อดีตชาติขององค์สมเด็จพระสัมมาพระพุทธเจ้า ตอน อดีตชาติของ?พระสารีบุตร เป็นลูกศิษย์พรามณ์ปุโรหิต
และพระฤาษี คือเราตถาคตเอง
?"ความฝัน" ไม่ว่าจะดีหรือร้ายก็ตาม ยิ่งโดยเฉพาะ "ฝันร้าย" นั้น ไม่ใช่สิ่งที่จะสร้างโชคร้าย หรือ ทำความเลวร้าย ให้เกิดแก่
ชีวิตของเราได้เลย จึงไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องหวาดกลัวภัย จากฝันร้ายนั้น จนไปโดนหลอก ให้สะเดาะเคราะห์ ต้อง
เสียทรัพย์สินเงินทอง ต้องเสียเวล การทำงาน และต้องเสียท่า หมดเนื้อหมดตัว เป็นค่าโง่อีกมากมาย
ทั้งที่ตามความเป็นจริงแล้วนั้น พระพุทธองค์ตรัสสอนไว้ว่า ฝันร้ายนั้น เกิดจาก การหลับใหล ที่ขาดสติ นั่นเอง ดังนั้น หากเพียงคนเราฝึกจิตใจ ให้มีสติตั้งมั่น สร้างความมีเมตตา แก่มนุษย์ และสัตว์เสมอๆ อันเป็นบุญ เป็นกุศลอย่างมาก ก็จะส่งผลให้การนอนหลับ ไม่ฟุ้งซ่าน มีสติ ไม่ฝันร้ายไปเอง
ท่ามกลางคืนอันมืดมิดคืนหนึ่งในนครสาวัตถี พระเจ้าปเสนทิโกศล ขณะทรงบรรทม อยู่นั้นเอง ทรงสดับเสียง ของสัตว์นรก ๔ ตน ร้องโหยหวนทรมานว่า
"เมื่อไหร่หนอ พวกเราจะพ้นทุกข์นี้ได้ พวกเราเคยเป็นราชโอรส อยู่ในนครสาวัตถีนี้เอง แต่เพราะ มักมากในกาม เพลิดเพลินใจ ทำบาปกรรม ประพฤติเป็นชู้เมียคนอื่น จึงต้องถูก กงจักร คือความตาย ตัดทำลาย ต้องหมกไหม้ เกิดอยู่ในนรก เร่าร้อนเหลือเกิน"
พระราชาทรงสดับเสียงสัตว์นรกเหล่านั้นแล้ว ก็ทรงหวาดกลัวต่อมรณภัย สะดุ้งตื่นขึ้น จากบรรทม ทรงลุกขึ้น ประทับนั่ง อยู่อย่างนั้นแหละ กระทั่งรุ่งเช้า.....
เมื่อพราหมณ์ทั้งหลายมาเข้าเฝ้า พระราชาจึงตรัสเล่าถึงเสียงน่าหวาดเสียวทั้ง ๔ นั้น พวกพราหมณ์ ช่วยกันขีดเขียน คำนวณ ทำนายว่า
"ข้าแต่มหาราช เสียงจากนรกเหล่านี้ช่างหยาบช้าสาหัสนัก แม้พวกข้าพระองค์จะแก้ไขไม่ได้ แต่ก็สามารถ จะป้องกัน ไม่ให้เกิดภัยแก่พระองค์ได้ แต่ข้าพระองค์ทั้งหลายนี้ จะต้องจัดทำ พิธีบูชายัญ (การเซ่นสรวงเทพเจ้า ด้วยการฆ่าคน หรือสัตว์เป็นเครื่องบูชา) ด้วยเครื่องบูชา ๔ ทุกอย่าง พระเจ้าข้า"
ก็ด้วยความหวาดกลัวภัยในพระทัย พระราชาจึงทรงอนุญาตว่า
"ท่านพราหมณ์ทั้งหลายจงรีบจัดการเกิด แม้ต้องจับสัตว์เล็กสัตว์ใหญ่ ตั้งแต่นก ๔ แพะ ๔ วัว ๔ ช้าง ๔ กระทั่งถึง มนุษย์ ๔ คนก็ตาม จงกระทำความสวัสดี ให้เกิดขึ้นแก่เรา ให้จงได้"
บรรดาพราหมณ์รับพระดำรัสอย่างดีอกดีใจ ไปตระเตรียมขุดหลุมยัญ นำสัตว์เป็นจำนวนมาก ผูกไว้ที่ หลักประหาร ทำกันอย่างขวนขวาย อุตสาหะ แล้วคุยกันว่า
"พวกเราจะได้ทรัพย์มากก็คราวนี้แหละหนอ จะได้กินเนื้อสัตว์ที่ชื่นชอบ ถูกปากอีกต่างหาก"
พวกพราหมณ์จึงเที่ยววุ่นวายไปมา ว่าได้สิ่งนี้จึงควร ได้สิ่งนั้นจึงเหมาะดี บรรดาผู้คน ก็พากัน แตกตื่น พูดกันเซ็งแซ่ พอข่าวรู้ไปถึงพระนางมัลลิกาเทวี พระนางจึงทรงเข้าไป เฝ้าพระราชา แล้วทูลถามว่า
"ข้าแต่มหาราช เหตุใดหนอพวกพราหมณ์จึงดูร่าเริงยินดีกันเหลือเกิน เที่ยววุ่นวายกันอยู่"
พระราชารับสั่งตอบ อย่างไม่ทรงพอพระทัยนักว่า
"เทวี เรื่องนี้คงไม่มีประโยชน์อะไรแก่เธอกระมัง เธอจึงประมาทมัวเมา อยู่กับยศของตัวเอง ส่วนความทุกข์ มาตกอยู่กับตัวเราเท่านั้น"
พระนางมัลลิกาแม้ทรงได้ยินข่าวลือมา แต่มิใช่ประเภทคนตื่นข่าว หลงเชื่ออะไรง่ายๆ จึงทูลถามว่า
"ก็เรื่องอะไรเล่า มหาราชเจ้า
พระราชา จึงรับสั่งทันควัน
