++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพฤหัสบดีที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

เบญจกัลยาณี (แปลว่า ผู้มีความงาม 5 ประการ)

เบญจกัลยาณี (แปลว่า ผู้มีความงาม 5 ประการ) หมายถึงสตรีผู้มีศุภลักษณ์หรือลักษณะที่งาม 5 ประการ คือ

   1. ผมงาม คือมีผมเหมือนหางนกยูง เมื่อสยายออกทิ้งตัวลงมาถึงชายผ้า
   2. เนื้องาม คือมีริมฝีปากแดงเหมือนลูกตำลึงสุก เรียบสนิทมิดชิดดี
   3. ฟันงาม คือขาวเหมือนสังข์และเรียบเสมอเหมือนเพชรเรียง
   4. ผิวงาม คือถ้าผิวดำก็ดำสม่ำเสมอเหมือนดอกอุบล ถ้าขาวก็ขาวเหมือนกลีบดอกกรรณิการ์
   5. วัยงาม คืองามทุกวัย แม้คลอดบุตรมาแล้ว 10 ครั้งก็ยังดูสาวพริ้งอยู่

ตำนานว่า นางวิสาขามหาอุบาสิกาเป็นเบญจกัลยาณีคนหนึ่งในสมัยพุทธกาล
 อ้างอิง

    * พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช) ป.ธ. 9 ราชบัณฑิต พจนานุกรมเพื่อการศึกษาพุทธศาสน์ ชุด คำวัด, วัดราชโอรสาราม กรุงเทพฯ พ.ศ. 2548

ประวัติ นางวิสาขา




นางวิสาขา
เอตทัคคะในฝ่ายผู้เป็นทายิกา

   เกิดในตระกูลเศรษฐีในเมืองภัททิยะ แคว้นอังคะ บิดาชื่อว่าธนญชัย มารดาสุมนาเทวี และปู่ชื่อเมณฑกเศรษฐี ขณะที่เธอมีอยู่ในวัย ๗ ขวบ เป็นที่รักดุจแก้วตาดวงใจของเมณฑกะผู้เป็นปู่ยิ่งนัก

๗ ขวบบรรลุโสดาบัน

  เมื่อเมณฑกเศรษฐีได้ทราบข่าวว่า พระบรมศาสดาพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์จำนวนมากกำลังเสด็จมาสู่เมืองภัททิยะ ท่านเมณฑกเศรษฐี จึงได้มอบหมายให้เด็กหญิงวิสาขาพร้อมด้วยบริวาร ออกไปทำการรับเสด็จที่นอกเมือง ขณะที่พระพุทธองค์ประทับพักผ่อนพระอริยบทอยู่นั้น เด็กหญิงวิสาขาพร้อมด้วยบริวาร เข้าไปเฝ้ากราบถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่อันสมควรแก่ตน พระพุทธองค์ทรงแสดงพระธรรมเทศนาให้พวกเธอฟัง เมื่อจบลงก็ได้บรรลุเป็นพระโสดาบันด้วยกันทั้งหมด

  ส่วนเมณฑกเศรษฐี เมื่อพระบรมศาสดาเสด็จมาถึงแล้วจึงรีบเข้าไปเฝ้าได้ฟังพระธรรมเทศนาก็ได้บรรลุเป็นพระโสดาบันเช่นกัน แล้วกราบทูลอาราธนาพระบรมศาสดาพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ที่ติดตามเสด็จทั้งหมดเข้าไปรับอาหารบิณฑบาต ณ ที่บ้านของตนตลอดเวลาระยะ ๑๕ วันที่ประทับอยู่ที่ภัททิยนครนั้น

  สมัยนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลแห่งเมืองสาวัตถี และพระเจ้าพิมพิสารแห่งเมืองราชคฤห์ มีความเกี่ยวข้องกันโดยต่างก็ได้ภคิณี ( น้องสาว ) ของกันและกันมาเป็นมเหสี แต่เนื่องจากเมืองสาวัตถีของพระเจ้าปเสนทิโกศลนั้น ไม่มีเศรษฐีตระกูลใหญ่ ๆ ผู้มีทรัพย์สมบัติมากเลย และได้ทราบว่าในเมืองราชคฤห์ของพระเจ้าพิมพิสารนั้น มีเศรษฐีผู้มีทรัพย์สมบัติขนาดนับไม่ถ้วนอยู่ถึง ๕ คน

  ดังนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงเสด็จมายังเมืองราชคฤห์ เข้าเฝ้าพระเจ้าพิมพิสารแล้วแจ้งความประสงค์ที่มาในครั้งนี้ ก็เพื่อของพระราชทานตระกูลเศรษฐีในเมืองราชคฤห์นี้ไปอยู่ในเมืองสาวัตถีสักหนึ่งตระกูล

