++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันศุกร์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

มก.แนะเทคนิคผสมเทียมช้างลดความรุนแรง

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 6 พฤศจิกายน 2552 08:28 น.
น.สพ.ดร. นิกร ทองทิพย์
อาจารย์จากภาควิชาเวชศาสตร์คลินิคสัตว์ใหญ่และสัตว์ป่า คณะสัตวแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า
จากข่าวและข้อมูลเกี่ยวกับความรุนแรงต่าง ๆ
ที่เกิดจากการพยายามผสมพันธุ์ช้างเพื่อให้มีการตกลูกนั้น
หากเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นข้อเท็จจริงก็นับว่าเป็นปัญหาที่คุกคามสุขภาพจิตใจ
และร่างกายของช้างเป็นอย่างมาก
ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันนี้พบว่าประชากรช้างเลี้ยงในประเทศไทยกำลังลดจำนวนลงเป็นอย่างมากด้วยสาเหตุต่าง
ๆ หลายประการ เช่น การ ได้รับบาดเจ็บจากการเกิดอุบัติเหตุต่าง ๆ
หรือการเจ็บป่วยจากโรคภัยต่าง ๆ
จากข้อมูลจากกรมปศุสัตว์และกระทรวงมหาดไทยรายงานว่าในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา
ช้างเลี้ยงในประเทศไทยได้ลดลงจากจำนวนหนึ่งหมื่นกว่าเชือกในปัจจุบันเหลือ
เพียงประมาณสองพันห้าร้อยเชือก
และมีแนวโน้มว่าอัตราการเกิดของช้างเลี้ยงน้อยกว่าอัตราการตาย
หากเป็นเช่นนี้ต่อไปช้างมีโอกาสที่จะสูญพันธุ์
สำหรับวิธีการผสมพันธุ์ช้างในปัจจุบันใช้วิธีการผสมตามธรรมชาติ
ซึ่งช้างเพศผู้ที่มีความสามารถในการขึ้นผสมนั้นมีจำนวนน้อยและส่วนใหญ่จะถูก
ใช้งานตลอดปี ไม่มีโอกาสผสมพันธุ์บ่อยครั้งทำให้ความสมบูรณ์ของพันธุ์ลดลง
ะ่งผลให้ช้างที่เหลือในโขลงมีชีชีวิรอดได้ยาก
เนื่องจากกระแสการอนุรักษ์ช้างป่า
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจับแม่ช้างที่เป็นจ่าโขลงออกนักวิจัยเรื่องช้าง
ทั่วโลกจึงมีแนวคิดในการหาทางขยายพันธุ์ช้างเลี้ยงด้วยวิธีการผสมเทียมโดย
การรีดเก็บน้ำเชื้อจากช้างเพศผู้เพื่อนำไปผสมกับช้างเพศเมียที่เป็นสัด
แต่อย่างไรก็ตามการผสมเทียมด้วยน้ำเชื้อสดในช้างมีข้อจำกัดเนื่องจากไม่
สามารถเก็บรักษาน้ำเชื้อให้มีคุณภาพดีพอต่อการผสมเทียมได้นาน
ทำให้ไม่สามารถขนส่งน้ำเชื้อไปผสมเทียมช้างเพศเมียที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล
ดังนั้นจึงเกิดความต้องการใช้น้ำเชื้อช้างที่แช่แข็งในถังบรรจุ
ไนโตรเจนเหลวเพราะสามารถนำมาอุ่นละลายเพื่อใช้ได้ทันทีที่แม่ช้างพร้อม
นอกจากนี้การเก็บรักษาพันธุกรรมช้างในรูปน้ำเชื้อช้างแช่แข็งจะช่วยให้พันธุ
กรรมของช้างคงอยู่ได้เป็นเวลานานหลายสิบปี
อย่างไรก็ตามการทำน้ำเชื้อช้างแช่แข็งให้ได้คุณภาพหลังการอุ่นละลายดีพอใน
ระดับที่จะนำไปใช้ในการผสมเทียมได้รวมไปถึงการผสมเทียมช้างด้วยน้ำเชื้อช้าง
แช่แข็งนั้นยังไม่มีประเทศใดในโลกที่ทำสำเร็จนอกจากประเทศไทย