"เมื่อคืนเราได้ยินเสียงสัตว์นรก มาร่ำร้องทุกข์กับเรา แล้วพวกพราหมณ์ พยากรณ์ว่า จะมีอันตราย ร้ายแรง ถึงราชสมบัติ หรือถึงแก่ชีวิตเรา จึงต้องบูชายัญ ด้วยมนุษย์และสัตว์ อย่างละ ๔ ความสวัสดี จึงจะเกิดขึ้นแก่เรา ดังนั้น พวกพราหมณ์ จึงวิ่งวุ่น จัดหาเครื่องบูชา กันใหญ่"
พระนางมัลลิกาทรงแน่ชัดในเรื่องราวแล้ว ก็ทรงทัดทานถามขึ้น
"ข้าแต่มหาราช ก็แล้วพระองค์ได้ไปทูลถามความเรื่องนี้กับมหาพราหมณ์ ผู้เลิศทั้งในโลกนี้ ทั้งในเทวโลก แล้วละหรือ"
พระราชาทรงส่ายพระพักตร์ แล้วตรัสถามด้วยความสงสัย
"ดูก่อนเทวี ก็ใครเล่าเป็นมหาพราหมณ์ผู้เลิศยอดนั้น
"ก็คือพระสมณโคดม ผู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นสิ เพคะ
"เอ่อ....เรายังไม่ได้ทูลถามหรอกเทวี
พระนางมัลลิกาทรงรีบถือโอกาสนั้นทูลว่า "ถ้าอย่างนั้น ขอพระองค์โปรดเสด็จ ไปทูลถาม เรื่องนั้น กับพระผู้มี พระภาคเจ้า ด้วยพระองค์เอง โดยเร็วเถิด ก่อนพิธีกรรมบูชายัญ จะเริ่มขึ้น
พระราชาทรงเลื่อมใสในพระศาสดา และทรงเชื่อถือถ้อยคำของพระเทวี จึงเร่งเสวย พระกระยาหารเช้า แล้วเสด็จขึ้นทรงรถ ไปยังพระวิหารเชตวันทันที ทรงเข้าเฝ้า พระศาสดา ตรัสเล่า เรื่องเสียง ของสัตว์นรกทั้ง ๔ นั้น กับวิธีการป้องกันภัย ด้วยการบูชายัญ ให้ทรงทราบ พระพุทธองค์ จึงทรงเฉลยความจริง ให้เกิดปัญญา รู้แจ้งว่า "มหาบพิตร เหตุร้ายอะไรๆ จะไม่มีเกิดขึ้น แก่พระองค์เลย สัตว์นรกทั้ง ๔ เสวยทุกข์อยู่ จึงร้องเสียงอย่างนั้น เสียงจาก นรกเช่นนี้ ก็เคยมีพระราชาครั้งเก่าก่อน ทรงเคยสดับมาแล้วเหมือนกัน
พระเจ้าปเสนทิโกศลทูลอาราธนา พระศาสดาจึงทรงนำเรื่องเก่าก่อนนั้นมาตรัสเล่า
ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราช-สมบัติอยู่ในพระนครพาราณสี มีพราหมณ์ผู้หนึ่ง อยู่ในหมู่บ้าน กาสิกคาม เขาได้ประพฤติพรหมจรรย์ ละกามทั้งหลาย ออกบวชเป็นฤาษี ไปอาศัย อยู่ที่ป่าหิมพานต์ กระทำความเพียร บำเพ็ญฌาน (สภาวะสงบ อันประณีตยิ่ง) และอภิญญา (ความรู้ยิ่ง) กระทั่งบังเกิดขึ้น
คืนวันหนึ่ง ขณะที่พระเจ้าพรหมทัตบรรทมอยู่ ทรงได้สดับเสียงสัตว์นรก ๔ ตนคร่ำครวญขึ้น โดยสัตว์นรก ตนแรก กล่าวเฉพาะคำว่า "ทุ" เท่านั้น สัตว์นรกตนที่สอง ก็ร้องแต่คำว่า "ส" สัตว์นรกตนที่สาม ส่งเสียงว่า "น" และสัตว์นรกตนสุดท้าย โหยหวนอยู่กับคำว่า "โส" อย่างเดียว ทุกเสียง เต็มไปด้วย ความเจ็บปวดทรมาน น่าหวาดกลัวยิ่งนัก ทำให้พระองค์ ตื่นตระหนก ในพระทัย สะดุ้งตื่นจากบรรทม ประทับนั่งอยู่ จนกระทั่งฟ้าสว่าง
เมื่อพวกพราหมณ์ปุโรหิตมาเข้าเฝ้า พระเจ้าพรหมทัตก็ตรัสเล่า เสียงสัตว์นรกเหล่านั้น พราหมณ์ทั้งหลาย ก็กราบทูลวิธีเข้าในทำนองเดียวกันนั้นแหละ แล้วก็ไปเตรียม เครื่องบูชายัญ อันประกอบด้วย คนและ สัตว์มีชีวิต อย่างละ ๔ นั่นเอง
ในช่วงเวลานี้แหละ พระฤาษีผู้มีคุณอันวิเศษ ใช้ตาทิพย์(ตารู้แจ้ง) ตรวจดูชาวโลกแล้ว ได้รู้เห็น เหตุการณ์นี้เข้า จึงคิดว่า
"วันนี้เราควรกระทำเมตตาอันเป็นมหากุศล สร้างความสวัสดีแก่สัตว์โลก และ มหาชนทั้งหลาย"
แล้วแสดงฤทธิ์เดชอานุภาพ ไปปรากฏกายนั่งอยู่ ณ แผ่นศิลามงคลในพระราชอุทยาน ของพระเจ้าพรหมทัต
เช้านั้นเอง ศิษย์เอกของพราหมณ์ปุโรหิต ได้เข้าไปหาอาจารย์ของตน แล้วถาม อย่างสงสัยว่า
"ท่านอาจารย์ ในบทเรียนพระเวทของพวกเรานั้น ขึ้นชื่อว่าการฆ่าผู้อื่น ย่อมไม่สร้าง ความสวัสดี และ ความปลอดภัยให้ มิใช่หรือ"
พราหมณ์ปุโรหิตได้ยินลูกศิษย์ถามอย่างนั้น ก็รีบห้ามไว้ทันที แล้วบอกว่า
"เจ้าอย่าสนใจในเรื่องนั้นเลย จงพึงพอใจในราชทรัพย์ที่จะได้มาเถิด แล้วพวกเรา ก็ยังจะได้ กินปลา และเนื้อ อีกมากมาย เจ้าจงนิ่งๆเสียอย่าพูดมากไป"