  พระเจ้าพิมพิสารได้สดับแล้วตรัสตอบว่า “ การโยกย้ายตระกูลใหญ่ ๆ เพียงหนึ่งตระกูลก็เหมือนกับแผ่นดินทรุด” แต่เพื่อรักษาสัมพันธไมตรีต่อกันไว้ หลังจากที่ได้ปรึกษากับอำมาตย์ทั้งหลายแล้ว เห็นฟ้องต้องกันว่าสมควรยกตระกูลธนญชัยเศรษฐี ให้ไปอยู่เมืองสาวัตถีกับพระเจ้าปเสนทิโกศล

  ธนญชัยเศรษฐีได้ขนย้ายทรัพย์สมบัติพร้อมทั้งบริวารและสัตว์เลี้ยงทั้งหลายเดินทางสู่พระนครสาวัตถีพร้อมกับพระเจ้าปเสนทิโกศล และเมื่อเดินทางเข้าเขตแคว้นของพระเจ้าปเสนทิโกศลแล้ว ขณะที่พักค้างแรมระหว่างทางก่อนเข้าเมือง ธนญชัยเศรษฐีเห็นว่าภูมิประเทศบริเวณที่พักนั้นเป็นชัยภูมิเหมาะสมดี

  อีกทั้งตนเองก็มีบริวารติดตามมาเป็นจำนวนมาก ถ้าไปตั้งบ้านเรือนภายในเมืองก็จะคับแคบ จึงขออนุญาตพระเจ้าปเสนทิโกศลก่อตั้งบ้านเรือน ณ ที่นั้น และได้ชื่อเมืองใหม่ว่า “ สาเกต” ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองสาวัตถี ๗ โยยช์

หญิงงามเบญจกัลยาณี

    ในเมืองสาวัตถีนั้น มีเศรษฐีตระกูลหนึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อว่า มิคารเศรษฐี มีบุตรชายชื่อว่า ปุณณวัฒนกุมาร เมื่อเจริญวัยสมควรที่จะมีภรรยาได้แล้ว บิดามารดาขอให้เขาแต่งงานเพื่อสืบทอดวงศ์ตระกูล แต่เขาเองไม่มีความประสงค์จะแต่งงาน เมื่อบิดามารดารบเร้ามากขึ้น เขาจึงหาอุบายเลี่ยงโดยบอกบิดารมารดาว่า ถ้าได้หญิงที่มีความงามครบทั้ง ๕ อย่าง ซึ่งเรียกว่า เบญจกัลยาณี แล้วจึงยอมแต่งงาน

  เบญจกัลยาณี . ความงามของสตรี ๕ อย่างคือ

   ๑. เกสกลฺยาณํ ผมงาม คือหญิงที่มีผมยาวถึงสะเอวแล้วปลายผมงอนขั้น

  ๒. มงฺสกลฺยาณํ เนื้องาม คือหญิงที่มีริมฝีปากแดงดุจผลตำลึงสุกและเรียบชิดสนิทกันดี

  ๓. อฎฺฐกลฺยาณํ กระดูกงาม คือหญิงที่มีฟันสีขาวประดุจสังข์ และเรียบเสมอกัน

  ๔. ฉวิกลํยาณํ ผิวงาม คือหญิงที่มีผิวงามละเอียด ถ้าดำก็ดำดังดอกบัวเขียว ถ้าขาวก็ขาวดังดอกกรรณีกา

  ๕. วยกลฺยาณํ วัยงาม คือหญิงที่แม้จะคลอดบุตรถึง ๑๐ ครั้ง ก็ยังคงสภาพร่างกายสาวสวยดุจคลอดครั้งเดียว

  บิดามารดาเมื่อได้ฟังแล้วจึงให้เชิญพราหมณ์ผู้มีความเชี่ยวชาญในด้าน อิตถีลักษณะมาถามว่า หญิงผู้มีความงามดังกล่าวนี้มีหรือไม่ เมื่อพวกพราหมณ์ตอบว่ามี จึงส่งพราหมณ์เหล่านั้นออกเที่ยวแสวงหาตามเมืองต่าง ๆ พร้อมทั้งมอบพวงมาลัยและเครื่องทองหมั้นไปด้วย

ชน ๔ พวกเมื่อวิ่งจะดูไม่งาม

  พวกพราหมณ์ที่เที่ยวแสวงหาไปตามเมืองต่าง ๆ ทั้งเมืองเล็กเมืองใหญ่จนมาถึงเมืองสาเกต ได้พบนางวิสาขามีลักษณะภายนอกถูกต้องตามตำราอิตถีลักษณะครบทุกประการ ขณะที่นางพร้อมทั้งหญิงบริวารออกมาเที่ยวเล่นน้ำกันที่ท่าน้ำ ขณะนั้นฝนตกลงมาอย่างหนัก หญิงบริวารทั้งหลายพากันวิ่งหลบหนีฝนเข้าไปในศาลา แต่นางวิสาขายังคนเดินไปด้วยอาการปกติ ทำให้พวกพราหมณ์ทั้งหลายรู้สึกแปลกใจประกอบกับต้องการจะเห็นลักษณะฟันของนางด้วยจึงถามนางว่า “ ทำไม เธอจึงไม่วิ่งหลบหนีฝนเหมือนกับหญิงอื่น ๆ” นางวิสาขาตอบว่า ชน ๔ พวกเมื่อวิ่งจะดูไม่งาม ได้แก่..

