++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ความเป็นไปได้ของพลังงานหมุนเวียน. . .อยู่ที่นโยบายของรัฐ!

โดย ประสาท มีแต้ม 6 กุมภาพันธ์ 2554 17:21 น.

สามัญสำนึกของคนทั่วไป คงไม่มีใครเชื่อว่าจักรยานล้อสี่เหลี่ยมนั้นเป็นไปได้ เพราะเขามีกรอบความคิดที่ตายตัวว่า ผิวถนนต้องเรียบอย่างที่เป็นอยู่ แต่ภาพที่ผมนำเสนอนั้น “เป็นไปแล้ว” นี่เป็นผลงานของนักคณิตศาสตร์ระดับศาสตราจารย์ สามารถขี่ได้เรียบไม่กระเด้งด้วย

ความเป็นไปได้ของการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียน (ลม แสงอาทิตย์ ชีวมวล พลังน้ำขนาดเล็ก) ก็เช่นเดียวกัน ถ้าเราเปลี่ยนนโยบายของรัฐเหมือนเปลี่ยนพื้นผิวถนน มันก็เป็นไปได้ บางประเทศตั้งเป้าว่าจะผลิตให้ทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ด้วยซ้ำ
บทความนี้จะกล่าวถึงว่า (1) ทำไมต้องเปลี่ยนนโยบาย และ (2) เปลี่ยนไปเป็นอะไร

พลังงานนอกจากจะมีขนาดใหญ่โตในเชิงเศรษฐกิจแล้วยังได้ก่อวิกฤตสำคัญ ต่อชาวโลกในอีกหลายด้าน เช่น วิกฤตโลกร้อน สงคราม และความเหลื่อมล้ำระหว่างคนเมืองกับคนชนบท

กล่าวเฉพาะไทยเรา ด้วยนโยบายการพัฒนาที่มุ่งเน้นการส่งออกได้ทำให้ค่าจ่ายด้านพลังงานเพิ่ม ขึ้นจากร้อยละ 9 ของจีดีพีในปี 2531 เป็น 18% ในปี 2553

ในเรื่องความเหลื่อมล้ำ จากการสำรวจของสหประชาชาติ พบว่า ในขณะที่ช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนของญี่ปุ่นและกลุ่มสแกนดิเนเวียอยู่ที่ 3-4 เท่าตัว (ที่เหลือของยุโรปอยู่ที่ 5-8 เท่าตัว เอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ที่ 9-11 เท่าตัว) แต่ของประเทศไทยเราอยู่ที่ 13 ถึง 15 เท่าตัว

Dr.Walden Bello ผู้เขียนหนังสือ โศกนาฏกรรมสยาม สรุปว่า “ความยากจนเป็นปรากฏการณ์เกือบทุกพื้นที่ในชนบทของประเทศไทย ”

ในด้านสิ่งแวดล้อม จากการสำรวจปริมาณออกซิเจนละลายน้ำที่อยู่ในแหล่งน้ำจืดของประเทศต่างๆ 141 ประเทศ พบว่าของไทยเรามีค่าต่ำที่สุดในโลกจนกุ้ง หอย ปู ปลามีชีวิตอยู่ได้ลำบาก (จาก www.nationmaster.com)

สาเหตุสำคัญมาจากการเลือกใช้แหล่งพลังงานฟอสซิล (ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ) และนิวเคลียร์ ที่มีลักษณะพิเศษ 3 ประการ คือ

หนึ่ง มีจำนวนจำกัด สอง พ่อค้ารายใหญ่เท่านั้นที่สามารถเข้าถึงได้ เกิดขึ้นใหม่ไม่ได้ และ สอง มีขีดจำกัดเชิงนิเวศน์

อาจมีคนแย้งว่า กว่าถ่านหินจะหมดไปจากโลกก็อีกนานนับร้อยปี ข้อแย้งนี้อาจจะเป็นความจริงแต่ก็ไม่มีประโยชน์อะไรอีกแล้ว เพราะโลกเราได้มาถึงสภาพที่ไม่มั่นคงเกินกว่านี้ไม่ได้อีกแล้ว หรือโลกกำลังเข้าสู่ขีดจำกัดเชิงนิเวศน์แล้ว

สิ่งที่น่าแปลกใจก็คือ ทำไมมนุษย์ไม่เลือกใช้แหล่งพลังงานที่มีศักยภาพอย่างไม่จำกัด นั่นคือพลังงานจากแสงอาทิตย์ซึ่งได้แก่ ลม แสงแดด ทั้งไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ โรงไฟฟ้าจากความร้อนจากแสงอาทิตย์