แม้จะถูกอาจารย์ห้ามปรามอย่างนี้ เขาก็ยังมีความคิดว่า
"เราจะไม่ยอมมีส่วนในเรื่องนี้ด้วยแน่ๆ"
จึงเดินครุ่นคิดไปเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงพระราชอุทยาน ได้พบพระฤาษีนั่งอยู่ ก็กระทำปฏิสันถาร ด้วยอาการ เคารพ แล้วนั่งลง ที่ควรข้างหนึ่ง พระฤาษีจึงถามว่า
"มาณพเอ๋ย พระราชาครองราชสมบัติโดยธรรมดีอยู่หรือ
ศิษย์พราหมณ์นั้นก็ตอบตามความจริงว่า
"ท่านผู้เจริญ ที่จริงพระราชาก็ทรงครองราชย์โดยธรรม แต่เพราะเมื่อคืนนี้ พระองค์ทรง ได้ยินเสียง สัตว์นรก ๔ ตน แล้วทรงกลัวภัย จึงกระทำตามคำของ พราหมณ์ปุโรหิต ที่จะให้ทำ พิธีบูชายัญ ในวันนี้แหละ โดยจะฆ่ามนุษย์ และสัตว์เป็นจำนวนมาก เพื่อสร้างความสวัสดี ให้แก่พระองค์ โอ...ท่านผู้เจริญ ก็การที่พราหมณ์ ผู้ถือศีลดังเช่นกับท่าน บอกว่า การพ้น เคราะห์ร้าย แล้วเกิดความสวัสดีได้นั้น ต้องแลกมาด้วย ความตายของผู้อื่น อย่างนี้ เป็นการกล่าว อย่างสมควรดีแล้วหรือ
พระฤาษีส่ายหน้าแล้วตอบตามจริง
"ไม่สมควรเลย เพราะเรารู้จักเสียงของสัตว์นรกนั้นดี ว่าไม่สามารถก่อภัยร้ายได้ ถ้าพระราชา เสด็จมาหาเรา แล้วถาม เราก็จะทูลถวายให้พระราชา หมดสงสัยได้ แต่ทว่า.... พระราชา ไม่ทรงรู้จักเรา และแม้เรา ก็ไม่รู้จักพระราชา"
ได้ยินอย่างนั้น ด้วยความดีใจ ศิษย์ของพราหมณ์ปุโรหิต รีบกล่าวอย่างเร่งร้อนว่า
"ท่านผู้เจริญ ถ้าอย่างนั้น ท่านคอยอยู่ที่ตรงนี้แหละ ขอเวลากระผมสักครู่ จะไปเชิญพระราชา เสด็จมาหาท่าน โดยเร็วที่สุด
แล้วเขาก็รีบลุกไปทันที เร่งไปเข้าเฝ้าแล้วกราบทูลเรื่องทั้งหมดให้พระราชาทรงทราบ พระราชา ก็ทรงปรารถนา จะรู้ว่า เสียงของสัตว์นรก ๔ ตนนั้นกล่าวอะไร จึงเสด็จไปหาพระฤาษี ที่พระราชอุทยานทันที เมื่อถึง ก็ทรงกราบไหว้พระฤาษี แล้วประทับนั่งลง ในที่อันเหมาะควร ตรัสถามว่า
"พระคุณเจ้าผู้เจริญ ท่านสามารถรู้ถึงเสียงร้อง อันโหยหวนของสัตว์นรก ๔ ตน ที่ข้าพเจ้า ได้ยินมา จริงหรือ"
พระฤาษีรับคำว่า
"จริงแล้ว มหาบพิตร โปรดทรงสดับความจริงนี้เถิดว่า ในชาติก่อนของสัตว์นรกทั้ง ๔ ตนนั้น เป็นผู้ประพฤต ิผิดในกาม อยู่ที่นครพาราณสีนี่เอง มักขืนใจหญิง ที่คนอื่นเขาดูแลรักษาอยู่ เป็นชู้กับเมียของผู้อื่น เขาเสมอ ตายไป จึงเกิดอยู่ในนรกชื่อ โลหกุมภี ต้องถูกเคี่ยว จนร่างกาย เป็นฟอง อยู่ในหม้อน้ำด่างโลหะ ที่เดือดพล่าน เดี๋ยวก็จมลง เดี๋ยวก็ผุดขึ้น ถึงปากหม้อ ทนทุกข์ ทรมานอย่างยิ่ง แม้ต้องการจะบอกกล่าว มากมาย ก็ไม่อาจ กระทำได้ มีแต่เพียง ส่งเสียงร้อง ทุรนทุราย ออกมา ได้แค่คำเดียวเท่านั้น
ดังที่สัตว์นรกตนแรกกล่าวแต่คำว่า "ทุ" (ยาก) ได้คำเดียว ที่แท้ก็ต้องการจะกล่าวว่า......
เมื่อสมบัติทั้งหลายมีอยู่ พวกเราทั้งหลายไม่ได้ให้ทาน ไม่ได้ทำที่พึ่งที่ดี ให้แก่ตน บัดนี้ จึงต้องมีชีวิต เป็นอยู่ได้แสน "ยาก"
สัตว์นรกตนที่สองร้องแต่คำว่า "ส" (ทั้งปวง) หมายที่จะบอกว่า.....
เมื่อพวกเราทั้งหลายหมกไหม้อยู่ในนรก ตลอดหกหมื่นปีบริบูรณ์ โดยอาการ "ทั้งปวง" นี้ เมื่อใด ที่สิ้นสุด จะปรากฏหนอ
สัตว์นรกตนที่สามส่งเสียงว่า "น" (ไม่มี) ก็เพื่อที่จะแจ้งให้รู้ว่า.....
ดูก่อนพวกเราเอ๋ย ที่สิ้นสุด "ไม่มี" แล้วที่สุดจะมีได้ที่ไหน ที่สุดจะไม่ปรากฏหรอก เพราะใน กาลก่อนนั้น พวกเราได้กระทำ บาปกรรมไว้มาก
และสัตว์นรกตนที่สี่คร่ำครวญอยู่ว่า "โส" (ทำให้ดี) เพราะอยากที่จะพูดออกมาว่า....