   ๑. พระราชา ผู้ทรงประดับด้วยเครื่องอาภรณ์พร้อมสรรพ

  ๒. บรรพชิต ผู้ครองผ้ากาสาวพัสตร์

  ๓. สตรี ผู้ชื่อว่าเป็นหญิงทั้งหลาย ( นอกจากจะดูไม่งามแล้วถ้าเกิดอุบัติเหตุจนเสียโฉม หรือพิการ จะทำให้เสื่อมเสียและหมดคุณ่า)

  ๔. ช้างมงคล ตัวประดับด้วยเครื่องอาภรณ์สำหรับช้าง

  พวกพราหมณ์ได้เห็นปัญญาอันชาญฉลาด และคุณสมบัติเบญกัลยาณีครบทุกประการแล้ว จึงขอให้นางพาไปที่บ้านเพื่อทำการสู่ขอต่อพ่อแม่ตามประเพณี เมื่อสอบถามถึงชาติตระกูลและทรัพย์สมบัติก็ทราบว่า มีเสมอกัน จึงสวมพวงมาลัยทองให้นางวิสาขาเป็นการหมั้นหมายและกำหนดวันวิวาหมงคล

  ธนญชัยเศรษฐี ได้สั่งให้ช่างทองทำเครื่องประดับชื่อ มหาลดาปสาธน์ เพื่อมอบให้แก่ลูกสาว ซึ่งเป็นเครื่องประดับชนิดพิเศษ เป็นชุดยาวติดต่อกันตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า ประกอบด้วยเครื่องเงินทองและรัตนอันมีค่าถึง ๙ โกฏิกหาปณะ ค่าแรงฝีมือช่างอีก ๑ แสน เป็นเครื่องประดับที่หญิงอื่น ๆ ไม่สามารถจะประดับได้เพราะมีน้ำหนักมาก นอกจากนี้ ธนญชับเศรษฐี ยังได้มอบทรัพย์สินเงินทองของให้ต่าง ๆ รวมทั้งข้าทาสบริวารและฝูงโคอีกจำนวนมากมานมหาศาล อีกทั้งส่งกุฏุมพีมีความชำนาญพิเศษด้านต่าง ๆ ไปเป็นที่ปรึกษาดูแลประจำตัวอีก ๘ นายด้วย

ธนญชัยเศรษฐีให้โอวาทลูกสาว 

 ก่อนที่นางวิสาขาจะไปสู่ตระกูลของสามี ธนญชัยเศรษฐีได้อบรมมารยาทสมบัติของตระกูลสตรีผู้ไปสู่ตระกูลของสามี โดยให้โอวาท ๑๐ ประการ เป็นแนวปฏบัติ คือ..

   โอวาทข้อที่ ๑ ไฟในอย่านำออก หมายความว่า อย่านำความไม่ดีของพ่อผัวแม่ผัวและสามีออกไปพูดให้คนภายนอกฟัง

  โอวาทข้อที่ ๒ ไฟนอกอย่านำเข้า หมายความว่า เมื่อคนภายนอกตำหนิพ่อผัวแม่ผัวและสามีอย่างไร อย่านำมาพูดให้คนในบ้านฟัง

  โอวาทข้อที่ ๓ ควรให้แก่คนที่ให้เท่านั้น หมายความว่า ควรให้แก่คนที่ยืมของไปใช้แล้วนำมาส่งคืน

  โอวาทข้อที่ ๔ ไม่ควรให้แก่คนที่ไม่ให้ หมายความว่า ไม่ควรให้แก่คนที่ยืมของไปใช้แล้วไม่นำมาส่งคืน

  โอวาทข้อที่ ๕ ควรให้ทั้งแก่คนคนที่ให้และไม่ให้ หมายความว่า เมื่อมีญาติมิตรผู้ยากจนขอความช่วยเหลือพึ่งพาอาศัย เมื่อให้ไปแล้วจะให้คืนหรือไม่ให้คืน ก็ควรให้

  โอวาทข้อที่ ๖ พึงนั่งให้เป็นสุข หมายความว่า ไม่นั่งในที่กีดขวางของพ่อผัว แม่ผัวและสามี

  โอวาทข้อที่ ๗ พึงบริโภคให้เป็นสุข หมายความว่า ควรจัดให้พ่อผัว แม่ผัวและสามีบริโภคแล้ว ตนจึงบริโภคภายหลัง

  โอวาทข้อที่ ๘ พึงบำเรอไฟ หมายความว่า ให้มีความสำนึกอยู่เสมอว่า พ่อผัว แม่ผัวและสามีเป็นเหมือนดวงไฟและพญานาคที่จะต้องบำรุงดูแล

  โอวาทข้อที่ ๑๐ พึงนอบน้อมเทวดาภายใน หมายความว่า ให้มีความสำนึกอยู่เสมอว่า พ่อผัว แม่ผัว และสามีเป็นเหมือนเทวดาที่จะต้องให้ความนอบน้อม

