด็กมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่น ไม่รู้สึกอิจฉาหรือโกรธง่ายๆ
**เวลาชมเด็ก ทำให้เขามั่นใจว่าเขาเป็นคนพิเศษไม่ว่าเขาจะมีรูปร่างหน้าตาหรือลักษณะอย่างไรก็ตาม
**เวลา จะฝึกวินัยเขา ตำหนิพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ ไม่ใช่ไปตำหนิที่ตัวเด็ก เช่น ควรพูดว่า "ลูกห้ามตีพี่เขา" แทนที่จะพูดว่า "ทำไมเกเรอย่างนี้นะ"
** ให้ความสนใจกับงานหรือกิจกรรมของลูก เพื่อให้เขารู้สึกว่าเขามีความสำคัญกับคุณ
** อย่างไรก็ตาม อย่าแสดงออกถึงความรักมากจนเกินไป หรือเพิกเฉยต่อพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ เพราะอาจทำให้เกิดนิสัยที่ไม่ดีตามมา ควรเดินทางสายกลางไว้
ที่มา http://www.tamdee.net/main/read.php?tid-302-fpage-2.html
2011/2/4 MaiY
ทุกคนคงผ่านการเป็นลูกของคุณพ่อคุณแม่กันมาแล้ว บางคนอาจจะกำลังเป็นคุณพ่อคุณแม่เอง ในพระพุทธศาสนามีการกล่าวถึงความเป็นลูกด้วย คุณเป็นลูกประเภทไหน แล้วบางคนมีลูกประเภทไหนกันหนอ ถ้าคุณเป็นลูกที่ดี คุณก็น่าจะมีลูกที่ดี...
--
From: jupeter8855@hotmail.com
To: maiysjc@gmail.com
Subject: คำถาม บุตร
Date: Sun, 6 Feb 2011 16:40:16 +0700
ใน ครอบครัวมีพระสองรูป คือ พระพ่อ พระแม่ พ่อแม่เป็นพระประจำบ้านของลูก เป็นพระที่อยู่ใกล้เราตลอดเวลา เราต้องเอาใจใส่ ดูแลรักษาให้ท่านสะดวกสบาย ถือว่าท่านเป็นพระ เป็นเทวดา เราต้องเคารพบูชา คนที่หมั่นนึกถึงบุญคุณพ่อแม่ มักไม่กล้าทำความชั่วความผิด เพราะกลัวพ่อแม่จะร้อนใจ กลัวพ่อแม่จะเป็นทุกข์ จึงไม่ทำความชั่วความเสียหาย
ลูกมี ๓ ประเภท คือ
อวชาตบุตร บุตรที่มีฐานะและคุณธรรม ต่ำกว่า พ่อแม่
อนุชาตบุตร บุตรที่มีฐานะและคุณธรรม เท่า พ่อแม่
อภิชาตบุตร บุตรที่มีฐานะและคุณธรรม สูงกว่า พ่อแม่
หน้าที่ของลูก
- ท่านเลี้ยงเรามา เราต้องเลี้ยงท่านตอบ
- ช่วยทำกิจของท่าน
- ดำรงวงศ์ตระกูล
- ทำตนให้สมควรรับทรัพย์มรดก
เมื่อท่านล่วงลับไปแล้วทำบุญอุทิศไปให้
เด็กดี ๕ จำพวก
๑. เป็นลูกที่ดีของพ่อแม่
๒. เป็นศิษย์ที่ดีของครูอาจารย์
๓. เป็นเพื่อนที่ดีของเพื่อน
๔. เป็นพลเมืองที่ดีของชาติ
๕. เป็นสาวกที่ดีของพระศาสดา
อานิสงฆ์การมีความกตัญญู
๑. ทำให้รักษาคุณความดีเดิมไว้ได้
๒. ทำให้สร้างคุณความดีใหม่เพิ่มได้อีก
๓. ทำให้เกิดหิริโอตตัปปะ
๔. ทำให้เกิดขันติ
๕. ทำให้จิตใจผ่องใส มองโลกในแง่ดี
๖. ทำให้เป็นคนน่ารัก น่าเอ็นดู
๗. ทำให้ทั้งมนุษย์และเทวดาอยากช่วยเหลือ
๘. ทำให้เป็นที่สรรเสริญของบัณฑิต
๙. ทำให้เป็นที่น่าคบหาของคนดี
๑๐. ทำให้บรรลุมรรค ผล นิพพาน ได้โดยง่าย
"ต้นไม้ที่ใกล้ฝั่ง"
พ่อแม่ก็แก่เฒ่า จำจากเจ้าไม่อยู่นาน
จะพบจะพ้องพาน เพียงเสี้ยววารของคืนวัน
ใจจริงไม่อยากจาก เพราะยังอยากเห็นลูกหลาน