หากเราไปจากที่นี้ได้ ถ้าได้กำเนิดเป็นมนุษย์ พอรู้ความรู้ภาษาแล้ว เราจะ "ทำให้ดี" ให้เป็นคน สมบูรณ์ด้วยศีล จะทำกุศล ให้มากทีเดียว
เหล่านี้แหละ คือเสียงของสัตว์นรกทั้ง ๔ ตน ที่พระองค์ทรงได้ยินเมื่อคืนนี้ ซึ่งต่างร่ำร้อง ถึงบาปกรรม อันใหญ่หลวงของตน และการได้รับทุกขเวทนา แสนสาหัส จากผลบาปนั้น เสียงโหยหวน เหล่านี้ จึงมิได้มีอันตรายใดๆ แก่พระองค์ อย่าทรงตกพระทัยกลัวเลย และทรง ให้เขาระงับ การกระทำ ปาณาติบาต ต่อมนุษย์ และสัตว์ทั้งหลายด้วยเถิด เพราะนั่น จะเป็นบาปอกุศล แก่พระองค์เอง มิใช่สร้าง ความสวัสดี แก่พระองค์เลย
พระราชาทรงตั้งใจรับฟัง แล้วพิจารณาตามธรรมนั้น ก็ทรงเกิดปัญญาได้คิดถูกต้องขึ้น จึงรับสั่ง ให้ปลดปล่อย มนุษย์และสัตว์ทั้งหมด ที่จะถูกนำมาบูชายัญนั้น แล้วป่าวประกาศ ไปทั่ว ให้ทำลายพิธีบูชายัญทิ้งไปเสีย
เมื่อพระฤาษีได้กระทำความปลอดภัย สร้างสวัสดีให้แก่มหาชน และสัตว์โลกทั้งหลายแล้ว ก็พักอยู่ที่ พระราชอุทยาน นั้นอีก ๒-๓ วัน จากนั้นจึงได้กลับคืน สู่ป่าหิมพานต์ เป็นผู้มี ฌานไม่เสื่อม บังเกิดอยู่ใน พรหมโลก
พระศาสดาครั้นทรงแสดงธรรมเทศนานี้แล้วก็ตรัสว่า
"ลูกศิษย์ของพราหมณ์ปุโรหิตในครั้งนั้น ได้มาเป็นพระสารีบุตรในบัดนี้ ส่วนพระฤาษี ได้มาเป็นเรา ตถาคตนี้เอง"
พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงได้ฟังธรรมนี้แล้ว ก็ทรงคลายหวาดกลัว ในเสียงของสัตว์นรกนั้น ทรงได้สติ ด้วยปัญญา ของพระองค์เอง ทรงรู้ว่า จะต้องรีบทำอย่างไร จึงได้นมัสการลา พระผู้มีพระภาคทันที
ณวมพุทธ?
อังคาร ๑๘ มิ.ย.๓๙(พระไตรปิฎกเล่ม ๒๗ ข้อ ๕๕๔ อรรถกถาแปลเล่ม ๕๘ หน้า ๔๖๕)
วันที่พระพุทธเจ้าทรงประทานตำแหน่งเอตทัคคะ และตำแหน่งพระอัครสาวกให้แก่พระสารีบุตร และพระมหาโมคคัลลานะนั้น มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า พระพุทธเจ้าทรงเลือกที่รักมักที่ชัง พระพุทธเจ้าตรัสว่า พระองค์มิได้เลือกที่รักมักที่ชังแต่ประการใด แต่ประทานให้ตามที่ทั้ง ๒ ท่าน ปรารถนามาแต่อดีตชาติ จากนั้นได้ตรัสเล่าเรื่องราวของพระอัครสาวกให้พระทั้งหลายฟัง
นับถอยหลังจากนี้ไปได้ ๑ อสงไขยกับ ๑๐๐,๐๐๐ กัป พระสารีบุตรเกิดเป็นพราหมณ์มหาศาลชื่อ ‘สรทะ’ ส่วนพระมหาโมคคัลลานะเกิดเป็นบุตรคหบดีมหาศาลชื่อ ‘สิริวัฑฒะ’ ทั้ง ๒ เป็นเพื่อนกันมาแต่เยาว์วัย
สรทะ เมื่อบิดาล่วงลับไปก็ได้ดูแลทรัพย์สมบัติแทน อยู่มาวันหนึ่งขณะอยู่ตามลำพังก็คิดถึงความเป็นไปของชีวิตในลักษณะต่างๆ แล้วสรุปได้ว่า
สรรพสัตว์และสรรพสิ่งต้องตายและแตกดับ
ไม่มีใครหรืออะไรจะรอดพ้นความตายและความแตกดับนั้นไปได้
เราก็เป็นหนึ่งในสรรพสัตว์และสรรพสิ่งนั้น
ฉะนั้นเราจึงควรออกบวช แสวงหาความรอดพ้นจากความตาย และความแตกดับนั้นให้ได้
ครั้นคิดได้อย่างนี้จึงเดินทางไปหาสิริวัฑฒะ เล่าให้ทราบถึงความคิดของตนแล้วชวนสิริวัฑฒะให้ออกบวชด้วย เมื่อสิริวัฑฒะบอกว่ายังไม่พร้อมจะออกบวช สรทะก็ยังไม่ล้มเลิกความตั้งใจ ครั้นกลับไปถึงบ้านก็ให้เปิดเรือนคลังเก็บรัตนะชนิดต่างๆ แล้วแจกจ่ายให้เป็นทานแก่คนทั่วไปพร้อมทั้งได้สละบ้านเรือนออกไปอยู่ป่า แล้วอธิษฐานจิตบวชเป็นฤาษีอยู่ในป่านั้นเอง โดยมีบุตรพราหมณ์จากตระกูลต่างๆ ออกบวชตามจำนวน ๗๔,๐๐๐ คน
ฤาษีสรทะได้ตั้งใจบำเพ็ญเพียรฝึกจิต จนในไม่ช้าก็ได้บรรลุอภิญญาและสมาบัติชั้นสูง จากนั้นได้สอนวิธีเพ่งกสิณให้แก่ฤาษีบริวาร จนฤาษีบริวารเหล่านั้นได้บรรลุอภิญญาและสมาบัติเช่นเดียวกับตน