อานิสงส์ของการทำบุญแล้วแถม

  ธนญชัยเศรษฐี ใช้เวลาถึง ๔ เดือนในการเตรียมทรัพย์สมบัติเพื่อมอบให้แก่นางวิสาขา สำหรับใช้สอยเมื่อไปอยู่ในตระกูลของสามี เฉพาะเครื่องประดับมหาลดาปสาธน์เพียงอย่างเดียวก็ใช้เวลาทำถึง ๔ เดือนเช่นเดียวกัน เมื่อถึงกำหนดนางวิสาขาก็ได้ออกเดินทางไปยังตระกูลของสามี พร้อมด้วยข้าทาสบริวารทรัพย์สินเงินทองของใช้อเนกอนันต์ และโคกระบืออีกมากมายมหาศาล ที่บิดาจัดการมอบให้

  แม้กระนั้น โคกระบือของชาวบ้านที่อยู่ในคอกยังทำลายวิ่งออกตามขบวนของนางวิสาขาไปอีกจำนวนมาก ทั้งนี้ก็เพราะด้วยอานิสงส์แห่งการทำบุญถวายทานที่นางทำไว้ในอดีตชาติ คือ ในครั้งที่นางวิสาขาเกิดเป็นธิดาของพระเจ้ากิกิ ครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะ นางได้ถวายอาหารแก่พระภิกษุสามเณรเป็นประจำและทั้ง ๆ ที่พระภิกษุสามเณรกล่าวว่า “ พอแล้ว ๆ” นางก็ยังตรัสว่า “ พระเจ้าคุณเจ้าสิ่งนี้อร่อย สิ่งนี้น่าฉัน” แล้วก็ถวายเพิ่มอีก ด้วยอนิสงส์แห่งการถวายเพิ่มนี้บันดาลให้โคเหล่านั้นถึงแม้จะมีคนห้ามมีคอกกั้นอยู่ก็ยังกระโดดออกจากคอกวิ่งตามขบวนของนางวิสาขาไปอีกจำนวนมาก

นางวิสาขาตำหนิพ่อผัว

  เมื่อนางวิสาขาเข้ามาสู่ตระกูลของสามีแล้ว เพราะความที่เป็นผู้ได้รับการอบรมสั่งสอนเป็นอย่างดีตั้งแต่วัยเด็ก และเป็นผู้มีสติปัญญาเฉลี่ยวฉลาด มีน้ำใจเจรจาไพเราะ ให้ความเคารพผู้ที่มีวัยสูงกว่าตน จึงเป็นที่รักใคร่และชอบใจของคนทั่วไป ยกเว้นมิคารเศรษฐีบิดาของสามี ซึ่งมีจิตศรัทธาฝักใฝ่ในนักบวชอเจลกชีเปลือย

  โดยให้ความเคารพนับถือว่าเป็นพระอรหันต์ และนิมนต์ให้มาบริโภคโภชนาหารที่บ้านของตนแล้ว สั่งให้คนไปตามนางวิสาขามาไหว้พระอรหันต์และให้มาช่วยจัดงานเลี้ยงอาหารแก่อเจลกชีเปลือยเหล่านั้นด้วย

  นางวิสาขา ผู้เป็นพระอริยสาวิกาชั้นโสดาบันพอได้ยินคำว่า อรหันต์ ก็รู้สึกปีติยินดีรีบมายังเรือนของมิคารเศรษฐี แต่พอได้เห็นอเจลกชีเปลือย ก็ตกใจจึงกล่าวว่า ” ผู้ไม่มีความละอาย เหล่านี้ จะเป็นพระอรหันต์ไม่ได้ ” พร้อมทั้งกล่าวติเตียนมิคารเศรษฐีแล้วกลับไปที่อยู่ของตน

  ต่อมาอีกวันหนึ่ง ขณะที่มิคารเศรษฐีกำลังบริโภคอาหารอยู่ โดยมีนางวิสาขาคอยปรนนิบัติอยู่ใกล้ ๆ ได้มีพระเถระเที่ยวบิณฑบาตผ่านมาหยุดยืนที่หน้าบ้านของมิคารเศรษฐี นางวิสาขาทราบดีว่าเศรษฐีแม้จะเห็นพระเถระแล้วก็ทำเป็นไม่เห็น นางจึงกล่าวกับพระเถระว่า “ นิมนต์พระคุณเจ้าไปข้างก่อนก่อนเถิดท่านเศรษฐีกำลังบริโภคของเก่าอยู่ ”

  เศรษฐี ได้ฟังดังนั้นแล้วจึงโกรธเป็นที่สุด หยุดบริโภคอาหารทันทีแล้วสั่งให้บริวารมาจับและขับไล่นางวิสาขาให้ออกจากบ้านไป แต่ก็ไม่มีใครกล้าเข้ามาจับ นางวิสาขาขอชี้แจงแก่กุฏุมพี ๘ นายที่พ่อส่งมาช่วยดูแลนางก่อน และเมื่อมิคารเศรษฐีให้คนไปเชิญกุฏุมพีมาแล้วแจ้งโทษของนางวิสาขาให้ฟัง ซึ่งนางก็แก้ด้วยคำว่า “ ที่ดิฉันกล่าวอย่างนั้น หมายถึง มิคารเศรษฐีบิดาสามีบริโภคบุญเก่าอยู่ มิใช่บริโภคของบูดเน่าอย่างที่เข้าใจ” กุฎุมพีทั้ง ๘ จึงกล่าวกับเศรษฐีว่า “ เรื่องนี้นางวิสาขาไม่มีความผิด”

