++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอาทิตย์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

อานิสงส์ของการแผ่เมตตา

สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในพระบาลีอังคุตตรนิกายว่า ผู้แผ่เมตตาเป็นประจำ ย่อมได้รับอานิสงส์ ๑๑ ประการ ดังนี้

๑.หลับเป็นสุข คือ หลับสบาย หลับสนิท

๒.ตื่นเป็นสุข คือเมื่อตื่นขึ้นมาก็สบายตัว สบายใจ หายอ่อนเพลีย ไม่มีอาการง่วงติดต่ออีก

๓.ไม่ฝันร้าย คือ จะไม่ฝันเห็นสิ่งเลวร้ายทำให้สะดุ้งตื่นกลางคัน หรือไม่ฝันหวาดเสียวต่าง ๆ

๔.เป็นที่รักของคนทั่วไป คือ จะเป็นคนมีเสน่ห์ ไปที่ใดก็ปราศจากศรัตรูผู้คิดร้าย แม้ผู้ไม่ชอบใจก็จะกลับมาชอบได้

๕.เป็นที่รักของอมนุษย์ทั่วไป คือแม้สัตว์ต่าง ๆ ก็รักผู้แผ่เมตตา ไม่ขบกัด ไม่ทำร้ายทำให้ปลอดภัยจากเขี้ยวงาทุกชนิด

๖.เทวดา รักษาคุ้มครอง คือ จะเดินทางไปไหนมาไหนเทวดาจะคุ้มครองให้ความปลอดภัยตลอดเวลาจะไม่ประสบ อุปัทวภัยต่าง ๆ ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ

๗.ไฟ ศาสตรา ยาพิษ ไม่แผ้วพาน คือสิ่งเหล่านี้จะทำอันตรายมิได้ จะปลอดภัยจากสิ่งเหล่านี้

๘.จิต เป็นสมาธิเร็ว คือ ผู้แผ่เมตตาเป็นประจำ ถ้าทำสมาธิ จิตจะสงบนิ่งได้เร็ว หรือจะอ่านหนังสือจะทำงานอันใดก็ตาม จิตจะไม่ฟุ้งซ่าน ย่อมตั้งใจได้เร็ว ทำงานนั้นสำเร็จสมประสงค์

๙.หน้าตาผิวพรรณจะผ่องใส คือผู้มีเมตตาจิตเป็นประจำ หน้าตาและผิวพรรณจะมีน้ำมีนวลมีเสน่ห์เรียกความสนใจได้ จะดูอิ่มเอิบตลอดเวลา แม้จะมีอายุมาก แม้รูปร่างจะไม่สวยงาม แม้จะไม่ได้รับการแต่งเติมด้วยเครื่องสำอางใด ๆ หน้าตาผิวพรรณก็ผ่องใสน่าดูน่าชมได้เสมอ

๑๐. ไม่หลงเวลาตาย คือเวลาใกล้ตาย จะไม่หลงเพ้อ ละเมอ หรือโวยวายอย่างนั้นอย่างนี้หรือไม่ดิ้นทุรนทุรายเป็นที่น่าเวทนาของผู้พบ เห็น จะสิ้นใจอย่างสงบเหมือนนอนหลับไป ฉะนั้น

๑๑.เมื่อไม่อาจบรรลุธรรมชั้นสูง ย่อมเข้าถึงพรหมโลก คือ ผู้มีเมตตาจิตเป็นประจำ
แม้ ไม่ได้บรรลุธรรมชั้นสูงขึ้นไปกว่านี้ ก็ย่อมจะไปบังเกิดในพรหมโลกอันเป็นที่เกิดของผู้ได้ฌานเพราะฉะนั้น ผู้ประสงค์เป็นที่รักเป็นที่นับถือของผู้อื่น หรือหวังความสุขความสงบความเยือกเย็นแห่งจิตใจจึงควรได้แผ่เมตตากันดูเถิด สร้างเมตตาธรรมไว้ในใจดีกว่าจะมานั่งเดือดร้อนใจด้วยไฟโกรธไฟริษยาอาฆาต และดีกว่าจะมาเสียเวลาหานะหาเมตตามหานิยม นะหน้าทอง เพื่อเพิ่มเสน่ห์ให้แก่ตัวเอง เพราะวิธีปลูกต้นเมตตานี้ ไม่ทำให้หนักตัวเพราะพกพาไป ไม่ต้องกลัวหาย และไม่ต้องกลัวถูกลักขโมย เพราะมีติดตัวติตใจประจำอยู่ตลอดเวลา.