ครั้งนั้นพระพุทธเจ้าอโนมทัสสีเสด็จอุบัติขึ้นในโลก เสด็จจาริกแสดงธรรมโปรดเวไนยสัตว์ไปตามสถานที่ต่างๆ วันหนึ่งทรงทราบด้วยพระญาณว่า ฤาษีสรทะพร้อมด้วยบริวารมีอุปนิสัยสามารถบรรลุธรรมได้จึงตัดสินพระทัยเสด็จ ไปโปรด
พระพุทธเจ้าอโนมทัสสีเสด็จไปแต่ลำพัง พระองค์ทรงมุ่งหวังที่จะให้ฤาษีสรทะเห็นเป็นอัศจรรย์และรู้ว่าพระองค์ คือพระพุทธเจ้า จึงทรงเหาะไปลงที่หน้าอาศรมของท่าน ให้ท่านเห็นกับตา ฤาษีสรทะมองดูนักบวชที่เหาะมาลงหน้าอาศรมของตนอยู่ไม่นาน ก็รู้ได้ตามมหาปุริสลักษณะว่า นักบวชรูปนี้ไม่ใช่คนธรรมดา แต่เป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้าต่างหาก จึงลุกขึ้นถวายการต้อนรับโดยปูลาดอาสนะถวาย แล้วกราบทูลให้เสด็จมาประทับนั่ง ส่วนฤาษีสรทะเองก็นั่งเฝ้าอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกล
พอดีเวลานั้นบรรดาฤาษีผู้เป็นศิษย์ที่ออกไปเก็บผลไม้พากันกลับมาถึง เห็นอาการนั่งของฤาษีสรทะผู้เป็นอาจารย์และนักบวชอาคันตุกะแล้วรู้สึกแปลกใจ
“ท่านอาจารย์” ฤาษีรูปหนึ่งพูดขึ้น “เมื่อก่อนพวกเราเที่ยวอวดใครต่อใครว่า ผู้ที่ยิ่งใหญ่กว่าอาจารย์ไม่มีอีกแล้ว แต่มาบัดนี้พวกเราเริ่มไม่แน่ใจ นักบวชรูปนี้เห็นจะยิ่งใหญ่กว่าท่านซินะ”
“พวกพ่อพูดอะไร” ฤาษีสรทะแสดงท่าขวยเขิน
“ทำไมเอาเขาพระสุเมรุมาเทียบกับเมล็ดพันธุ์ผักกาด ขอพวกพ่ออย่าได้เอาเราซึ่งเท่ากับเมล็ดพันธุ์ผักกาด ไปเทียบกับพระพุทธเจ้า ผู้อุปมาเหมือนเขาพระสุเมรุเลย”
เมื่อได้ฟังคำชี้แจงอย่างนั้น บรรดาฤาษีผู้เป็นศิษย์ต่างยอมรับความยิ่งใหญ่ของพระพุทธเจ้า จึงพร้อมกันหมอบกราบลงแทบพระบาทของพระพุทธเจ้า จากนั้นฤาษีสรทะได้บอกบรรดาฤาษีเหล่านั้นให้ช่วยกันจัดผลไม้นำมาถวายพระ พุทธเจ้า ท่านได้นำผลไม้ที่บรรดาศิษย์จัดมานั้น ไปน้อมถวายพระพุทธเจ้าด้วยตนเอง
หลังจากพระพุทธเจ้าอโนมทัสสีเสวยผลไม้แล้ว ฤาษีสรทะได้บอกบรรดาฤาษีผู้เป็นศิษย์ให้เข้ามาเฝ้าพระพุทธเจ้าใกล้ๆ พร้อมกัน พระพุทธเจ้าทรงมองดูฤาษีสรทะ พลางส่งพระทัยไปถึงพระสาวกผู้เป็นอัครสาวกให้มาเฝ้าพระองค์ พร้อมด้วยพระสงฆ์จำนวนมาก
ณ บัดนี้ พระอัครสาวกทั้ง ๒ ทราบพระพุทธดำริแล้ว ก็พร้อมด้วยพระอรหันต์ ๑๐๐,๐๐๐ รูป เดินทางมาเฝ้าพระพุทธเจ้าทันที ถวายบังคมแล้วก็ยืนเฝ้าอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกล
ฤาษีสรทะเห็นพระมากันเป็นจำนวนมาก ก็เกิดกุศลจิต จึงบอกบรรดาฤาษีผู้เป็นศิษย์ให้นำดอกไม้มาทำเป็นอาสนะถวายพระพุทธเจ้าและพระ สาวก บรรดาฤาษีผู้เป็นศิษย์เหล่านั้นก็เกิดกุศลจิตเช่นเดียวกับอาจารย์ จึงใช้อำนาจฤทธิ์นำดอกไม้หลายสีหลากกลิ่นมาจัดปูเป็นอาสนะดอกไม้ถวายพระ พุทธเจ้าและพระสาวกตามที่อาจารย์สั่ง และเมื่อการจัดอาสนะดอกไม้เสร็จเรียบร้อยแล้ว ฤาษีสรทะได้ยืนประนมมือต่อพระพักตร์ของพระพุทธเจ้าแล้วกราบทูลว่า
“ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ขอพระองค์ได้โปรดประทับนั่งบนอาสนะดอกไม้ เพื่ออนุเคราะห์ข้าพระองค์ด้วยเถิด”
พระพุทธเจ้าอโนมทัสสีประทับนั่ง ตามที่ฤาษีสรทะกราบทูล จากนั้นพระอัครสาวกและพระอรหันตบริวารก็ได้นั่งบนอาสนะที่สมควรแก่ตนตามลำดับ
ตามปกติทานที่ถวายแก่พระที่เพิ่งออกจากนิโรธสมาบัติย่อมมีผลมาก พระพุทธเจ้าอโนมทัสสีทรงมีพระประสงค์จะให้ทานของฤาษีสรทะและศิษย์เป็นเช่น นั้น จึงทรงเข้านิโรธสมาบัติ ฝ่ายพระอัครสาวกและพระอรหันต์ที่เหลือทราบว่าพระพุทธเจ้าทรงเข้านิโรธ สมาบัติ จึงเข้าตาม ขณะที่พระพุทธเจ้าและพระสาวกกำลังเข้านิโรธสมาบัติอยู่นั้น ฤาษีสรทะได้ยืนกั้นร่มดอกไม้ถวายตลอดเวลา ส่วนฤาษีผู้เป็นศิษย์ได้ยืนประนมมือเฝ้าพระพุทธเจ้าและพระสาวกตลอดเวลาด้วย เช่นกัน