พ่อผัวยกย่องนางวิสาขาในฐานะมารดา

  เมื่อมิคารเศรษฐี ฟังคำชี้แจงของลูกสะใภ้แล้วก็หายโกรธขัดเคือง และกล่าวขอโทษนาง พร้อมทั้งอนุญาตให้นางนิมนต์พระบรมศาสดาพร้อมภิกษุสงฆ์มารับอาหารบิษฑบาตในเรือนของตน ขณะที่นางวิสาขาจัดถวายภัตตาหารแด่พระบรมศาสดาและพระภิกษุสงฆ์อยู่นั้น ก็ได้ให้คนไปเชิญมิคารเศรษฐีมาร่วมถวายภัตตาหารด้วย

  แต่เศรษฐีเมื่อมาแล้วไม่กล้าที่จะออกไปสู่ที่เฉพาะพระพักตร์พระศาสดา เพราะไม่มีศรัทธาเลื่อมใสจึงแอบนั่งอยู่หลังม่าน เมื่อเสร็จภัตกิจแล้ว พระบรมศาสดาทรงแสดงพระธรรมเทศนา ส่วนมิคารเศรษฐีแม้จะหลบอยู่หลัวม่านก็มีโอกาสได้ฟังธรรมด้วยจนจบ และก็ได้สำเร็จเป็นพระโสดาบันบุคคลในพุทธศาสนา เป็นสัมมาทิฏฐิกบุคคลตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

  ทันใดนั้น มิคารเศรษฐีได้ออกมาจากหลังม่านแล้วตรงเข้าไปหานางวิสาขาใช้ปากดูดถันของลูกสะใภ้ และประกาศให้ได้ยินทั่วกัน ณ ที่นั้นว่า “ ตังแต่บัดนี้เป็นต้นไป ขอเธอจงเป็นมารดาของข้าพเจ้า” และตั้งแต่นั้นมานางวิสาขาก็ได้นามว่า “ มิคารมารดา” คนทั่วไปนิยมเรียกชื่อนางว่า “ วิสาขามิคารมารดา”

คุณสมบัติพิเศษประจำตัวนางวิสาขา

  ในบรรดาอุบาสิกาทั้งหลาย นางวิสาขานับว่าเป็นผู้มีบุญสั่งสมมาตั้งแต่อดีตชาติมากเป็นพิเศษกว่าอุบาสิกาคนอื่น ๆ หลายประการ เช่น..

   ๑ . ลักษณะของผู้มีวัยงาม คือ แม้ว่านางจะมีอายุมาก มีลูกชาย-ลูกหญิง ถึง ๒๐ คน ลูกเหล่านั้นแต่งงานมีลูกอีกตั้งคนละ ๒๐ คน นางก็มีหลานนับได้ ๔๐๐ คน หลานเหล่านั้นแต่งงานมีลูกอีกคนละ ๒๐ คน นางวิสาขามีเหลนนับได้ ๘,๐๐๐ คน ดังนั้น คนจำนวน ๘,๔๒๐ คน มีต้นกำเนิดมาจากนางวิสาขา นางมีอายุยืน ได้เห็นหลานเหลนทุกคน แม้นางมีอายุถึง ๑๒๐ ปี แต่ขณะเมื่อนางนั่งอยู่ในกลุ่มของลูก หลาน เหลน นางจะมีลักษณะวัยใกล้เคียงกับคนเหล่านัน คนพวกอื่นไม่สามารถทราบได้ว่า นางวิสาขาคือคนไหน แต่สังเกตได้เมื่อเวลาจะลุกขึ้นยืน ธรรมดาคนหนุ่มสาวจะลุกขึ้นได้ในทันที แต่สำหรับคนแก่จะต้องใช้มือยันพื้นช่วยพยุงกาย และจะยกก้นขึ้นก่อน นั้นแหละจึงจะทราบว่า นางวิสาขาคือคนไหน

  ๒ . นางมีกำลังมาเท่ากับช้าง ๕ เชื่อกรวมกัน ครั้งหนึ่ง พระราชามีพระประสงค์จะทดลองกำลังของนาง จึงรับสั่งให้ปล่อยช้างพลายตัวที่กำลังมากเพื่อให้วิ่งชนนางวิสาขา นางเห็นช้างวิ่งตรงเข้ามา จึงคิดว่า “ ถ้าเราจับช้างนี้ด้วยมือข้างเดียวแล้วผลักไป ช้างนี้ก็จะเป็นอันตลายถึงชีวิต เราก็จะบาป ควรรักษาชีวิตช้างไว้จะดีกว่า ” นางจึงใช้นิ้วเพียงสองนิ้วจับช้างที่งวงแล้วเหวี่ยงไปปรากฏว่าช่างถึงกับล้มกลิ้ง แต่ก็ไม่เป็นอันตราย