เมื่อพูดถึงโรงไฟฟ้าจากความร้อนจากแสงอาทิตย์ ผมขอนำข้อมูลที่เป็นกำลังใจแก่ชาวโลกว่า นับแต่ปี ค.ศ. 2010 เป็นต้นไป ต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าจากพลังแสงอาทิตย์ในรัฐนอร์ท คาโรไลนา สหรัฐอเมริกา ราคาถูกกว่าต้นทุนจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

เพื่อหนีออกจากโศกนาฏกรรมดังที่กล่าวมาแล้ว เราจึงควรจะแทนที่พลังงานที่สร้างปัญหาให้กับชาวโลกด้วยพลังงานหมุนเวียน ซึ่งนอกจากคนยากจนทั่วไปจะสามารถเข้าถึงได้แล้ว มันเป็นพลังงานที่ไม่มีวันหมดไปจากโลกอีกด้วย

ในปี 2552 ประเทศไทยได้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้เพียง 1.4% ของทั้งประเทศ โดยจะเพิ่มให้เป็น 6% ในปี 2558 และเท่าเดิมจนถึงปี 2573 คำถามคือ เรามีศักยภาพไม่เกิน 6% แค่นี้เองหรือ ในขณะที่ประเทศเยอรมนีได้เพิ่มจาก 6.2% เป็น 16.5% (ช่วง 2543-53) และจะสูงกว่านี้อีกในอนาคต เขาทำได้อย่างไร

คำตอบคือ เขาออกกฎหมาย (ที่ ดร.แฮร์มันน์ เชียร์ วีรบุรุษแห่งศตวรรษสีเขียวเป็นผู้ริเริ่ม) โดยกำหนดว่า ใครก็ตามที่สามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของบ้าน บริษัท สถานที่ราชการ จะให้ขายไฟฟ้าเข้าระบบได้ก่อนใครเพื่อน พร้อมกับรับประกันราคาที่แน่นอนตลอดอายุ 20-25 ปี ไม่ว่าจะผลิตได้เท่าใดผู้รับผิดชอบต้องรับซื้อทั้งหมด

ในระหว่าง 2552-53 การผลิตไฟฟ้าทั้งประเทศได้เพิ่มขึ้น 4.7% แต่ผู้ผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียนมีความสามารถในผลิตได้เพิ่มขึ้น 6.0% ที่เหลือให้ผู้ผลิตพวกฟอสซิลผลิต

แต่กิจการไฟฟ้าของประเทศไทยไม่เป็นเช่นนี้ กระทรวงพลังงานจะเป็นผู้จัดสรรโควตากำลังผลิตไฟฟ้าให้กับ 3 ส่วนหลัก คือ (1) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กฟผ. มีกำลังการผลิตประมาณ 48% (2) นักลงทุนเอกชน 47% และ (3) นำเข้าและแลกเปลี่ยนกับต่างประเทศอีก 5%

ปัญหาที่ทำให้พลังงานหมุนเวียนเกิดได้ยากอยู่ที่ตัวสัญญาซื้อขาย ไฟฟ้าที่ระบุว่า เมื่อสัญญามีผลบังคับใช้ แม้ไม่มีการผลิตไฟฟ้าเลย ทางราชการก็ต้องจ่ายเงินค่าความพร้อมจ่าย ซึ่งได้แก่ค่าลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้ารวมทั้งค่าดอกเบี้ยด้วย เขาเรียกค่าใช้จ่ายนี้ว่า ค่าใช้จ่ายคงที่

เมื่อ กฟผ. สั่งให้ผลิต โรงไฟฟ้าเอกชนจึงจะสามารถผลิตได้และรับเงินอีกส่วนหนึ่ง เรียกว่า ค่าพลังงานไฟฟ้า ดังนั้นโอกาสที่ผู้ผลิตจากพลังงานหมุนเวียนจึงเกิดได้ยาก เพราะรัฐบาลต้องรับซื้อจากโรงไฟฟ้าที่ได้จ่ายเงินค่าความพร้อมจ่ายไปแล้วก่อน มิฉะนั้นก็จะถูกปรับอีก

นอกจากนี้การพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าในอนาคตเกินความเป็นจริงเสมอ โอกาสที่จะถูกปรับจึงเพิ่มมากกว่าเดิม

กฎหมายที่ริเริ่มโดย ดร.เชียร์ ได้แพร่กว่า 40 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทยเราด้วย

แต่ของเราเพี้ยนครับ เราเก่งมากในการทำของดีๆ ให้เพี้ยน แล้วค่อยคุยกันอีกครับ.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น