พระพุทธเจ้าอโนมทัสสีทรงเข้านิโรธสมาบัติอยู่ ๗ วัน ครั้นออกแล้วได้รับสั่งให้พระนิสภเถระ พระอัครสาวกเบื้องขวา กล่าวอนุโมทนาอาสนะดอกไม้ เพื่อให้ฤาษีสรทะและศิษย์ได้เกิดปีติโสมนัส เมื่อพระนิสภเถระกล่าวอนุโมทนาแล้ว พระพุทธเจ้าทรงรับสั่งให้พระอโนมเถระ พระอัครสาวกเบื้องซ้าย แสดงธรรมต่อไป ฤาษีทั้งหลายได้ฟังพระอัครสาวกทั้ง ๒ กล่าวอนุโมทนา และแสดงธรรมแล้ว หาได้บรรลุธรรมแต่ประการใดไม่ คงเกิดแต่ปีติโสมนัสในทานและธรรมเท่านั้น
ความจริงแล้วพระพุทธเจ้าทรงทราบดีว่าจะต้องเป็นเช่นนั้น เพราะฤาษีทั้งหมดเป็นพุทธเวไนยสัตว์ กล่าวคือ จะบรรลุธรรมได้ต้องได้ฟังจากพระพุทธเจ้าเท่านั้น พระสาวกไม่ว่ารูปใดไม่สามารถสอนให้บรรลุธรรมได้ แต่ที่ทรงให้พระนิสภะกล่าวอนุโมทนา และทรงให้พระอโนมเถระกล่าวธรรมตามลำดับนั้น ก็โดยทรงมีพุทธประสงค์จะให้ฤาษีเหล่านั้นได้ฟังธรรมเป็นอุปนิสัยปัจจัย เพื่อให้ได้บรรลุธรรมคราวที่ได้ฟังธรรมจากพระองค์โดยตรง
โดยเหตุที่ได้กล่าวไว้แล้วว่า ฤาษีเหล่านั้นเป็นพุทธเวไนยสัตว์ ดังนั้นเมื่อพระพุทธเจ้าอโนมทัสสีทรงแสดงธรรมจบลง ฤาษีทั้งหมดยกเว้นฤาษีสรทะก็ได้บรรลุอรหัตผล ครั้นแล้วได้ทูลขอบวชในพระพุทธศาสนา ซึ่งพระพุทธเจ้าอโนมทัสสีก็ทรงบวชให้ตามประสงค์ด้วยวิธีแบบเอหิภิกขุ อุปสัมปทา
กล่าวถึงฤาษีสรทะ การที่ไม่ได้บรรลุมรรคผลขั้นใดนั้นเป็นเพราะความฟุ้งซ่าน กล่าวคือขณะที่นั่งฟังพระพุทธเจ้าแสดงธรรมอยู่นั้น ใจก็คิดปรารถนาอยู่แต่การจะได้เป็นพระอัครสาวก โดยคิดอยู่ว่า
“ทำอย่างไรเราจึงจะได้เป็นพระอัครสาวกของพระพุทธเจ้าสักพระองค์หนึ่งในอนาคตกาล เหมือนอย่างที่พระนิสภเถระได้เป็นอยู่นี้”
และเมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมจบ ท่านก็เข้าไปกราบถวายบังคมแทบพระบาท แล้วเปล่งวาจาปรารถนาตำแหน่งเอตทัคคะและการเป็นพระอัครสาวก พระพุทธเจ้าอโนมทัสสีทรงตรวจดูด้วยพระญาณที่ล่วงรู้ถึงอนาคต (อนาคตังสญาณ) ก็ทรงทราบดีว่าความปรารถนาของฤาษีสรทะนั้น สำเร็จได้แน่ จึงตรัสพยากรณ์ว่า
“จากนี้ไป ๑ อสงไขยกับอีก ๑๐๐,๐๐๐ กัป เธอจักได้เป็นพระอัครสาวกของพระพุทธเจ้าโคดม และจักมีชื่อว่า สารีบุตร”
จากนั้นพระองค์ได้ตรัสธรรมกถาประคับประคองศรัทธาของฤาษีสรทะให้กล้าแข็งยิ่ง ขึ้น และเมื่อทรงเห็นว่าประทับอยู่พอสมควรแก่เวลาแล้ว ก็ทรงพาพระสงฆ์ทั้งหมดเหาะกลับไปที่ประทับ
ฝ่ายฤาษีสรทะ เมื่อพระพุทธเจ้าทรงพาพระสาวกกลับไปแล้วก็หวนนึกถึงสิริวัฑฒะ บุตรคหบดีผู้เป็นเพื่อนเก่าจึงเดินทางไปหา
“เพื่อนรัก” ฤาษีสรทะเริ่มเล่า “บัดนี้พระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นในโลกแล้ว ข้าพเจ้าได้เฝ้าพระองค์ และได้ตั้งจิตปรารถนาเป็นพระอัครสาวกเบื้องขวาของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งใน อนาคต พระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์ว่าข้าพเจ้าจักได้เป็นพระอัครสาวกเบื้องขวาของพระ พุทธเจ้าโคดม ซึ่งจะเสด็จอุบัติขึ้นในอนาคต ข้าพเจ้ามาระลึกว่าตำแหน่งพระอัครสาวกเบื้องซ้ายยังไม่มีผู้ใดปรารถนา จึงคิดถึงท่านอยากให้ท่านตั้งจิตปรารถนาเพื่อไปเกิดด้วยกัน”
“ขอบคุณท่านสรทะ” สิริวัฑฒะกล่าวด้วยความสนใจ “ขอบคุณที่ท่านได้นำข่าวดีมาบอก แต่ข้าพเจ้าไม่ทราบว่าจะต้องทำอย่างไร ขอให้ท่านโปรดแนะนำด้วย”
“ถวายทานแด่พระพุทธเจ้าและพระสาวก” ฤาษีสรทะแนะนำ