  ด้วยคุณสมบัติดังกล่าวนี้ ชนทั้งหลายเมื่อจัดงานมงคลในบ้านเรือนของตนจึงพากันเชิญนางวิสาขาให้ไปเป็นประธานในงาน มอบให้นางเป็นผู้นำในพิธีต่าง ๆ แม้แต่อาหารก็ให้นางทานก่อน เพื่อความเป็นสิริมงคล จนนางวิสาขาไม่มีเวลาปฏิบัติพระภิกษุที่มาฉันในบ้านของตน ต้องมอบให้ลูก ๆ หลาน ๆ ดำเนินการให้

นางวิสสาขาร้องไห้อาลัยหลาน

  สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารบุพพาราม ซึ่งนางวิสาขาเป็นผู้สร้างถวาย ใกล้กรุงสาวัตถี ขณะนั้น หลานสาวชื่อว่าสุทัตตีผู้เป็นที่รักเป็นที่พอใจอย่างยิ่งได้ถึงแก่กรรมลง ทำให้นางเศร้าโศกเสียใจร้องไห้รำพันถึงหลานรัก เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าทั้ง ๆ ที่กำลังร้องไห้อยู่ด้วย พระพุทธองค์ตรัสถามเหตุแห่งความเศร้าโศก ทรงทราบโดยตลอดแล้ว จึงตรัสถามว่า..

   “ ดูก่อนวิสาขา ในพระนครสาวัตถีนี้ เธอต้องการบุตรหลานสักกี่คน ?”

  “ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ต้องการบุตรหลานในพระนครนี้ทั้งหมด พระเจ้าข้า”

   “ ดูก่อนวิสาขา ก็ในพระนครสาวัตถีนี้ มีคนตายวันละเท่าไร ?”

  “ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในพระนครสาวัตถีนี้ มีคนตายวันละ ๑ คนบ้าง ๒ คนบ้าง ถึงวันละ ๑๐ คนบ้าง พระเจ้าข้า”

  “ ดูก่อนวิสาขา ถ้าคนเหล่านั้นเป็นบุตรหลานของเธอจริง เธอก็คงมีหน้าเปียกชุ่มด้วยน้ำตาโดยไม่มีวันแห้งเหือดวิสาขา คนในโลกนี้ ผู้ใดมีสิ่งเป็นที่รัก ๑๐๐ ผู้นั้นก็จะมีทุกข์ถึง ๑๐๐ ผู้ใดมีสิ่งที่เป็นที่รัก ๕๐ ผู้นั้นก็จะมีทุกข์ถึง ๕๐ เช่นกัน และถ้าผู้ใดมีสิ่งเป็นที่รักเพียง ๑ เดียว ผู้นั้นก็จะมีทุกข์เพียง ๑ เดียวเช่นกัน”

  “ ดูก่อนวิสาขา เราขอบอกเธอว่า ความทุกข์ ความเศร้าโศก ความพิไรรำพันที่คนทั้งหลายประสบกันอยู่ในโลกนี้ ก็เพราะอาศัยสัตว์หรือสังขารอันเป็นที่รัก ถ้าไม่มีสัตว์หรือสังขารอันเป็นที่รักแล้ว ความทุกข์ ความเศร้าโศก ความพิไรรำพันเหล่านั้นก็ไม่มี ผู้นั้นก็จะมีแต่ความสุข ดังนั้น ผู้ปรารถนาความสุขให้กับตนเอง ก็ไม่ควรทพสัตว์หรือสังขารให้เป็นที่รัก”

  นางวิสาขา เมื่อได้ฟังพระพุทธดำรัสสอนจบลงแล้ว ก็คลายจากความเศร้าโศก แต่เพราะความที่นางมีลูกหลานหลายคน ซึ่งต่อจากนั้นอีกไม่นานนักหลานสาวอีกคนหนึ่ง ที่นางได้มอบหมายหน้าที่ประจำก็ได้ถึงแก่ความตายลงอีก นางวิสาขาก็ต้องเสียน้ำตาร่ำไห้ด้วยความรักอาลัยต่อหลานสาวเป็นครั้งที่สอง และพระพุทธองค์ก็ทรงเทศนาโปรดนางให้คลายความเศร้าโศกลงดุจเดียวกับครั้งก่อน