ในปี 2543 คณะวิจัยได้ศึกษาเทคนิคต่าง ๆ
เกี่ยวกับการรีดเก็บน้ำเชื้อช้างแล้วนำมาต่อยอดด้วยการสำรวจคุณภาพน้ำเชื้อ
ของช้างเลี้ยงในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย
จากผลการสำรวจพบว่าคุณภาพน้ำเชื้อของช้างเลี้ยงส่วนใหญ่มากกว่า 80%
มีคุณภาพต่ำจนมีเปอร์เซ็นต์การเคลื่อนไหวของเซลล์อสุจิเป็นศูนย์หรือไม่มี
การเคลื่อนไหวนั่นเอง
ทำให้เกิดความสนใจในการศึกษาวิจัยถึงคุณภาพน้ำเชื้อของช้างเลี้ยงอย่างจริง
จัง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการน้ำเชื้อช้างแช่แข็งและการผสมเทียมในช้าง
เอเชียในประเทศไทย
คณะผู้วิจัยฯ เริ่มต้นประกอบด้วยนักวิจัยจากคณะสัตวแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสถาบันคชบาลแห่งชาติ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้
ต่อมาในปี 2544 ได้เริ่มทำการรีดเก็บน้ำเชื้อช้างอย่างต่อเนื่อง ณ
ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย สถาบันคชบาลแห่งชาติ จ.ลำปาง
จนพบช้างพ่อพันธุ์ที่ให้คุณภาพน้ำเชื้อดี
จึงเริ่มทำการศึกษาคุณลักษณะต่าง ๆ ของน้ำเชื้อช้างไทยอย่างละเอียด


จากนั้นทำการทดลองเก็บรักษาในรูปแบบต่าง ๆ
ทั้งแบบแช่เย็นและแช่แข็ง
ผลการรักษาคุณภาพน้ำเชื้อด้วยการแช่เย็นที่อุณหภูมิ 4
องศาเซลเซียสนั้นพบว่าสามารถเก็บรักษาอสุจิช้างให้มีชีวิตได้นานถึงสามวัน
แต่อย่างไรก็ตามคุณภาพจะลดลงอย่างมากภายในหนึ่งวันหลังการรีดเก็บ
จนกระทั่งในปี 2545 จึงประสบความสำเร็จในการแช่แข็งน้ำเชื้อช้าง
ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของโลกที่สามารถเก็บรักษาน้ำเชื้อช้างเอเชียแบบแช่แข็ง
โดยเมื่อทำการอุ่นละลายแล้วได้เปอร์เซ็นต์ความมีชีวิตและการเคลื่อน
ไหวของเซลล์อสุจิหลังการอุ่นละลายสูงที่สุดเท่าที่เคยมีรายงานการศึกษาใน
ช้างเอเชียและผล
งานวิจัยยังเป็นที่ยอมรับของนักวิจัยทั่วโลกจนได้รับการตีพิมพ์ผลงานวิจัยใน
วารสารนานาชาติ Theriogenology ฉบับที่ 62 ปี 2547 และ International
Journal of Andrology ฉบับที่ 29 ปี 2548
แต่การทดสอบประสิทธิภาพในการทำงานของเซลล์อสุจิช้างหลังการแช่แข็งใน
แง่ของการใช้งานจริงในภาคสนามยังไม่มีรายงานถึงความสำเร็จ
จึงได้เชิญคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการตรวจฮอร์โมนของระบบสืบพันธุ์ช้างเข้าร่วมเพื่อเป็น
หน่วยงานหลักในการตรวจวงรอบการเป็นสัดของช้างเพศเมียเพื่อกำหนดวันผสมเทียม
และตรวจการตั้งท้อง
โดยได้ทำการศึกษาการผสมเทียมช้างด้วยน้ำเชื้อแช่แข็งควบคู่ไปกับการ
รีดเก็บและทำน้ำเชื้อช้างแช่แข็งเพื่อจัดตั้งธนาคารน้ำเชื้อช้างไทยขึ้น 2
แห่ง คือที่คณะสัตวแพทยศาสตร์ มก. วิทยาเขตกำแพงแสน จ. นครปฐม
และที่ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย สถาบันคชบาลแห่งชาติ จ.ลำปาง