เมื่อสิริวัฑฒะตกลงใจที่จะถวายทานแล้ว ฤาษีสรทะก็รับไปนิมนต์พระพุทธเจ้าและพระสาวกให้ ฝ่ายสิริวัฑฒะเมื่อฤาษีสรทะกลับแล้ว ก็ลงมือเตรียมรับเสด็จพระพุทธเจ้าอย่างเต็มที่ ขั้นแรกให้คนเกลี่ยพื้นดินหน้าประตูบ้าน ซึ่งกว้างประมาณ ๘ กรีสให้เรียบเสมอกันก่อน แล้วให้โปรยข้าวตอกดอกไม้ลงบนพื้นที่เรียบเสมอนั้น จากนั้นให้ทำปะรำมุงด้วยดอกอุบลเขียว แล้วให้ปูลาดอาสนะสำหรับพระพุทธเจ้าและพระสาวกไว้พร้อมสรรพ สุดท้ายสั่งให้เตรียมอาหารและเครื่องสักการะไว้มากมาย
สิริวัฑฒะถวายมหาทานอยู่ ๗ วัน วันสุดท้ายถวายจีวรมีราคาแพงให้พระพุทธเจ้าและพระสาวกครองด้วย แล้วได้ตั้งจิตปรารถนาตำแหน่งเอตทัคคะและการเป็นพระอัครสาวกเบื้องซ้ายของ พระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคต พระพุทธเจ้าอโนมทัสสีทรงตรวจดูด้วยพระญาณที่ล่วงรู้ถึง อนาคตแล้ว ทรงเห็นว่าความปรารถนาของท่านสำเร็จได้แน่ จึงทรงพยากรณ์เหมือนอย่างที่ทรงพยากรณ์แก่ฤาษีสรทะ
นับแต่นั้นมาสิริวัฑฒะได้ทำบุญสนับสนุนตลอดชีวิต ตายแล้วได้ไปเกิดเป็นเทวดาอยู่ในสวรรค์ ส่วนฤาษีสรทะยังบำเพ็ญญาณสมาบัติอยู่อย่างสม่ำเสมอ มรณภาพแล้วได้ไปเกิดเป็นพรหมอยู่ในพรหมโลก ท่านทั้ง ๒ เวียนว่ายตายเกิดในสุคติภูมิจนถึงระยะเวลาที่พระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบัน เสด็จอุบัติขึ้นในโลก ทั้ง ๒ ท่านได้มาเกิดเป็นบุตรพราหมณ์นายบ้านแห่งเมืองนาลันทา แคว้นมคธ และมีความผูกพันกัน ครั้นออกบวชก็ได้บรรลุอรหัตผล พระพุทธเจ้าทรงตั้งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะและตำแหน่งอัครสาวกดังกล่าวแล้ว
๏ วาจานุสรณ์
โดยเหตุที่พระอัครสาวกทั้ง ๒ เป็นกำลังสำคัญในการช่วยพระพุทธเจ้าประกาศพระพุทธศาสนามาเป็นเวลานาน ถึง ๔๔ ปี นับแต่ปีที่บวช จึงมีถ้อยคำเตือนใจที่ทั้ง ๒ ท่านกล่าวไว้มากมาย ซึ่งนับว่าเป็นประโยชน์
พระสารีบุตร เมื่อศึกษาดูแล้วจะพบว่าท่านกล่าวเกี่ยวกับเรื่องราวและในโอกาสต่างๆ กันดังนี้
เกี่ยวกับการปฏิบัติตัวของท่านขณะบำเพ็ญสมณธรรม ท่านกล่าวว่า
ผู้ใดสมบูรณ์ด้วยศีล สงบระงับ มีสติ คิดชอบ
เพ่งพินิจธรรมอยู่เป็นนิตย์ ไม่ประมาท
ยินดีอยู่กับการเจริญกรรมฐานในภายในตัวเอง
มีใจมั่นคงอย่างยิ่ง อยู่ผู้เดียว ยินดีด้วยปัจจัยตามมีตามได้
นักปราชญ์ทั้งหลายเรียกผู้นั้นว่า ภิกษุ
เกี่ยวกับการฉันอาหาร ท่านกล่าวว่า
ภิกษุฉันอาหาร จะเป็นของสดหรือของแห้งก็ตาม
ไม่ควรฉันให้อิ่มจนแน่นท้อง ควรมีสติฉันแต่พอประมาณ
เมื่อรู้ว่าอีก ๔-๕ คำจะอิ่ม ควรงดเสียแล้วดื่มน้ำแทน
เพราะฉันเพียงเท่านี้ก็เพียงพอแล้ว เพื่อความอยู่อย่างสบาย
ของภิกษุผู้มีใจเด็ดเดี่ยว มุ่งมั่นต่อนิพพาน
เกี่ยวกับจีวรและที่อยู่อาศัย ท่านกล่าวว่า
การครองจีวรที่เหมาะสม ก็คือ
มุ่งประโยชน์ของมันเป็นหลัก
ส่วนกุฏิใดที่ภิกษุนั่งแล้วฝนตกรดเข่าทั้งสองข้างไม่ได้
กุฏินั้นนับว่าเพียงพอแล้ว
ที่จะให้ภิกษุผู้มีใจเด็ดเดี่ยว มุ่งมั่นต่อนิพพาน
อยู่ได้อย่างสบาย
เกี่ยวกับที่อยู่ของพระอรหันต์ ท่านกล่าวว่า
พระอรหันต์อยู่สถานที่ใด ไม่ว่าบ้านหรือป่า
ไม่ว่าที่ดอนหรือที่ลุ่ม สถานที่นั้นย่อมเป็นภูมิสถาน
อันน่ารื่นรมย์ไปโดยปริยาย
ป่าอันน่ารื่นรมย์ที่คนผู้แสวงหากามไม่ยินดี
แต่กลับเป็นที่ที่ท่านผู้ปราศจากตัณหาชื่นชม
เพราะท่านเหล่านั้นไม่แสวงหากามอันใดอีก
เกี่ยวกับการอบรมสั่งสอน ท่านกล่าวว่า
บุคคลควรเห็นท่านผู้มีปัญญาชี้โทษมักกล่าวข่มขี่
ให้เป็นเหมือนผู้บอกขุมทรัพย์
ควรคบบัณฑิตเช่นนั้น เพราะว่า เมื่อคบบัณฑิตเช่นนั้น
ย่อมมีแต่ความดี ไม่มีชั่วเลย
ปราชญ์เองก็ควรแนะนำสั่งสอน ควรห้ามผู้อื่น
จากธรรมที่มิใช่ของคนดี แต่ผู้ที่แนะนำสั่งสอนเช่นนั้น