นางวิสาขาสร้างวัด

  โดยปกตินางวิสาขาจะไปวัดวันละ ๒ ครั้ง คือ เช้า- เย็น และเมื่อไปก็จะไม่ไปมือเปล่า ถ้าไปเวลาเช้าก็จะต้องมีของเคี่ยวของฉันเป็นอาหารไปถวายพระ ถ้าไปเวลาเย็นก็จะถือน้ำปานะไปถวาย เพราะนางมีปกติทำอย่างนี้เป็นประจำ จนเป็นที่ทราบกันดีทั้งพระภิกษุสามเณรและอุบาสิกาทั้งหลาย แม้นางเองก็ไม่กล้าที่จะไปวัดด้วยมือเปล่า ๆ เพราะละอายที่พระภิกษุหนุ่มสามเณรน้อยต่างก็จะมองดูที่มือว่านางถืออะไรมา และก่อนที่นางจะออกจากวัดกลับบ้าน นางจะเดินเยี่ยมเยือนถามไถ่ความสุข ความทุกข์ และความประสงค์ของพระภิกษุสามเณร และเยี่ยมภิกษุไข้จนทั่วถึงทุก ๆ องค์ก่อนจึงกลับบ้าน

  วันหนึ่ง เมื่อนางมาถึงวัด นางได้ถอดเครื่องประดับมหาลดาปสาธน์มอบให้หญิงสาวผู้ติดตามถือไว้ เมื่อเสร็จกิจการฟังธรรมเเละเยี่ยมเยือนพระภิกษุสามเณรแล้วขณะเดินกลับบ้านนางได้บอกให้หญิงรับใช้ส่งเครื่องประดับให้ แต่หญิงรับใช้ลืมไว้ที่ศาลาฟังธรรม นางจึงบอกให้กลับไปนำมา แต่สั่งว่า ถ้าพระอานนท์เก็บรักษาไว้ก็ไม่ต้องเอามาคืนมา ให้มอบถวายท่านไปเลย เพราะนางคิดว่าจะไม่ประดับเครื่องประดับที่พระคุณเจ้าถูกต้องสำผัสแล้ว ซึ่งพระอานนท์ท่านก็มักจะเก็บรักษาของที่อุบาสกอุบาสิกาลือไว้เสมอ

  และได้เป็นไปตามที่นางคิดไว้จริง ๆ แต่นางก็กลับคิดได้อีกว่า “ เครื่องประดับนี้ไม่มีประโยชน์แก่พระเถระ” ดังนั้นนางจึงขอรับคืนมาแล้วนำออกขายในราคา ๙ โกฏิ กับ ๑ แสนกหาปณะ ตามราคาทุนที่ทำไว้ แต่ก็ไม่มีผู้ใดมีทรัพย์พอที่จะซื้อเอาไว้ได้ นางจึงต้องซื้อเอาไว้เอง ด้วยการนำทรัพย์เท่านั้นมาซื้อที่ดินและวัสดุก่อสร้าง ดำเนินการสร้างถวายเป็นพระอารามที่ประทับของพระบรมศาสดา และเป็นที่อยู่อาศัยจำพรรษาของพระภิกษุสงฆ์สามเณร พระบรมศาสดา รับสั่งให้พระมหาโมคคัลลนะ เป็นผู้อำนวยการดูแลการก่อสร้าง ซึ่งมีลักษณะเป็นปราสาท ๒ ชั้น มีห้องสำหรับพระภิกษุพักอาศัยชั้นละ ๕๐๐ ห้อง โดยใช้เวลาก่อสร้างถึง ๙ เดือน และเมื่อสำเร็จเรียบร้อยแล้ว ได้นามว่า “ พระวิหารบุพพาราม”

เพราะพระเปลือยกายจึงถวายผ้าอาบน้ำฝน

  โดยปกตินางวิสาขา จะกราบทูลอาราธนาพระพุทธองค์พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์มาเสวยและฉันภัตตาหารที่บ้านของนางเป็นประจำ เมื่อการจัดเตรียมภัตตาหารเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็จะให้สาวใช้ไปกราบทูลอาราธนาพระผู้มีพระภาคเจ้าและพระภิกษุสงฆ์ให้เสด็จไปยังบ้านของนาง

  วันหนึ่ง สาวใช้ได้มาตามปกติเหมือนทักวัน แต่วันนั้นมีฝนตกลงมาพระสงฆ์ทั้งหลาย จึงพากันเปลือยกายอาบน้ำฝน เมื่อสาวใช้มาเห็นเข้าก็ตกใจเพราะความที่ตนมีปัญญาน้อยคิดว่าเป็นนักบวชชีเปลือย จึงรีบไปแจ้งแก่นางวิสาขาว่า

  “ ข้าแต่แม่เจ้า วันนี้ที่วัดไม่มีพระอยู่เลย เห็นมีแต่ชีเปลือยแก้ผ้าอาบน้ำ กันอยู่ ”

  นางวิสาขา ได้ฟังคำบอกเล่าของสาวใช้ เพราะความที่นางเป็น พระอริยบุคคลชั้นโสดาบัน เป็นพระหมาอุบาสิกา เป็นผู้มีปัญญาศรัทธาเลื่อมใส มีความใกล้ชิดกับพระภิกษุสงฆ์ จึงทราบเหตุการณ์โดยตลอดว่า พระบรมศาสดาทรงอนุญาตให้พระภิกษุมีผ้าสำหรับใช้สอยเพียง ๓ ผืน คือ ผ้าจีวรสำหรับห่ม ผ้าสังฆาฏิสำหรับห่มซ้อน และผ้าสบงสำหรับนุ่ง ดังนั้น เมื่อเวลาพระภิกษุจะอาบน้ำจึงไม่มีผ้าสำหรับผลัดอาบน้ำ ก็จำเป็นต้องเปลือยกายอาบน้ำ