แต่ชีพมิทนทาน ย่อมร้าวรานสลายไป
ขอเถิดถ้าสงสาร อย่ากล่าวขานให้ช้ำใจ
คนแก่ชะแรวัย คิดเผลอไผลเป็นแน่นอน
ไม่รักก็ไม่ว่า เพียงเมตตาและอาทร
ให้กินและให้นอน คลายทุกข์ผ่อนพอสุขใจ
เมื่อยามเจ้าโกรธขึ้ง ให้นึกถึงเมื่อเยาว์วัย
ร้องไห้ยามป่วยไข้ ได้ใครเล่าเฝ้าปลอบโยน
เฝ้าเลี้ยงจนโตใหญ่ แม้เหนื่อยกายก็ย่อมทน
หวังเพียงจะได้ยล เติบโตจนสง่างาม
ขอโทษถ้าทำผิด ขอให้คิดทุกทุกยาม
ใจแท้มีแต่ความ หวังติดตามช่วยอวยชัย
ต้นไม้ที่ใกล้ฝั่ง มีหรือหวังอยู่นานได้
วันหนึ่งคงล้มไป ทิ้งฝั่งไว้ให้วังเวง
***************************
บ่อยครั้งที่มักตัดสิน ลูกๆ ว่า ก็เพราะเขาเป็นลูกคนโต หรือเพราะเป็นน้องเล็กสุดท้อง นิสัยเลยเป็นแบบนั้นเป็นแบบนี้วันนี้ขอนำเกร็ดความรู้ดีๆ เกี่ยวกับลักษณะนิสัยของลูกคนโต คนกลาง และคนเล็ก (โดยส่วนใหญ่) อย่างนั้นก็ลองมาดูสิว่านิสัยของลูกแต่ละคนเป็นอย่างไร
นิสัยลูกคนเดียว
ข้อดี : เป็นคนที่มุ่งมั่นในการทำงาน รู้จักจัดระเบียบให้กับชีวิต มีความรับผิดชอบ
ข้อเสีย : เป็นคนที่ค่อนข้างดื้อ เจ้าคิดเจ้าแค้น มักชอบเรียกร้อง และไม่ค่อยยอมรับความผิดพลาดของตัวเองทนต่อเสียงวิจารณ์ได้น้อยและค่อนข้าง sensitive
นิสัยลูกคนโต
ข้อดี : เป็นคนที่มีความเป็นผู้นำ ต้องการมีอำนาจหรือโดดเด่นเหนือคนอื่น เป็นคนที่มีความเที่ยงตรงและตรงต่อเวลา คนที่เป็นลูกคนโตมักยึดความถูกต้องเป็นหลัก
ข้อเสีย : มักเป็นคนที่หงุดหงิดง่าย ชอบใช้อำนาจหรือบีบบังคับเมื่อต้องการให้ใครทำอะไรให้ตัวเอง บางครั้งก็มักวางตัวว่ารู้ไปเสียทุกเรื่องจึงมักผิดพลาดได้ง่าย เพราะไม่ค่อยไว้วางใจคนอื่นเหมือนกับที่วางใจตัวเอง
นิสัยลูกคนกลาง
ข้อดี : เป็นคนที่น่าคบหา มีมนุษย์สัมพันธ์ดี และมักทำให้คนที่อยู่ด้วยมีความสุข ชอบใช้ชีวิตแบบเรียบง่ายเหมือนทะเลไร้คลื่น รักความสงบมีความเป็นมิตรให้กับคนรอบข้าง เป็นนักฟังที่ดีและมีความตั้งใจที่จะทำให้คนอื่นมีความสุขจึงมีแนวโน้มที่จะ เป็นนักแก้ปัญหาให้กับคนอื่นได้ดี
ข้อเสีย : มีความกระตือรือร้นน้อยกว่าคนที่เป็นลูกคนโตและเนื่องจากต้องการเป็นที่ยอม รับของคนอื่น จึงมักทำให้คนที่เป็นลูกคนกลางพยายามทำตัวตามความต้องการของคนอื่น หรือทำให้คนที่คบรอบข้าง มีความสุขจนเกินขอบเขต หากไม่เป็นไปอย่างที่คาดไว้จึงมักลงโทษตัวเอง หรือมองตัวเองในแง่ลบไป
นิสัยลูกคนเล็ก
ข้อดี : มักเป็นคนที่สนุกสนาน ร่าเริง มีความเป็นมิตรกับคนรอบข้าง เข้ากับคนได้ง่าย เป็นคนที่อบอุ่น น่าคบหา เป็นคนเปิดเผย จริงใจ
ข้อเสีย : มักเบื่อง่าย ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางค่อนข้างเอา แต่ใจ เมื่อคบหากับใคร ช่วงแรกๆ ก็ดูน่าตื่นเต้น น่าสนุกสนาน แต่เมื่อความสนุกสนานหมดไป ก็เหมือนงานเลี้ยงเลิกรา การสร้างความสัมพันธ์ที่จริงจังและเป็นความสัมพันธ์ระยะยาวจึงดูเป็นเรื่อง ยากสักหน่อย