จะเป็นที่รักก็แต่เฉพาะของคนดีเท่านั้น
แต่คนชั่วจะไม่รักเขาเลย
เกี่ยวกับความชั่ว ท่านกล่าวว่า
ภิกษุผู้ไม่มีกิเลส แสวงหาความสะอาดอยู่เป็นนิตย์
ย่อมมองเห็นความชั่วเพียงเท่าปลายขนทราย
ปรากฏเป็นของใหญ่เท่าก้อนเมฆในท้องฟ้า
เกี่ยวกับชีวิตและความตาย ท่านกล่าวว่า
ความเป็น ความตาย เราไม่ยินดี
เราจักละทิ้งร่างกายนี้ไปอย่างผู้มีสติสัมปชัญญะ
ความเป็น ความตาย เราไม่ยินดี
เรารอแต่ให้ถึงเวลา คล้ายลูกจ้างรอให้หมดเวลาทำงาน
ความตายนี้มีแน่ ไม่เวลาแก่ก็เวลาหนุ่ม
แต่ที่จะไม่ตายไม่มีหรอก
พระมหาโมคคัลลานะ เมื่อศึกษาดูแล้วจะพบว่าท่านกล่าวเกี่ยวกับเรื่องราวและในโอกาสต่างๆ กันดังนี้
เกี่ยวกับธุดงควัตร ท่านกล่าวว่า
ภิกษุถือการอยู่ป่าเป็นวัตร ถือการอยู่โคนไม้เป็นวัตร
ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร มีจิตมั่นคง
จะกำจัดเสนาแห่งพระยามัจจุราชเสียได้
คล้ายช้างทำลายเรือนไม้อ้อ
เกี่ยวกับร่างกาย ท่านกล่าวสอนโสเภณีนางหนึ่งที่มาเล้าโลมท่านว่า
กระท่อมคือร่างกาย มีกระดูกเป็นโครงสร้าง
ฉาบด้วยเนื้อ ร้อยรัดด้วยเส้นเอ็น
เต็มไปด้วยของไม่สะอาด มีกลิ่นเหม็นน่าเกลียด
คนทั่วไปพากันยึดถือ
แต่สำหรับเราเป็นของน่ารังเกียจ
ร่างกายของเธอไม่ต่างอะไรกับถุงใส่อุจจาระ
มีหนังหุ้มห่อปกปิดไว้ เหมือนนางปีศาจ
มีผื่นขึ้นที่หน้าอก มีช่อง ๙ ช่องให้สิ่งสกปรกไหลออกเป็นนิตย์
ภิกษุ(อย่างเรา) ย่อมไม่เหลียวแลร่างกายของเธอ
เหมือนชายหนุ่มผู้รักความสะอาด
ย่อมหลบหลีกอุจจาระปัสสาวะเสียห่างไกล
สำหรับคนทั่วไป หากเขาได้เข้าใจร่างกายของเธอ
อย่างที่เราเข้าใจ ต่างจะพากันหลีกไกล
คล้ายชายหนุ่มผู้รักความสะอาด เห็นหลุมอุจจาระที่ฝนตกใส่
ย่อมหลบหลีกเสียไกล
อากาศ คือความว่างเปล่า ใครก็ตามที่หวังจะเอาขมิ้น
หรือน้ำย้อมอย่างอื่นไปย้อมอากาศ ย่อมเหนื่อยเปล่า
จิตของเราว่างเปล่าเหมือนกับอากาศ มั่นคงอยู่ภายในฉะนั้น
เธออย่ามาหวังความรักจากจิตที่ว่างเปล่านี้เลย
เพราะจะพบแต่ความปวดร้าว เช่นเดียวกับแมลงบินเข้ากองไฟ
เกี่ยวกับการนิพพานของพระสารีบุตร ท่านกล่าวว่า
เมื่อพระสารีบุตรเถระ
ผู้เพียบพร้อมด้วยธรรมมีศีลสังวร เป็นต้น นิพพานไปแล้ว
ก็เกิดเหตุน่าสะพึงกลัวขนพองสยองเกล้า
สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง มีเกิดขึ้นและดับไปเป็นธรรมดา
การดับสังขารเหล่านั้นเสียได้ เป็นสุข
เกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมของท่านเอง ท่านกล่าวว่า
สายฟ้าแลบแปลบปลาบเข้าไปตามช่องภูเขาเวภาระ
และช่องภูเขาปัณฑวะ (ทำให้เกิดแสงสว่าง)
ส่วนเราผู้เป็นโอรสของพระพุทธเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ไม่มีใครเปรียบ
เข้าสู่ช่องภูเขาแล้ว เจริญฌานอยู่อย่างมั่นคง
เกี่ยวกับมารที่ประทุษร้ายท่านและพระพุทธเจ้า ท่านกล่าวว่า
ภิกษุใด เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า
รู้กรรม และผลของกรรม อย่างชัดแจ้ง
ภิกษุใด แสดงยอดภูเขาสิเนรุ ชมพูทวีป และปุพพวิเทหทวีป
ให้มนุษย์ชาวอปรโคยานทวีป และชาวอุตตรกุรุทวีป
ได้เห็นด้วยวิโมกข์
มารผู้มีบาป ท่านเบียดเบียนภิกษุนั้น
จะต้องประสบทุกข์เป็นแน่แท้
ไฟไม่ได้คิดเลยว่าจะไหม้คนพาล
แต่คนพาลกลับเข้าไปหาไฟให้ไหม้ตนเอง ฉันใด
ท่านประทุษร้ายพระพุทธเจ้า ก็เท่ากับเผาตนเอง
เหมือนคนพาลคนนั้น
มารผู้มุ่งแต่จะให้เขาตาย ท่านสั่งสมบาปมานาน
จึงแน่นอนว่าจะต้องประสบทุกข์
ฉะนั้น จงอย่าคิดร้ายต่อพระพุทธเจ้าและพระสาวกอีกต่อไปเลย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น