วิธีการแผ่เมตตา

ท่าน สอนว่า การแผ่เมตตานั้นควรแผ่ให้ตนเองก่อน คือต้องปรารถนาความสุขให้แก่ตัวเองเสียก่อนโดยวิธีสร้างความรักตัวเองในทาง ที่ถูกที่ควร คือไม่ทรมานตัวเองด้วยการกระทำ ด้วยความคิดที่ผิด ๆ ทำตัวเองให้มีอำนาจทางจิตด้วยความดีเสียก่อน แล้วค่อย ๆ ขยายวงเมตตาออกไปยังผู้อื่น สัตว์อื่น ตามลำดับ แม้ผู้นั้นจะเป็นผู้ที่ตนไม่ชอบหรือเป็นศัตรูกันก็ตาม เพราะถ้าหากสามารถแผเมตตาไปให้แก่ผู้ไม่ถูกกันได้ นั่นแสดงว่าผู้นั้นได้ยกระดับจิตให้พ้นจากอำนาจความโกรธเคืองหรือความอิจฉา ริษยาได้แล้วด้วยเมตตา เพราะเมตตานี้เป็นเครื่องกำจัดกิเลสคือ โกธะความโกรธ โทสะ ความประทุษร้าย อรติ ความไม่ชอบใจด้วยอำนาจของความอิจฉาริษยาเสียได้ ต่อไปตัวเองก็จะประสบความสุขความสงบทางใจ ไม่มีความเดือดร้อนใจ ไม่มีความกระวนกระวายใจอะไรต่อไปอีก เพราะปล่อยวางความโกรธความไม่พอใจเสียได้แล้ว ซึ่งผิดกับตอนที่ยังโกรธอยู่ ยังอิจฉาริษยาเขาอยู่ ในตอนนั้นจิตใจจะมีแต่ความร้อนรุ่มกลุ้มอก กระวนกระวายใจ และไม่เป็นอันกินอันนอนอย่างเห็นได้ชัด

วิธีที่ท่าน สอนมา ท่านให้แผ่เมตตาทุกวัน อย่างน้อยก็ก่อนนอนทุกคืน ถ้าสามารถทำให้มากครั้งต่อวันได้ก็ยิ่งจะเป็นกำไรชีวิต เช่น นึกแผ่เมตตาทุกอิริยาบถ ขณะเดินไปตามถนนหนทาง ขณะนั่งรถไปทำงาน ขณะเดินทางไปต่างจังหวัด หรือขณะนั่งพักผ่อน ณ ที่ใดที่หนึ่งหลังจากว่างงาน เพราะในขณะนั้นจิตใจจะปลอดโปร่งเหมาะที่จะนึกแผ่เมตตาอย่างยิ่ง และในขณะนั้นเท่ากับว่าได้ทำกรรมฐานไปในตัวด้วย เพราะการแผ่เมตตานี้จัดเป็นกรรมฐานประการหนึ่ง ที่จะทำให้ใจสงบเย็นลงได้ และจะคอยควบคุมจิตใจให้นึกคิดไปในทางที่ถูกที่ควรได้รวดเร็ว ฉะนั้น แม้ว่าผู้แผ่เมตตาจะทำได้เพียงวันละเล็กวันละน้อย แต่ทำทุกวันจนติดเป็นนิสัย ก็จะได้รับประโยชน์อย่างมหาศาลอย่างหนึ่งเป็นแน่แท้
คำแผ่เมตตา (คำแปล)

ผู้ต้องการจะแผ่เมตตา ให้นึกถึงคำภาวนาต่อไปนี้แล้วนึกภาวนาไป ๆ จะกี่เที่ยวก็ตามต้องการยิ่งมากเที่ยวก็จะยิ่งทำให้จิตใจสงบยิ่งขึ้น ทำให้จิตมีอานุภาพมีพลังมากขึ้น

คำแผ่เมตตาให้แก่ตนเอง พร้อมคำแปล

อะหัง สุขิโต โหมิ - ขอให้ข้าพเจ้าจงมีความสุข
อะหัง นิททุกโข โหมิ - ขอให้ข้าพเจ้าจงปราศจากทุกข์
อะหัง อเวโร โหมิ - ขอให้ข้าพเจ้าจงปราศจากเวร
อะหัง อัพยาปัชโฌ โหมิ - ขอให้ข้าพเจ้าจงปราศจากความลำบาก
อะหัง อะนีโฆ โหมิ - ขอให้ข้าพเจ้าจงปราศจากอุปสรรค
สุขี อัตตานัง ปะริหะรามิ - จงรักษาตนให้มีความสุขตลอดกาลนานเทอญ

คำแผ่เมตตาให้แก่ผู้อื่น

สัพเพ สัตตา สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น
อะเวรา โหนตุ จงเป็นสุข เป็นสุขเถิด อย่าได้มีเวรแก่กันและกันเลย
อัพยาปัชฌา โหนตุ จงเป็นสุข เป็นสุขเถิด อย่าได้เบียดเบียน ซึ่งกันและกันเลย
อะนีฆา โหนตุ จงเป็นสุข เป็นสุขเถิดอย่าได้มีความทุกข์กายทุกข์ใจเลย
สุขี อัตตานัง ปะริหะรันตุ จงมีความสุขกายสุขใจรักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยสิ้นเถิด

การ แผ่เมตตาทั้งสองแบบนี้ จะใช้เพียงแบบใดแบบหนึ่งตามถนัดก็ได้ หรือจะนึกภาวนาเฉพาะภาษาไทย หรือภาษาบาลีอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้หรือทั้งสองอย่างก็ได้ ฯ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น