เกี่ยวกับชีวิตคู่
คู่ที่เป็นลูกคนโตกับลูกคนโต : น่าจะไปด้วยกันได้ยาก ไม่ว่าฝ่ายหนึ่งจะเป็นฝ่ายเอาอกเอาใจ หรือหัวแข็งด้วยกันทั้งคู่ ดูเหมือนเส้นทางชีวิตคู่จะเต็มไปด้วยขวากหนามแห่งความไม่เข้าใจกัน
คู่ที่เป็นลูกคนโตกับลูกคนกลาง : จุดอันตรายของคนคู่นี้ อยู่ที่ว่าลูกคนกลางมักจะเป็นคู่รักที่ดีของทุก ๆ คน แต่เมื่อมาเจอกับคนที่เป็นลูกคนโต ซึ่งมักชอบวางอำนาจแม้ว่าคนที่เป็นลูกคนกลางจะยอมโอน อ่อนผ่อนตาม แต่นานๆ เข้าคนที่เป็นลูกคนกลางก็จะรู้สึกแย่ๆ กับตัวเอง และจะสูญเสียความเชื่อมั่นในตัวเองลง ความพยายามที่จะทำให้คู่รักที่เป็นลูกคนโตชื่นชอบ ก็จะหมดไปด้วย แต่อย่างไรก็ตามหากคนที่เป็นลูกคนกลางมีนิสัยค่อนไปทางลูกคนเล็กก็จะเป็นคู่ ที่ไปด้วยกันได้ดีทีเดียว
คู่ที่เป็นลูกคนโตกับลูกคนสุดท้อง : จัดว่าเป็นคู่ที่ผสมผสานได้อย่างลงตัวที่สุด เพราะคนที่เป็นลูกคนโตจะช่วยสอนให้คนที่เป็นลูกคนเล็กรู้จักการจัดระเบียบ ให้กับชีวิตซึ่งช่วยให้แก้ ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ดี ในขณะที่คนที่เป็นลูกคนเล็กก็จะนำความสนุกสนาน ร่าเริง มาให้คนที่เป็นลูกคนโต ก็ชีวิตไม่ได้มีแต่เรื่องซีเรียสนี่นา
คู่ที่เป็นลูกคนกลางทั้งคู่ : คู่นี้อาจจะเป็นไปได้ 2 ทางคือหากคนหนึ่งมีนิสัยค่อนไปทางลูกคนโตและอีกคนมีนิสัยค่อนไปทางลูกคนเล็ก คู่นี้จะเป็นคู่ที่เหมาะสมกันทีเดียว แต่ถ้าหากทั้งคู่เป็นคนที่ไม่ยืดหยุ่น ถึงแม้จะพอประคับประคองชีวิตคู่กันไปได้ แต่ต้องเก็บงำความเจ็บช้ำไว้ข้างในตามนิสัยของลูกคนกลางที่ไม่ค่อยพูดอะไร ออกมา คู่นี้ไม่มีปัญหาเรื่องการนอกใจกัน
คู่ที่เป็นลูกคนกลาง กับลูกคนสุดท้อง : ถ้าคนที่เป็นลูกคนกลาง มีลักษณะค่อนไปทางลูกคนโต คู่นี้จะเป็นคู่ที่เหมาะสมกันดี แต่หากเป็นแบบลูกคนกลางจริงๆ แล้ว ก็มักจะคล้อยตามให้เห็นดีเห็นงามกับการใช้ชีวิตในสไตล์ของลูกคนเล็กคือ มักจะขาดความรับผิดชอบและมักสร้างปัญหาให้เกิดขึ้นเนืองๆ และถ้าเป็นลูกคนกลางที่มีนิสัยค่อนไปทางลูกคนเล็กแล้วละก็ ชีวิตคู่ดูจะยุ่งยากทีเดียว
คู่ทีเป็นลูกคนเล็กด้วยกันทั้งคู่ : คนคู่นี้ ค่อนข้างร่าเริง มองโลกด้วยความสนุกสนาน แต่มักไม่ใช่พวกที่ชอบแก้ปัญหา เป็นคู่รักที่น่าอิจฉาแต่อาจจะเป็นคู่ชีวิตที่ไม่ยั่งยืนนัก
หมายเหตุ : บทความนี้เป็นการวิเคราะห์ทางจิตวิทยา ตรงบ้าง ไม่ตรงบ้าง คอยสังเกตนิสัยลูกๆ ว่าเป็นอย่างไรไม่ต้องซีเรียสกับการทายนะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : Dr. Kevin Leman จาก myfirstbrain
เจอแต่คนที่รักเรา เหงาจังที่ยังไม่เจอเธอ
รักไม่ต้องการเวลา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น