  อาศัยเหตุนี้ เมื่อพระบรมศาสดาเสด็จมาประทับที่บ้านและเสร็จภัตกิจแล้วนางวิสาขาจึงได้เข้าไปกราบทูลขอพร เพื่อถวายผ้าอาบน้ำฝนแก่พระภิกษุสงฆ์ พระพุทธองค์ประทานอนุญาตตามที่ขอนั้น นางวิสาขาก็เป็นบุคคลแรกที่ได้ถวายผ้าอาบน้ำฝนแก่พระภิกษุสงฆ์

พระภิกษุคิดว่านางเป็นบ้า

  นางวิสาขา ได้ชื่อว่าเป็นมหาอุบาสกาผู้ยิ่งใหญ่ เป็นยอดแห่งอุปัฏฐายิกาทะนุบำรุงพระพุทธศาสนาด้วยวัตถุจตุปัจจัยไทยทานต่าง ๆ ทั้งที่ถวายเป็นของสงฆ์ส่วนรวม และถวายเป็นของสงฆ์ส่วนบุคคลคือแก่ภิกษุแต่ละองค์ ๆ การทำบุญของนางนับว่าครบถ้วนทุกประการตามหลักบุญกิริยาวัตถุ ดังคำที่นางเปล่งอุทานในวันฉลองวิหาร คือวัดบุพพาราม ที่นางสร้างถวายนั้นด้วยคำว่า..

  “ ความปรารถนาใด ๆ ที่เราตั้งไว้ในกาลก่อน ความปรารถนานั้น ๆ ทั้งหมดของเราได้สำเร็จเสร็จสิ้นสมบูรณ์ทุกประการแล้ว”

  ความปรารถนาเหล่านั้นคือ...

   ๑. ความปรารถนาที่จะสร้างปราสาทฉาบด้วยปูนถวายเป็นพระวิหารทาน

  ๒. ความปรารถนาที่จะถวายเตียง ตั่ง ฟูก หมอน และเสนาสนภัณฑ์

  ๓. ความปรารถนาที่ะถวายสลากภัตเป็นโภชนทาน

  ๔. ความปรารถนาที่จะถวายผ้ากาสาสิกพัสตร์ ผ้าเปลือกไม้ ผ้าฝ้าย เป็นจีวรทาน

  ๕. ความปรารถนาที่จะถวายเนยใส เนยข้น น้ำผึ้ง น้ำอ้อย เป็นเภสัชทาน

  ความปรารถนาเหล่านั้นของนางวิสาขาสำเร็จครอบถ้วนทุกประการ สร้างความเอิบอิ่มใจแก่นางยิ่งนัก นางจึงเดินเวียนรอบปราสาทอันเป็นวิการทานพร้อมทั้งเปล่งอุทานดังกล่าว

  พระภิกษุทั้งหลาย ได้เห็นกิริยาอาการของนางวิสาขาแล้ว ต่างก็รู้สึกประหลายใจ ไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้นกับนาง จึงพร้อมใจกันเข้าไปกราบทูลถามพระบรมศาสดาว่า

  “ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญตั้งแต่ได้พบเห็นและรู้จักนางวิสาขามาก็เป็นเวลานานพวกข้าพระองค์ทั้งหลาย ไม่เคยเห็นนางขับร้องเพลงและแสดงอาการอย่างนี้มาก่อนเลย แต่วันนี้ นางอยู่ในท่ามกลางการแวดล้อมของบรรดาบุตรธิดาและหลาน ๆ ได้เดินเวียนรอบปราสาทและบ่นพึมพำคล้ายกับร้องเพลง เข้าใจว่าดีของนางคงจะกำเริบ หรือไม่นางก็คงจะเสียจริตไปแล้วหรืออย่างไร พระเจ้าข้า ?”

  พระพุทธองค์ตรัสแก่ภิกษุเหล่านั้นว่า

  “ ภิกษุทั้งหลาย ธิดาของเรามิได้ขับร้องเพลงหรือเสียจริตอย่างที่พวกเธอเข้าใจหรอก แต่ธิดาของเราเป็นอย่างนั้นก็เพราะความปีติยินดีที่ความปรารถนาของตนที่ตั้งไว้ตั้งแต่ต้นนั้นสำเร็จลุล่วงสมบูรณ์ทุกปราการ นางจึงเดินเปล่งอุทานออกมาด้วยความเอิบเอมใจ

  ด้วยเหตุที่นางวิสาขาได้อุปถัมภ์บำรุงพระภิกษุสงฆ์ และได้ถวายวัตถุจตุปัจจัยในพระพุทธศานาเป็นจะนวนมาก ดังกล่าวมา พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ทรงประกาศยกย่องนางในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าอุบาสิกาทั้งหลาย ในฝ่าย ผู้เป็นทายิกา..

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น