โดยปัจจุบันมีน้ำเชื้อช้างแช่แข็งของช้างไทยทั้งหมด 14 เชือก
จากนั้นได้ใช้เทคนิคการผสมเทียมด้วยน้ำเชื้อแช่เย็นครั้งแรกในพังขอดของ
ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยเมื่อวันที่ 8 - 10 มิถุนายน 2548
ซึ่งก็ประสบความสำเร็จทันที
พังขอดเกิดการตั้งท้องด้วยน้ำเชื้อสดของพลายจาปาตีและให้กำเนิดลูกช้างเพศ
ผู้ เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2550
ซึ่งลูกช้างที่คลอดออกมาสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงดี ลูก
ช้างเชือกนี้ถือเป็นลูกช้างเอเชียเชือกแรกที่เกิดจากการผสมเทียมในทวีป
เอเชียและเป็นลูกช้างที่เกิดจากทีมงานนักวิจัยชาวไทยทั้งหมด
และได้รับพระราชทานชื่อจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ว่า พลายปฐมสมภพ
และในปีเดียวกันได้ผสมเทียมด้วยน้ำเชื้อแช่แข็งจนประสบความสำเร็จใน
แม่ช้างพังสาวของปางช้างแม่สา จ.เชียงใหม่ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2550
พังสาวตั้งท้องจากการผสมเทียมด้วยน้ำเชื้อแช่แข็งของสีดอตาแดงของศูนย์
อนุรักษ์ช้างไทยจาก จ.ลำปาง และได้คลอดลูกช้างออกมาเป็นลูกช้างเพศเมีย
สภาพสมบูรณ์ทุกประการ
แต่เป็นที่น่าเสียใจที่ลูกช้างที่คลอดออกมานั้นได้เสียชีวิต
ซึ่งจากผลการชันสูตรไม่สามารถหาสาเหตุในการเสียชีวิตของลูกช้างได้
เนื่องจากสภาพของลูกช้างที่เสียชีวิตนั้นเริ่มเกิดการเน่าสลาย
แต่การตั้งท้องและการตกลูกของแม่ช้างพังสาวในครั้งนี้ก็ถือเป็นความสำเร็จใน
การผสมเทียมช้างด้วยน้ำเชื้อช้างแช่แข็งเป็นครั้งแรกในโลกและเป็นผลงานที่
เกิดขึ้นโดยนักวิจัยที่เป็นคนไทยทั้งหมด
จากความสำเร็จของการผสมเทียมดังกล่าว
ทำให้ได้แนวทางในการเพิ่มจำนวนช้างที่มีพันธุกรรมดีและสามารถวางแผนจัดการ
การผสมพันธุ์เพื่อคงความหลากหลายทางพันธุกรรมของช้างไทยต่อไป
และสำหรับกรณีข่าวความรุนแรงต่าง ๆ
อันเกิดจากความพยายามในการผสมพันธุ์ช้างที่กำลังเกิดขึ้นนั้น
ขอให้ข้อมูลว่า "
ตามธรรมชาติช้างเป็นสัตว์สังคมต้องมีการเกี้ยวพาราสีก่อนอย่างน้อยหลายวัน
จึงจะยอมรับการผสมพันธุ์ ในกรณีช้างเพศเมียไม่เป็นสัดพร้อมผสม
ช้างตัวผู้จะไม่สนใจและไม่ขึ้นผสม
นอกจากนี้ช้างเป็นสัตว์ที่มีร่างกายใหญ่โต
การจะบังคับให้ยอมรับการผสมโดยที่ช้างเพศเมียไม่ยอมนั้นเป็นไปได้ยาก
แต่อย่างไรก็ตามในปัจจุบันช้างเพศผู้ที่ขึ้นผสมเป็นนั้นมีจำนวนน้อย

คณะนักวิจัยในประเทศไทยสามารถผสมเทียมช้างได้
ดังนั้นหากต้องการน้ำเชื้อของช้างเพศผู้ที่มีลักษณะดี
อาจใช้วิธีการรีดเก็บน้ำเชื้อแล้วนำมาผสมเทียมแทนได้
ไม่จำเป็นต้องขนย้ายช้างไปผสมหรือบังคับช้างให้ผสมพันธุ์ในลักษณะที่ช้างเพศ
เมียไม่พร้อมและยังสามารถเพิ่มความหลากหลายทางพันธุกรรมได้"

ทั้งนี้คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ยินดีให้การสนับสนุนน้ำเชื้อช้างแช่แข็ง และทำการผสมเทียมให้
ทำให้เกิดความร่วมมือทั้งเจ้าของช้างและนักวิจัยที่จะติดตามศึกษาผลการ
ดำเนินการจนกว่าแม่ช้างจะคลอด
เป็นการอนุรักษ์และช่วยแพร่ขยายพันธุ์ที่ดีของช้างให้มากขึ้นต่อไป
โดยสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทรศัพท์ 0-2942-8751-9

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น